วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

รถรางสายบางคอแหลม ช่วงเส้นทางถนนหลักเมือง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๒) MO Memoir : Thursday 2 January 2557

ช่วงเทศกาลทีไร สำหรับคนในกรุงเทพก็มักจะมีคำเชิญชวนให้ไปไหว้พระเก้าวัดเพื่อเสริมสิริมงคล ผมก็เคยถามคนที่ไปไหว้พระเก้าวัดว่าไปแล้วได้อะไร เพราะเห็นคนที่ไปไหว้พระเก้าวัดมักจะห่วงว่าจะไหว้พระไม่ครบเก้าวัดในหนึ่งวัน คือแทนที่จะทำให้การเข้าวัดนั้นเป็นไปเพื่อทำให้จิตใจสงบ จะได้มีสติเวลาจะทำงานทำการใด ๆ และตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท กลับทำให้กระวนกระวายใจหนักเข้าไปอีกเพราะกลัวว่าจะไม่ทันเวลา
  
จะว่าไปแล้วช่วงสิ้นปีผมก็แวะไปเข้าวัดเหมือนกัน คือไปวัดเบญจมบพิตร ที่ไปวัดดังกล่าวก็เป็นเพราะยังไม่เคยไปสักครั้ง อยู่กรุงเทพมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว นั่งรถผ่านวัดนี้ไม่รู้กี่พันครั้ง แต่ไม่เคยย่างเท้าเข้าไปเหยียบสักที ช่วงสิ้นปีก็เลยถือโอกาสชวนภรรยาไปวัดนี้ด้วย ซึ่งก็เป็นการไปวัดนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตของทั้งคู่
  
ถัดจากวัดเบญจมบพิตรก็ไปยังศาลหลักเมืองต่อ จำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่มาที่นี้มันเมื่อไร แต่ดูเหมือนว่าตอนนั้นยังเด็กมาก วันนั้นอากาศดีก็อาศัยการเดินจากวัดเบญจมบพิตรไปตามถนนราชดำเนิน แวะกินข้าวเที่ยงร้านข้าวแกงปักษ์ใต้บนทางเท้าที่แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เสื้อยืดเป็นของที่ระลึกมาหนึ่งตัว จากนั้นก็แวะไปดูลอตเตอรี่ที่แยกคอกวัว ก็ได้ดูอย่างเดียวไม่ได้ซื้อสักใบ เพราะไม่ค่อยมีโชคทางด้านนี้อยู่แล้ว จากนั้นก็เดินต่อไปยังศาลหลักเมือง
  
ที่ศาลหลักเมืองปรากฏว่าคนเยอะไปหมด คือมีแต่คนไปกราบไหว้ศาลหลักเมือง แต่ที่ถนนหลักเมืองที่อยู่ข้างศาลหลักเมืองนั้นกลับแทบจะไม่มีคนเลย ทั้ง ๆ ที่ผมเห็นว่ามันมีสิ่งน่าสนใจทางประวัติศาสตร์อยู่สิ่งหนึ่ง นั่นคือ "รางรถราง"
รูปที่ ๑ ป้ายนี้อยู่ข้างศาลหลักเมือง ตรงจุดต้นทางรถรางสายบางคอแหลม สายนี้มีความยาว ๙.๑๘ กิโลเมตร
  
ตรงข้างศาลหลักเมืองนั้นทางกรุงเทพมหานครได้นำป้ายไปปักไว้บอกว่า "รถรางสายบางคอแหลม" (รูปที่ ๑) แต่ไม่ยักพูดถึงปีที่เริ่มให้บริการและปีที่สิ้นสุดการให้บริการ หรือไม่ได้บอกให้เห็นว่าบนพื้นถนนตรงหน้าป้ายมีรางรถรางอยู่ จากแผนที่ที่ค้นได้นั้น ตรงถนนหลักเมืองข้างศาลหลักเมืองนั้นเป็นปลายทางด้านหนึ่งของรถรางสายบางคอแหลม ที่เริ่มจากข้างศาลหลักเมือง ไปตามถนนหลักเมือง (ข้างกระทรวงกลาโหม) จากนั้นก็ลัดเลาะออกมาจนโผล่ถนนเจริญกรุง และไปสุดทางที่ถนนตก แผนที่เส้นทางรถรางในกรุงเทพในปีค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) ในรูปที่ ๒ นั้นแสดงเครือข่ายรถรางเอาไว้ทั่วกรุง และยังมีรถไฟสายปากน้ำและรถไฟสายมหาชัย-แม่กลองที่เริ่มจากสถานีคลองสาน (ปัจจุบันเริ่มจากสถานีวงเวียนใหญ่)
รูปที่ ๒ แผนที่เส้นทางรถรางในกรุงเทพมหาครในปึค.ศ. ๑๙๓๐ (พ.ศ. ๒๔๗๓) ทางด้านทิศเหนือไปไกลสุดที่บางซื่อ ส่วนทางด้านทิศใต้ไปไกลสุดที่ถนนตก ส่วนด้านตะวันออกนั้นไปถึงคลองเตย ตรงถนนพระราม ๔ จะเห็นมีทั้งรถราง รถไฟสายปากน้ำ และคลอง (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นถนนไปแล้ว แต่ยังมีชื่อสถานที่ที่เป็นอนุสรณ์อยู่ เช่นแยกสะพานเหลือง) รูปต้นฉบับความละเอียดสูงดูได้จาก http://2bangkok.com/2bangkok-tram-index.html

รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถรางในกรุงเทพมหาครในเว็บที่ไปเอารูปนี้มาบอกว่าประมาณปึค.ศ. ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) รูปต้นฉบับความละเอียดสูงดูได้จาก http://www.mappery.com/Bangkok-Tramway-Map

รูปที่ ๓ เป็นแผนที่เส้นทางรถรางในกรุงเทพมหาคร ในเว็บที่ผมไปเอารูปนี้มาเขาบอกว่าประมาณปึค.ศ. ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) หรืออีก ๒๐ ปีถัดมา แต่ถ้าพิจารณาจากแผนที่แล้วคิดว่าน่าจะทำหลังปีค.ศ. ๑๙๖๘ เพราะมีการกล่าวถึงเส้นทางที่ใช้งานจนกระทั่งปีค.ศ. ๑๙๖๘ (ในกรอบที่มุมซ้ายล่างของรูปที่ขีดเส้นใต้สีแดง) และในแผนที่นี้ก็มีสะพานกรุงธนปรากฏอยู่ทางด้านมุมซ้ายบน (ในกรอบสีแดง) ซึ่งสะพานกรุงธนนั้นเปิดใช้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๐ (หรือปีค.ศ. ๑๙๕๗) ดังนั้นการที่ผู้ที่นำภาพนี้ไปโพสไว้แล้วกล่าวว่าเป็นภาพประมาณปีค.ศ. ๑๙๕๐ นั้นน่าจะเป็นการเข้าใจผิด โดยไปตีความหมายเลข 1950 ที่ปรากฏใต้กรอบมุมซ้ายบนของภาพว่าเป็นเส้นทางในช่วงปีค.ศ. ดังกล่าว

ส่วนรูปที่ ๔ ในหน้าถัดไปนั้นเป็นส่วนขยายของรูปที่ ๓ 

รูปที่ ๔ ภาพขยายของรูปที่ ๓

แผนที่ในรูปที่ ๒ ยังบอกให้เราทราบด้วยว่าในกรุงเทพมีรถรางอยู่ ๑๐ เส้นทาง (ไม่รวมรถไฟสายปากน้ำและรถไฟสายแม่กลอง) คือ 
 
๑. สายบางคอแหลม เริ่มจากข้างศาลหลักเมือง ออกมาเข้าถนนเจริญกรุง จนไปถึงถนนตก

๒. สายสามเสน เริ่มจากบางซื่อ ไปตามถนนสามเสน เข้าถนนราชินี ออกมาเยาวราช เข้าพระราม ๔ และไปสิ้นสุดที่คลองเตย

๓. สายอัษฎางค์ เป็นสายสั้น ๆ เริ่มจากบริเวณท่าเรือราชินีมายังถนนพระพิพิธ

๔. สายราชวงศ์ เป็นสายสั้น ๆ เริ่มจากท่าน้ำราชวงศ์มาบรรจบถนนเจริญกรุง

๕. สายหัวลำโพง เริ่มจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มาตามถนนกรุงเกษม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบำรุงเมือง ไปออกถนนตะนาว และสิ้นสุดที่บางลำพู

๖. สายดุสิต เริ่มจากถนนสามเสน ซึ่งถ้าดูจากตำแหน่งของโรงพยาบาลวชิระแล้วคิดว่าน่าจะเป็นบริเวณแยกซังฮี้ หรือจุดตัดระหว่างถนนสามเสนกับถนนราชวิถีในปัจจุบัน มาตามถนนสามเสน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพิษณุโลก จากนั้นน่าจะเลี้ยวขวาเข้าถนนนครสวรรค์ และมาออกถนนจักรพรรดิพงษ์ เข้าถนนวรจักร และมาสิ้นสุดที่บริเวณจักรวรรดิ์
๗. สายรอบเมือง สายนี้วิ่งเป็นวงกลมไปตาม ถนนมหาราช ถนนพระอาทิตย์ ถนนมหาชัย ถนนจักรเพชร และกลับมายังถนนมหาราชใหม่อีกครั้ง

๘. สายสุโขทัย เป็นสายสั้น ๆ ถ้าใช้โรงพยาบาลวชิระเป็นหลักสายนี้น่าจะเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสุดถนนสุโขทัย จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนขาว และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชวิถี และมาสิ้นสุดที่ถนนสามเสนตรงแยกซังฮี้

๙. สายสีลม ที่เริ่มจากถนนสีลมปลายด้านถนนเจริญกรุง ไปตามถนนสีลม ออกถนนราชดำริ และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือประตูน้ำ

๑๐. สายประตูน้ำ สายนี้ในแผนที่ผมหาไม่เจอ แต่เห็นมีชื่อสายยศเส (Yotse line) ที่เริ่มจากถนนราชดำริ มาตามถนนพระราม ๑ และไปสิ้นสุดที่ถนนพระราม ๆ ปลายด้านสะพานกษัตริย์ศึก (สะพานข้ามทางรถไฟที่มาจากหัวลำโพง) ก็เลยไม่แน่ใจว่าเป็นสายเดียวกันหรือเปล่า

รูปที่ ๕ เส้นสีเขียวในรูปคือถนนหลักเมือง ที่ยังมีรางรถรางให้เห็นอยู่


รูปที่ ๖ รางรถราง (เหนือเส้นประสีส้ม) ข้างศาลหลักเมือง ตรงจุดใกล้กับป้ายที่แสดงในรูปที่ ๑
  
รูปที่ ๗ รูปนี้มองจากประตูทางออกศาลหลักเมืองด้านถนนหลักเมือง มองไปยังวัดพระแก้ว ตรงบริเวณรางแยกตรงนี้เป็นจุดให้รถรางหลบหลีกกัน

รูปที่ ๘ ภาพขยายของทางแยกที่เห็นในรูปที่ ๗

จำได้ว่าแต่ก่อนเวลานั่งรถเมล์มาถึงถนนเจริญกรุง ผ่านถนนวรจักรและมุ่งตรงไปยังหัวลำโพง จะเห็นรางรถรางอยู่ทางด้านขวามือยาวตลอดถนนทั้งเส้น ซึ่งก็คงจะเห็นรางรถรางสายบางคอแหลมนี้ แต่ปัจจุบันรางส่วนนี้หายไปแล้วเพราะถนนด้านดังกล่าวถูกขุดเพื่อวางท่อระบายน้ำ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันหายไปเมื่อใด และไม่รู้เหมือนกันว่ามีใครได้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้บ้างหรือเปล่า รูปภายในแผนที่ street view ของ google map ที่ระบุว่าถ่ายไว้เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๑๑ นั้นก็ไม่ปรากฏรางดังกล่าวแล้ว

ถ้ารางมันถูกรื้อไปใหม่ ๆ ตั้งแต่ตอนเลิกวิ่งรถราง มันก็คงเหลือเพียงแค่ความทรงจำและคงไม่มีใครกล่าวถึง แต่นับถึงวันนี้เมื่อมันผ่านมาถึง ๔๕ ปีแล้ว ก็น่าจะมีการพิจารณาว่าร่องรอยรางรถรางที่ยังเหลืออยู่นั้น ควรจะมีการอนุรักษ์เพื่อเก็บรักษาเอาไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เห็นหรือไม่ว่าในอดีตนั้นกรุงเทพเคยมีรถรางวิ่งไปบริเวณไหนบ้าง และรางรถรางหน้าตาเป็นอย่างไร
 
และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมได้ไปถ่ายรูปร่องรอยรางรถรางที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เพราะไม่รู้ว่ามันจะหายไปเมื่อใด อย่างน้อยก็ยังมีบันทึกให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ณ วันเวลาที่ไปถ่ายรูปนั้น สภาพของเส้นทางเดิมเป็นอย่างไร


รูปที่ ๙ จากจุดยืนในรูปที่ ๗ คราวนี้เป็นการมองไปยังด้านคลองหลอด ศาลหลักเมืองอยู่ทางซ้ายมือ กระทรวงกลาโหมอยู่ทางขวามือ


รูปที่ ๑๐ เดินเลยศาลหลักเมืองมาเล็กน้อย แล้วมองย้อนกลับลงไป จะเห็นช่วงที่เป็นรางแยก รางเส้นนอกเห็นได้ชัดเจน ส่วนรางเส้นในด้านทางเท้ามีถังขยะวางขวางอยู่
  
รูปที่ ๑๑ จากรูปที่ ๑๐ ทีนี้เป็นการมองไปทางด้านคลองหลอดบ้าง กระทรวงกลาโหมอยู่ด้านขวามือ ด้านหน้าซ้ายมือคือกรมพระธรรมนูญ


รูปที่ ๑๒ เดินถัดมาจากรูปที่ ๑๑ มาอยู่บริเวณหน้ากรมพระธรรมนูญ


รูปที่ ๑๓ เดินมาจนเกือบถึงคลอง ปลายรางด้านที่เห็นนั้น (ก่อนจุดที่โดยยางมะตอยราดทับ) จะเห็นว่ารางมีการโค้งไปทางขวาเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นเส้นทางว่าจากจุดนี้รถจะวิ่งเลี้ยวไปทางขวาและข้ามสะพานข้ามคลองไป เดินถัดไปจากนี้ไม่ได้แล้วเพราะทหารยามสองท่านที่เฝ้าอยู่ในรูปไม่ให้เดินต่อไป เพราะเป็นด้านหลังกระทรวงกลาโหม

รูปที่ ๑๔ เดินไปจนสุดถนนหลักเมืองและมองย้อนกลับมาทางวัดพระแก้ว

รูปที่ถ่ายเอาไว้ในวันนี้ ณ วันนี้ยังอาจไม่มีค่าใด ๆ ส่วนในอนาคตมันจะมีค่าใด ๆ หรือไม่นั้นก็คงต้องให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสินเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น