วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

รถรางสายบางคอแหลม ช่วงเส้นทางถนนเจริญกรุง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๓) MO Memoir : Friday 3 January 2557

ระหว่างนั่งจิบไวน์ไปพร้อมกับกินอาหารเย็นและฟังเรื่องรถรางจากคุณน้าเพื่อนบ้าน คุณน้าก็ได้บอกว่ายังมีป้ายหยุดรถรางหลงเหลืออยู่ที่หนึ่งคือที่ถนนเยาวราช แถวเวิ้งนครเกษม ลักษณะเป็นป้ายสามเหลี่ยมสีแดงมีดาวตรงกลาง และอาจเป็นป้ายเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่

ผมลองค้นหาก่อนด้วยการใช้ google street view ของ google map ก็พบว่ามีรูปป้ายดังกล่าวปรากฏอยู่ โดยฝังอยู่ในชายคาคอนกรีตของอาคารที่ยื่นออกมา (ดูรูปที่ ๑ ข้างล่าง) แต่เนื่องจากรูปภาพนั้นระบุว่าเป็นรูปที่ถ่ายเมื่อเดือนกันยายน ปีค.ศ. ๒๐๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๔) หรือเมื่อกว่า ๒ ปีที่แล้ว ก็เลยให้สงสัยว่า ณ ปัจจุบันป้ายนี้ยังคงอยู่หรือเปล่า เมื่อวานมีโอกาสก็เลยไปเดินสำรวจดู ก็พบว่าป้ายนี้ยังคงอยู่ (อย่างน้อยก็ทำให้มีหลักฐานว่า ณ เวลานี้มันยังไม่หายไปไหน) ก็เลยถ่ายรูปมาให้ดูกัน หน้าตามันเป็นอย่างไรก็ดูในรูปที่ ๒-๔ เอาเองก็แล้วกัน


รูปที่ ๑ ภาพจาก google street view ของถนนเยาวราชช่วงระหว่างถนนจักรวรรดิ์ตัดถนนเจริญกรุง (แยกวัดตึก) และสะพานข้ามคลองรอบกรุง (ก่อนถึงถนนจักรเพชรในรูป) คือถ้าหันหลังให้ถนนจักรเพชรและมองมาทางถนนจักรวรรดิ์ ป้ายนี้จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ณ ตำแหน่งที่ตุ๊กตาสีเหลืองยืนอยู่ (ตัวสีเหลืองรูปล่าง) จะเห็นภาพป้ายหยุดรถราง (รูปบนในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง) ข้อมูลในภาพบอกว่าบันทึกภาพเมื่อเดือนกันยายนปีค.ศ. ๒๐๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๔) 

รูปที่ ๒ ป้ายหยุดรถราง (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง) มองมาทางแยกวัดตึก

เมื่อเทียบดูจากแผนที่รถรางแล้ว ป้ายนี้ควรจะเป็นของรถรางสายดุสิต ที่วิ่งระหว่างบางซื่อกับคลองเตย (ดูแผนที่เส้นทางรถรางได้ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๒๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๗ เรื่อง "รถรางสายบางคอแหลม ช่วงเส้นทางถนนหลักเมือง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๒)" และการที่ป้ายนี้ยังคงอยู่ก็แสดงว่าอาคารดังกล่าวก็สร้างมานานแล้วเช่นกัน

ใน Memoir ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ ๗๒๒) ได้เล่าว่าจำได้ว่าถนนเจริญกรุงช่วงที่ตีคู่ถนนเยาราชมานั้นเคยมีรางรถรางอยู่ แต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้วเพราะถนนช่องที่เป็นแนวรางรถรางนั้นถูกขุดเพื่อทำการวางท่อระบายน้ำ เมื่อตรวจสอบภาพจาก google street view ที่บันทึกไว้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็ไม่พบว่ามีร่องรอยรางรถรางหลงเหลืออยู่ แสดงว่ามันหายไปก่อนหน้านั้น ส่วนหายไปเมื่อไรนั้นใครอยากรู้ก็คงต้องไปค้นข้อมูลของกรุงเทพมหานครเอาเองว่าถนนช่วงนี้มีการก่อสร้างท่อระบายน้ำเมื่อใด
  
แต่เนื่องจากถนนเจริญกรุงเป็นถนนคอนกรีตที่ยาวเส้นหนึ่ง และการก่อสร้างคงจะทำไว้อย่างดีมาก แถมไม่มีรถบรรทุกหนักวิ่งผ่าน ทำให้พื้นถนนเส้นนี้อยู่คงทนมาก (ถ้าไม่มีการขุดฝังอะไร) ทำให้บางช่วงของถนนเส้นนี้ยังคงมีร่องรอยรางรถรางหลงเหลืออยู่ ช่วงหนึ่งของถนนที่ทราบว่ายังคงเหลืออยู่คือช่วงระหว่างแยกตัดถนนทรงวาด-ถนนข้าวหลาม ไปถึงแยกบรรจบถนนโยธาก่อนถึงสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (กรอบสีเขียวในรูปที่ ๕)
 
ถนนช่วงดังกล่าวจากการตรวจสอบจากภาพ google street view (ลงเวลาบันทึกเดือนกันยายน ๒๕๕๔) ก็พบว่ายังมีร่องรอยรางรถรางอยู่ ด้วยความสงสัยว่าสภาพในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรเมื่อวานก็เลยหาโอกาสไปเดินเล่นบริเวณถนนเจริญกรุงช่วงดังกล่าวเพื่อถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก โดยเริ่มเดินจากถนนเจริญกรุงด้านสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม เลียบฝั่งซ้าย (ฝั่งด้านมีรางรถราง) ย้อนลงมาทางด้านเยาวราช รูปที่ถ่ายเอาไว้ก็แสดงเอาไว้แล้วในรูปที่ ๖-๑๘.


รูปที่ ๓ ภาพมุมเดียวกับรูปที่ ๒ ซูมให้เห็นป้ายชัด ๆ
 
รูปที่ ๔ ป้ายหยุดรถรางเมื่อมองจากอีกทางด้านหนึ่ง (หันหลังให้แยกวัดตึก)

รูปที่ ๕ ถนนเจริญกรุงช่วงที่ยังคงมีรางรถรางหลงเหลืออยู่ (ในกรอบสีเขียว) ผมเดินถ่ายรูปจากด้านล่าง (ตรงแยกถนนโยธา) ขึ้นไปทางด้านบน (แยกตัดกับถนนทรงวาดและถนนข้าวหลาม) ถนนช่วงนี้ปัจจุบันเดินรถทางเดียวตามทิศทางลูกศรชี้ รางรถรางจะอยู่ทางด้านซ้ายของถนน

รูปต้นฉบับที่ถ่ายเอาไว้นั้นเป็นรูปขนาดประมาณ 7 ล้านพิกเซล แต่ที่เอามาลงในนี้ได้ลดขนาดรูปเหลือ (หรือตัดรูปในกรณีที่เป็นรูปส่วนขยาย) ให้เหลือประมาณ 4 แสนพิกเซลเพื่อไม่ให้ไฟล์มีขนาดใหญ่เกินไป แต่ก็ไม่อยากย่อรูปให้เล็กมากจนมองรายละเอียดบางอย่างไม่เห็น ทั้งนี้ก็เพราะเผื่อมีเด็กนักเรียนต้องการภาพไปทำรายงานจะได้มีภาพขนาดใหญ่ที่มีความละเอียดสูง และวัน-เวลาที่ปรากฏในแต่ละรูปนั้นก็เป็นวัน-เวลาจริงที่ทำการถ่ายภาพ จะได้เป็นหลักฐานว่าภาพดังกล่าวบันทึกไว้เมื่อใด

Memoir ฉบับนี้ก็คงไม่มีอะไรมาก ถือว่าเป็นรูปถนนเส้นหนึ่งของกรุงเทพ ณ เวลานี้ก็แล้วกัน

รูปที่ ๖ รางรถรางสายบางคอแหลมบนถนนเจริญกรุง มองย้อนมาทางแยกบรรจบถนนโยธา จะเห็นรถที่วิ่งข้ามสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมวิ่งมาจากทางซ้าย

รูปที่ ๗ มุมเดียวกับรูปที่ ๖ แต่ถอยหลังมาอีกนิด


รูปที่ ๘ เดินจากตำแหน่งในรูปที่ ๗ ลงมาทางแยกบรรจบถนนทรงวาด เห็นตรงไหนไม่มีรถจอดทับไว้ก็ถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก
 
รูปที่ ๙ ตรงนี้เป็นบริเวณปากทางเข้าตลาดน้อย จะเห็นมีร่องรอยรางแยกให้หลบหลีกกันอยู่


รูปที่ ๑๐ เดินมาถ่ายด้านหน้ารถป้ายแดงในรูปที่ ๙ ตรงปากทางเข้าตลาดน้อย จะเห็นรางฝั่งใน (ตามเส้นประสีส้ม) และรางฝั่งนอก (ตรงที่อยู่ในร่มเงาต้นไม้)
 
รูปที่ ๑๑ ถัดจากตลาดน้อยมาถึงทางเข้าวัดอุภัยราชบำรุง เลยขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกซักหน่อย
  
รูปที่ ๑๒ ช่วงระหว่างหน้าวัดอุภัยราชบำรุงกับแยกบรรจบถนนทรงวาด
 
รูปที่ ๑๓ ถัดจากรูปที่ ๑๒ โดยเดินมาทางแยกบรรจบถนนทรงวาด
  
รูปที่ ๑๔ ใกล้ถึงแยกแล้ว ถ้าเลี้ยวซ้ายก็เข้าถนนทรงวาด ไปเยาราช เลี้ยวขวาเข้าถนนข้าวหลาม ไปหัวลำโพง ตรงบริเวณนี้มีการขุดผิวจราจร ทำให้ร่องรอยของรางบางส่วนถูกรื้อออกไป

รูปที่ ๑๕ ภาพขยายส่วนหนึ่งของรูปที่ ๑๔

รูปที่ ๑๖ ยังอยู่บนถนนเจริญกรุง เดินเลยแยกบรรจบถนนทรงวาดและถนนข้าวหลาม ถ้าเดินตรงต่อไปจะเป็นวงเวียนเยาวราช ถนนเจริญกรุงช่วงนี้มีการขุดผิวจราจรด้านฝั่งวางรางรถราง แต่ก็ยังพอมีร่องรอยบางส่วนหลงเหลืออยู่ เช่นบริเวณนี้จะเห็นรางด้านนอกที่วางโค้งตรงจุดที่เป็นทางแยกให้รถรางหลีกกัน
 
รูปที่ ๑๗ ภาพขยายของรูปที่ ๑๖ ของร่องรอยรางที่เหลืออยู่

รูปที่ ๑๘ มองย้อนกลับทางที่เดินมา ตรงไปคือถนนเจริญกรุง เลี้ยวซ้ายคือถนนข้าวหลาม เลี้ยวขวาคือถนนทรงวาด ถนนเจริญกรุงช่วงนี้ช่องทางฝั่งด้านวางรางรถรางถูกขุด ทำให้รางด้านทางเท้าหายไป เหลือแต่รางด้านนอกที่ยังมีร่องรอยให้เห็นอยู่ (ตามแนวเส้นสีเหลือง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น