วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในอาเซียน MO Memoir : Friday 14 February 2557

เมื่อวานมีคนส่งข้อความมายัง facebook ผม ถามคำว่าว่า "ใครพูดจริง ใครพูดโกหก" ผมก็งง ๆ ว่าเรื่องอะไร พอถามกลับไปเขาก็ตอบกลับมาว่าเป็นเรื่อง "ราคาน้ำมัน"
 
บังเอิญช่วงที่ผ่านมาเห็นมีการให้ข้อมูลออกมาจากทั้งสองฝ่าย แต่ที่สำคัญก็คือดูเหมือนว่าชาวบ้านหรือคนส่วนใหญ่จะเชื่อ "ตัวเลข" ฝ่ายที่คัดค้าน (เพราะใคร ๆ ก็อยากได้ของถูก) แต่ฝ่ายที่คัดค้านนั้นก็ไม่ได้ให้แหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านั้น (ที่น่าเชื่อถือและสามารถสืบค้นย้อนกลับไปได้) ว่ามาจากไหน เมื่อใด
  
แต่ที่แย่กว่านั้นไปอีกก็คือทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตแท้ ๆ เราสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านได้โดยตรง แต่ทำไมเรากลับไม่ทำเช่นนั้น

โดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่า "ความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวนั้นอาจไม่สามารถนำมาเทียบได้กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้น "ถูก" เกินไป"

ก่อนอื่นเรามาลองดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑลกันก่อนดีไหม ข้อมูลนำมาจาก http://www.eppo.go.th/retail_prices.html เช้าวันนี้ (ศุกร์ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) แสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ณ วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นำข้อมูลมาจาก http://www.eppo.go.th/retail_prices.html
 
ทีนี้ลองไปดูราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการ Shell ที่สิงค์โปร์ (รูปที่ ๒) และอินโดนีเซีย (รูปที่ ๓) ดูบ้าง


รูปที่ ๒ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการ Shell ของสิงค์โปร์


รูปที่ ๓ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการ Shell ของอินโดนีเซีย
 
ราคาน้ำมันที่แสดงเป็นราคาต่อลิตร เป็นราคาของน้ำมันดีเซลและเบนซิน (ที่ไม่ใช่แก๊สโซฮอล์) ส่วนคิดเป็นเงินบาทเท่าใดนั้นต้องดูที่อัตราแลกเปลี่ยน (รูปที่ ๔) ซึ่งผมไปนำมาจากเว็บของธนาคารกรุงเทพเช้าวันที่ ๑๔ นี้ (แต่เป็นข้อมูลของเมื่อวาน เพราะวันนี้ธนาคารหยุดมาฆบูชา)


รูปที่ ๔ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินสกุลอื่น ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ดังนั้นในกรณีของสิงค์โปร์ (ขอย้ำว่ากำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันที่สิงค์โปร์มากกว่าประเทศไทย)
ราคาเบนซิน 95 จะอยู่ที่ 2.2 x 25.94 = 57.07 บาทต่อลิตร
ราคาดีเซลจะอยู่ที่ 1.710 x 25.94 = 44.36 บาทต่อลิตร
 
และในกรณีของอินโดนีเซีย (เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบประเทศหนึ่ง)
ราคาเบนซิน 95 จะอยู่ที่ 11150 x (3.03/1000) = 33.78 บาทต่อลิตร
ราคาดีเซลจะอยู่ที่ 12700 x (3.03/1000) = 38.48 บาทต่อลิตร
 
ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในมาเลเซียผมนำมาจาก http://www.caltex.com/my/ ในเช้าวันนี้ (ศุกร์ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) แต่เป็นราคาที่ใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ข้อมูลในหน้าเว็บแสดงเป็นตัววิ่ง ก็เลยต้องใช้วิธีการจดเอา โดยมีราคาเป็นดังนี้

Premium 97 with Techron® RM 2.85
Premium 95 with Techron® RM 2.10
Caltex Diesel with Techron D® RM 2.00

ดังนั้นถ้าคิดเป็นเงินบาท (ขอย้ำว่ามาเลเซียก็เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเหมือนกัน)
ราคาเบนซิน 95 จะอยู่ที่ 2.10 x 9.93 = 20.85 บาทต่อลิตร
ราคาดีเซลจะอยู่ที่ 2.00 x 9.93 = 19.68 บาทต่อลิตร

ราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการของประเทศฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา นำมาจากเว็บของ Department of Energy, Republic of the Philippines แสดงไว้ในรูปที่ ๕ ข้างล่าง


รูปที่ ๕ ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ราคา ณ วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ข้อมูลจาก http://www.doe.gov.ph/retail-pump-prices/retail-pump-prices-metro-manila

ลองดูเฉพาะราคาของ Shell นะ จะเอาตัวเลขราคาค่าน้อยมาคิดแปลงเป็นเงินบาท
ราคาเบนซิน 91 จะอยู่ที่ 49.05 x 0.78 = 38.26 บาทต่อลิตร
ราคาเบนซิน 95 จะอยู่ที่ 50.55 x 0.78 = 39.43 บาทต่อลิตร
ราคาดีเซลจะอยู่ที่ 41.60 x 0.78 = 32.45 บาทต่อลิตร

ราคาขายปลีกน้ำมันที่สถานีบริการในประเทศเวียดนามเองได้มาจากเว็บข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่งของประเทศเวียดนาม เป็นข่าว ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ และนำมาแสดงไว้ในรูปที่ ๖

รูปที่ ๖ ราคาน้ำมันในประเทศเวียดนาม จาก http://www.saigon-gpdaily.com.vn/Business/2013/12/107370/

ดังนั้นเมื่อแปลงเป็นเงินบาท
ราคาน้ำมันน้ำมันเบนซิน 92 จะอยู่ที่ 24212 x (1.71/1000) = 41.40 บาทต่อลิตร
ราคาน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำจะอยู่ที่ 22960 x (1.71/1000) = 39.26 บาทต่อลิตร

ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศกัมพูชาหายากหน่อย อันแรกที่นำมาแสดง (รูปที่ ๗) เป็นข้อมูลจากเว็บเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยเว็บดังกล่าวบอกว่าเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ส่วนของกัมพูชาเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เช่นกัน ราคาแก๊สโซลีนของไทยที่นำมาแสดงนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 (39.33 บาทต่อลิตร) ส่วนของกัมพูชา (40.92 บาทต่อลิตร) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นน้ำมันอะไร
 
อีกเว็บข่าวหนึ่งที่เจอ (รูปที่ ๘) ก็เป็นข่าวเกี่ยวกับราคาน้ำมันเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา เนื้อข่าวกล่าวว่าราคาน้ำมันเบนซิน (ไม่บอกว่าออกเทนเท่าใด) คงอยู่ที่ 1.4 USD ต่อลิตรมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๖ (คงที่มา ๑ ปี) หรือคิดเป็นเงินบาทได้ 1.4 x 32.78 = 45.89 บาทต่อลิตร
 

รูปที่ ๗ ตารางเปรียบเทียบค่าครองชีพในไทยกับในกัมพูชา ข้อมูลจาก http://www.numbeo.com/cost-of-living/compare_countries_result.jsp?country1=Thailand&country2=Cambodia 

 
รูปที่ ๘ ข่าวราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในกัมพูชา จาก http://www.thesoutheastasiaweekly.com/price-of-gasoline-in-cambodia-stands-at-1-4-us-dollars-per-liter/

ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศพม่า (รูปที่ ๙) ก็ต้องไปเอาจากเว็บเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยเว็บดังกล่าวบอกว่าเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ส่วนของพม่าเป็นข้อมูลเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ราคาน้ำมันเบนซินของพม่ารายงานไว้ที่ 40.72 บาทต่อลิตร (ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นน้ำมันเบนซินเกรดไหน)


รูปที่ ๙ ตารางเปรียบเทียบค่าครองชีพในไทยกับในพม่า ข้อมูลจาก http://www.numbeo.com/cost-of-living/compare_countries_result.jsp?country1=Thailand&country2=Myanmar

ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลาว (รูปที่ ๑๐) ก็ต้องไปเอาจากเว็บเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในประเทศต่าง ๆ อีก สำหรับประเทศไทยเว็บดังกล่าวบอกว่าเป็นข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ส่วนของลาวเป็นข้อมูลเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ราคาน้ำมันเบนซินของลาวรายงานไว้ที่ 42.06 บาทต่อลิตร (ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นน้ำมันเบนซินเกรดไหน)

รูปที่ ๑๐ ตารางเปรียบเทียบค่าครองชีพในไทยกับในลาว ข้อมูลจาก http://www.numbeo.com/cost-of-living/compare_countries_result.jsp?country1=Thailand&country2=Laos

รูปที่ ๑๑ และ ๑๒ ที่อยู่ถัดไปเป็นการเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน 95 ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นราคาขายปลีกต่อลิตรและแปลงเป็นเงินบาทเรียบร้อยแล้ว ก็ขอให้ลองเปรียบเทียบดูเอาเองก็แล้วกัน

หวังว่าเมื่ออ่านมาถึงจุดนี้พวกคุณคงได้มีการกลับไปตรวจสอบที่มาของแหล่งข้อมูลที่ผมนำมาด้วย จากนั้นก็ขอให้พิจารณากันเอาเองก็แล้วกันว่าข้อมูลของฝ่ายไหนมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน


รูปที่ ๑๑ ราคาน้ำมันดีเซลของประเทศต่าง ๆ (นำมาจาก http://www.mytravelcost.com/petrol-prices/11/)


รูปที่ ๑๒ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของประเทศต่าง ๆ (นำมาจาก http://www.mytravelcost.com/petrol-prices/1/)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น