วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลิกใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลกันดีไหมครับ MO Memoir : Saturday 22 February 2557

ความอยากของคนนั้นมันไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นถ้าไม่มีศีลธรรมเข้ามาเป็นตัวควบคุมให้รู้จักพอ สังคมก็คงจะอยู่ไม่ได้
 
นักการเมืองต่างทราบเรื่องนี้ดี และใช้เรื่องเหล่านี้ในการหาความนิยมให้กับตนเอง ด้วยการสัญญาว่าจะให้นั่นให้โน่นแก่ประชาชน ให้มีใช้ในราคาถูกหรือไม่มีขีดจำกัด ซึ่งนโยบายเหล่ามันก็ช่วยให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งที่ต้องการได้ อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ แต่สุดท้ายประชาชนก็จะเป็นผู้แบกรับความเดือดร้อนซะเอง
 
และสิ่งหนึ่งที่เห็นมีนักการเมืองบางกลุ่มนำมาใช้หาคะแนนนิยมในปัจจุบันก็คือ "น้ำมันราคาถูก"
 
อันที่จริงเรื่องการตั้งราคาสินค้านี้ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วเหมือนกันคือใน Memoir
 
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๘๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง "ผู้ส่งออกผู้ผลิต และผู้มีวัตถุดิบ(คิดสักนิดก่อนกดShareเรื่องที่๒)"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๕๐ วันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง "เมื่อประเทศผู้ส่งออกกินน้ำตาลราคาแพงกว่าราคาตลาดโลก"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๕๐ วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง "ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในอาเซียน"


รูปที่ ๑ ป้ายนี้ติดอยู่ที่ถนนพญาไทหน้าคณะเภสัชศาสตร์ ผมถ่ายเอาไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง


รูปที่ ๒ ประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่องราคาอ้างอิงเอทานอลแปลงสภาพและไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน จาก http://www.eppo.go.th/petro/kbg/pt-KBG2557-013.pdf

รูปที่ ๑ ที่เอามาให้ดูนั้นเป็นข้อกล่าวหาของนักการเมืองผู้หนึ่งต่อการตั้งราคาน้ำมัน ผมเห็นมันตั้งเป็นบอร์ดอยู่บนถนนพญาไท แถวหน้าคณะเภสัชศาสตร์ ก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก
  
ส่วนรูปที่ ๒ นั้นเป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับเวลาปัจจุบันมากที่สุดเท่าที่ผมหาได้ทางอินเทอร์เน็ต เป็นประกาศของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่องราคาอ้างอิงเอทานอลแปลงสภาพและไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน

สังเกตเห็นอะไรไหมครับ

ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการในกรุงเทพมหานครในวันนี้อยู่ที่ ๒๙.๙๙ บาทต่อลิตร แต่น้ำมันดีเซลที่ขายกันอยู่นั้นไม่ใช่น้ำมันปิโตรเลียม 100% แต่มีการผสมไบโอดีเซลที่เป็นเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมันเข้าไปด้วย 5% หรือที่เราเรียกว่าน้ำมันดีเซล B5
 
แต่ต้นทุนไอโอดีเซลที่นำมาผสมนั้นอยู่ที่ ๓๖.๖๗ บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าราคาขายปลีกเสียอีก

ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการน้ำมัน เป็นผลรวมของราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่นกับสารพัดภาษีที่บวกเข้าไปและค่าการตลาด ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้กำหนด โดยต้องนำเอาราคาอ้างอิงเอทานอลแปลงสภาพและไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันมาคิดด้วย ตัวเลขที่ใกล้เวลาปัจจุบันมากที่สุดที่ผมค้นได้ทางอินเทอร์เน็ตคือของวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖ (แต่ราคาปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างจากเวลานั้นมาก) ซี่งได้นำมาแสดงให้ดูในรูปที่ ๓ ข้างล่าง ยังไงก็ลองพิจารณาดูเอาเองก่อนก็แล้วกัน


รูปที่ ๓ โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ ๔๐/๒๕๕๖ (ครั้งที่ ๑๗๔) วันจันทร์ที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ จาก http://www.eppo.go.th/nepc/kbg/kbg-174.html

ULG ก็คือ Unleaded Gasoline หรือน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในที่นี้คือน้ำมันออกเทน ๙๕ ราคาน้ำมันไม่ผสมเอทานอลหน้าโรงกลั่นเพียง ๒๔.๕๖๖ บาท ถูกกว่าราคาเอทานอลแปลงสภาพที่นำมาผสมอีก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 (มีเอทานอลผสม 10%) ที่มีค่าออกเทน ๙๕ เหมือนกัน จึงมีราคาแพงกว่า และพอเป็น E20 (มีเอทานอลผสม 20%) ก็มีราคาแพงขึ้นไปอีก และตัวที่ต้นทุนแพงที่สุดคือ E85
 
แต่พอมาดูราคาขายปลีกจะเห็นว่าเรากลับไปตั้งราคาให้ตัวที่ต้นทุน "แพงที่สุด" ขายในราคาที่ "ถูกที่สุด" เท่านั้นยังไม่พอ ยังขายในราคาที่ "ต่ำกว่าต้นทุน" ด้วย โดยเฉพาะ E85 ที่ต้องนำเอาเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันไปโปะถึงลิตรละ ๑๐ กว่าบาท เท่านั้นยังไม่พอ ยังแถมค่าการตลาดให้สูงกว่าตัวอื่นอีก
 
แล้วกองทุนน้ำมันเอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากน้ำมันตัวอื่นที่ขายในราคาที่สูงกว่าต้นทุน คือให้คนอื่นมาแบกรับภาระต้นทุนที่สูงของ E20 และ E85 เพื่อให้คนใช้น้ำมัน E20 และ E85 มีน้ำมันใช้ในราคาถูก
 
ดังนั้นจะเห็นว่าน้ำมัน E20 และ E85 จะขายราคาถูกได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำมันที่ไม่ใช่แก๊สโซฮอล์และแก๊สโซฮอล์ E10 อยู่ ถ้าหากการใช้น้ำมันเหล่านี้ลดลงเมื่อใด หรือการใช้น้ำมัน E20 และ E85 เพิ่มขึ้นมากเกินไป ก็จะทำให้ไม่มีเงินมาโปะชดเชยราคาขาย E20 และ E85 ให้ขายถูกได้ (เพราะต้นทุนมันสูงกว่าอยู่แล้ว) การแก้ปัญหาจึงอาจต้องทำโดยการเพิ่มราคาน้ำมันที่ไม่ใช่แก๊สโซฮอล์และแก๊สโซฮอล์ E10 ให้สูงขึ้นไปอีก

ดังนั้นถ้าหากต้องการให้น้ำมันราคาถูกลง สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือรณรงค์ให้เลิกใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล เพราะมันเป็นการลด "ต้นทุน" สินค้าโดยตรง

แต่พอกล่าวอย่างนี้ก็คงมีคนออกมาคัดค้านว่าเอทานอลและไบโอดีเซลเป็นพลังงานสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศในการซื้อ

แต่มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือ

การผลิตไบโอดีเซลชนิด "เมทิลเอสเทอร์" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องใช้ "เมทานอล" ซึ่งเมทานอลนี้ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเมทานอลนั้นก็ยังอาศัยปิโตรเลียมเป็นวัตถุดิบ (ผ่านทางแก๊สธรรมชาติ) 
  
การผลิตเอทานอลก็ต้องใช้พลังงานความร้อนในการกลั่นแยก แหล่งพลังงานความร้อนที่ใช้ในการกลั่นก็ได้แก่ไอน้ำ ซึ่งต้องพึ่งถ่านหินหรือน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำให้เดือด และเชื้อเพลิงเหล่านี้ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
 
การขนส่งวัตถุดิบทางการเกษตรมายังโรงงาน ก็ยังใช้รถบรรทุก ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และเราก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพื่อมาผลิตเป็นน้ำมันดีเซล
 
เราใช้น้ำมันดีเซลในการขนวัตถุดิบเข้าโรงงาน เพื่อให้ได้เอทานอลมาชดเชยการใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นการทำงานแบบลดการใช้น้ำมันชนิดหนึ่ง แต่ไปใช้น้ำมันอีกชนิดหนึ่งเพิ่ม แล้วสรุปว่าเราลดการใช้น้ำมันหรือไม่ 
  
การเกษตรของบ้านเรายังต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
 
อันนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวที่เกิดจากปุ๋ยเคมีที่ถูกชะล้างลงแหล่งน้ำธรรมชาติและยาปราบศัตรูพืชที่ตกค้างในระบบนิเวศน์ และยังไม่รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการบุกรุกป่า

ต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบมายังโรงงานเป็นต้นทุนใหญ่ต้นทุนหนึ่ง โครงสร้างการเกษตรของประเทศเหล่าคือเกษตรกรเป็นผู้ปลูก ใครมีที่ตรงไหนก็ปลูกกันไป กระจัดกระจายไปทั่ว ส่วนคนตั้งโรงงานก็ไม่จำเป็นต้องทำการเกษตร ทำให้ต้องมีการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรจากแหล่งต่าง ๆ มายังโรงงานผลิต
 
สิบกว่าปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมการผลิตปาล์มน้ำมันของ Malaysia Palm Oil Board ที่ประเทศมาเลเซีย ที่นั่นเขามีที่ดินแปลงเดียวพื้นที่เป็นหมื่นไร่ไว้สำหรับปลูกปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว ด้วยขนาดพื้นที่เช่นนี้ทำให้เขาสามารถตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอยู่กลางแปลงเพาะปลูกได้ ดังนั้นต้นทุนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรมายังโรงงานจึงลดลงไปมาก
 
นอกจากนี้ประเทศของเขาเองยังเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบส่งออกสุทธิด้วย
 
แต่การผลิตน้ำมันปาล์มของมาเลเซียนั้นกระทำด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากของไทย คือเขาเน้นไปที่การนำน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้นั้นไปเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่เอามาชดเชยน้ำมันดีเซลที่มันมีราคาถูก
 
การนำน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงนั้นต้องมีกระบวนการวิจัยเพื่อหาทางนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่งานวิจัยเพื่อทำบทความตีพิมพ์เพื่อเพิ่มตำแหน่งให้กับผู้ทำวิจัย และยังต้องมีการลงทุนในส่วนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องยอมรับการสูญเสียไปบางส่วน เพราะงานวิจัยนั้นต้องมีกระบวนการลองผิดลองถูก
 
ตรงนี้มันแตกต่างไปจากการนำเอาน้ำมันปาล์มไปทำเป็นไบโอดีเซล ที่มันมีเทคโนโลยีรองรับสมบูรณ์แบบมากกว่า

เคยมีนักวิจัยจากบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งถามความเห็นผมว่าการวิจัยเรื่องไบโอดีเซลควรทำอย่างไร ผมก็ตอบไปตามแนวความคิดของผมว่าควรไปทำการวิจัยที่ตัว "เครื่องยนต์ดีเซล" เพราะว่าไปแล้วเครื่องยนต์ดีเซลนั้นเดิมทีออกแบบมาเพื่อใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง และไม่จำเป็นต้องเน้นไปที่น้ำมันเพื่อทดแทน High Speed Diesel (HSD) แบบที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไป แต่มุ่งเน้นไปที่เครื่องยนต์ที่รอบการทำงานคงที่และไม่ต้องการความเร็วรอบที่สูงมาก (เช่นเครื่องดีเซลปั่นไฟฟ้า ส่วนการเพิ่มความเร็วรอบก็ทำได้โดยการใช้ระบบเฟืองทดรอบ) โดยพัฒนาเครื่องยนต์ที่ทำงานได้ด้วยน้ำมันพืชเพียงอย่างเดียว หรือน้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันพืชโดยตรง หรือสำหรับโรงงานขนาดเล็กที่มีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไอน้ำนั้น ควรที่จะผลิตน้ำมันผสมดีเซล + น้ำมันพืช (ใช้แล้ว) โดยตรง จำหน่ายเขาไหม แทนที่จะให้เขาซื้อน้ำมันดีเซลเติมรถยนต์ (ที่มีคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นสำหรับการเผาเพื่อผลิตไอน้ำ) มาเผาเพื่อผลิตไอน้ำ
 
ส่วนเรื่องเอทานอลนั้น เขาก็ถามผมมาเหมือนกัน ผมก็ตอบเขาไปว่าสิ่งเดียวที่ผมเห็นว่าทำให้เอทานอลมีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด ก็คือขายในรูปของ "เหล้า" เคยเห็นไหมครับ เวลาเขามีงานนิทรรศการที่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกี่ยวข้องทีไร หน่วยงานในสถาบันการศึกษาที่มีการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรมักจะผลิต "ไวน์" ออกมาขาย ไวน์นี้มีแอลกอฮอล์เพียงแค่ 5-7% แต่ขายกันขวดละ (๐.๗๕ ลิตร) ประมาณ ๑๕๐ บาทหรือตกลิตรละ ๒๐๐ บาท ในขณะที่พวกที่เรียนทางวิศวกรรมเคมีกลับหาทางหมักให้ได้แอลกฮอล์เข้มข้น 10% จากนั้นก็หาทางกลั่นให้ได้ความบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อที่จะไปขายในราคาลิตรละไม่ถึง ๓๐ บาท

จากนี้ต่อไปก็ขอให้พิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น