วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผู้ส่งออก ผู้ผลิต และผู้มีวัตถุดิบ (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๒) MO Memoir : Thursday 21 February 2556

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีคนถามมาทาง facebook ว่าคิดเห็นอย่างไรกับข้อความหนึ่งที่มีคนกำลังกด share ทาง facebook เยอะแยะไปหมดในขณะนี้ ข้อความดังกล่าวอยู่ในรูปข้างล่าง ลองพิจารณาเอาเองก่อนนะ


รูปที่ ๑ ข้อความที่มีการกด share เมื่ออ่านแล้วในครั้งแรกคุณรู้สึกอย่างไร

ไหน ๆ เขาก็ให้แหล่งที่มาของข้อมูล ก็เลยต้องขอตามไปตรวจสอบ และก็ได้ข้อมูลสินค้าส่งออก ๑๕ อันดับแรกของประเทศไทย ย้อนหลังไป ๕ ปี ดังแสดงในตารางที่ ๑ ข้อมูลในตารางที่ ๑ เป็นการเรียงลำดับมูลค่าการส่งออกจากมากไปน้อยโดยใช้ตัวเลขของปีพ.ศ. ๒๕๕๕ นะ
  
จะเห็นว่าข้าวไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดของไทยมาตั้งนานแล้ว และการที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ไม่ได้หมายความว่ารายได้จากการส่งออกข้าวต้องอยู่ในอันดับต้น ๆ ของรายได้ประเทศ สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยคือ (๑) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (๒) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ (๓) อัญมณีและเครื่องประดับ และในส่วนของสินค้าเกษตรเองนั้น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเองนั้นก็มีมูลค่าการส่งออกรวมที่สูงกว่าข้าวทุกปี และถ้าพิจารณาว่าในบรรดาสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงนั้น มีสินค้าใดบ้างที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ก็เห็นจะมีแต่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และข้าว เท่านั้น นอกนั้นเป็นการนำวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากต่างประเทศ เข้ามาแปรรูปและประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ก่อนที่จะส่งกลับออกไป

  
ตารางที่ ๑ มูลค่าการส่งออกสินค้า ๑๕ อันดับแรกของปีพ.ศ. ๒๕๕๕ และข้อมูลย้อนหลังไปอีก ๔ ปี
 ที่มา : เข้าไปที่หน้านี้ก่อน http://www.ops3.moc.go.th/export/export_topn5y/# จากนั้นจึงเลือกรายการ

ที่ประเทศใดก็ตามมีการส่งออก "ผลิตภัณฑ์" ใดมากนั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นมี "วัตถุดิบ" สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ประเทศนั้นเองอาจใช้การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่น ทำการแปรรูปวัตถุดิบนั้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากนั้นจึงค่อยส่งออก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศญี่ปุ่น ที่มีการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานเกือบทั้งหมด
   
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็เช่นเดียวกัน ประเทศผู้มีแหล่ง "น้ำมันดิบ" ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิต "น้ำมันสำเร็จรูป" สูง และประเทศที่มีกำลังการผลิต "น้ำมันสำเร็จรูป" สูงก็ไม่จำเป็นต้องมีแหล่ง "น้ำมันดิบ" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล คือประเทศสิงคโปร์ ผลลองไปค้นดูกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันของประเทศต่าง ๆ ที่เห็นรวบรวมเอาไว้ค่อนข้างครบและใกล้เคียงปัจจุบันหน่อยได้มาจาก http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_oil_refineries (หน้าเว็บวันพุธที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖) ซึ่งคัดลอกมาให้ดูเปรียบเทียบ ๓ ประเทศคือไทย สิงคโปร์ และคูเวต

Thailand
Thai Oil Refinery (Thai Oil Company of PTT), 220,000 bbl/d (35,000 m3/d)
IRPC Refinery (IRPC PLC of PTT), 215,000 bbl/d (34,200 m3/d)
PTT Global Chemical Refinery (PTT Global Chemical PLC of PTT), 145,000 bbl/d (23,100 m3/d)
SPRC Refinery (Star Petroleum Refining Company of PTT), 150,000 bbl/d (24,000 m3/d)
Bangchak Refinery (Bangchak Petroleum of PTT), 120,000 bbl/d (19,000 m3/d)
Sri Racha Refinery (ExxonMobil), 170,000 bbl/d (27,000 m3/d)
Rayong Purifier Refinery (Rayong Purifier Company), 17,000 bbl/d (2,700 m3/d)
รวม 1,037,000 bbl/d หรือ 165,000 m3/d

Singapore
ExxonMobil Jurong Island Refinery (ExxonMobil), 605,000 bbl/d (96,200 m3/d)
SRC Jurong Island Refinery (Singapore Refining Corporation), 285,000 bbl/d (45,300 m3/d)
Shell Pulau Bukom Refinery (Royal Dutch Shell), 458,000 bbl/d (72,800 m3/d)
รวม 1,348,000 bbl/d หรือ 214,300 m3/d

Kuwait
Mina Al-Ahmadi Refinery (KNPC), 470,000 bbl/d (75,000 m3/d)
Shuaiba Refinery (KNPC), 200,000 bbl/d (32,000 m3/d)
Mina Abdullah Refinery (KNPC), 270,000 bbl/d (43,000 m3/d)
รวม 940,000 bbl/d หรือ 150,000 m3/d

จะเห็นว่าสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่เล็กกว่าประเทศไทยมาก จำนวนประชากรน้อยกว่าของกรุงเทพมหานครเสียอีก แถมมีพื้นที่น้อยกว่าคูเวตที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่รายหนึ่งของโลก แต่กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันของสิงคโปร์นั้นสูงกว่าของประเทศไทยและของคูเวตทั้ง ๆ ที่สิงคโปร์เองไม่มีแหล่งน้ำมัน กำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศไทยนั้นเพิ่งจะเริ่มไล่ทันกำลังการผลิตที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานนี้เอง 
    
การที่กำลังการกลั่นน้ำมันดิบที่สิงคโปร์สูงสุดในภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานาน ทำให้ตลาดใหญ่ของการซื้อ-ขายน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคนี้จึงไปอยู่ที่สิงคโปร์ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจึงอิงตลาดที่สิงคโปร์ ดังนั้นในมุมมองของผู้กลั่นน้ำมันและผู้ซื้อน้ำมันสำเร็จรูป ต้องจะอาศัยราคาที่ตลาดสิงคโปร์ ถ้าราคาที่สิงคโปร์รวมค่าขนส่งแล้วถูกกว่าซื้อจากโรงกลั่นในประเทศไทย ผู้ซื้อก็จะไปซื้อที่สิงคโปร์แทน ดังนั้นโรงกลั่นต้องลดราคาลงเพื่อให้ผู้ซื้อไม่ไปซื้อที่สิงคโปร์ ในทางกลับกันถ้าราคาที่สิงคโปร์นั้นสูงกว่าราคาขายในประเทศไทย โรงกลั่นก็จะส่งน้ำมันไปขายที่สิงคโปร์ ผู้ซื้อในเมืองไทยก็ต้องซื้อด้วยราคาเดียวกับที่สิงคโปร์
   
อีกข้อมูลหนึ่งที่ค้นได้จากเว็บของกรมธุรกิจพลังงานคือปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ และปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย (ไทยไม่มีการส่งออกน้ำมันดิบ แต่มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศเพื่อนบ้าน) ซึ่งได้นำมาแสดงไว้ในตารางที่ ๒

ตารางที่ ๒ ปริมาณ (พันบาร์เรลต่อวัน) และมูลค่า (ล้านบาท) ของการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ของประเทศไทย ข้อมูลจาก http://www.doeb.go.th/info/value_oil.php (หน้าเว็บวันอังคารที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖)


ก่อนอื่นพึงสังเกตว่าข้อมูลตัวเลขมูลค่าการส่งออก "น้ำมันสำเร็จรูป" ของกรมธุรกิจพลังงาน (ตารางที่ ๒) นั้นต่ำกว่าข้อมูลตัวเลขมูลค่าการส่งออก "น้ำมันสำเร็จรูป" ของกระทรวงพาณิชย์ (ตารางที่ ๑) แต่ก่อนที่จะตัดสินว่าตัวเลขของฝ่ายใดเชื่อถือได้มากกว่ากันนั้นคงต้องไปดูนิยามของคำว่า "น้ำมันสำเร็จรูป" ว่านิยามเอาไว้อย่างไร
   
ในส่วนของกรมธุรกิจพลังงานนั้นมีการระบุเอาไว้ว่าเป็นข้อมูล "น้ำมันเชื้อเพลิง" ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปนั้นอาจครอบคลุมไปถึงพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเครื่องจักรกลต่าง ๆ พวกที่ถูกส่งไปเป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตโอเลฟินส์ หรือไม่ก็พวกที่ใช้ในรูปของตัวทำละลายก็ได้ แต่ทางเว็บของกระทรวงพาณิชย์เองก็ไม่ได้ให้นิยาม (หรือให้ไว้แต่ผมหาไม่เจอก็ได้) ว่ากำหนดขอบเขตของน้ำมันสำเร็จรูปไว้แค่ไหน
แถมอีกนิดนึงว่ามูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบและสำเร็จรูปของประเทศไทยในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ เพียงปีเดียว สูงกว่ามูลค่าการส่งออกข้าวของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕ รวมกันเสียอีก

อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือน้ำมันดิบแต่ละชนิดนั้นกลั่นได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป และในขณะเดียวกันความต้องการผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้คงที่ตลอดทั้งปี ในช่วงที่โรงกลั่นต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการซ่อมบำรุงนั้นอาจต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน และในบางขณะที่ตลาดต่างประเทศต้องการเพิ่มขึ้นนั้น โรงกลั่นก็อาจเดินเครื่องเต็มกำลังเพื่อให้มีน้ำมันส่วนเกินจากความต้องการในประเทศสำหรับส่งออกขายต่างประเทศก็ได้

กลไกหนึ่งที่รัฐบาลใช้ในการควบคุมราคาสินค้าก็คือการใช้ภาษีสรรพษามิตซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่ง ภาษีสรรพษามิตใช้ในการควบคุมราคาสินค้าและบริการที่ไม่ต้องการให้มีการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ที่เห็นได้ชัดคือ สุรา บุหรี่ รถยนต์ และสถานบันเทิง ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงเองนั้นเนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเกือบทั้งหมด ถ้าหากปล่อยให้มีราคาถูกเกินไปก็จะเกิดการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย แต่ถ้ากำหนดภาษีให้สูงเกินไปก็จะทำให้กระทบกระเทือนต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในทางปฏิบัติรัฐจึงสามารถปรับอัตราภาษีสรรพษามิตเพื่อไม่ให้ราคาขายในประเทศมีความผันผวนมากเกินไป โดยอาจปรับลดอัตราภาษีลงเพื่อไม่ให้ราคาขายน้ำมันในประเทศเพิ่มรวดเร็วเกินไป และในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มภาษีดังกล่าวได้เพื่อไม่ให้น้ำมันมีราคาตกต่ำเร็วเกินไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก
   
การบิดเบือนราคาน้ำมันด้วยการใช้กลไกภาษีได้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องโครงสร้างการใช้พลังงานแก่ประเทศไทยในอดีต ในยุคสมัยหนึ่งเคยมีการมองว่าน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันของคนรวย ในขณะที่น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเพื่อการพาณิชย์เป็นน้ำมันของคนจน มีการกำหนดราคาขายน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันเบนซิน ผลที่เกิดขึ้นคือบรรดาผู้ใช้รถยนต์ต่าง ๆ หันไปใช้รถเครื่องดีเซลกันมาก ในขณะที่อีกพวกหนึ่งหันไปใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเกิดความฟุ่มเฟือยในการใช้น้ำมันดีเซล โรงกลั่นในประเทศไม่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลเพื่อรองรับตลาดในประเทศได้ ต้องมีการนำน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปเข้าจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ในประเทศล้นความต้องการของตลาดในประเทศ ต้องหาทางส่งออก จนกระทั่งมีการลอยตัวราคาน้ำมัน (น่าจะประมาณปีพ.ศ. ๒๕๓๒) ซึ่งทำให้ราคาขายน้ำมันของดีเซลเข้ามาอยู่ใกล้กับเบนซิน (ตอนนี้ที่มันห่างอยู่มากเป็นเพราะการบิดเบือนด้วยกลไกภาษีและกองทุนน้ำมัน)
   
อีกกรณีหนึ่งที่เคยเป็นที่ถกเถียงคือช่วงประมาณปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ที่รัฐบาลกดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทำมีการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีการสงสัยว่าน้ำมันดีเซลที่มีการจำหน่ายในขณะนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้งานทั้งหมด จำนวนไม่น้อยถูกนำไปกักตุนเพื่อเก็งกำไร เพราะรู้ดีว่ารัฐไม่สามารถกดราคาดีเซลเอาไว้ได้นาน พอรัฐปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันดีเซลก็เพิ่มทีเดียวลิตรละหลายบาท รายการนั้นมีการพูดกันว่าหลายคนได้กำไรไปอื้อซ่าจากราคาน้ำมันดีเซล

ที่เล่ามาเป็นเพียงแค่แง่มุมหนึ่งและมุมมองบางมุมของอุตสาหกรรมน้ำมันแค่นั้นเอง