ถึงเวลาตัดแต่งกิ่งไม้ที่บ้านทีไร
ก็ได้ลุ้นทุกทีว่าจะโดนอะไรบ้าง
ที่แน่ ๆ มีรายการเจ็บตัวเกือบทุกที
วันนี้ก็เช่นกัน
ถ้ากิ่งมันอยู่เตี้ย
และเป็นกิ่งเล็ก
ก็ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งตัดเอา
ไม่ก็เอาบันไดพับมากาง
แล้วปีนบรรไดขึ้นไปตัด
แต่ถ้าอยู่ริมรั้วก็อาจมีรายการปีนขึ้นไปตัดบนรั้ว
ถ้าสูงกว่านั้นก็ใช้พวกกรรไกรตัดกิ่งไม้ที่ใช้ต่อกับด้ามไม้ไผ่ซึ่งใช้สำหรับกิ่งเล็ก
แต่ถ้าเป็นกิ่งใหญ่เกินกว่ากรรไกรจะตัดได้
ก็ต้องใช้เลื่อยต่อด้ามยาวเลื่อยเอา
เรียกว่ากว่าจะได้แต่ละกิ่งก็เมื่อยคอดี
ก่อนตัดก็ต้องเล็งก่อนว่ามีอะไรอยู่บนต้นไม้บ้างหรือเปล่า
ที่ต้องระวังเห็นจะได้แก่งูเขียวกับรังมดแดง
งูเขียวแม้จะดูออกยากแต่ก็ไม่ค่อยจะได้พบ
แต่พบทีไรก็เป็นสัญญาณเตือนว่าตัดแต่งกิ่งไม้ได้แล้ว
แสดงว่าต้นไม้ขึ้นรกแล้ว
ส่วนมดแดงนั้นชอบมาทำรังอยู่บนต้นอะไรก็ได้ที่มีใบไม้ใหญ่
(ผมไม่เคยเห็นมดแดงทำรังที่ต้นกระถินหรือมะขาม)
ที่บ้านที่เห็นมันมาทำประจำก็ได้แก่มะม่วงกับการเวก
ถ้ารังมดแดงมันอยู่เตี้ย
ก็จะเอายาไปฉีดก่อนตัดกิ่ง
หรือถ้าไม่ชอบใช้ยาก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ขยำเป็นแท่งแล้วจุดไฟลนก็ได้
แต่ต้องระวังอย่างลนนาน
ไม่งั้นต้นไม้ตาย แต่ถ้ารังมันอยู่สูง
ก็ตัดมันลงมาทั้งกิ่ง
ทั้งนี้ต้องระวังด้วยว่าเวลากระชากกิ่งอาจจะมีมดแดงร่วงตกลงมาใส่หัวได้
(โดนเป็นประจำ)
แล้วค่อยมาจัดการรังมันที่บนพื้น
ซึ่งตอนนี้จะเลือกใช้ยาฉีดหรือไฟเผาก็แล้วแต่ชอบ
อย่างเช่นเช้าวันนี้
ตัดกิ่งการเวกที่มันพันขึ้นไปบนต้นมะม่วง
กิ่งการเวกนี่ตัดแล้วมันไม่ร่วงหล่น
เพราะหนวดมันพันกับพวกมันเองและกิ่งไม้อื่นมั่วไปหมด
ดังนั้นแม้ตัดมันขาดก็ยังต้องกระชากเอามันลงมา
แต่ที่ลงมามันไม่ได้มีเฉพาะกิ่งการเวกกับกิ่งมะม่วง
มันดันมีรังมดแดง (มองไม่เห็นแต่แรก)
ลอยมาตามแรงกระชากด้วย
แม้จะโชคดีที่หลบรังมดแดงทัน
แต่พวกที่ปลิวกระจายออกมาจากกิ่งมันกินพื้นที่กว้างกว่า
ลงมาเกาะทั้งหัว ทั้งตัว
ถึงขั้นต้องถอดเสื้อมาสะบัด
เพราะมันเข้าไปอยู่ในเสื้อด้วย
รูปที่
๑ ส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ตัดแต่งกิ่งไม้ประจำบ้าน
ตอนที่ซื้อต้นไม้ก็ซื้อมาเป็นต้นเล็ก
ๆ ยังไม่เห็นว่าตอนโตขึ้นมันจะมีพิษสงอะไร
แต่พอปลูกแล้วเห็นมันโตขึ้นก็เลยรู้เลยว่ามันมีพิษสงแค่ไหน
พิษสงในที่นี้ก็คือ "หนาม"
เริ่มจากต้นแรกที่แสบที่สุด
(แต่ก็ยังปลูกเอาไว้ถึง
๓ ต้น)
ต้องขอยกให้
"มะตูม"
หนามของต้นมะตูมเป็นหนามที่ยาว
(เกือบ
๒ นิ้ว ดูรูปที่ ๒ และ ๓)
และแข็งมากด้วย
เรียกว่าใส่รองเท้าฟองน้ำหรือรองเท้าพื้นนิ่มนี่เดินเหยียบไม่ได้เลย
มันทะลุพื้นรองเท้าเข้ามาแทงเท้าได้อย่างสบาย
ตอนที่มันโตขึ้นสูงเกินหัว
ก็จะมาคอยตัดกิ่งเล็ก ๆ
ที่งอกออกต่ำ จะได้เดินผ่านต้นมันได้ง่าย
ตัดตอนที่กิ่งมันยังอ่อนอยู่
หนามจะไม่ค่อยแข็งเท่าใดนัก
จากนั้นก็เอาไปกองไว้ริมรั้วที่ไม่มีใครเดินผ่าน
มะตูมนี่ดีหน่อยนะ
ที่ตามลำต้นของมันนั้นไม่มีหนาม
แต่ต้นที่ทำให้ผมได้แผลบ่อยที่สุด
เพราะตัดมันบ่อยที่สุดก็คือ
"พุทรา"
เพราะมันโตเร็ว
(มีอยู่ต้นเดียว)
หนามพุทราเป็นหนามเล็ก
ยาวอยู่ในช่วง ๕-๑๐
มิลลิเมตร
พุทราที่บ้านตอนเป็นกิ่งอ่อนเห็นเป็นหนามตรง
(รูปที่
๔)
แต่พอเป็นกิ่งแก่หรือลำต้นหนามมันจะโค้งงอ
คือโค้งชี้ไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับกิ่งที่มันยืดตัวออกไป
(รูปที่
๕)
แม้หนามพุทราจะเล็ก
แต่ก็แหลมคม อย่างเช่นวันนี้ก็เช่นกัน
ถัดจากจัดการกับมดแดงเสร็จ
ก็พักผ่อนด้วยการไปตัดต้นกระถิน
ได้ฝักกระถินมาเต็ม
แต่ก็ไม่มีใครกิน
เสร็จแล้วก็มาจัดการกับพุทรา
ที่มันแตกพุ่มใบบดบังแสงจนกระทั่งพืชสวนครัวบริเวณรอบ
ๆ ไม่ได้รับแสงเลย
การตัดกิ่งก็ต้องตัดกิ่งเตี้ยเปิดทางก่อน
จากนั้นจึงใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้สูงตัดต่อ
กิ่งพุทราที่ตัดลงมาแล้วก็ต้องเอากรรไกรตัดกิ่งตัดย่อยให้มันเล็กลงไปอีก
จะได้ประหยัดที่เก็บ
มาได้เลือดก็ตอนที่ตัดซอยให้มันเป็นกิ่งเล็กนี่แหละ
ต้นพุทรามันขึ้นอยู่มุมรั้ว
แถมยังมีไม้เลื้อยขึ้นไปพันอีก
พอตัดกิ่งแล้วกิ่งก็ไม่ร่วงลงมา
ต้องใช้กรรไกรตัดนั่นแหละเกี่ยวและกระชากลงมา
บังเอิญเหลือเกินมุมที่สามารถกระชากกิ่งได้นั้นดันไปปลูกต้นมะขวิดเอาไว้
(ปลูกเอาไว้ต้นเดียวเช่นกัน)
แถมมะขวิดมันก็ดันมีหนามแบบไม่น้อยหน้าหนามมะตูมซะด้วย
หนามมะขวิดเองก็ยาวเกือบ
๒ นิ้ว (รูปที่
๖ และ ๗)
ตอนกระชากกิ่งพุทราก็ต้องระวังทั้งบน
หลัง และที่พื้น
ด้านบนที่ต้องระวังคือกิ่งพุทราจะร่วงใส่หัว
ด้านหลังที่ต้องระวังคือต้นมะขวิดที่หนามันจะแทงทะลุเสื้อเอา
และที่พื้นก็คือรังมด
ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหนตั้งแต่เมื่อใด
คนเมืองปัจจุบัน
อาศัยอยู่ในอาคารซะเป็นส่วนใหญ่
เห็นหมู่บ้านจัดสรรแต่ละที่ก็จะเน้นสร้างบ้านให้เต็มพื้นที่ให้มากที่สุด
เน้นหนักไปที่พื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้านว่ามีมากเท่าใด
ส่วนพื้นที่สีเขียวก็จะให้ไปใช้พื้นที่ส่วนกลาง
ซึ่งดูเหมือนว่าคนเมืองจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันจะชอบแบบนี้
เพราะถือว่าไม่ต้องดูแลสวน
สามารถใช้เวลาว่างในวันหยุดไปเที่ยวที่ต่าง
ๆ ได้ ไม่ต้องเสียเวลารดน้ำ
ตัดแต่งกิ่ง เก็บกวาดใบไม้
ฯลฯ
แต่สำหรับผมแล้วการมีพื้นที่สีเขียวส่วนกลางมันก็ไม่สุขเท่ากับการมีพื้นที่สีเขียวส่วนตัว
เพราะพื้นที่สีเขียวส่วนตัวมันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรต่อมิอะไรก็ได้
มุมโปรดในการนั่งจิบกาแฟตอนเช้าและตอนบ่ายของผม
ก็คือชิงช้าต่อจากเศษไม้
มีพุ่มต้นเทียนหยดและต้นเข็มขึ้นอยู่ข้าง
มีพุ่มชบา กุหลาบ
และต้นมะยมขึ้นอยู่ด้านหลัง
เยื้องหลังไปซ้ายนิดหน่อยมีกอไผ่และต้นประดู่ที่มีกระรอกวิ่งเล่นไล่จับกันเป็นประจำตอนเช้า
ๆ (แต่ตอนบ่ายมันจะมาวิ่งสวนสนามไปมาบนขอบรั้วให้เห็นแทน)
บางวันก็ผสมโรงด้วยนกกางเขนและนกเขา
และตอนนี้ก็มีมะละกอโผล่ขึ้นมา
(คงเกิดจากเมล็ดที่กินเสร็จแล้วเอาไปโยนทิ้งรอบบ้าน)
มุมนี้ตอนเช้าแดดดวงอาทิตย์จะเฉียงมาจากข้างหลัง
แต่ก็มีกระถินให้ร่มเงาบัง
ส่วนตอนบ่ายนั้นแดดจะเฉียงมาทางด้านหน้า
ก็ได้ร่มของต้นเทียนหยดและประดู่บังเอาไว้
ส่วนกลางคืนถ้าเป็นคืนข้างขึ้น
ก็จะเหมาะแก่การนั่งรับลมตบยุงพร้อมทั้งชมดวงจันทร์ไปพร้อมกัน
เผลอบางคืนถ้านั่งอยู่มืด
ๆ
ก็จะมีหิ่งห้อยแวะเวียนบินข้ามรั้วจากสวนอีกฟากหนึ่งมาเยี่ยมเยียนด้วย
รูปที่
๒ หนามของต้นมะตูม
ไม่เพียงแต่ยาวเกือบ ๒ นิ้ว
แต่ยังแข็งด้วย
แทงทะลุรองเท้าแตะฟองน้ำได้สบาย
รูปที่ ๕ หนามต้นพุทราที่อยู่กับลำต้น จะมีลักษณะโค้งลง (ชี้) ไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับลำต้น (กิ่ง) ที่ยื่นออกไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น