วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไผ่ออกดอกบาน ก็ถึงกาลลาจาก (สำหรับนิสิตป.ตรี รหัส ๕๓) MO Memoir : Friday 14 March 2557

"นิสิตในภาควิชานี้ควรจะต้องเรียนรู้วิชาอะไรบ้างนั้น มันต้องเป็นมติของภาค ไม่ใช่อาจารย์เพียงคนใดคนหนึ่งยืนกรานว่าฉันจะสอนวิชานี้ ดังนั้นนิสิตต้องเรียนวิชานี้ อาจารย์แต่ละท่านเองก็มีนิสิตทำวิจัยกันในระดับโท-เอกกันอยู่ แล้ววิชาเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ ก็ขอให้แต่ละท่านพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน"
  
นั่นเป็นความเห็นของผม เมื่อมีผู้ถามความเห็นของผมในที่ประชุมช่วงบ่ายระหว่างการสัมมนาภาควิชาที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่หัวหินเมื่อหลายปีที่แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้สอนวิชาเคมีวิเคราะห์ (๒ หน่วยกิตบรรยาย ๑ หน่วยกิตปฏิบัติการ) และเคมีอินทรีย์ (๓ หน่วยกิตบรรยาย ๑ หน่วยกิตปฏิบัติการ) ว่าสองวิชานี้นิสิตของภาควิชาเราควรยังต้องเรียนหรือไม่
  
เนื้อหาหลักสูตรของภาควิชาเรานั้นไม่ได้เขียนขึ้นอย่างไม่มีข้อกำหนด เราต้องเขียนตามข้อกำหนดของสภาวิศวกรซึ่งเป็นผู้กำหนดว่าต้องเรียนรู้วิชาใดบ้าง เมื่อจบไปแล้วจึงจะไปขอใบประกอบวิชาชีพในสาขาวิชานั้นได้ได้ (ที่เราเรียกว่าใบ กว.) จากนั้นจึงนำเอาข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า สกอ.) มาพิจารณาต่อว่า เพื่อให้หลักสูตรได้รับการรับรอง หลักสูตรนั้นต้องประกอบด้วยวิชาอะไรบ้างเพิ่มเติมนอกเหนือจากวิชาชีพเฉพาะทาง ถัดจากนั้นก็ต้องมีดูข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่ออีกว่าทางมหาวิทยาลัยต้องการให้บัณฑิตผู้จบจากมหาวิทยาลัยนี้แตกต่างไปจากบัณฑิตผู้จบจากสถาบันการศึกษาอื่นอย่างไร ปิดท้ายด้วยข้อกำหนดของทางคณะที่ต้องการให้ผู้ที่จบสาขาวิชาชีพนี้จากคณะนี้ แตกต่างไปจากผู้ที่จบจากสาขาวิชาชีพเดียวกันจากคณะอื่นอย่างไร
  
สุดท้ายก็เหลือที่ว่างเพียงนิดเดียว สำหรับให้ทางภาควิชาออกแบบว่าต้องการให้บัณฑิตผู้ที่จบจากสาขาวิชาเฉพาะทางของภาควิชานี้แตกต่างจากผู้ที่จบจากสาขาวิชาเฉพาะทางจากภาควิชาเดียวกันในคณะอื่นอย่างไร
 
ผลที่ตามมาก็คือ ด้วยจำนวนหน่วยกิตสูงสุดของหลักสูตรที่ถูกกำหนดไว้ ก็ต้องมาทำการพิจารณาว่าวิชาพื้นฐานในหลักสูตรเดิมนั้น จะมีตัวใดหลงเหลืออยู่บ้าง


  
"มันไม่ใช่วิชาในสาขาวิชาชีพของเรา เขียนตำราไปก็เอาไปขอความก้าวหน้าในวิชาชีพไม่ได้"
"เอาเวลาไปสอนวิชาความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ดีกว่า"
"มันไม่ใช่วิชาวิศวะ"
"วิชาอื่นของภาคไม่ต้องการวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐาน"
ฯลฯ

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวที่มีการกล่าวทั้งในที่ประชุมและการคุยกันนอกรอบที่ผมได้รับฟังมากับตัวเอง ก่อนที่จะมีการลงมติกันในเช้าวันรุ่งขึ้น (ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในระหว่างการลงมติ เพราะเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ซึ่งผลที่ออกมาก็คือให้ตัดสองวิชานั้นทิ้งเสีย (ดูเหมือนจะไม่มีเสียงคัดค้าน) และเปิดเป็นวิชาใหม่ทดแทน ๑ วิชาบรรยาย (๓ หน่วยกิต) ๑ วิชาปฏิบัติการ (๑ หน่วยกิต) โดยเอาเนื้อหาของวิชาทั้งสองที่ถูกปิดไปนั้นมารวมกัน ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถือว่าได้โบนัสก็ได้ ตัดสองวิชานั้นออกไปผมก็สอนหนังสือน้อยลง 13-15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ยังได้เงินเดือนเท่าเดิม
 
ส่วนวิชาที่เปิดใหม่นั้น ในฐานะมันเป็นวิชาเปิดใหม่ก็ต้องถือว่าอาจารย์คนใดก็ได้ในภาคก็มีสิทธิที่จะมาสอนวิชานั้น ไม่ได้ผูกขาดให้เฉพาะคนที่สอนวิชาที่ถูกปิดไป


"ผมถามก็ไม่เห็นอาจารย์บอกอะไรเลย" นิสิตผู้หนึ่งกล่าวกับผมเมื่อเขาถามคำถามผม แล้วผมก็ตอบเขาไปว่าถ้าอยากรู้ก็ลองทำการทดลองดูซิ
 
"ก็นี่เป็นวิชาปฏิบัติการ เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ด้วยการถามคำถามให้คนอื่นตอบ อยากรู้ก็ลงมือทำการทดลองดู" ผมตอบเขาไปอย่างนั้น
 
"ถ้าสิ่งที่จะให้คุณทดลองทำนั้นมันไม่เกิดอันตรายใด ๆ ผมก็จะปล่อยให้คุณลองทำไป แต่ถ้าผมเห็นว่ามันจะเกิดอันตรายได้ ผมก็จะห้ามเอง" ผมบอกต่อ
 
แต่ก่อนเราจะบ่นกันว่านักเรียนไทยไม่ค่อยกล้าถามคำถาม แต่พักหลังนี้ดูเหมือนจะกลับกัน คือถามมากเกินไปโดยไม่พยายามคิดหาคำตอบเองก่อน

 
แลปเคมีวิเคราะห์เราเริ่มด้วยการทำแลป gravimetric analysis ด้วยการตกตะกอนคลอไรด์ด้วยสารละลาย AgNO3 และตกตะกอนซัลเฟตด้วยสารละลาย BaCl2 (แลปที่อยู่กันนานที่สุด section เย็นเลิกแลปกันสามทุ่ม) แลปต่อมาก็เป็นการทดลอง precipitation titration หาปริมาณคลอไรด์ด้วยการไทเทรตกับสารละลายมาตรฐาน AgNO3 
  
มีอยู่ปีหนึ่ง สองสัปดาห์หลังจากนิสิตทำแลป precipitation titraion เสร็จ (ให้เวลาทำรายงานส่ง ๑ สัปดาห์) ผมก็บอกกับนิสิตในแลปว่า ผลการวิเคราะห์ที่พวกคุณส่งมานั้น "ผิดทุกกลุ่ม" (ทั้งหมด ๑๘ กลุ่ม)
 
เรื่องทั้งเรื่องก็คือตอนทำแลป gravimetric analysis นั้น ผมใช้ตัวอย่างน้ำปลาเป็นสารละลายหาปริมาณคลอไรด์ แต่ตอนทำแลป precipitation titration นั้น ผมใช้สารละลายไอโอไดด์เป็นตัวอย่าง ซึ่งทั้งคลอไรด์และไอโอไดด์นั้นตกตะกอนด้วย AgNO3 ได้ทั้งคู่
 
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือเกลือ AgCl มีสีขาว แต่เกลือ AgI มันมีสีเหลืองสว่าง ในระหว่างที่นิสิตทำแลป precipitation titration นั้นผมก็รอดูอยู่ว่าจะมีใครถามผมไหมว่าทำไมตะกอนที่ได้มันจึงมีสีเหลือง แต่ก็ไม่มีใครถาม ทำให้ผมสงสัยว่าตอนตกตะกอน AgCl นั้นก็คงไม่มีใครสังเกตว่าตะกอน AgCl ที่ได้มีสีอะไร ดูแต่ว่ามีตะกอนเกิดขึ้น เพราะในคู่มือการทำแลปไม่ได้บอกว่าให้ดูสีตะกอนด้วย ก็เลยไม่มีใครดูกันเลยสักราย เรียกว่าทำตามที่คู่มือระบุเอาไว้ทุกประการ
 
เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว นิสิตภาควิชาเรากลุ่มหนึ่งไปฝึกงานที่โรงงานแถว อ. บ้านค่าย จ. ระยอง (ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นโรงงานอะไร) งานที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาคือน้ำเสียของโรงงานมี "สีเหลือง" ปนเปื้อน และโรงงานต้องการทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด
 
อันที่จริงผมก็ไม่ได้เป็นคนดูแลการฝึกงานของเขาหรอก เพียงแต่พอเขาเอาปัญหานี้ไปปรึกษาอาจารย์ผู้ดูแล ก็ได้คำตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า "ผมไม่ถนัด" ให้ไปลองถามคนอื่นดู
 
ในโครงการฝึกงานที่นิสิตผู้นั้นไปฝึกงานนั้น (ผมไม่ได้อยู่ในโครงการนี้) อาจารย์ผู้ดูแลนิสิตฝึกงานจะต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับนิสิตที่ตัวเองดูแลอยู่ เพราะอาจารย์ผู้ดูแลได้รับค่าตอบแทนด้วย แต่พอนิสิตเจอคำตอบอย่างนี้เข้านิสิตกลุ่มนี้ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ก็เลยแวะหาโอกาสเข้ามาถามผม คำแนะนำอยากแรกที่ผมให้เขาไปก็คือ ให้ตั้งคำถามพื้น ๆ ขึ้นมาก่อนว่า "สารเคมีที่มีโครงสร้างแบบใดบ้างที่ทำให้เกิดสีได้" จากนั้นจึงค่อยไปควานหาในระบบว่ามันมีโอกาสที่สารเคมีชนิดนั้นรั่วไหลลงสู่ระบบน้ำทิ้งได้หรือไม่

ในช่วงปีใกล้เคียงกัน นิสิตของภาควิชาอีกกลุ่มหนึ่งไปฝึกงานที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งที่ศรีราชา โจทย์ที่เขาได้รับมาจากโรงกลั่นก็คือ "น้ำมันเตาที่ส่งไปให้นั้นมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ" โดยไม่มีคำอธิบายอื่นเพิ่มเติม
 
ทางโรงกลั่นจึงได้มอบหมายให้นิสิตฝึกงานหาวิธีการผสมน้ำมันเตาที่อยู่ในถังเก็บ เพื่อที่จะให้น้ำมันมีความ "สม่ำเสมอ" ก่อนที่จะส่งให้ลูกค้า
 
แต่ปัญหาก็คืออะไรที่มัน "ไม่สม่ำเสมอ" 
  
ตรงนี้ต้องใช้ความเข้าใจเรื่อง เวลาใช้งานน้ำมันเตานั้น เขานำไปใช้งานอย่างไร

"อาจารย์ตอบเหมือนที่โปรเฟสเซอร์ต่างประเทศตอบเลย" นิสิตป.เอก ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของเขาบอกกับผม
 
หัวข้องานวิจัยของเขานั้นเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม สิ่งที่เขาต้องทำก็คือหาทางเติมไฮโดรเจนเข้าไปในโมเลกุลสารชนิดหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือจากสารตั้งต้นเดิมที่มีสีขาว กลายเป็นสารที่มีสีขึ้นมา และประเด็นการเกิดสีนี้เป็นคำถามที่กรรมการสอบท่านหนึ่งถามในห้องสอบว่าเกิดจากอะไร ซึ่งเขาตอบไม่ได้ อาจารย์ที่ปรึกษาของเขา (ผู้มีรางวัลวิจัยและทุนวิจัยมากมาย) ก็ตอบไม่ได้ ได้แต่บอกว่าให้เขาไปหา "paper" มาอธิบาย
 
แต่โปรเฟสเซอร์จากต่างประเทศที่มาสอบด้วยในฐานะที่ปรึกษาร่วมกลับตอบว่าไม่ต้อง พร้อมกับอธิบายว่าสารนั้นเกิดสีได้อย่างไรด้วยการใช้ความรู้จากตำราเคมีอินทรีย์ หลังจากที่เขาสอบเสร็จเขาก็เลยเอาคำถามนั้นมาถามผม คงเป็นเพราะเห็นว่าผมเคยสอนเคมีอินทรีย์ (แต่ผมไม่เคยสอนเรื่องการเกิดสีของสารอินทรีย์นะ) แล้วก็พบว่าได้คำตอบเดียวกัน
 
คำอธิบายเรื่องนี้มันอยู่ในเรื่อง Chromophore และ Auxochrome




"ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจ" นั่นเป็นประโยคที่ครูสอนวิชาสังคมศาสตร์ผมตอนเรียนมัธยมปลายกล่าวไว้ ซึ่งกว่าผมจะเข้าใจความหมายของประโยคดังกล่าว ก็ตอนไปเรียนปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศ
 
ภูมิประเทศเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ มนุษย์จะไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ที่ทำให้ตนเองไม่สามารถอยู่ในภูมิประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ และพฤติกรรมของมนุษย์ก็นำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาการทางวิทยาศาตร์ด้วย ตัวผมเอง ความเข้าใจวิชาเคมีอินทรีย์กับการคำนวณเชิงตัวเลข ก็ได้มาจากการศึกษาประวัติศาตร์การพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาแนวความคิดด้านโครงสร้างอะตอม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของทฤษฎีต่าง ๆ ที่ใช้กัน

ภาควิชาของเรานั้นเดิมเป็นสาขาวิชาอุตสาหการเคมี สังกัดอยู่ในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๐ หนังสือเคมีอินทรีย์เล่มหนึ่งที่ผมได้รับจากอาจารย์ผู้สอนวิชานี้ให้แก่ผมก่อนที่ท่านจะเกษียณอายุราชการไป หน้าแรกมีตราประทับว่า "แผนกตำราเรียนวิศวกรรมศาสตร์" และบรรทัดต่อมาข้างล่างมีลายมือเขียนว่า "หมายเหตุ เป็นของอาจารย์ผู้สอนวิชานี้ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๙ สุวัฒนา ทรัพย์เสริมศรี" นับถึงวันนี้ก็ ๔๘ ปีแล้ว
 
ท่านอาจารย์สุวัฒนา ผู้เป็นอาจารย์สอนวิชานี้ตั้งแต่เริ่มตั้งภาค (ผมเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น) จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ก่อนเกษียณท่านได้มอบหนังสือที่ท่านใช้สอนนั้นให้กับผมเพื่อใช้สอนนิสิตรุ่นต่อไป

วิชาเคมีวิเคราะห์และเคมีอินทรีย์ของภาควิชา มีการเรียนการสอนครั้งสุดท้ายในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ซึ่งผู้เรียนก็คือนิสิตรหัส ๕๓ และวันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายในชีวิตการเรียนระดับปริญญาตรีของนิสิตรหัส ๕๓ ที่เป็นนิสิตรุ่นสุดท้ายของภาควิชาที่ได้เรียนวิชาดังกล่าว ซึ่งอาจถือได้ว่าวันนี้เป็นการปิดฉากการเรียนการสอนวิชาเคมีวิเคราะห์และเคมีอินทรีย์ของภาควิชานี้อย่างสมบูรณ์

 
 "ไผ่" จัดได้ว่าเป็นพืชที่เรายังไม่เข้าใจมันดี ที่ขายกันอยู่ก็มักจะได้มาจากการขุดหน่อที่แตกแยกออกมาจากกอ แต่จะว่าไปแล้วต้นไผ่นั้นเติมโตได้จาก "เมล็ด" ที่จะเกิดหลังจากที่ไผ่ออก "ดอก"
 
แต่นานเท่าใดไผ่จึงจะออกดอก นั่นคือคำถามที่ทางวิชาการยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ไผ่แต่ละพันธุ์นั้นใช้เวลาออกดอกนานไม่เท่ากัน ว่ากันว่าส่วนใหญ่อยู่ประมาณ ๒๐-๖๐ ปี โดยเริ่มนับจากการงอกจากเมล็ด
 
หลังน้ำท่วมบ้านปี ๕๔ ไผ่ที่ซื้อมาลงปลูกเอาไว้ก่อนน้ำท่วมไม่นานจมน้ำตายไปเสีย ๒ กอ ก็เลยต้องไปซื้อมาปลูกใหม่ การซื้อไผ่ที่ได้มาจากการแยกกอนั่นมีข้อเสียตรงที่เราไม่ทราบว่าไผ่ที่ได้มานั้นมีอายุเท่าใดแล้ว สองต้นที่ซื้อเอามาปลูกใหม่นั้นมันใช้เวลาพักตัวอยู่ประมาณ ๓-๔ เดือนกว่าจะเริ่มแตกหน่อใหม่ และก็กลายเป็นกอใหญ่ในเวลาเพียงแค่ไม่ถึงสองปี
 
และเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ที่กอไผ่ทั้งสองกอออกดอกให้เห็น

เขาว่ากันว่าเมื่อใดที่ไผ่ออกดอก และเมื่อดอกร่วงหล่นปล่อยให้เมล็ดโปรยปรายออกไป ต้นไผ่ก็จะตาย

การตายของต้นไผ่นี้ไม่ใช่การตายจาก แต่เป็นการตายเพื่อให้ต้นไผ่ต้นใหม่งอกงามขึ้นมา และเริ่มนับอายุใหม่


 
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเรียนของนิสิตป.ตรีรหัส ๕๓ ของภาควิชา เป็นรุ่นสุดท้ายของหลักสูตรเดิม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแบบขนานใหญ่ เรียกว่าในรอบ ๓๐ ปีก็ได้ เพราะเนื้อหาหลักสูตรที่เรียนกันนั้นก็แทบไม่แตกต่างไปจากที่ผมได้เรียนเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว และในการนำเสนอผลงานในวันนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของพวกเขาคงได้รู้คำตอบแล้วว่า วิชาเคมีอินทรีย์และเคมีวิเคราะห์จำเป็นหรือไม่สำหรับการทำงานของพวกเขา เขาคงได้เห็นแล้วว่างานของเขาเอง หรือของเพื่อนฝูงของเขา จำเป็นต้องใช้ความรู้จากสองวิชานี้ด้วยหรือไม่

และนับว่านิสิตรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ได้ผ่านเหตุการณ์หลายอย่างระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัย

ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะเปิดเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ก็ต้องมาลุ้นกันว่าเหตุการณ์รอบมหาวิทยาลัยนั้นมีความปลอดภัยหรือยัง เพราะมันเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อาวุธสงครามปะทะกันในบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยก่อนเปิดเทอมเพียงไม่กี่วัน แม้แต่งานแรกพบ รับน้องใหม่ ก็ยังได้รับผลกระทบ

ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรียนได้แค่เทอมเดียว (แถมมีการให้เพื่อนจากภาควิชาอื่นมาทำแลปแทนด้วย) ก็ได้หยุดเทอมยาวเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ ก่อนจะไปปิดเทอมปลายกันก่อนสงกรานต์ แล้วก็ได้รู้ว่าการต้องมานั่งเรียนหนังสือกันในเดือนเมษายนนั้นมันเป็นอย่างไร
 
ผมมักจะบอกกับนิสิตที่เข้าเรียนวิชาที่ผมสอนในครั้งแรกที่ผมเข้าสอน อยู่เสมอว่า "ถึงเวลาเรียนก็ให้เข้าห้องเรียนได้เลย ไม่ต้องมาเกี่ยงกันว่าต้องให้อาจารย์เข้าห้องก่อน หรือต้องรอให้อาจารย์มาถึงห้องเรียนก่อน ประเภทที่อ้างว่าเข้าเรียนสายเพราะอาจารย์มาสอนสาย อาจารย์ก็จะอ้างแบบเดียวกันว่าเข้าสอนสายเพราะนิสิตเข้าเรียนสาย แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นคนไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี อาจารย์ที่เข้าสอนสายต้องถือว่าเป็นความผิดอาจารย์ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง นิสิตที่พบกับอาจารย์ที่เข้าสอนสายเป็นประจำ ควรที่จะทำการร้องเรียนถึงพฤติกรรมของอาจารย์ที่ทำให้พวกคุณเสียประโยชน์ เพราะเขามักเลิกสอนช้า ทำให้พวกคุณไปเข้าเรียนวิชาอื่นไม่ทันอีก ไม่ใช่เอาเป็นแบบอย่าง"
 
"และผมถือว่ามันก็ไม่ใช่ความผิดของคนที่มาตรงเวลาต้องมานั่งรอคนที่มาสาย ถ้าถึงเวลาแล้วถึงมีคนในห้องเพียงคนเดียว ผมก็ต้องสอน ไม่ใช่ไปให้ความสำคัญกับคนที่มาสาย ขืนทำเช่นนั้นคนเหล่านั้นจะได้ใจใหญ่"
 
"ในส่วนของแลปนั้นแตกต่างออกไป เพราะมันมีกติกาข้อห้ามที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนที่จะให้เริ่มทำการทดลอง ดังนั้นถ้าใครมาสายก็ต้องรอ เพราะถ้าเขาไม่รับทราบข้อห้ามและเกิดทำผิดพลาดขึ้น ความเดือดร้อนมันไม่ได้จำกัดอยู่ที่เขาเพียงคนเดียว แต่มันจะกระทบไปถึงคนอื่นที่อยู่รอบข้างด้วย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเรียนแลป ก็ขอให้เข้าให้ตรงเวลาด้วย"

ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ได้มาทำหน้าที่จัดงานจุฬาวิชาการ และได้เห็นว่าผู้สมัครเข้าร่วมทำกิจกรรมนั้น กระทำไปเพื่ออะไร ระหว่างกิจกรรมที่มีการแจกเสื้อฟรีให้กับผู้เข้าร่วมจัด กิจกรรมที่มีการเสนอหน้าเสนอตา กับกิจกรรมที่ไม่มีการแจกเสื้อฟรีให้กับผู้เข้าร่วมจัด กิจกรรมที่มาตั้งอยู่ในซอกหลืบ
และได้เห็นว่ากิจกรรมอันไหนที่มีผู้คนสนใจเข้าเยี่ยมชมมากกว่ากัน :)
 
นอกจากนี้ยังมีการปิดงานก่อนกำหนดอย่างกระทันหัน เพื่อให้ผู้นำของประเทศมหาอำนาจมาจัดประชุมลูกน้องของเขาในมหาวิทยาลัยของเรา

ปิดท้ายด้วยปีการศึกษา ๒๕๕๖ ที่ได้เห็นเพื่อนฝูงแตกคอกันมากที่สุดด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นที่อิงอยู่บน ความเชื่อ อคติ ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ 
  
และบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยของเรากลายเป็นที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล
 
และยังเป็นรุ่นสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษาด้วยตารางเวลาเรียนเดิมเหมือนดังเช่นประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วเขาจัดให้นักเรียนของเขาได้เรียน คือจัดการเรียนการสอนกันตามฤดูกาล และหยุดเรียนกันในช่วงฤดูร้อน

รุ่นนี้ยังอาจเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ได้รับปริญญาในหอประชุมใหญ่นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยของเขามีหอประชุมใหญ่ แต่กลับต้องไปรับกันที่อาคารสนามกีฬาในร่มแทน
 
และอาจมีบางคนที่คงจะไม่มาร่วมงานดังกล่าว เนื่องด้วยความคิดเห็นทางการเมืองของเขา

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ "การชนะผู้อื่นในการโต้เถียงนั้น มันเทียบไม่ได้กับการทำให้เขาเปลี่ยนความคิดเห็นของเขาให้มาคล้อยตามกับเราได้"

สมัยผมเรียน ผมได้รับการอบรมว่าบัณฑิตของมหาวิทยาลัยของเรานั้น เมื่อจบการศึกษาไปแล้วต้องสามารถเป็นผู้ "ชี้นำ" สังคมได้ นั่นหมายถึงการที่สามารถจะบ่งบอกได้ว่าสังคมควรเดินไปในทางทิศทางใดที่ "ถูกต้อง" โดยอิงจากพื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของเรา ไม่ใช่การเดินตาม "กระแส" ที่คนอื่นกำหนดหรือมัวแต่กังวลว่าจะตามคนอื่นไม่ทัน จะทำได้ไม่เหมือนคนอื่น คือทำเหมือนกับคนที่ต้องให้คนอื่นเขาจูงจมูกให้เดินตามอยู่เสมอ
 
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือคำว่า "วางตัวเป็นกลาง" นั้นไม่ได้หมายความว่า "ไม่เข้าข้างฝ่ายใด" แต่หมายถึงการ "วางความคิดให้เป็นกลาง" คือไม่มีอคติ ลำเลียง กล่าวคือให้มี "สติ" ก่อน จากนั้นจึงใช้ "ปัญญา" ไตร่ตรอง พิจารณาเหตุผลและข้อโต้แย้งต่าง ๆ แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเลือกข้างฝ่ายใด หรือไม่ควรเลือกข้างทั้งสองฝ่าย

อย่ากลายเป็นคนที่ไปเที่ยวบอกคนอื่นให้ "วางตัวเป็นกลาง" เพราะว่าเขา "ไม่ได้มาอยู่ฝั่งเดียวกับเรา" และไม่สามารถหาเหตุผลไปหักล้างเหตุผลของอีกฝ่ายได้
สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 ความว่า

"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"


ขอปิดท้ายด้วยรูปที่หวังว่าแม้ว่าพวกคุณจะจบไปแล้ว พวกคุณคงจะยังระลึกถึงอยู่บ้างว่า ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตพวกคุณ พวกคุณได้มารบกับคนที่นั่งอยู่ตรงเก้าอี้ตัวนี้

ขอให้โชคดีและมีความสุขในชีวิตทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น