ระหว่างนั่งเปิด
facebook
เช้าวันเสาร์
ก็บังเอิญไปเห็นข้อความที่มีคนกดแชร์ส่งต่อ
ๆ กันมา ปรกติก็ไม่ค่อยอ่านเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว
เพราะมันมักสืบหาที่มาที่ไปไม่ได้
และบ่อยครั้งก็พบว่ามันก็เป็นเรื่องเดิม
ๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังมาหลายปีแล้ว
เพียงแต่เพิ่งจะวนกลับมาใหม่
แต่คราวนี้ที่ในใจอ่านก็เพราะมันเป็นการกดแชร์มาจากหน้า
facebook
ที่มีชื่อของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เป็นโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ซะด้วย
และพอตรวจสอบกลับไปก็พบว่ารูปดังกล่าวปรากฏอยู่บนหน้า
facebook
ของโรงพยาบาลนั้นจริง
โดยขึ้นไปปรากฏตัวแต่วันที่
๒๓ มกราคม ๒๕๕๗
หรือเมื่อต้นปีนี้เอง
ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงอันตรายจากการบริโภคสาหร่ายทอดกรอบ
ลองอ่านข้อความดังกล่าวในหน้าถัดไปดูก่อนนะ
จากนั้นเราจะค่อยมาพิจารณาโดยใช้เหตุผลกันอีกที
รูปที่ ๑ จับภาพมาจากหน้า facebook ของหน่วยงานดังกล่าว ปรากฏว่าช่วงเวลาประมาณวันที่ ๒๓ มกราคม มีแต่การโพสข้อความทำนองเดียวกันเต็มไปหมด
"อันตรายจากสาหร่ายทอดกรอบ
อันตราย
เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
เกี่ยวกับสาหร่ายทอดกรอบ.....
ลูกสาวเพื่อน
ชอบซื้อสาหร่ายทอดกรอบยี่ห้อหนึ่ง
กินทุกเช้าเวลาไปโรงเรียน
และเที่ยงเวลาพัก และตอนเย็นกินเล่น
ๆ ตอนทำการบ้าน
หลังจากติดกินสาหร่ายมานานกว่า
6
เดือน
วันหนึ่งพบว่าลูกสาวมาบอกกับแม่ว่าสายตาเธอ
ระยะหลังพร่ามาก และที่สำคัญปวดเอวมาก
ในชั้นต้น
เพื่อนเราคิดว่าลูกสาวคงกำลังมีอาการสายตาสั้น
จึงไม่ได้คิดอะไรมาก
และพาไปหาจักษุแพทย์
เพื่อทำแว่นสายตา
แต่จักษุแพทย์บอกว่าตาปกติ
ต่อไป เธอพาลูกสาวไปหาหมอ
เพื่อตรวจอาการปวดเอว
ปรากฏว่าหมอบอกว่าอาจเกิดจากการที่เธอช่วงหลังชอบฝึกยิมนาสติก
จึงให้ยาแก้ปวด และคลายเส้นมากิน
หลังจากวัน
ผ่านไปอีก 2
เดือน
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ลูกสาวยังคงชอบทานสาหร่ายทอดกรอบเหมือนเดิม
ซึ่งจู่ ๆ ลูกสาวมาบอกเธอว่า
เธอมองทุกอย่างมัวมาก
และหลายครั้งเกิดอาการภาพซ้อน
ส่วนเอวที่ปวดนี้
มันปวดจุกร้าวภายในเอว
ไม่ใช่ด้านนอก
ซึ่งยาที่กินก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นแต่ประการใด
สุดท้ายเธอตัดสินใจพาลูกสาวไปหาหมอที่
รพ.
เพื่อเช็คสุขภาพ
ปรากฏว่า เมื่อผลออกมา
เธอช๊อค....
เพราะอาการที่สายตาของลูกสาวเธอ
คือม่านตาเสีย
และเลนส์ตาก็เสื่อมอย่างรวดเร็ว
อันเกิดจากการบริโภคเกลือและโซเดียมกลูตาเมท
มากเกินขึ้นเป็นเวลานานเกินไป
และเอวที่ปวดร้ายภายในนั้น
แท้จริงแล้ว คืออาการไตพัง
จากการบริโภคสาหร่ายทอดกรอบที่ใส่เกลือและสารชูรสมากและนาน
แพทย์อธิบายว่า
ลำพังสาหร่ายเองนั้น
คือพืชน้ำชนิดหนึ่งที่อาศัยการดูดซึมสารทุกชนิดในน้ำจืดและน้ำทะเล
ดังนั้นภายในสาหร่ายเอง
ก็อุดมไปด้วยสารพิษจากที่มันดูดมาเก็บไว้ภายใน
เพื่อนำสาหร่ายมาผลิต
หากไม่ได้ให้ความร้อนที่สูงกว่า
1
พันองศา
และอบนานกว่า 2
ชั่วโมง
สารพิษทั้งหมดในสาหราย
จะคงอยู่เท่ากับเรากินสารพิษในน้ำ
ที่สาหร่ายดูดเข้าไปเก็บไว้ที่ตัวเอง
เมื่อมาอบแห้งแล้วโรยด้วยเกลือและโซเดียมกลูตาเมท
ย่อมทำให้สาหร่ายอบแห้ง
ไม่ต่างอะไรกับสารพิษที่ผู้ทานเข้าแล้วมีผลสะสมสารพิษในร่ายกายเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ จนสภาพอวัยวะพังในที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วสาหร่ายทอดบางครั้งอาจมีสารปนเปื่อนมาจากการผลิตซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจพบสารปนเปื่อน
จากสาหร่ายที่มาจากประเทศจีน
อีกทั้งการทอดจากน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ
บอกต่อ ๆ กันไปเพื่อเป็นวิทยาทาน
www.facebook.com/thai.soursop
ผู้เขียน..สุวรรณา/คุณภาพชีวิต/www.manager.co.th"
เรื่องนี้โพสที่นำมาแสดงข้างบนอยู่ในส่วนที่เป็นรูปภาพของ
facebook
ของโรงพยาบาลดังกล่าว
(รูปที่
๒ ในหน้าถัดไป)
ผมตามไปดูรูปเรื่องดังกล่าวก็ได้เห็นปัญหา
อย่างแรกเลยก็คือที่หน้านั้นมันจะปรากฏชื่อโรงพยาบาล
และก็ตามด้วยเนื้อหาที่ยาวเกินกว่าจะแสดงในหน้าเดียวได้
ต้องกด ...
"ดูเพิ่มเติม"
ตรงนี้เชื่อว่าสำหรับคนจำนวนไม่น้อย
เมื่อเห็นข้อความลักษณะดังกล่าวก็คงจะคิดแล้วว่าเป็นบทความของโรงพยาบาล
แต่เมื่ออ่านต่อไปจนจบแล้วจะพบลิงค์อ้างอิงไปยังที่อื่นอีก
ซึ่งเมื่อนำลิงค์ดังกล่าวไปค้นหาด้วย
google
ดูก็พบว่าเรื่องดังกล่าวมีการโพสเอาไว้ตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ.
๒๕๕๗
และมีการชี้แจงและถกเถียงกันเพื่อให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีความไม่จริงปะปนอยู่มาตั้งแต่ปีพ.ศ.
๒๕๕๖
แล้ว
หรือก่อนที่จะมีการนำมาเผยแพร่ในเว็บของโรงพยาบาลนี้เสียอีก
นั่นแสดงว่าบทความดังกล่าวเป็นบทความที่คนอื่นเขียนเอาไว้
เพียงแต่คนดูแล facebook
ของโรงพยาบาลเอามาแชร์ต่อ
รูปที่ ๒ ภาพที่ไปจับมาจากหน้า face ของโรงพยาบาลดังกล่าวโดยตรง พึงสังเกตว่าจำนวนคนถูกใจน้อยกว่าจำนวนคนกดแชร์มากเหลือเกิน (ในกรอบสีแดง)
รูปที่ ๒ ภาพที่ไปจับมาจากหน้า face ของโรงพยาบาลดังกล่าวโดยตรง พึงสังเกตว่าจำนวนคนถูกใจน้อยกว่าจำนวนคนกดแชร์มากเหลือเกิน (ในกรอบสีแดง)
นอกจากนี้ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือจำนวนคนกดไลค์
(ชอบ)
นั้นมีประมาณเพียงครึ่งเดียวของคนกดแชร์
(แบ่งปัน)
เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมานั้นพบว่าจำนวนคนกดไลค์มักจะมากกว่าจำนวนคนกดแชร์
เว้นแต่ว่าเป็นข้อความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม
ที่บางคนบังเอิญไปอ่านเห็นแล้วประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าไปรุมด่าคนเผยแพร่ข้อความนั้น
ซึ่งพอพบคนที่แชร์ข้อความทำนองนี้มาทีใด
ผมก็มักจะบอกให้เขาอย่าไปแชร์ต่อ
ให้ลบทิ้งไปซะดีกว่า
แต่ในกรณีของเรื่องสาหร่ายนี้สงสัยว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
คือคิดว่าเป็นจากธรรมชาติของคนที่ชอบอยากจะอวดว่าได้พบเห็นอะไรใหม่
ๆ ก่อนคนอื่น ก็เลยรีบกดแชร์
โดยที่ยังไม่ได้อ่านเนื้อหาและพิจารณาให้ถี่ถ้วน
ทีนี้เรามาลองดูเนื้อหากันดูบ้าง
ผมขอเริ่มจากประโยคที่ว่า
"
...หากไม่ได้ให้ความร้อนที่สูงกว่า
1
พันองศา...
"
บทความนี้ไม่ได้ระบุ
"หน่วย"
ของอุณหภูมิ
ตรงนี้ต้องระวังนิดนึงถ้าหากบทความนั้นแปลมาจากภาษาต่างประเทศ
เพราะหน่วยวัดอุณหภูมิที่ใช้กันในชีวิตประจำวันนั้นมีสองหน่วยหลักคือ
"องศาเซลเซียส"
และ
"องศาฟาเรนไฮต์"
ถ้าต้องการแปลงหน่วยองศาฟาเรนต์ไฮต์มาเป็นองศาเซลเซียสแบบคิดง่าย
ๆ ในใจก็เอา 2
หาร
ถ้าต้องการละเอียดก็ต้องเอา
32
ไปหักออกก่อน
จากนั้นจึงค่อยหารด้วย 1.8
ในกรณี
1000
องศานี้
ถ้าเป็นองศาฟาเรนไฮต์ก็จะประมาณ
500
กว่าองศาเซลเซียส
แต่ในกรณีนี้มันไม่สำคัญเท่าใดนัก
เพราะที่อุณหภูมิขนาดนี้
ถ้าเผาในที่มีออกซิเจน
ถ้าอุณหภูมิดังกล่าวมีหน่วยเป็นหน่วยองศาเซลเซียส
ตัวสาหร่ายเองก็คงเหลือแต่ขี้เถ้าไม่เหลือซากใด
ๆ ในเวลาอันสั้น และถ้าเป็นหน่วยฟาเรนไฮต์
ตัวสาหาร่ายก็คงเหลือแต่ขี้เถ้าเช่นกัน
แต่คงใช้เวลาเพิ่มขึ้นบ้าง
และอันที่จริง อุณหภูมิจุดติดไฟ
(fire
point) ของน้ำมันพืชมันก็ไม่ได้สูงเท่าใด
ในภาวะที่มีออกซิเจน
พอให้ความร้อนมันไปได้ไม่กี่ร้อยองศาเซลเซียส
(ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน)
มันก็ลุกติดไฟได้แล้ว
(แบบที่เราเห็นเวลาเขาทำผักบุ้งไฟแดง)
แต่ถ้าจะแย้งว่าอาจทอดในบรรยากาศที่ไม่มีออกซิเจนมันก็ไม่ได้อีก
เพราะที่อุณหภูมิระดับ 1000
องศานี้โมเลกุลน้ำมันพืชและสาหร่ายเองจะแตกออกเป็นโมเลกุลเล็ก
ๆ เต็มไปหมด คงเหลือแต่ก้อนคาร์บอน
ผมเคยสอนนิสิตทำการทดลองเรื่องการวิเคราะห์ปริมาณซัลเฟตในน้ำ
ซึ่งเริ่มจากการตกตะกอนซัลเฟตด้วยสารละลาย
BaCl2
ก่อน
จากนั้นจึงกรองตะกอนซัลเฟตที่ได้โดยใช้กระดาษกรอง
และนำไปเผาในเตาเผา
ผู้ที่ผ่านการทดลองนี้มาจะทราบว่าถ้ามีออกซิเจนเพียงพอ
อุณหภูมิแค่ 700-800
องศาเซลเซียสก็เผากระดาษกรองให้กลายเป็นไอได้หมดได้ในเวลาเพียงแค่ไม่นาน
แต่ถ้าออกซิเจนมีไม่พอ
กระดาษกรองจะกลายเป็นแผ่นคาร์บอนสีดำ
ไม่มีสภาพเป็นกระดาษดังเดิม
เรื่องการสลายตัวของสารเนื่องจากอุณหภูมิในกรณีของไฮโดรคาร์บอนนั้นเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งใน
Memoir
ปีที่
๕ ฉบับที่ ๕๕๙ วันอาทิตย์ที่
๖ มกราคม พ.ศ.
๒๕๕๖
เรื่อง "Thermalcracking - Thermal decomposition"
โครงสร้างโมเลกุลของน้ำมันพืชเอง
มันมีส่วนที่เป็นสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนขนาดยาวอยู่
และสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนขนาดยาว
โมเลกุลมันแตกออกได้ง่ายกว่าโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนขนาดเล็กเสียอีก
ประโยคถัดมาที่ขอนำมาพิจารณาคือ
"...ภายในสาหร่ายเอง
ก็อุดมไปด้วยสารพิษจากที่มันดูดมาเก็บไว้ภายใน..."
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องปรกติ
ถ้าหากในน้ำมีสารพิษ
สิ่งมีชีวิตก็จะดูดซับสารพิษนั้นเข้าไปไว้ในตัวมันเอง
แต่การสะสมของสารพิษนั้นจะมากที่สุดในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตอนบนของห่วงโซ่อาหาร
ความเข้มข้นสารพิษในตัวของสัตว์น้ำที่กินพืชน้ำ
จะสูงกว่าความเข้มข้นของสารพิษในตัวตัวพืชน้ำเอง
และความเข้มข้นของสารพิษในตัวสัตว์ที่กินสัตว์น้ำ
(เช่น
นก กินปลาที่กินพืชน้ำที่มีสารพิษเป็นอาหาร)
ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีกครับ
ดังนั้นถ้าว่ากันตามนี้
การกินอาหารสัตว์ทะเลหรือสัตว์ที่เลี้ยงในกระชังที่กินพืชที่เติบโตในแหล่งนั้นที่มันอาศัยอยู่นั้นเป็นอาหาร
จะมีโอกาสได้รับสารพิษสะสมเข้าสู่ร่างกายมากกว่าการกินพืชน้ำ
ตรงนี้ลองดูกรณีของยาฆ่าแมลง
DDT
ดูก็ได้
เพียงแค่ลองใช้คำว่า DDT
accumulation ค้นหาใน
google
ดูก็จะเห็นวงจรการสะสมของสารพิษในห่วงโซ่อาหาร
รูปที่ ๓ ความเข้มข้นการสะสม DDT ในห่วงโซ่อาหาร พวกที่อยู่ข้างล่างเป็นอาหารให้กับพวกที่อยู่ข้างบน
รูปที่ ๓ ความเข้มข้นการสะสม DDT ในห่วงโซ่อาหาร พวกที่อยู่ข้างล่างเป็นอาหารให้กับพวกที่อยู่ข้างบน
ประโยคถัดมาที่ขอนำมาพิจารณาคือ
"...อันเกิดจากการบริโภคเกลือและโซเดียมกลูตาเมท..."
เกลือในที่นี้ก็คือเกลือแกง
(NaCl)
ส่วนโซเดียมกลูตาเมทก็คือผงชูรส
สารเคมีทั้งสองนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับสาหร่ายทอด
แต่มีการใช้กับการปรุงอาหารทั่วไป
ถีงไม่กินสาหร่ายทอด แต่กิน
"โซเดียม"
(ในรูป
Na+)
มากเกินไป
(ไม่ว่าจะมาจากการใส่เกลือโดยตรงหรือเครื่องปรุงรสที่มีเกลือผสมอยู่เช่นน้ำปลา)
ก็ส่งผลต่อการทำงานของไตและความดันโลหิตของร่างกายได้
ถ้าเอาข้อมูลในย่อหน้านี้รวมกับในย่อหน้าข้างบน
ก็จะสรุปได้ว่า การกินปลาเค็ม
จะส่งผลให้เกิดอันตรายมากกว่าการกินสาหร่ายทอดอีก
เพราะปลามันอยู่ทางด้านบนของห่วงโซ่อาหาร
ดังนั้นมันจึงควรมีสารพิษสะสมมากกว่า
และแถมมีโซเดียม (จากเกลือ)
อีก
ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับโซเดียมมากเกินพอและสารพิษจึงควรมากกว่าด้วย
ณ
จุดนี้ก็ย้อนกลับไปทำให้เกิดคำถามว่า
แล้วข้อความที่บอกว่า
"แพทย์อธิบายว่า
.....
" นั้น
เป็นจริงหรือไม่
ตรงนี้ต้องแยกประเด็นออกมาพิจารณาเป็นอย่างแรกก่อนว่า
เนื้อหาของบทความนี้มาจากเหตุการณ์จริงหรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น
ถ้าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นก็แล้วไป
และถ้าเป็นเหตุการณ์จริง
ก็ทำให้เกิดประเด็นที่ต้องพิจารณาตามมาคือคำถามเรื่องความรู้ของบุคคลที่ถูกเรียกว่า
"แพทย์"
ในบทความดังกล่าว
ว่าบุคคลนั้นเป็นแพทย์จริงหรือไม่
ถ้าไม่เป็นจริงก็แล้วไป
แต่ถ้าเป็นจริงละก็
ก็น่าสงสารใครก็ตามที่ต้องไปรับการรักษากับแพทย์คนนั้น
ข้อความประเภทนี้ควรต้องตรวจสอบแหล่งที่มาข้อมูล
และโดยทั่วไปก็มักจะพบว่าหาต้นตอไม่ได้ว่าการเผยแพร่ครั้งแรกนั้นอยู่ที่ใด
ใครเป็นผู้ดูแลแหล่งเผยแพร่ข้อความเป็นครั้งแรก
ข้อความมักไม่ชัดเจนว่าเกิดขึ้น
ที่ไหน เมื่อใด ใครเป็นคนเขียน
มักขึ้นต้นด้วยคำว่า "อันตราย"
และมักจบท้ายด้วยการบอกว่าช่วยแชร์
ช่วยบอกต่อ ๆ กันไป
ที่สำคัญก็คือพอมีคนอ่านเข้าก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่รีบเชื่อแบบฝังใจทันทีว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริงทั้งหมด
แม้จะมีการชี้แจงอย่างไรว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นจริง
โดยที่เขาไม่สามารถโต้แย้งได้
เขาก็จะใช้วิธีการป้องกันตัวเองว่า
"ไม่รู้ล่ะ
ป้องกันเผื่อเอาไว้ก่อนดีกว่า"
แต่มีประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่อยากฝากเอาไว้ก็คือ
หน่วยงานใด ๆ
ก็ตามที่ควรเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการที่เชื่อถือได้
ควรที่จะพึงระมัดระวังการเผยแพร่ข้อความใด
ๆ ออกสู่สาธารณะ เนื้อหาใด
ๆ ที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะผ่านทางช่องทางใด
ๆ
ที่สาธารณะชนรับรู้ว่าเป็นของหน่วยงานนั้นยิ่งควรต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนมีการเผยแพร่
ไม่ใช่เพียงแค่ให้ใครสักคนมานั่งหาอะไรก็ได้มาเผยแพร่หน้าเว็บ
เพื่อให้หน้าเว็บมันมีเรื่องราว
ดูไม่เบื่อ หรือเรียกความสนใจ
และไม่ควรนำบทความใด ๆ
ที่สืบหาต้นตอหรือผู้เขียนไม่ได้นั้นมาเผยแพร่
เพราะถ้าหากสิ่งที่เผยแพร่ไปนั้นไม่ถูกต้อง
มันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนั้นในระยะยาว
เวลาสอนวิชาสัมมนา
ผมมักบอกนิสิตเสมอว่า
ในวิชานี้คุณคงได้เรียนจากอาจารย์หลาย
ๆ ท่านว่าควรนำเสนออย่างไรจึงจะดูดีน่าเชื่อถือหรือ
"พูดอย่างไรให้คนเชื่อ"
แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ
"ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก"
ซึ่งการจะรับฟังข้อมูลโดยไม่ถูกหลอกได้นั้น
ต้องตัดเอาเทคนิคการนำเสนอต่าง
ๆ ออกไปจากข้อมูลที่ได้รับฟังมาให้หมด
เหลือแต่เพียงเนื้อหาแท้จริงของข้อมูล
จากนั้นจึงพิจารณาความสมเหตุสมผลหรือข้อขัดแย้งในข้อมูลที่ได้รับมา
สิ่งสำคัญคือการแปลความหมายข้อมูลนั้นอย่าแปลโดยด่วนสรุปไปที่ข้อสรุปใดข้อสรุปหนึ่ง
ต้องแปลออกมาให้เป็นกลางให้ได้ก่อน
แต่การจะทำดังกล่าวได้นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ในหลาย
ๆ ด้านนอกเหนือไปจากด้านที่ตนเองเรียนเฉพาะทางด้วย
Memoir
ฉบับนี้คงเป็นฉบับสุดท้ายของปีที่
๖ ฉบับถัดไปจะขึ้นต้นปีที่
๗ สรุปว่าในรอบปีที่ ๖ นี้ออก
Memoir
ไปทั้งสิ้น
๑๘๙ ฉบับ รวมทั้งสิ้น ๑๐๑๐
หน้า A4
(ไม่รู้เหมือนกันว่าเขียนไปได้ยังไง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น