วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เรื่องของ ค.ย. MO Memoir : Saturday 19 July 2557

รู้จัก ค.. ไหมครับ (อ่านว่า คอ-ยอ นะครับ)

หลายปีก่อนหน้านี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนภาควิชาเข้าร่วมการอบรมเตรียมความพร้อมการตรวจการรับรองการประกันคุณภาพสถาบันการศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น โดยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะทางด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด โดยชื่อผมถูกส่งไปโดยมีการระบุตำแหน่งไว้ด้วยว่าทำหน้าที่เป็น XY ของภาควิชา (ตัวย่อจริง ๆ มันคืออะไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าเป็นภาษาอังกฤษสองตัวอักษร ในที่นี้ขอใช้ XY ไปก่อนก็แล้วกัน) 
   
เช้าวันอบรมผมก็ไปลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ที่ลงทะเบียนก็บอกว่าผมมาในฐานะตำแหน่ง XY ผมก็เลยถามเขาว่ามันคือตำแหน่งอะไรเหรอ เขาก็ทำท่าเหมือนกับว่าผมถามเขาแบบหาเรื่องเขา ผมก็บอกกับเขาไปตรง ๆ ว่าที่ถามก็เพราะผมไม่รู้ว่ามันคือตำแหน่งอะไร มีความรับผิดชอบอะไร เพราะผมไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน
  
เท่านั้นแหละผมก็เลยได้รู้ความจริงว่า ที่เจ้าหน้าที่ (ที่เขาทำงานทางด้านนี้โดยตรง) คนที่ผมถามเขา เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตำแหน่ง XY ย่อมาจากคำว่าอะไร และมันคืออะไร ผมก็เลยบอกเขาต่อว่าช่วยหาคำตอบให้ผมหน่อยได้ไหม เท่านั้นแหละทำให้ผมเห็นภาพที่แย่ลงไปอีกก็คือ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่ทำงานทางด้านนี้ของมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้ว่าคำย่อ XY นี้มันย่อมาจากอะไร และตำแหน่งนี้คือตำแหน่งอะไร ทำหน้าที่อะไร จนในที่สุดเขาก็ไปพบกับเจ้าหน้าที่อีกคนที่ทราบว่า XY นี้ย่อมาจากอะไร และตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไร
  
แต่เรื่องมันก็ไม่จบง่าย ๆ ผมยืนดูคนที่ผมถามคำถามเขาไปฟังคำอธิบายจากคนที่รู้ความหมาย พอคนที่รู้ความหมายเขาอธิบายให้คนที่ผมถามคำถามเสร็จสิ้น คนที่ผมถามคำถามเขาก็บอกให้คนที่ทราบความหมายนั้นไปอธิบายให้ผมฟังที คนที่ทราบความหมายก็ตอบกลับไปว่าคนที่ผมถามคำถามนั้นตอนนี้ก็รู้ความหมายแล้ว ทำไมไม่ไปอธิบายให้ผมฟังเอง ผมยืนอยู่ตรงนั้นได้ยินสองคนนั่นทะเลาะกัน ก็เลยถามแทรกขึ้นไปว่า ตกลงว่าในที่นี้มีใครจะอธิบายความหมายของคำย่อดังกล่าวได้ไหม ถ้าไม่มีใครรู้เรื่องเลย แล้วมีตำแหน่งที่มีคำย่อนี้ทำไม นั่นแหละ ผมจึงได้คำตอบ

แต่เรื่องมันยังไม่จบแค่นั้น

ระหว่างการบรรยายในช่วงเช้า วิทยากรที่มาบรรยายก็นำ power point ที่เตรียมมาฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ แสดงแผนผังที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำย่อต่าง ๆ ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็น เสร็จสิ้นการบรรยายช่วงแรกก่อนมีการพัก coffee break ก็มีการเปิดโอกาสให้ถามคำถาม ผมเห็นที่ประชุมไม่มีใครยกมือถามผมก็เลยยกมือถามซะเองว่า คำย่อที่ท่านวิทยากรกล่าวมานั้นมันย่อมาจากอะไร และมันคืออะไร เขาก็ถามผมกลับมาว่าคำไหนเหรอที่ผมไม่เข้าใจ ผมก็ตอบกลับไปว่าทุกคำย่อที่ท่านแสดง เพราะผมเองเพิ่งจะมาสัมผัสเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ก็เลยฟังไม่รู้เรื่องเลยว่าท่านต้องการให้ทางภาควิชาของผมกลับไปปฏิบัติอย่างไร
  
ปรากฏว่าวิทยากรเองก็ไม่ตอบคำถามของผมเพื่อให้ผมรู้ว่าคำย่อต่าง ๆ ที่เขาบรรยายออกมานั้นมีความหมายอย่างไร ซึ่งเหตุการณ์ตรงนั้นทำให้ผมงงไปเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะทางผู้จัดงานก็ประกาศเองว่าใครมีคำถามอะไรก็ถามได้ แต่พอถามคำถามด้วยความที่ไม่รู้จริง ๆ กลับได้รับความเงียบกลับมาเป็นคำตอบ ผู้ช่วยอธิการบดีที่นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย (ที่ทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้น) เลยต้องออกมาแก้สถานการณ์ แต่ผมก็ได้รับคำตอบเพียงแค่คำย่อของคำเพียงแค่สองคำ
  
คำย่อคำหนึ่งที่ปรากฏในการบรรยายนั้นและผมจำได้จนถึงวันนี้ก็คือ cds เพราะระหว่างการบรรยายมีการพูดถึง cds บ่อยครั้งมากว่า "การทำงานต้องมีการสร้าง cds ต้องเกี่ยวข้องกับ cds ต้องมีการปรับ cds ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ฯลฯ" และคำ ๆ นี้ก็เป็นคำที่ผมยกเป็นตัวอย่างขอให้เขาอธิบายว่ามันคืออะไร ผมก็ได้คำตอบกลับมาว่ามันย่อมาจาก common data set ผมก็ถามต่อว่าแล้ว common data set มันคืออะไร ก็ได้คำตอบที่เป็นไทยว่า "ชุดข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน"
  
ลองเอาคำว่า "ชุดข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน" ไปแทนคำ "cds" ในประโยคสีแดงในย่อหน้าข้างบนดูซิครับ แล้วลองอ่านประโยคดังกล่าวใหม่ คุณคิดว่าประโยคไหนที่คนไทยทั่วไปที่เพิ่งจะมาเข้ารับการอบรมครั้งแรก ฟังรู้เรื่องและทำความเข้าใจได้ง่ายกว่ากัน
  
สิ่งที่ผมขอให้ท่านผู้ช่วยอธิการบดีท่านนั้นทำก็คือ ช่วยทำบัญชีรวบรวมความหมายของคำย่อต่าง ๆ ให้หน่อยได้ไหม เพราะในหน่วยงานระดับคณะหรือภาควิชานั้น ผู้ที่ทำงานด้านนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียว ขนาดผู้ที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างให้มาทำงานด้านนี้เพียงอย่างเดียวยังไม่รู้เรื่องเลยว่าคำย่อต่าง ๆ ที่ใช้นั้นมันคืออะไร แล้วจะให้คนที่เพิ่งจะเข้ามาสัมผัสอย่างเช่นผมนั้นเข้าใจและรู้เรื่องได้อย่างไร

แต่จนกระทั่งวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยเห็นทางมหาวิทยลัยจะมีการจัดทำคู่มือดังกล่าว

ผมยังได้เสนอด้วยว่าควรมีการจัดการอบรมโดยถือว่าผู้เข้าร่วมการอบรมนั้น "ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าว" เพราะที่ผ่านมามักพบว่าทางมหาวิทยาลัยเวลามีโครงการอะไร ก็มักจะคุยกันเป็นการภายในกลุ่มคณะทำงานก่อน เรียกว่ารู้เรื่องกันอยู่เฉพาะภายในกลุ่มคณะทำงาน พอถึงเวลาจะเอาไปให้คนอื่นใช้ปฏิบัติ ก็ไม่มีการให้ความรู้ว่าเรื่องราวดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร หรือไม่ก็ให้เพียงแค่แบบรวบรัดเพียงครั้งเดียวในการอบรมครั้งแรก การอบรมครั้งต่อไปก็ไม่มีการให้แล้วเพราะถือว่าเคยอบรมพื้นฐานไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นผู้เข้ารับการอบรมแต่ละครั้งเป็นคนละกลุ่มกัน
  
ช่วงระหว่างพักกินกาแฟ ก็มีผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายหลายท่านมาพูดคุยกับผมและบอกว่าขอบคุณที่ช่วยถามคำถามให้ เพราะเขาก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันว่าแต่ละคำคืออะไร และดูเหมือนว่าผู้เข้าฟังจำนวนมากก็ไม่รู้ด้วยว่าคำย่อที่วิทยากรใช้นั้นมีความหมายว่าอะไร หรือความหมายที่แต่ละคนเข้าใจนั้นมันตรงกันหรือเปล่า กรณีที่แต่ละคนคิดว่าตัวเองเข้าใจคำที่ผู้อื่นพูด แต่ความเข้าใจไม่ตรงกันนั้นเคยเล่าไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๕ วันศุกร์ที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เรื่อง "อย่าคิดว่าคนอื่นจะคิดเหมือนเราเสมอไป"
  
นั่นแสดงว่าสังคมในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่นั้นอยู่กับแบบ ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ต้องลงมือปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่กล้าถามคำถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่แน่ใจ เพราะกลัวโดนหัวหน้างานเพ่งเล็งหรือเพื่อนร่วมงานใช้เป็นสาเหตุในการโจมตีได้ว่าไม่มีความรู้ในงานที่รับมอบหมายให้ทำ ในทางกลับกันผู้ที่เป็นหัวหน้างานหรือควบคุมการปฏิบัติงานก็ไม่กล้าถามคำถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เพราะเกรงว่าจะโดนครหาว่าไม่มีความรู้แล้วมาเป็นหัวหน้าเขาได้อย่างไร ในขณะที่ผู้ที่ถามคำถามเพื่อต้องการความชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองต้องนำไปใช้ปฏิบัตินั้นกลับโดนมองว่า (จากคนอื่นที่มีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้าง หรือจากตัววิทยากรเอง หรือจากผู้ร่วมประชุมด้วยกันเอง) ว่าเป็นตัวป่วน ตัวหาเรื่อง อยากเด่น อยากดัง

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเจอวิทยากรพูดโดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือเปล่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีโอกาสได้รับฟังวิทยากรรายหนึ่งที่เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน เขามาบรรยายให้ฟังว่าต่อไปในอนาคตนั้นคอมพิวเตอร์จะมีบทบาทอย่างไร แต่วิธีการบรรยาของเขานั้นเขาพูดแบบใช้ศัพท์เฉพาะทางทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งคนที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์เฉพาะทางเท่านั้นที่จะเข้าใจว่าเขาพูดอะไร ระหว่างการบรรยายเขาก็ย้ำเน้นว่าในวงการนี้เขาใช้วิธีการ "throw in word" คือใช้วิธีการอยากพูดศัพท์อะไรก็พูดออกไปเลย โดยไม่สนว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือไม่ ถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ต้องไปหาความรู้เอาเองว่ามันหมายความว่าอะไร เขาจะไม่มาเสียเวลาในการอธิบายให้เข้าใจ
  
ตรงนี้ถ้าเป็นการประชุมวิชาการเฉพาะทาง ผมก็ไม่ติดใจอะไรหรอก เพราะมันระบุเอาไว้แล้วว่าคนที่เข้าฟังควรต้องมีความรู้ทางด้านนั้นอยู่แล้ว แต่นี้เป็นการบรรยายให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์รับฟัง ผลที่ออกมาก็คือเข้าฟังกับไม่เข้าฟังมันก็ได้ผลเหมือนกัน คือไม่ได้รู้อะไรเพิ่มขึ้นเลยเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แล้วผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยเอาคนประเภทที่บรรยายโดยไม่สนใจว่าคนฟังจะรู้เรื่องหรือไม่มาบรรยายทำไป

อันที่จริงเรื่องที่คนพูดไม่สนใจว่าคนฟังจะเข้าใจในที่สิ่งเขาพูดหรือไม่นั้นมันก็แย่มากอยู่แล้ว ที่เคยเจอหนัก ๆ คือไม่เพียงแต่การที่คนพูดเองยังไม่รู้ว่าตัวเองพูดอะไรออกมา เอาแต่พร่ำบอกให้คนอื่นไปจัดการให้ได้ เรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๒๘ วันพุธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "in situ" นั่นเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าขนาดผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดเท่าที่ตำแหน่งอาจารย์จะมีให้ได้ ก็ใช่ว่าจะมีความรู้ในเรื่องที่ตัวเองพูดออกมา ทำได้เพียงแค่จำคำศัพท์แปลก ๆ ที่คนอื่นไม่ค่อยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินมาพูด เพื่อหวังจะให้คนอื่นรู้สึกว่าเขาช่างโง่ไม่เข้าใจในความหมายของคำที่ได้ยิน พอคนที่ฟังเขาถามกลับไปว่ามันคืออะไร ท่านก็เล่นย้อนกลับไปว่าไม่รู้หรือไง ก็ลองไปค้นดูซิ ให้ไปถามคนโน้นคนนี้ดูซิ ซึ่งมันก็ไม่มีใครตอบได้ (เพราะมันไม่มีคำตอบ) จนมาถึงวันหนึ่งเขามาบอกกับผมว่าให้ช่วยจัดการเรื่อง in situ ให้หน่อย ผมก็ถามเขากลับไปว่าเขาต้องการอะไร และรู้ไหมว่าคำที่พูดออกมานั้นหมายความว่าอะไร เท่านั้นแหละเขาก็เงียบ และยอมรับกับผมว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน และพฤติกรรมที่เขาเที่ยวไปไล่บี้ให้คนอื่นจัดการเรื่องนั้นให้ได้ก็เลยหยุดอยู่ตรงแค่นั้น

แม้แต่ในขณะนี้ เครื่องดังกล่าวก็ยังใช้งานไม่ได้ เพราะคนที่อยากได้ผลการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไม่มีใครยอมมาฝึกหัดใช้เครื่องมือดังกล่าวสักที

ผมมักจะย้ำเสมอเวลาที่นิสิตในที่ปรึกษาของผมต้องสอบวิทยานิพนธ์ว่า การนำเสนอนั้นต้องหาทางทำให้กรรมการสอบนั้นเข้าใจในงานที่เขานำเสนอได้โดยที่กรรมการนั้นไม่ต้องใช้สมองคิดหรือตีความเอาเอง เพราะนั่นจะทำให้เกิดปัญหาได้ถ้าหากกรรมการนั้นเข้าใจหรือตีความผิด ทั้งนี้เนื่องจากกรรมการสอบนั้นไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาวิชาที่นิสิตผู้นั้นนำเสนอทุกคน นอกจากนี้แม้แต่จะอยู่ในวงการเดียวกันก็ยังอาจมีปัญหาเรื่องการใช้ศัพท์คนละความหมายได้ เนื่องจากมันยังไม่มีคำศัพท์กลางที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และสิ่งหนึ่งที่ผมเตือนให้เขาระวังคือการใช้ "คำย่อ" และการใช้ "ศัพท์เฉพาะทาง" โดยที่ไม่มีการอธิบายว่าศัพท์นั้นหมายความว่าอย่างไร ผมมักย้ำว่าทางที่ดีให้ "อธิบาย" ความหมายของศัพท์ที่ใช้ไม่ใช่ทำเพียงแค่ "แปล" และถ้าจะให้ดีก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้ ตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า "calcination" ที่ปรากฏในขั้นตอนการเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยา คำนี้ถ้าแปลเป็นไทยตามพจนานุกรมก็จะออกมาเป็น "การเผาสะตุ" (เข้าใจความหมายไหมครับ) ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กระทำก็คือ "การเผาในอากาศ" ลองเปรียบเทียบดูเอาเองนะครับว่าระหว่างคำว่า "เผาสะตุ" กับ "เผาในอากาศ" คำไหนที่คุณคิดว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจง่ายกว่ากัน

อีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งจะเจอมาก็คือผมเอาภาพขณะที่ไปนั่งฟังคำแนะนำภาควิชาของมหาวิทยาลัยต่างประเทศแห่งหนึ่งมาโพสเอาไว้บน facebook (ภาพอยู่ในหน้าถัดไป อันที่จริงสิ่งที่ผมอยากถ่ายคือภาพนี้เขาบอกว่าภาควิชาของเขานั้น ที่มีผลงานการจัดอันดับที่สูงกว่าภาควิชาที่ผมทำงานมาก ยังเห็นความสำคัญของวิชาพื้นฐานเช่นเคมีฟิสิกัลและเคมีอินทรีย์ และยังให้นิสิตของเขาเรียนสองวิชานี้อยู่ ในขณะที่ภาควิชาที่ผมทำงานนั้นเขาปิดสองวิชานี้ทิ้งไปแล้ว) จากนั้นก็มีคำถามถามมาว่าลงมือทำ "IC" เองเลยเหรอ เจอคำถามนี้ก็ทำเอางงไปเหมือนกัน ผมก็เลยถามกลับไปว่า "IC" ที่เขากล่าวมานั้นคืออะไร ผมเคยรู้แต่ว่าถ้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มันมีความหมายหนึ่ง และชื่อสถาบันที่ผมไปเรียนต่างประเทศมันก็ใช้ตัวย่อเช่นนี้ และวิชาหนึ่งทางด้านเครื่องกลก็มีคำย่ออย่างนี้ (วิชาเครื่องยนต์สันดาปภายใน)
นอกจากนี้ก็ยังได้ทดลองเอาคำ "IC" ไปหาในอินเทอร์เน็ตดูว่ามันย่อจากอะไรได้บ้าง และพบว่าเว็บ http://acronyms.thefreedictionary.com/IC ให้ความหมายถึง 196 ความหมาย โดยความหมายที่เขาถามผมมานั้นปรากฏว่าไม่อยู่ในนั้นซะด้วย

ช่วงเกือบสามสิบปีที่แล้วมีนักร้องวงเด็กวงหนึ่งชื่อวง "นกแล" โดยออกอัลบั้มแรกในปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ชื่อชุด "หนุ่มดอยเต่า" และอีก ๒ ปีให้หลังคือในปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่สามชื่อ "สิบล้อมาแล้ว"
เพลงหนึ่งในอัลบั้มชุด "สิบล้อมาแล้ว" ที่สะท้อนภาพให้เห็นกระแสหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมในเวลานั้นที่คนชอบใช้ตาม ๆ กัน และผมเห็นว่ามันก็ยังเกิดขึ้นอยู่มาจนถึงปัจจุบันคือคือเพลง ".. คำย่อ" ลองพิจารณาเนื้อเพลงดูเองเองก็แล้วกันนะครับว่าเพลงเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้วสะท้อนภาพสังคมเอาไว้อย่างไร เนื้อเพลงเป็นอย่างไรก็อยู่ข้างล่างแล้วหรือไม่ก็ลองหาเปิดฟังทางอินเทอร์เน็ตดูเอาเอง

สมัยนี้เป็นสมัยพัฒนา การพูดการจา หนอล้วนแต่เป็นคำย่อ
ประหยัดเวลา กันจริงนะหนอ พูดกันแบบย่อย่อ เด็กเด็กฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

หนังสือพิมพ์วิทยุตามแห่ ทั้งด๊อกเตอร์ด๊อกแต้ แหมเขาก็พูดกันไป
มหาทาลัย มหาลัย หมาลัย มหาวิทยาลัย พูดกันไม่ได้พูดกันไม่เป็น

รมต. ครม. กทม. อีก ททท. กบว. ไม่ว่างเว้น
ขสมก. กอรมน. ก็ยังเคยเห็น จำยากจำเย็น มันจำเป็นหรืออย่างไร
พูดย่อย่อ เอ้าสอนกันแบบย่อย่อ ให้เรียนกันแบบย่อย่อ ซะเลยจะดีไหม
ผกดท. ผมมันก็เด็กไทย ถึงยังไงก็สบาย สบมยห.

สมัยนี้เป็นสมัยพัฒนา การพูดการจา หนอล้วนแต่เป็นคำย่อ
ประหยัดเวลา กันจริงนะหนอ พูดกันแบบย่อย่อ เด็กเด็กฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

หนังสือพิมพ์วิทยุตามแห่ ทั้งด๊อกเตอร์ด๊อกแต้ แหมเขาก็พูดกันไป
มหาทาลัยมหาลัยหมาลัย มหาวิทยาลัย พูดกันไม่ได้พูดกันไม่เป็น

รมต. ครม. กทม. อีก ททท. กบว. ไม่ว่างเว้น
ขสมก. กอรมน. ก็ยังเคยเห็น จำยากจำเย็น มันจำเป็นหรืออย่างไร

พูดย่อย่อ เอ้าสอนกันแบบย่อย่อ ให้เรียนกันแบบย่อย่อ ซะเลยจะดีไหม
ผกดท. ผมมันก็เด็กไทย ถึงยังไงก็สบาย สบมยห.

สวส. สวญ. ปจว. ปปป. ธกส เอ๊ะ เอ๊ะ ปกศ โอ้ย มดตด. ม่วนดีแต้เด้อ

เนื้อเพลงนำมาจาก http://เพลง.meemodel.com/เนื้อเพลง/ค.ย.คำย่อ_นกแล
ส่วนเพลงร้องยังไงก็ฟังเอาจากคลิป YouTube ข้างล่างดูเอาเองนะครับ 
(http://www.youtube.com/watch?v=_93NWBUCBek)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น