วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นานาสาระเรื่องการเปิดวาล์ว MO Memoir : Saturday 15 November 2557

เรื่องที่เขียนนี้เป็นสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากวิศวกรรุ่นพี่ท่านต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยฝึกงานที่โรงกลั่นน้ำมันเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ (ขณะนั้นโรงกลั่นนั้นยังใช้ปั๊มขับเคลื่อนด้วยไอน้ำอยู่เลย) ไปจนถึงช่วงจบใหม่ ๆ ที่ไปทำงานก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแถวมาบตาพุด และได้ไปฝึกอบรมการเดินเครื่องโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น (ไปใช้ขีวิตเข้ากะกับคนงานชาวญี่ปุ่นอยู่พักนึง) ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นเรื่องที่ "บอกเล่ากันปากต่อปาก" ได้หรือไม่ เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีการบันทึกเป็นภาษาไทยไว้ที่ไหนบ้างหรือเปล่า
  
สมัยนั้นยังไม่มีการอบรมเรื่องการทำงานหรือความปลอดภัยใด ๆ ในการทำงาน เรียกว่าเป็นการเรียนรู้กันเองหน้างานเลย เรียนรู้จากการเดินตามหลังวิศวกรรุ่นพี่ ช่วยงานวิศวกรรุ่นพี่ นั่งกินข้าวเที่ยงและกินข้าวเย็นด้วยกัน (บังเอิญหน่วยงานที่ผมไปทำงานนั้นเขาไม่นิยมกินเหล้ากัน อาจมีตอนเย็นบ้างเล็กน้อย แต่ก็ประเภทเหล้าหนึ่งกลมวิศวกรสิบคนกินกันได้หลายเดือน แต่จะไปหนักกินนมกันก่อนนอนมากกว่า)
  
ในการรับการอบรมจากบุคคลากรต่างชาตินั้น เรามักจะใช้ภาษา "อังกฤษ" เป็นสื่อกลางในการติดต่อ ถ้าเป็นการติดต่อกับผู้ที่มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักหรือทางยุโรปก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าใดนัก ที่ตัวผมเองเคยปัญหามาก็คือกับทางญี่ปุ่น เพราะเวลาที่เราต้องเรียนรู้เรื่องเทคนิคการปฏิบัตินั้น เขาจะส่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานทางด้านปฏิบัติการจริงมาเป็นผู้ฝึกสอน แต่ก็มีปัญหาเรื่องความรู้ภาษาอังกฤษของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น แม้ว่าจะมีการจัดล่ามแปลจากภาษาญี่ปุ่นมาเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่ตัวล่ามเองก็มักจะไม่ได้มีความรู้ทางด้านศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง ทำให้ข้อความที่แปลมานั้นไม่ครบถ้วนได้ และอาจก่อปัญหาขึ้นได้เมื่อฝ่ายผู้รับถ่ายทอดนำสิ่งที่รับรู้มานั้น (ซึ่งไม่ครบถ้วน) ไปใช้งาน

ตัวอย่างเรื่องที่ยกขึ้นมาใน Memoir ฉบับนี้คือเรื่องเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการ "เปิดวาล์ว"

หน้าที่ของวาวล์ในโรงงานนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น
- ควบคุมการไหล โดยหน้าที่หลักคือปิดหรือเปิด
- ควบคุมอัตราการไหล โดยหน้าที่หลักคือปรับอัตราการไหลผ่านวาล์วให้มีค่าตามที่กำหนด
- ควบคุมทิศทางการไหล โดยทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนทาง
- ควบคุมความดัน โดยทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์

ส่วนวาล์วมีกี่ชนิดและมีหน้าตาอย่างไร ใช้ในการทำหน้าที่อะไรนั้น สามารถอ่านย้อนหลังได้จาก Memoir

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๒ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ (ตอนที่ 1)"
ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้(ตอนที่2)"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๔๘ วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ตอนที่ ๓"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๕๕ วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "Gatevalve กับGlobevalve"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๖๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๖ เรื่อง "Gatevalve, Ball valve และNeedlevalve"

ในที่นื้ผมขอจำกัดเฉพาะกับกรณีแรกคือวาล์วที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหล โดยในระหว่างการเดินเครื่องปรตินั้นวาล์วดังกล่าวอาจอยู่ในตำแหน่งที่เปิดเต็มที่หรือปิดสนิท แต่กรณีที่นำมาเล่านี้จะเป็นกรณีที่สมมุติว่าตัวโรงงานหรือเครื่องจักรหรือหน่วยผลิตนั้นไม่ได้อยู่ระหว่างการเดินเครื่อง และวาล์วต่าง ๆ นั้นปิดอยู่ โดยเรากำลังจะเริ่มเปิดวาล์วให้ของไหลต่าง ๆ ไหลเข้าสู่ระบบ
  
การเปิดวาล์วขึ้นอยู่กับกลไกการเปิด วาล์วประเภท gate valve และ globe valve จะมีล้อ (wheel) อยู่ทางด้านบนที่ใช้ในการเลื่อนตัว gate (ในกรณีของ gate valve) หรือตัว plug (ในกรณีของ globe valve) ขึ้น (เพื่อเปิด) หรือลง (เพื่อปิด) วาล์วสองประเภทนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็จะต้องใช้เวลาในการปิด-เปิด เพราะต้องทำการหมุน wheel หลายรอบกว่าที่จะเปิดวาล์วได้สุดหรือปิดวาล์วได้สนิท
  
วาล์วพวก ball valve และ butterfly valve ใช้การหมุนตัวลูกบอล (ในกรณีของ ball valve) หรือ gate (ในกรณีของ butterfly valve) เพียงแค่ 90 องศาโดยใช้ก้านวาล์ว (handle) ก็สามารถทำการเปิดวาล์วได้สุดหรือปิดวาล์วได้สนิท แต่ในบางกรณีการเปิดหรือปิดวาล์วอย่างรวดเร็วเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหากับระบบท่อได้ เช่นในกรณีของการเปิดวาล์วจ่ายไอน้ำเข้าสู่ระบบท่อ downstream ที่ยังเย็นอยู่

ในคู่มือใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการเดินเครื่องที่ steady state (สภาวะคงตัว) เวลาที่กล่าวว่าวาล์วตัวใดอยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิดนั้นมักจะหมายความว่า "เปิดเต็มที่ (fully open)" หรือ "ปิดสนิท (fully close)" เว้นแต่จะมีการระบุไว้เป็นอย่างอื่น แต่ถ้าจะเขียนคู่มือเพื่อการ "เริ่มต้นเดินเครื่อง (start up)" หรือ "หยุดเดินเครื่อง (shut down)" นั้น การบอกแต่เพียงว่าให้ "เปิด (open)" หรือ "ปิด (close หรือ shut)" อาจไม่เพียงพอ บ่อยครั้งที่พบว่าต้องมี "กิริยาวิเศษณ์ (adverb)" หรือ "คำขยาย" กิริยาเปิดหรือปิดนั้นด้วย กล่าวคือ "เปิดมาก-น้อยเท่าใด" และ "เปิดช้า-หรือเร็ว" เท่าใด
  
ปัญหาที่เคยพบก็คือเวลาที่รับการถ่ายทอดวิธีการมาจากชาวต่างชาติผ่านทางภาษาอังกฤษนั้น ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการ "เปิดมาก-น้อยเท่าใด" และ "เปิดช้า-หรือเร็ว" นั้นมีโอกาสสูงที่จะขาดหายไปเมื่อผู้รับนั้นแปลข้อความภาษาอังกฤษที่รับมานั้นเป็นภาษาไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พูดเอง (ที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ) ไม่สามารถแปลความหมายในภาษาของเขาออกมาเป็นภาษาอังกฤษที่ถูกต้องได้ (ความหมายผิดเพี้ยน) หรือไม่ได้แปลออกมา (ความหมายหายไป) หรือเป็นเพราะตัวล่ามเองไม่เข้าใจคำศัพท์ทางเทคนิค ก็เลยไม่ได้แปลคำนั้นออกมาหรือไม่ก็แปลเพี้ยนไป หรือไม่ก็ตัวผู้รับเองไม่เข้าใจความแตกต่างของคำขยายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เมื่อเขียนคู่มือฉบับภาษาไทยออกมาจึงมีใจความสำคัญขาดหายไป

ในที่นี้จะขอเริ่มจากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "ขนาดของการเปิด" หรือ "เปิดมาก-น้อยเท่าใด" ก่อน และเป็นการเปิด-ปิดด้วยมือ (manual operate)

"Crack open" เป็นการเปิดที่น้อยมาก คือค่อย ๆ หมุนล้อ (หรือก้านวาล์ว) อย่างช้า ๆ พอรู้สึกว่าเริ่มมีของไหลไหลผ่านวาล์วเท่านั้นก็หยุดเปิด (อาจต้องใช้การฟังเสียงหรือความรู้สึกของผู้เปิด) การเปิดวาล์วแบบนี้บางทีเขาก็พูดสั้น ๆ ว่า crack valve
  
ตัวอย่างหนึ่งของการเปิดวาล์วในรูปแบบนี้คือวาล์วระบบจ่ายไอน้ำ เมื่อจะเริ่มจ่ายไอน้ำเข้าสู่ระบบท่อที่ยังเย็นอยู่ เช่นเมื่อด้าน upstream ของวาวล์วมีไอน้ำจ่ายเข้ามาแล้ว แต่ท่อด้าน downstream (หรือด้าน process) ยังเย็นอยู่ (หรืออยู่ที่อุณหภูมิห้อง) ถ้าเปิดวาล์วให้ไอน้ำไหลเข้าสู่ระบบท่อที่เย็นนั้นรวดเร็วเกินไป จะเกิดไอน้ำควบแน่นเป็นของเหลวในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาค้อนน้ำหรือที่เรียกว่า "water hammer" อย่างรุนแรงจนอาจทำให้ระบบท่อเสียหายได้ และยังอาจก่อปัญหาให้กับระบบ steam trap (กับดักไอน้ำ) ที่ใช้ในการระบายไอน้ำที่ควบแน่น (steam condensate หรือบางทีก็เรียกย่อว่า condensate) เพราะจะทำให้ steam trap ระบายไอน้ำที่ควบแน่นเป็นของเหลวได้ไม่ทัน
  
ในกรณีเช่นนี้เราต้องเริ่มเปิดวาล์วแบบ crack open ก่อน โดยในช่วงแรกอาจจะได้ยินเสียงดังที่เกิดจาก water hammer บ้าง แต่จะไม่รุนแรง พอระบบท่อเริ่มร้อนขึ้น (ฟังจากเสียงดังที่เกิดจาก water hammer หายไปหรือเริ่มไม่มี steam condensate ระบายออกทาง steam trap ส่วนจะใช้เวลานานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับระบบ downstream ว่าใหญ่แค่ไหน ถ้าใหญ่มากก็คงต้องรอนานหน่อย) ก็ค่อย ๆ เปิดวาล์วจ่ายไอน้ำให้เปิดมากขึ้นเล็กน้อย แล้วคอยสังเกตว่าเกิด water hammer หรือไม่ ถ้ารู้สึกว่ามี water hammer เกิดขึ้นก็ให้หยุดเปิด และรอจนกว่า water hammer จะหายไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเปิดวาล์วจ่ายไอน้ำได้สุด
  
แต่ถ้าเป็นท่อไอน้ำขนาดใหญ่ บางทีจะมีการติดตั้งวาล์วตัวเล็ก (แทนที่จะต้องทำการ crack open วาล์วตัวใหญ่) bypass วาล์วตัวใหญ่เพื่อช่วยในการอุ่นระบบท่อ downstream ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าเอาไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐๓ วันจันทร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๕ เรื่อง "วาล์วตัวเล็กbypassวาล์วตัวใหญ่"
  
การเปิดวาล์วเมื่อไม่แน่ใจว่าด้าน upstream นั้นมีความดันคงค้างอยู่หรือเปล่า หรือการเปิดเพื่อระบายความดันและ/หรือแก๊สออกจากระบบ ก็อาจเปิดวาล์วแบบ crack open นี้ก่อนเพื่อความปลอดภัย อย่างเช่นในกรณีที่เราจะเปิดวาล์วที่ปลายท่อระบายออกสู่บรรยากาศนั้น (เช่นพวก drain valve ที่ใช้ระบายของเหลว หรือ vent valve ที่ใช้ระบายแก๊ส ที่ติดตั้งตามระบบท่อหรือ pressure vessel ต่าง ๆ) ถ้าในระบบมีความดันที่สูงอยู่ การเปิดวาล์วรวดเร็วเกินไปจะทำให้ของไหลในระบบฉีดพุ่งออกมาภายนอกอย่างรุนแรงจนอาจเกิดอันตรายได้ เช่นในกรณีของ drain valve ที่ระบายลงสู่พื้น ของเหลวที่พุ่งลงกระทบพื้นอย่างแรงจะกระเด็นเข้าหาตัวผู้เปิดวาล์วได้
  
"Slightly open" หรือการเปิดเพียงเล็กน้อยเป็นการเปิดวาล์วที่มากกว่า crack open แต่เปิดไม่ถึงครึ่งหรือที่เรียกว่า "Half open" อีกคำหนึ่งที่มีความหมายว่าเปิดเพียงบางส่วนคือ "Partially open" ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าเปิดมากหรือเปิดน้อย บอกแต่เพียงว่าไม่ได้เปิดเต็มที่หรือ "Fully open" วาล์วพวก gate valve นั้นในระหว่างการ start up หรือ shut down ระบบอาจต้องมีการเปิดวาล์วค้างในแบบ slightly open หรือ partially open หรือ half open ได้ แต่จะไม่ทำการเปิดในรูปแบบดังกล่าวในระหว่างการเดินเครื่องปรกติ เพราะ gate valve ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ทำงานอย่างต่อเนื่องในสภาพที่เปิดวาล์วแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นนั้น แต่ถ้าเป็นพวก globe valve หรือ ball valve หรือ butterfly valve ก็อาจเปิดค้างในตำแหน่งslightly open หรือ partially open หรือ half open ในระหว่างการเดินเครื่องปรกติได้

ถัดไปจะเป็นเรื่องของอัตราเร็วในการเปิด

คำขยายที่ใช้บอกความเร็วในการเปิด (หรือปิด) วาล์วนั้นมีทั้งแบบ "ช้า ๆ" หรือ slowly open "ค่อย ๆ เปิด" หรือgradually open และ "เปิดอย่างรวดเร็ว" หรือ quickly open พวก gate valve และ globe valve ที่เปิดปิดด้วยมือนั้นมันจะเปิดหรือปิดอย่างรวดเร็วไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องใช้มือหมุนล้อ แต่ถ้าเป็นแบบใช้แรงดันลมก็อาจปิดเปิดได้เร็ว พวก ball valve และ butterfly valve นั้นอาจจะค่อย ๆ เปิดหรือเปิดอย่างรวดเร็วก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละเหตุการณ์
  
ตัวอย่างของงานที่อาจต้องมีการเปิด/ปิดวาล์วอย่างช้า ๆ เคยเล่าไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๖๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "การปิด controlvalve"

เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติงาน (หรือ operator) ต้องคำนึงคือ เมื่อวาล์วต่าง ๆ อยู่ในตำแหน่งที่มันควรเป็นแล้ว (เช่นเปิดหรือปิด) ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้มันเปลี่ยนตำแหน่ง (เช่นจากเปิดเป็นปิด หรือจากปิดเป็นเปิด) ในช่วงเวลาที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจ
  
การเปลี่ยนตำแหน่งแบบโดย "ตั้งใจ" อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากตัวผู้ปฏิบัติงานเองต้องการไปเปิดหรือปิดวาล์วตัวนั้น แต่วาล์วตัวนั้น "ไม่ใช่" วาล์วที่ควรจะถูกเปลี่ยนตำแหน่ง การเปลี่ยนตำแหน่งแบบนี้เกิดได้กับวาล์วทุกชนิด
  
รูปที่ ๑ ในกรอบสี่เหลี่ยมคือ ball valve ของระบบ control valve ในที่นี้มีก้านวาล์วสำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์วติดตั้งคาอยู่ ตำแหน่งที่แสดงในรูปคือตำแหน่งที่วาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิด แต่ในระหว่างการใช้งานจริงนั้นวาล์วตัวในกรอบล่างจะต้องเปิด ส่วนวาล์วในตัวกรอบบนจะอยู่ในตำแหน่งปิด ในกรณีเช่นนี้สำหรับวาล์วตัวบนควรต้องมีการตรวจสอบดูว่าพื้นที่บริเวณรอบข้างนั้นกว้างเพียงพอที่จะหมุนก้านวาล์วได้ครบ ๙๐ องศาหรือไม่ ส่วนในวงรีมุมขวาบนนั้นเป็น ball valve ขนาดเล็กของท่อลมที่ใช้ขับเคลื่อนวาล์วควบคุมให้เปิดหรือปิด ที่แสดงในภาพนั้นวาล์วอยู่ในตำแหน่งปิด

การเปลี่ยนตำแหน่งแบบโดย "ไม่ตั้งใจ" นั้นเกิดได้ง่ายกับพวก ball valve ขนาดเล็กหรือขนาดไม่ใหญ่มาก ที่ปรกติแล้วมักจะมีก้านวาล์วคาติดอยู่ที่ตัววาล์ว (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ) สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ก็คือการที่ผู้ปฏิบัติงานไปเดินชนก้านวาล์วหรือมีสิ่งใดก็ตามไปชนให้ก้านวาล์วเปลี่ยนตำแหน่ง หรืออาจเกิดการลื่นล้มเสียหลัก มือก็เลยไปคว้าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวโดยอัตโนมัติแล้วไปคว้าเอาก้านวาล์วเข้า หรือใช้เป็นที่แขวนสิ่งของ

การป้องกันการเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนตำแหน่งวาล์วโดยไม่ตั้งใจอาจทำได้โดย
  
- การทำเครื่องหมาย (tag) ไว้ที่ต้ววาล์วหรือการตั้งชื่อวาล์วหรือระบบท่ออย่างเด่นชัดว่า วาล์วตัวนี้เป็นวาล์วของระบบท่ออะไร และใส่รายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน (หรือการฝึกหัด) ให้ชัดเจนว่าเวลาลงไปปฏิบัติงาน xxxx นั้นให้ไปจัดการกับวาล์วชื่อ yyyy อย่างไรบ้าง
  
- การนำเอาก้านวาล์วที่ใช้หมุนลูกบอลออก แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เอาไปเก็บ แต่อาจใช้โซ่คล้องแขวนเอาไว้กับตัววาล์ว เวลาจะใช้งานแต่ละครั้งก็สวมก้านวาล์วลงไป ใช้งานเสร็จก็ถอดออกแล้วปล่อยให้มันแขวนห้อยอยู่ข้าง ๆ ตัววาล์ว แต่วิธีนี้ต้องคำนึงด้วยว่าปรกติพวก ball valve จะใช้ตำแหน่งของตัวก้านวาล์วเองนั้นเป็นจุดสังเกตว่าวาล์วเปิดหรือปิดอยู่ ดังนั้น ball valve ที่จะทำแบบนี้ได้จึงควรที่จะต้องมีเครื่องหมายบนแกนที่ใช้หมุนลูกบอลที่ระบุว่าวาล์วอยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิด การทำแบบนี้เหมาะจะใช้กับวาล์วที่มีการเปิด-ปิดบ่อยครั้งในระหว่างการทำงาน
  
- ถอดเอาก้านวาล์วไปเก็บหรือใช้โซ่คล้องกุญแจ (ในกรณีของ gate valve และ globe valve ที่ใช้ล้อหมุนเปิด-ปิดวาล์ว) วิธีการนี้มักจะใช้กับวาล์วตัวสำคัญที่ไม่ได้มีการเปิด-ปิดบ่อยครั้ง แต่การเปิด-ปิดวาล์วเหล่านี้มักจะเป็นกรณีที่พิเศษที่ต้องมีการขออนุมัติขอใบอนุญาต ต้องมีระบบเอกสารที่เรียกว่า work permit ที่มีผู้อนุญาตให้เปิด (หรือปิด) วาล์ว (ถ้ามีการคล้องกุญแจก็ต้องมีการเบิกกุญแจ) มีผู้รับหน้าที่ไปทำการเปิด (หรือปิด) วาล์วตัวนั้น และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ต้องมีเอกสารยืนยันว่าได้ทำการปิด (หรือเปิด) วาล์วตัวนั้นกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมและคล้องโซ๋และล็อคกุญแจเอาไว้ตามเดิมเรียบร้อยแล้ว (มีการคืนกุญแจและการตรวจสอบตำแหน่ง) ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละที่ว่าจะกำหนดขั้นตอนการทำงานกันอย่างไร

วาล์วตัวเล็กในวงกลมมุมซ้ายบนของรูปที่ ๑ เป็นวาล์วท่ออากาศอัดความดันที่ใช้ในการควบคุมการเปิด-ปิดอากาศอัดความดันที่ส่งไปควบคุมการเปิด-ปิดวาล์วควบคุม (ตัวสีดำข้างซ้าย) ในระหว่างการเดินเครื่องนั้นวาล์วตัวนี้ควรต้องอยู่ในตำแหน่งเปิด แต่ด้วยขนาดของวาล์วและตำแหน่งที่ติดตั้ง จะเห็นได้ว่ามีโอกาสสูงที่วาล์วตัวนี้จะถูกเปลี่ยนตำแหน่ง (เช่นจากเปิดเป็นปิด) ได้โดยไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจากเหตุการณ์ใดก็ตาม ดังนั้นอาจจะเป็นการดีกว่าที่จะทำการถอดก้านวาล์วของวาล์วตัวนี้ออก หรือหาทางล็อกมันเอาไว้ เพื่อไม่ให้มันถูกหมุนโดยไม่ตั้งใจ

สิ่งสำคัญเวลาเขียนคู่มือปฏิบัติงานคือควรต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน ต้องไม่ให้ผู้อ่านนั้นเกิดความสงสัยหรือตีความเป็นอย่างอื่นได้ (ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย) เพราะคนที่รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ฝึกสอนนั้นอาจไม่ได้ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวตลอดไป แต่คู่มือปฏิบัติงานนั้นจะยังคงอยู่ ดังนั้นจึงควรที่คู่มือจะมีความชัดเจนชนิดที่เรียกว่าคนใหม่ที่มาอ่านเอกสารดังกล่าวก็สามารถทำงานได้เหมือนคนเก่าโดยไม่ต้องไปถามคนเก่าว่าต้องทำอย่างไร
  
นอกจากนี้ตัวคู่มือเองไม่ควรจะบอกเพียแค่ว่าให้ทำอะไร ทำอย่างไร แต่ควรจะบอกให้สังเกตพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องด้วยในระหว่างการทำงานดังกล่าว (เช่น เสียง การสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงความดัน ฯลฯ) ว่ามีความผิดปรกติหรือไม่อย่างไร ที่มีปัญหามากเห็นจะเป็นเรื่องเสียง เพราะในหน่วยการผลิตมันมักจะมีเสียงจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก เสียงที่เกิดจากความผิดปรกตินั้นก็ยากที่จะระบุเว้นแต่จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในบริเวณนั้นมาก่อนจึงจะรู้ว่ามันมีเสียงดังผิดปรกติไปจากที่เคยมี เสียงผิดปรกติตรงนี้มันมีทั้งเสียงประหลาดที่มีเพิ่เติมเข้ามาและเสียงเดิมที่หายไป ตรงนี้ผมก็เคยเจอปัญหาเช่นกันตอนที่เขาให้ไปลองฟังเสียงตลับลูกปืน (bearing) ที่เริ่มเกิดความเสียหายว่ามันมีเสียงแหลมเหมือนเสียงโลหะกระทบกันแทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ ในระหว่างที่มอเตอร์หมุน ตัวอย่างปัญหาเรื่องเสียงที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ในแลปเรานั้นเคยเล่าไว้บ้างแล้วใน Memoir
  
ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖๗ วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "เสียงอะไรดัง"
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๓๕ วันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติตอนที่ ๓๐ เมื่อพีค GCออกมาผิดเวลา(อีกแล้ว)" และ
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๑๘ วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติตอนที่ ๓๖ อย่าด่วนโทษ variac"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น