วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

Gate valve, Ball valve และ Needle valve MO Memoir : Thursday 19 September 2556

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการสนทนาเรื่องวาล์วและการใช้งาน ก็มีผู้ถามถึงความแตกต่างระหว่าง gate valve กับ ball valve ในแง่ของการเลือกใช้งานว่ามีปัจจัยอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง ก็จะขอเริ่มไปทีละประเด็นที่นึกออกก็แล้วกัน

() ขนาด

สำหรับท่อขนาดเท่ากัน ball valve จะมีขนาดใหญ่กว่า gate valve เพราะลูกบอลที่ใช้เป็นตัวหมุนปิดกั้นการไหลนั้นต้องมีขนาดใหญ่กว่าตัวท่อ จะได้เจาะรูทะลุผ่านลูกบอลให้รูนั้นมีขนาดเท่ากับรูท่อได้ ถ้าใช้ลูกบอลที่มีขนาดเล็กลงเพื่อลดน้ำหนัก ก็จะทำให้พื้นที่หน้าตัดการไหลเวลาที่ไหลผ่าน ball valve นั้นเล็กว่าพื้นที่หน้าตัดเมื่อไหลผ่านท่อ ความดันลด (pressure drop) ในระบบก็จะสูงขึ้น
 
ตัวด้ามจับสำหรับหมุนปิด-เปิด ball valve ก็มีขนาดยาวขึ้นมากสำหรับวาล์วขนาดใหญ่ ถ้าลองพิจารณาข้อมูลในรูปที่ ๒ (ที่เอามาจากแคตตาล็อคของ Kitz) ตรงวาล์วขนาด 8 นิ้วจะเห็นว่า gate valve นั้นจะแคบกว่า ball valve ตัวล้อสำหรับหมุนปิด-เปิด gate valve มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (D) เพียง 350 mm เท่านั้นเอง แต่ในส่วนของ ball valve นั้นความยาวด้ามจับ (D) ที่ใช้สำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์วจะยาวถึง 1500 mm (หรือเมตรครึ่ง) ทำให้บริเวณรอบข้างวาล์วต้องมีที่ค่อนข้างมากเพื่อใช้สำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์ว


รูปที่ ๑ ตัวซ้ายคือ ball valve สำหรับท่อขนาด 1/4 นิ้ว ส่วนตัวขวาคือ gate valve สำหรับท่อขนาด 1/2 นิ้ว จะเห็นว่า ball valve มีขนาดใกล้เคียงกับ gate valve ทั้ง ๆ ที่ตัว ball valve นั้นใช้กับท่อที่มีขนาดเล็กกว่า

รูปที่ ๒ รูปนี้เอามาจากแคตตาล็อคของวาล์วยี่ห้อ Kitz รูปบนเป็นตารางมิติของ gate valve ส่วนรูปร่างเป็นตารางมิติของ ball valve จะเห็นว่าสำหรับท่อขนาด 8 นิ้วเท่ากันนั้น ball valve จะใช้พื้นที่ในการติดตั้งมากกว่า (ค่า L ของ ball valve คือ 457 mm ในขณะที่ของ gate valve (L1) คือ 292 mm เท่านั้น นอกจากนี้สำหรับ ball valve ยังต้องกันที่บริเวณรอบข้างไว้สำหรับด้ามจับสำหรับหมุนปิด-เปิดวาล์วที่ยาว (D) ถึง 1500 mm อีก
 
() อุณหภูมิการใช้งาน

ตัว ball valve นั้นจะมี ball seat เป็นตัวปิดผนึกไม่ให้ของไหลรั่วไหลผ่านระหว่าง body ของตัววาล์วและผิวด้านนอกของลูกบอลที่ใช้เป็นตัวปิดกั้นการไหล ball seat นี้จะสัมผัสกับผิวของลูกบอลที่เป็นตัวปิดกั้นการไหล วัสดุที่ใช้ทำ ball seat นี้ควรจะมีความแข็งน้อยกว่าผิวลูกบอลและมีความลื่น (ความแข็งที่น้อยกว่าก็เพื่อการเติมเต็มพื้นผิวที่ไม่เรียบเพื่อปิดกั้นการไหล ส่วนความลื่นก็เพื่อจะได้หมุนลูกบอลได้ง่าย)  โดยทั่วไปจะใช้วัสดุพวกพอลิเมอร์ในการทำ ball seat (ดูตัวอย่างในรูปที่ ๓ ข้างล่าง) ซึ่งวัสดุพวกนี้มีข้อจำกัดทางด้านอุณหภูมิการใช้งาน ถ้าต้องการนำ ball valve ไปใช้ที่อุณหภูมิสูงก็อาจต้องหาวาล์วที่ ball seat ทำจากโลหะหรือแกรไฟต์
 
ตัว gate valve เองนั้นไม่จำเป็นต้องมีการใช้วัสดุดังกล่าวในการทำให้ตัว wedge (หรือ disc) ที่ใช้ในการปิดกั้นการไหลนั้นปิดกั้นการไหลได้สนิท จึงทำให้สามารถใช้งาน gate valve ที่อุณหภูมิที่สูงจนไม่สามารถใช้งาน ball valve ได้


รูปที่ ๓ วัสดุสีขาว ๆ ในตัว body วาล์วทางด้านซ้ายคือวัสดุพอลิเมอร์ที่ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลระหว่าง body ของตัววาล์วกับผิวด้านนอกของลูกบอล

() สาร/ความดันคงค้างในตัววาล์ว

ในกรณีของ ball valve นั้นเมื่อทำการปิดวาล์ว ในส่วนของรูที่เจาะทะลุผ่านลูกบอลนั้นจะมีสารที่ไหลผ่านวาล์วคงค้างอยู่ ความดันของสารในรูดังกล่าวจะเท่ากับความดันของสารที่ไหลเข้าวาล์ว ดังนั้นในการถอดแยกชิ้นส่วน ball valve (เช่นเมื่อทำการซ่อมบำรุง) ต้องคำนึงถึงการมีสารตกค้างอยู่ในรูดังกล่าวด้วย และถ้าเป็น ball valve ที่ใช้กับระบบแก๊สความดันสูงก็ยิ่งต้องระวังความดันแก๊สที่ตกค้างอยู่
 
ปัญหาเรื่องความดันแก๊สตกค้างอยู่ในรูของตัวลูกบอลนั้นแก้ได้ด้วยการเลือกใช้ลูกบอลที่มีการเจาะรูระบายแก๊สเมื่อทำการปิดวาล์ว แต่ถ้าเป็นของเหลวก็จะยังคงมีของเหลวเหลือตกค้างอยู่ดี

เรื่องนี้เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งแล้วใน memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๒ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ (ตอนที่ 1)"

() ของแข็งที่แขวนลอยอยู่ในของเหลว

เนื่องจากตัว wedge หรือ disc ที่ใช้เป็นตัวปิดกั้นการไหลของ gate valve ต้องมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่หน้าตัดการไหลของท่อ ดังนั้นเวลาที่วาล์วเปิด บริเวณที่เป็นตำแหน่งของ wedge จะมีลักษณะเป็นร่อง ถ้านำไปใช้กับของเหลวที่มีของแข็งแขวนลอยอยู่ ของแข็งที่ไหลเข้าวาล์วมาพร้อมของเหลวมีโอกาสที่จะตกค้างอยู่ในร่องดังกล่าวได้ ทำให้เวลาปิดวาล์วนั้นอาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนตัว wedge ลงได้สนิทได้ วาล์วจึงมีโอกาสที่จะปิดไม่สนิท
 
ส่วนของ ball valve นั้นจะมีพื้นผิวการไหลที่ราบเรียบต่อเนื่องกว่า ทำให้ไม่เกิดปัญหาดังกล่าว

() การเกิด hydraulic ram (หรือตะบันน้ำ)

ของไหลที่กำลังไหลอยู่นั้นมีพลังงานในรูปของพลังงานจลน์ (ที่เกิดจากการเคลื่อนที่) และพลังงานศักย์ (ในรูปของความดัน) ถ้าหากเส้นทางการไหลของของไหลนั้นถูกปิดกั้นอย่างรวดเร็ว พลังงานจลน์ของการไหลจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานศักย์อย่างกระทันหัน (จากกฎการอนุรักษ์พลังงาน) ทำให้ความดันในระบบท่อเพิ่มสูงขึ้นมากในเวลาสั้น ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า hydraluic ram
 
ปรากฎการณ์ hydraulic ram นี้มีการนำมาใช้งานกันในการส่งน้ำขึ้นที่สูงด้วยการใช้การไหลของน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ในประเทศไทยเรียกว่า "ตะบันน้ำ"
 
ถ้าหากความดันที่เกิดจาก hydraulic ram นี้ไม่รุนแรง จะไม่ก่อให้เกิดปัญหากับระบบท่อ แต่ถ้ารุนแรงมากจนระบบท่อรับความดันดังกล่าวไม่ได้ ระบบท่อก็จะเกิดความเสียหายได้ ระบบท่อที่ติดตั้ง ball valve ในการปิด-เปิดจึงต้องคำนึงถึงปัญหานี้ด้วย โดยเฉพาะตอนปิดวาล์ว เพราะ ball valve นั้นสามารถทำการปิดได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสที่จะเกิด hydraulic ram ได้ ในขณะนี้ gate valve นั้นไม่สามารถปิดได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่มีปัญหาการเกิด hydraulic ram ในขณะปิดวาล์ว
 
ระบบท่อน้ำที่จ่ายน้ำด้วยปั๊มจากที่ต่ำขึ้นที่สูงก็อาจเกิดปัญหา hydraulic ram ได้ โดยปรกติทางด้านขาออกของปั๊มนั้นจะติดตั้ง check valve หรือวาล์วกันการไหลย้อนกลับเอาไว้ พอปั๊มหยุดทำงาน น้ำที่อยู่ในท่อด้านขาออกที่สูงกว่าตัวปั๊มก็จะไหลย้อนกลับ check valve ก็จะปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิด hydraulic ram จากการที่น้ำที่ไหลย้อนกลับนั้นหยุดไหลกระทันหันได้

วาล์วอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวาล์วปรับอัตราการไหลในปริมาณน้อย ๆ คือ needle valve บังเอิญเจอ needle ที่มีคนเขาทิ้งแล้วก็เลยไปหยิบเอามาถอดล้างให้เห็นข้างในกัน รูปที่ ๔ ในหน้าถัดไปคือตัว needle valve จะเห็นตัว needle ที่เป็นตัวปรับขนาดความกว้างของรู เนื่องจากตัว needle นี้มีขนาดเล็ก ดังนั้นถ้าให้ตัว needle กดแน่นเข้ากับ seat ของตัววาล์วเพื่อให้วาล์วปิดสนิท ก็จะทำให้ตัว needle เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าวเขาจึงออกแบบให้ตัว needle ไม่ลงไปแนบสนิทกับ seat ของตัววาล์ว จึงทำให้วาล์วชนิดนี้ปิดไม่สนิท วาล์วชนิดนี้ใช้กับอัตราการไหลต่ำ ๆ (เช่นในแลปหรือระบบขนาดเล็ก) ที่ต้องการความละเอียด

อันที่จริง memoir ฉบับนี้ทำเสร็จหลังจาก memoir ฉบับก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ดึงเอาไว้มาเผยแพร่ตอนค่ำเพื่อไม่ให้มันชนกันไป ไม่อยากเก็บเอาไว้จนวันศุกร์

รูปที่ ๔ Needle valve รูปบนแสดงตัวเข็มที่ใช้ปรับอัตราการไหล ส่วนรูปล่างแสดงรูที่ให้ของไหลไหลผ่าน

ไม่มีความคิดเห็น: