วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สุดพายัพที่สาละวิน ๑๐๐๐ ฉบับ ๔๑๒๙ หน้า A4 MO Memoir : Tuesday 9 June 2558

ตอนแรกที่เลือกขับรถตามเส้นทางสายแม่สอด-แม่สะเรียงก็คิดเพียงแค่ว่าอยากจะขอชมภูมิประเทศและการใช้ชีวิตของคนไทยที่อยู่ตามแนวชายแดน ตอนออกเดินทางไปก็ไม่ได้มีการวางแผนค้นหาว่าเส้นทางนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรบ้าง เรียกว่าไปหาข้อมูลที่นั่นกันเอง
  
ช่วงที่จะออกจากท่าสองยางไปแม่สะเรียงนั้น เห็นมีหมู่บ้านชื่อ "บ้านแม่สามแลบ" อยู่ที่ชายแดนไทย-พม่า ติดแม่น้ำสาละวิน เดินทางไปได้ตามทางหลวงสาย ๑๑๙๔ แต่ที่แปลกใจก็คือถนนนี้มันไปเริ่มจาก อ.แม่สะเรียง แล้วทำไมมันจึงต้องวิ่งย้อนลงใต้มาราว ๆ ๒๐ กิโลเมตร ก่อนจะหักไปทางตะวันตกอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร แต่พอขับรถไปถึงแถวนั้นจึงได้คำตอบว่าเป็นเพราะว่ามันมีลำน้ำยวมขวางกั้นอยู่ระหว่างทางหลวงสาย ๑๑๙๔ และทางหลวงสาย ๑๐๕
  
อันที่จริงถ้าขับรถขึ้นมาจากทาง อ.ท่าสองยาง บริเวณ อ.สบเมย ก็จะมีป้ายบอกทางแยกไปบ้านแม่สามแลบได้โดยไม่ต้องขึ้นไปยัง อ.แม่สะเรียงก่อน และเหนือ อ.สบเมย ขึ้นไปหน่อยบริเวณบ้านผาผ่าก็จะมีทางแยกไปบ้านแม่สามแลบได้เช่นกัน แต่ในเดือนที่แล้วที่ผมเดินทางไปนั้น สะพานข้ามแม่น้ำของถนนเส้นนี้ปิดซ่อมแซม ตอนขับกลับจากบ้านแม่สามแลบจะไปแม่สอดก็เลยต้องย้อนขึ้นไปทางแม่สะเรียงก่อน เรียกว่าต้องขับรถอ้อมร่วม ๔๐ กิโลเมตร
  
วันที่เดินทางไป (พุธ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘) ถนนสาย ๑๑๙๔ นี้เป็นทางลาดยางขับรถได้สบาย ๆ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตรเศษ (คือช่วงจากแม่สะเรียงวิ่งลงใต้) แต่พอเริ่มหักออกไปทางตะวันตกก็จะได้พบกับสภาพการผจญภัยของถนนในอดีต คือมีบางช่วงที่ทำการขยายแล้ว บางช่วงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายเส้นทาง และบางช่วงที่ยังคงสภาพเดิม ๆ และยังพบเห็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ากำลังปักเสาไฟฟ้าข้างทาง เรียกว่าเดิมนั้นหมู่บ้านแถวนี้คงยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง
  
รูปที่ ๑ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินที่บ้านแม่สามแลบ ปลายทางของทางหลวงสาย ๑๑๙๔
  
รูปที่ ๒ บรรยากาศข้างทางบางช่วงของทางหลวงสาย ๑๑๙๔ รูปนี้เป็นช่วงใกล้ถึงบ้านแม่สามแลบ ถนนเส้นนี้อยู่ระหว่างการขยายเส้นทาง และการปักเสาไฟฟ้า ด้านหนึ่งของถนนเป็นร่องน้ำลึก แต่น้ำแห้งขอด
  
รูปที่ ๓ แม่น้ำสาละวินมองขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ ฝั่งซ้ายคือประเทศพม่า หมู่บ้านแม่สามแลบอยู่ข้างล่าง ถ่ายจากจุดชมวิวที่อยู่บนถนนเชื่อมไปยังบ้านห้วยแห้ง.
  
รูปที่ ๔ ถ่ายไว้เป็นที่ระลึกกับป้ายบอกทางไปยังบ้านห้วยแห้ง หมู่บ้านนี้ไม่มีปรากฏในแผนที่ที่ผมมี ถนนเส้นนี้ก็ไม่มีปรากฏ เป็นถนนคอนกรีตที่ทางทหารสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อหมู่บ้านชายแดน
  
รูปที่ ๕ สถาพทางเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี แต่ใต้พื้นถนนบางจุดดินทรุดมาก จนพื้นถนนนั้นเหมือนกับลอยอยู่เฉย (ตรงลูกศรสีเหลืองชี้) ผมขับรถไปได้สักสองกิโลก็วนกลับ
  
รูปที่ ๖ เส้นทางเข้าบ้านแม่สามแลบจะแยกจากถนนลงสู่ฝั่งแม่น้ำข้างล่าง แยกลงมาได้ไม่กี่เมตรก็เจอทางแบบนี้ ต้องจอดรถลงมาดูความลึกของน้ำและความแข็งของพื้นดิน ก่อนจะตัดสินใจขับรถลุยผ่านไป
  
รูปที่ ๗ ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหน่อยบริเวณสวนสาธารณะริมแม่น้ำที่อยู่เหนือฝั่งแม่น้ำทางไปลงท่าเรือ ภาพนี้ถ่ายมองขึ้นไปทางทิศเหนือ  
   
รูปที่ ๘ ถนนบริเวณทางลงท่าเรือ ถ่ายหน้าบริเวณทางเดินลงไปทางเรือ รูปนี้มองไปทางทิศเหนือ
  
รูปที่ ๙ ถนนเส้นเดียวกันกับรูปที่ ๘ แต่หันมองไปทางทิศใต้แทน (ปากทางเข้าหมู่บ้าน) ป้อมเขียว ๆ ทางด้านขวาคือที่ทำการของทหารพราน ส่วนอาคารทางด้านซ้ายคือที่พักสำหรับผู้ที่จะมาลงเรือ ก่อนจะถึงบริเวณนี้ริมถนนจะมีร้านขายของชำและร้านอาหารตามสั่งของชาวบ้านอยู่
  
รูปที่ ๑๐ ทหารพรานประจำป้อมยาม นำอาวุธปืนมาตรวจสอบความพร้อมใต้ร่มไม้ โดยมีแม่น้ำสาละวินอยู่ข้างล่าง

แผนที่ทางหลวงประเทศไทยฉบับปี ๒๕๓๕ (รูปที่ ๕ ใน Memoir ฉบับที่ ๙๙๓ วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่อง "แม่สอด-แม่สะเรียงเรื่องของเส้นทางสาย ๑๐๕") ระบุไว้ว่าทางหลวงสาย ๑๑๙๔ นี้ ๒๐ กิโลเมตรแรกเป็นถนนลาดยาง ช่วงที่เหลือไปยังบ้านแม่สามแลบนั้นเป็นถนนลูกรัง (จนถึงปัจจุบันบางช่วงก็ยังเป็นเช่นนั้น)
  
ถนนเส้นนี้ดูเหมือนจะมีรถสองแถววิ่งรับส่งคนเข้าออกตลอดเวลา ช่วง ๒๐ กิโลเมตรสุดท้ายเป็นช่วงที่ตัดผ่านภูเขา ด้านหนึ่งของถนนเป็นภูเขาและอีกด้านหนึ่งเป็นเหว ทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูเอาเอง ไม่มีป้ายบอกอะไร เว้นแต่หลักกิโลเมตรที่บอกว่าขับมาแล้วกี่กิโลและอีกกี่กิโลจะถึงปลายทาง ถนนสาย ๑๑๙๔ นี้จะมาสุดทางที่ทางเข้าบ้านแม่สามแลบ โดยสุดเส้นทางนั้นยังคงเป็นทางบนเขา ถ้าจะเข้าบ้านแม่สามแลบต้องแยกซ้ายลงไปยังริมฝั่งแม่น้ำที่อยู่ต่ำไปเบื้องล่าง ส่วนที่ว่าต่ำลงไปแค่ไหนก็ลองดูจากในรูปที่ ๓ ก็แล้วกัน และทางเข้าหมู่บ้านเป็นอย่างไรนั้นก็ดูเอาเองในรูปที่ ๖
  
ตอนแรกก็ขับรถเลยขึ้นไปตามถนนบนเขาก่อน ไปชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำสาละวินจากบนเขา ปรากฏว่ามีถนนเพิ่มเติมจากบ้านแม่สามแลบต่อไปยังบ้านห้วยแห้งอีก เป็นถนนที่ทหารสร้างเอาไว้ พื้นถนนเป็นคอนกรีตอย่างดี แต่ใต้พื้นถนนนี่ซิ บางจุดดินทรุดจนมองเห็นว่าถนนมันลอยอยู่บนอากาศเฉย ๆ (รูปที่ ๕) ผมขับไปตามเส้นทางนี้ได้ประมาณ ๒ กิโลเมตรก็ตัดสินใจขับรถกลับ เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าขับเลยไปมากกว่านี้จะมีที่กลับรถหรือไม่ เพราะสภาพสองข้างทางของถนนมันเป็นแบบที่นำมาให้ดูในรูปที่ ๕ หลุดจากไหล่ทางเมื่อใดก็มีหวังหายไปข้างล่างแบบที่ไม่มีใครรู้เรื่องแน่
  
ทันทีที่ขับรถลงจากปากทางเข้าบ้านแม่สามแลบ ก็เจอบททดสอบทันที คือถนนเส้นนี้มันตัดผ่านร่องน้ำ และช่วงที่ต่ำสุดของถนนมันก็โดนน้ำซัดขาด (รูปที่ ๖) ตอนแรกก็ลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะไปต่อดีไหม แต่ไหน ๆ ก็เห็นว่าอุตส่าห์ขับรถมาถึงที่นี้แล้ว ก็เลยขอลงไปตรวจดูความลึกของน้ำและความแข็งของดินซะหน่อย พบว่าพื้นดินตรงนั้นแข็งตัวดี ดูจากรอยรถปิ๊คอัพที่วิ่งผ่านไปมานั้นไม่ทำให้ดินยุบ และระดับน้ำก็ไม่แตกต่างอะไรไปจากระดับน้ำท่วมขังบนถนนในกรุงเทพหลังฝนตกหนัก ก็เลยตัดสินใจขับรถลุยเข้าไป ซึ่งก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด
   
ถนนเข้าหมู่บ้านมันดูเล็ก ๆ แต่ภายในเป็นหมู่บ้านใหญ่ ไม่มีบ้านไหนปลูกต่ำใกล้แม่น้ำ จะปลูกอยู่บนตลิ่งที่สูง นั่นคงเป็นเพราะระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน หมู่บ้านนี้อยู่ทางด้านใต้ของอุทยานแห่งชาติป่าสาละวน และดูเหมือนว่าจะเป็นจุดที่เป็นท่าเรือใช้ในการเดินทางไปยังหมู่บ้านอื่นที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวิน (ที่ถนนเข้าไปไม่ถึง)
  
ผมก็เพิ่งจะรู้ตอนที่ไปถึงที่โน่นว่าที่นั่นก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง มีนักท่องเที่ยวที่มาใช้ท่าเรือที่นี่เพื่อนั่งเรือไปพักแรมที่หมู่บ้านอื่นที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ตอนขากลับออกมาก็เห็นมีรถตู้หลายคันมาจอดรอนักท่องเที่ยวกลับจากไปค้างแรมและยังมีที่วิ่งสวนเข้ามาอีก ส่วนเขาไปค้างแรมกันที่ไหนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน
  
ก่อนออกจากแม่สะเรียง ช่วงเช้าภรรยาก็แวะไปตลาดในตัวอำเภอ ซื้อของกินหลายอย่างมาติดรถไว้ เพราะไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไปถึงริมแม่น้ำแวะพักกินข้าวเที่ยงกันก็บ่ายโมงแล้ว เดินทางไปกันสามคน มีผม ภรรยา และลูกคนเล็ก (ลูกคนโตไปญี่ปุ่น) จอดรถใต้ร่มเงาไม้เหนือบริเวณศาลาพักผ่อนริมน้ำ แล้วก็นั่งกินข้าวกันข้างรถนั่นแหละ รถคันอื่นผ่านไปมาคนในรถเขาก็หันมามอง คงเป็นเพราะสงสัยมั้งว่ามันเข้ามาได้อย่างไร เพราะเป็นรถเก๋งคันเดียวที่นั่น และสภาพเส้นทางนั้นเขาคงคิดว่ามีแต่รถปิ๊คอัพเท่านั้นที่เข้ามาได้ นั่งพักผ่อนอยู่ชั่วโมงนึงก็ขับรถกลับ เพราะวางแผนไว้ว่าคืนนั้นจะกลับไปนอนกันที่แม่สอดก่อนเข้ากรุงเทพ
  
ตามแผนที่ที่เห็นนั้น ลำน้ำเมยที่มาจาก อ.แม่สอด จะไหลขึ้นเหนือมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่ อ. สบเมย ดังนั้นพรมแดนไทย-พม่าช่วงนี้จึงมีแม่น้ำเมย-สาละวินเป็นเส้นแบ่งกั้น แต่อาจเป็นเพราะความไม่สงบในฝั่งตรงข้าม ทำให้บริเวณนี้จึงยังเงียบสงบอยู่ เหมาะแก่การไปพักผ่อนหาที่สงบเงียบที่ไม่ค่อยจะมีนักท่องเที่ยวไปส่งเสียงดังยามค่ำคืน
  
เขียน Memoir มาเดือนหน้าก็จะครบ ๗ ปีแล้ว นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะลากมาได้จนถึงฉบับนี้ที่เป็นฉบับที่ ๑๐๐๐ รวมที่เขียนมาทั้งสิ้น (รวมฉบับนี้ด้วย) ก็ปาเข้าไปตั้ง ๔๑๒๙ หน้ากระดาษ A4 ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมจำนวนหน้าของเอกสารแนบ ยังสงสัยเหมือนกันว่าตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่จะเขียนไปได้ยาวเท่าใด เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้
  
รูปที่ ๑๑ แผนที่ทหารที่จัดทำโดยใช้ข้อมูลในปีพ.ศ. ๒๕๐๐ ไม่ปรากฏชื่อบ้านแม่สามแลบ แต่ปรากฏชื่อหลายหมู่บ้านบริเวณดังกล่าวและมีการระบุว่ามีท่าเรือข้ามฟาก (Ferry ตรงที่ขีดเส้นเหลือง) อยู่บริเวณนั้น ฝั่งด้านประเทศพม่ายังระบุว่าเป็นรัฐกระเหรี่ยง (KAREN STATE)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น