วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คิดถึง บ้างไหม เคยยวน เคยยั่ว เหย้าหยอก เล่นหัว MO Memoir : Tuesday 25 August 2558

บ้านหลังแรกสร้างเมื่อใดและถูกรื้อทิ้งไปเมื่อใดผมก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าตอนที่ได้เข้ามาสัมผัสที่นี่เป็นครั้งแรกมันเป็นบ้านหลังที่สอง และบ้านหลังที่สองนี้ก็เกือบจะถูกรื้อทิ้งอีกครั้งเมื่อเราได้บ้านหลังที่สามและหลังที่สี่ที่ใหญ่กว่า แต่บังเอิญเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเมื่อปี ๒๕๔๐ จึงยังทำให้เรายังคงมีบ้านหลังที่สองนี้มาจนถึงปัจจุบัน
  

  
ดังนั้นคงจะไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า ผู้ที่เรียนจบจากที่นี่ที่ปัจจุบันมีอายุในช่วง ๕๐ กลาง ๆ ลงมา ต่างก็เคยได้เข้ามาใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่งของชีวิตในบ้านหลังที่สองหลังนี้ แต่ก็เชื่อว่ามันคงเป็นช่วงเวลาที่ได้ให้ความทรงจำที่ไม่รู้เลือนมาจนถึงปัจจุบัน
     


จะมีสักกี่คนในปัจจุบันที่ยังจำและทันได้ใช้เครื่องชั่งสองแขนที่ทางภาควิชาได้รับมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๖ แม้ว่าปัจจุบันมันยังอยู่ในสภาพดีอยู่ แต่ก็ถูกนำไปเก็บซุกไว้ใต้โต๊ะแลปที่ได้มาใหม่ ถังเซรามิกสำหรับบรรจุสารกรองน้ำเพื่อใช้ทำน้ำบริสุทธิ์สำหรับห้องปฏิบัติการ ที่ไม่รู้เหมือนกันว่าได้มาตั้งแต่เมื่อใด ตู้ไม้ที่ทำจากไม้จริงที่หาได้ยากในปัจจุบันโดยช่างไม้มีฝีมือ ที่ถูกสั่งทำขึ้นมา ๕๐ ปีที่แล้วเพื่อใช้เก็บเครื่องแก้วต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการเคมีที่ โต๊ะทำงานและตู้ไม้ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของมันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๒ จวบจนถึงปัจจุบัน พัดลมโคจร (ที่ใบพัดทำจากเหล็ก) ที่ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ในขณะนี้แม้ว่ามันจะมีอายุเข้าใกล้ ๔๐ ปีเข้าไปทุกที รวมทั้งท่อหลากสีที่เดินทอดมาจากด้านล่างของอาคารและพาดผ่านด้านบนเพดานของห้องปฏิบัติการ จะมีใครสักกี่คนที่เคยได้ใช้และรู้ความหมายของสีเหล่านั้นว่าท่อเหล่านั้นเป็นท่ออะไร รวมทั้งพื้นทางเดินที่ผ่านการรับใช้จนกระเบื้องหลุดร่อนและขาดการซ่อมบำรุง









โถงด้านล่างของตึกที่ช่วงเวลาหนึ่งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วเคยถูกใช้เป็นที่ริดใบจามจุรีเพื่อใช้ในงานรับขวัญ ปัจจุบันได้กลายเป็นห้องเครื่องมือวิทยาศาสตร์และที่ตั้งลิฟต์ของอาคาร ดาดฟ้าอาคารที่มีนิสิตบางคนที่ทำแลปการคืนและนอนค้างที่ตึกได้ขึ้นไปใช้เป็นที่อาบน้ำยามค่ำคืน (ในยุคสมัยที่รอบ ๆ อาคารนี้ยังไม่มีตึกที่สูงกว่า) บันไดด้านข้างอาคารที่แต่เดิมจะสามารถมองเห็นตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพที่เป็นตึกที่สูงที่สุดของประเทศในเวลานั้น โดดเด่นขึ้นมาบนถนนสีลม ตู้เหล็กที่ภาคเคยจัดหาให้นิสิตป.ตรีใช้เป็นที่เก็บของ รั้วมหาวิทยาลัยหลังป้ายรถเมล์ริมถนนพญาไทที่มักจะมีการสลับกันซ่อมกับสลับกันตัดเสาเหล็ก เพื่อเปิดเป็นช่องทางลัดสำหรับเดินเข้ามหาวิทยาลัยเวลาที่ประตูปิด จะได้ไม่ต้องเดินอ้อมไปไกล รวมทั้งร้านนวย (ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งร้านกาแฟหรูหรา) ที่ขายของกินให้สำหรับคนที่ขี้เกียจเดินไปหาอะไรกินที่โรงอาหาร





ผมเป็นรุ่นแรกที่ทางคณะให้เข้ามาเรียนปี ๑ ก่อนแล้วค่อยเลือกภาคตอนขึ้นปี ๒ สารพัดเรื่องที่รุ่นพี่ทั้งชักชวนทั้งข่มขู่ว่าอย่าเลือกเรียนภาคนี้ สารพัดวีรกรรมที่รุ่นพี่ได้ก่อไว้และเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขโมยเลคเชอร์โน๊ตอาจารย์จนทำให้อาจารย์สอนหนังสือไม่ได้ (แล้วผลเป็นยังไงหรือครับ ดูเหมือนว่ารุ่นนั้นจะได้ F วิชานั้นกันเพียบ) การเอาบีกเกอร์ในห้องแลปเคมีมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินกันด้วยการใช้เตาไฟฟ้าของแลป หรือการแอบทำอาหารในห้องบรรยายขณะที่อาจารย์กำลังสอนหนังสืออยู่
  
  
ผู้ที่ทำเคยทำโปรเจคกันตลอดค่ำคืน เคยไหมครับที่มีคืนคืนหนึ่งที่ได้พบกับเหตุการณ์ที่มันกลายมาเป็นตำนานของตึกมาจนถึงปัจจุบัน ยังจำวิชาที่ต้องมีการสอบรีเกรดกันเกือบทั้งรุ่นเป็นประจำทุกปีได้ไหมครับ รายงานแลปหรือเลคเชอร์โน๊ตที่ตกทอดกันจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง หรือการทดลองที่ทำลงไปโดยที่ไม่เข้าใจว่าทำอะไรลงไปเพราะยังเรียนเนื้อหาในส่วนภาคบรรยายไม่ถึง


  
ชื่อเรื่องบทความนี้ผมไม่ได้คิดเองหรอกครับ เพียงแต่ไปยืมเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลง "สายใย" ที่เป็นเพลงที่โด่งดังเมื่อราว ๆ ๓๐ ปีที่แล้ว และปัจจุบันก็ยังคงพอได้ยินอยู่ในงานแต่งงานต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ผมเกิดความคิดว่าเรื่องราวของบ้านที่เราเคยอยู่นั้นทำไมเราต้องให้คนอื่นมาเขียน (โดยใช้ฐานข้อมูลของทางราชการ) ทำไมเราจึงไม่เขียนในส่วนของเราเองบ้างในเมื่อมันมีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หลายท่านเคยประสบ ที่บ่งบอกให้เห็นถึงสภาพการใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้


เคยไหมครับที่คิดอยากจะกลับมายังสถานที่เดิมที่เคยเข้ามาใช้ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เพื่อมารำลึกว่าในช่วงเวลานั้นได้ก่อวีรกรรมอะไรไว้บ้าง มึความทรงจำอะไรบ้างที่ประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน ผมหวังว่าวันสำคัญที่กำลังจะมาถึงนี้คงไม่ใช่เพียงแค่วันกินข้าวเย็นพบปะสังสรรร่วมกับเพื่อนฝูงพี่น้อง แต่ควรเป็นวันที่เปิดโอกาสให้ทุกท่านได้กลับมาเยือนบ้านเดิมเพื่อกลับมาทบทวนความทรงจำและส่งต่อความทรงจำเหล่านั้นให้คนรุ่นต่อไป เพื่อบันทึกเอาไว้เป็นประวัติของภาควิชา จากมุมมองนิสิตผู้เรียน

แล้วพบกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น