วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

ตามล่าหากิ้งกือมังกรสีชมพูที่หุบป่าตาด MO Memoir 2559 Jan 15 Fri

พูดถึง "กิ้งกือ" คนจำนวนไม่น้อยคงคิดถึงสัตว์ที่มีขาเล็ก ๆ เต็มไปหมดแถมน่าขยะแขยง พูดถึง "มังกร" คนส่วนใหญ่คงนึกถึงสัตว์ตัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยพละกำลัง พูดถึง "สีชมพู" คนทั่วไปคงนึกถึงความรักความอ่อนหวานและความน่ารัก แล้วพอรวมทั้งสามคำเป็น "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ล่ะ คุณนึกถึงตัวที่มีหน้าตาอย่างไร ตอนแรกที่ผมได้ยินชื่อก็นึกไม่ออกหรอกครับ คนที่บอกให้ผมไปดูหมุดโลกบนยอดเขาสะแกกรังเขาก็บอกให้ลองไปตามหาสัตว์ชนิดนี้ดู แต่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นหรือเปล่าเพราะมันไม่ใช่ฤดูกาลของมัน ผมก็เลยอดเห็นตัวจริง (ส่วนลูกผมดีใจที่ไม่ต้องเจอตัวจริง) เห็นแต่ป้ายที่ประชาสัมพันธ์ที่เขาติดตั้งไว้ใน "หุบป่าตาด"
 
รูปที่ ๑ ป้ายข้อมูล "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ที่ติดตั้งไว้ในหุบป่าตาด บอกว่าจะพบเห็นได้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งคงเป็นช่วงที่มีฝนตกและป่าชุ่มชื้น สงสัยว่าพ้นจากเวลานี้มันคงหลบไปจำศีลอยู่

ออกจากเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแห้งก็ร่วมบ่ายสามโมงแล้ว เห็นว่ายังพอมีเวลา เพราะยังไม่อยากขับรถเข้ากรุงเทพเร็วเกินไป กลัวจะไปถึงเวลาเลิกงานตอนเย็นรถจะติดมาก (วางแผนดูดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาที่เขื่อนกระเสียว และหาข้าวเย็นกินระหว่างทางก่อนจะเข้ากรุงเทพ) ก็เลยแวะเข้าเยี่ยมชมหุบป่าตาดสักหน่อยก่อนที่อุทยานจะปิด (เขาปิดไม่ให้เข้าเยี่ยมชม ๑๖.๓๐ น) ทางเข้าหุบป่าตาดผมใช้เส้นทางหลวง ๓๔๓๘ ที่เชื่อมระหว่าง อ. หนองฉาง กับ อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี มีป้ายบอกทางชัดเจน ใช้ทางเข้าเดียวกันกับ "เขาปลาร้า" ซึ่งก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ. อุทัยธานี
 
รูปที่ ๒ ทางเข้าหุบป่าตาดใช้เส้นทางเดียวกับทางเข้า "เขาปลาร้า" มีคนเขาแนะนำว่าถ้ามีเวลาก็ให้ไปลองเดินขึ้นเขาปลาร้าดู จะได้รู้ว่าตอนตัวเองมีสภาพเป็นปลาร้าแล้วจะเป็นอย่างไร รูปนี้ถ่ายเมื่ออกมาจากทางหลวง ๓๔๓๘ แล้ว ข้างหน้าเป็นทางเข้าวัดมีรูปปั้นยักษ์ยืนเฝ้าอยู่ ทางเข้าหุบป่าตาดให้ขับเข้าไปในวัดเลย

เนื่องจากไปเที่ยวในวันธรรมดา และก็บ่ายมากแล้วด้วย (บางรายแนะนำให้ไปตอนประมาณเที่ยง เพราะเป็นเวลาที่แสงอาทิตย์จะสามารถส่องลงสู่หุบเบื้องล่างได้ แต่ถ้าไม่อยากเจอแดดก็ให้ไปตอนเช้าหรือบ่ายหน่อย หุบมันอยู่ลึกจากยอดเขามาก เลยเที่ยงไปหน่อยแดดก็ส่องลงไม่ถึงพื้นล่างของหุบแล้ว) จึงกลายเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียว (และอาจเป็นกลุ่มสุดท้าย) ที่ไปเที่ยวที่นั่นในเวลานั้น
 
ก่อนเข้าชมก็ต้องจ่ายค่าเข้าชมก่อน ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ทางอุทยานมีไฟฉายให้ยืม ไม่ได้มีไว้ให้ส่องดูหินงอกหินย้อยในถ้ำหรอกครับ แต่เป็นเพราะช่องทางเดินเข้าหุบนั้นมีช่องทางเดียว เป็นถ้ำเล็ก ๆ ที่มืด (มองไม่เห็นปลายถ้ำอีกฟากหนึ่ง) แต่ก็เป็นช่วงเส้นทางสั้น ๆ แค่นั้นเอง ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าระยะทางเดินไกลไหม ใช้เวลาประมาณเท่าใด ก็ได้คำตอบกลับมาว่าระยะทางเดินไป-กลับประมาณ ๗๐๐ เมตร ช่องทางเข้า-ออกเป็นช่องทางเดิม เพราะมีทางเดินเข้าออกทางเดียว แต่เส้นทางเดินภายในจะเดินวนรอบเป็นวง ถ้าจะเที่ยวที่นี้ก็จะใช้เวลาประมาณครี่งชั่วโมง 
  
คำว่า "หุบ" นี้ถ้าใช้กับลักษณะภูมิประเทศก็จะหมายถึงพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงหรือที่สูง จุดแปลกของหุบป่าตาดคือตัวถ้ำที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกนั้นมันอยู่ที่ระดับเดียวกันกับพื้นดินข้างนอก แต่พอโผล่พ้นถ้ำออกไปแล้วปรากฏว่าตัวหุบป่าตาดนั้นอยู่ที่ระดับต่ำลงไปอีก (ประมาณว่าเกินสิบเมตรอยู่เหมือนกัน) ต้องเดินไต่บันไดที่เขาทำไว้ให้ลงไปอีก ทำให้สงสัยว่าพื้นดินในหุบนั้นน่าจะซึมซับน้ำได้ดี เพราะไม่เช่นนั้นถ้าเจอฝนตกหนักตรงนี้คงจะไม่ได้เป็นป่า แต่จะกลายเป็นแอ่งน้ำแทน ดังนั้นจะว่าไปแล้วหุบป่าตาดอาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ช่วยในการกักเก็บน้ำฝนให้กลายเป็นน้ำใต้ดิน

เนื่องจากไม่มีกิ้งกือมังกรสีชมพูปรากฏตัวให้เห็น Memoir ฉบับนี้ก็เลยขอเป็นการบันทึกรูปบรรยากาศการเดินท่องเที่ยวในหุบป่าตาดแทนก็แล้วกัน

รูปที่ ๓ บริเวณลานจอดรถและปากทางเข้าเส้นทางเดินเข้าสู่หุบป่าตาด ค่าเข้าเยี่ยมชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท มีไฟฉายให้ยืม เพราะตอนเดินเข้าต้องลอดผ่านถ้ำมืด ๆ แต่ก็เป็นช่วงเส้นทางสั้น ๆ แค่นั้นเอง

รูปที่ ๔ ปากทางเข้าสู่หุบป่าตาด เป็นถ้ำมืด ๆ ที่มองไม่เห็นอีกฝั่งหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงสั้น ๆ เลยต้องเอาไฟฉายไปด้วย
 
รูปที่ ๕ เดินแค่นาทีเดียวก็โผล่ออกจากถ้ำ ปรากฏว่ายังต้องเดินลึกลงไปอีก คือสุดทางที่เห็นในรูปแล้วยังต้องเลี้ยวซ้ายลงไปอีก (ระดับพื้นของหุบป่าตาดอยู่ต่ำกว่าปากทางเข้าอยู่มาก) 

รูปที่ ๖ ลงสู่หุบเบื้องล่างก็ต้องเจอกับต้นตาด คือต้นที่เห็นใบคล้าย ๆ ใบมะพร้าวนั่นแหละครับ มีต้นตาดขึ้นเต็มไปหมด เส้นทางเดินอยู่ในสภาพดีและสะอาดด้วย 
  
รูปที่ ๗ ทำความรู้จักต้นตาดกันสักหน่อย ดู ๆ ไปแล้วผมว่ามันก็คล้ายกับต้นจากหรือต้นสาคูอยู่เหมือนกัน
 
รูปที่ ๘ เส้นทางการเดินภายในยังต้องลอดโพรงขนาดใหญ่ใต้ภูเขาไปยังอีกฝั่งหนึ่ง
 
รูปที่ ๙ พ้นจากโพรงดังกล่าวก็ออกมาสู่อีกลานหนึ่งที่ยังคงเต็มไปด้วยต้นตาด

รูปที่ ๑๐ ต้นปอหูช้างต้นนี้งอกอยู่บนก้อนหิน
 
รูปที่ ๑๑ ป้ายอธิบายต้นปอหูช้างในรูปที่ ๘
 
รูปที่ ๑๒ เมื่ออยู่ภายในหุบแล้วมองขึ้นสู่ท้องฟ้า

รูปที่ ๑๓ เดินออกจากหุบป่าตาด ต้องย้อนกลับทางถ้ำที่เดินเข้ามา สิ่งหนึ่งที่ประทับใจก็คือตลอดทางเดินเข้าและออกนั้นไม่ไม่เจอเศษขยะสักชิ้น

รูปที่ ๑๔ บรรยากาศภายในถ้ำที่เชื่อมหุบป่าตาดกับโลกภายนอก
 
รูปที่ ๑๕ ปิดท้ายด้วยอีกรูปหนึ่งของบรรยากาศภายในถ้ำที่เชื่อมหุบป่าตาดกับโลกภายนอก ที่เห็นสว่างเพราะใช้แฟลช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น