วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

วิญญาณป่าที่ห้วยขาแข้ง MO Memoir 2559 Jan 16 Sat

เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อจะไปที่ห้วยขาแข้งเป็นหลัก ส่วนที่เที่ยวที่อื่นนั้นเรียกว่าไปถึงอุทัยธานีก่อนแล้วค่อยว่ากัน เพราะว่าภรรยามีเพื่อนฝูงทำงานอยู่ที่นั่นหลายคน ก็เลยได้รับคำแนะนำต่าง ๆ ว่าควรจะไปเที่ยวที่ไหนและพักที่ไหน ดังนั้นก่อนอื่นผมก็คงต้องขอขอบคุณในน้ำใจไมตรีของท่านเจ้าถิ่นต่าง ๆ ที่ไม่เพียงแต่แนะนำที่พักและที่ท่องเที่ยวให้ แต่ยังช่วยเป็นไกด์นำเที่ยวให้ด้วย
 
รูปที่ ๑ ป้ายดังกล่าวให้ข้อมูลไว้ชัดเจนอยู่แล้วครับ

เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกแปลกที่คนรุ่นใหม่เห็นยอดเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตา หาต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ มีแต่วัชพืชขึ้นเต็มไปหมด ว่าเป็น "ธรรมชาติ" ที่สวยงาม ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นป่าไม้ต้นน้ำลำธารมาก่อน ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ไปบุกเบิกป่าบนภูเขาเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "วัด" เพื่อให้คนแห่กันไปสักการะบูชา และ "บริจาคปัจจัย" เพื่อสร้างให้มันใหญ่โตขึ้นไปอีก รู้สึกมันช่างแตกต่างไปจากประวัติของภิกษุผู้ทรงศีลหลายต่อหลายท่าน (ที่ต่างมรณภาพไปแล้ว) ที่เคยได้รับฟังมา ที่ท่านเหล่านั้นปลีกวิเวกเข้าสู่ป่าที่หาความสะดวกสบายใด ๆ ไม่ได้เพื่อปฏิบัติธรรมและหาความสงบในการปฏิบัติธรรม ห่างจากญาติโยมที่จะมารบกวน
 
ราว ๆ ๑๕ ปีที่แล้วผมได้มีโอกาสแวะไปที่ "ซับลังกา" ตอนนั้นเขายังไม่เปิดให้เป็นที่ท่องเที่ยวและดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยมีใครรู้จักกันเท่าใดนัก บ่ายวันนั้นผมได้มีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผู้หนึ่งที่เพิ่งกลับจากการตรวจป่า ได้มีโอกาสนั้นสนทนากันพักหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นที่มีปืน HK33 (บรรจุกระสุนพร้อมใช้) วางอยู่ข้างกาย
 
เวลาไปเที่ยวสถานที่เหล่านี้เคยแวะทักทายเจ้าหน้าที่เหล่านี้บ้างไหมครับ หรือเห็นเขาเป็นเพียงแค่คนเก็บตังค์ค่าเข้าเยี่ยมชม จะว่าไปแล้วแม้ว่าเขาจะอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลจากความเจริญ (เมื่อมองจากคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่) แต่เขาก็มีเรื่องเล่าต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ช้างป่าบุกเข้าค่ายพักแรมลูกเสือตอนกลางคืน (ผมได้ยินมาจากเจ้าหน้าที่ที่เขาอ่างฤ ไนย) หรือนักท่องเที่ยวเกือบทั้งกลุ่ม (รวมทั้งคนขับรถและผู้นำทางคนไทย) ที่ไปเสียชีวิตหมู่ในถ้ำเนื่องจากน้ำป่าหลาก (ที่เขาสก) นอกจากนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหล่านั้นหรือขายของอยู่ข้างทางต่างก็มีเรื่องเล่าต่าง ๆ เช่นกัน เรื่องเล่าในวัยเด็กของเข้าของบ้านพัก (ที่ผมไปอาศัย) สมัยที่ท้องที่อำเภอบ่อเกลือ จ. น่าน ยังมีการสู้รบกันอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่เฝ้าระวังชายแดนไทย-ลาว บนทางหลวงสาย ๑๐๘๑ หรือคำเตือนเรื่องกับระเบิดที่ฝังเอาไว้เมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้วและยังกู้ไม่หมดที่ฐานปฏิบัติการห้วยโกร๋น จ. น่าน เรื่องของเส้นทางรถไฟบรรทุกอ้อยไปโรงหีบ จากแม่ค้าขายกล้วยทอดที่เพิงเล็ก ๆ หน้าบ้านบนเส้นทางด้านหลังเขาเขียวที่ศรีราชา ที่กลายเป็นถนนลูกรัง (ตอนนั้น) และปัจจุบันกลายเป็นทางลาดยางไปแล้ว
 
รูปที่ ๒ บริเวณที่ตั้งอนุสรณ์ ป้าย "วิญญาณป่า" อยู่ทางด้านซ้าย ส่วนทางเดินศึกษาธรรมชาติอยู่ทางด้านขวา ผมว่าถ้าตำแหน่งป้ายมาอยู่ใกล้ทางเดินเข้าน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะจะทำให้ผู้ที่จะเดินเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติเห็นป้ายได้ชัดเจนมากขึ้น

Memoir ฉบับวันนี้ไม่มีอะไรนะครับ ให้รูปต่าง ๆ มันเล่าเรื่องราวของมันเองก็แล้วกัน
 
รูปที่ ๓ อนุสรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้สละชีวิต

รูปที่ ๔ อนุสรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้สละชีวิต

รูปที่ ๕ อนุสรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้สละชีวิต

รูปที่ ๖ อนุสรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้สละชีวิต

รูปที่ ๗ ที่เลือกถ่ายมุมนี้ก็เพราะเป็นมุมที่มองไปยังทิศทางป่าห้วยขาแข้ง เข้าใจว่ารูปปั้นนี้ก็จงใจตั้งให้หันไปในทิศทางนี้ด้วย

รูปที่ ๘ บ้านหลังที่ทำให้เกิดตำนาน


รูปที่ ๙ (ไม่มีคำอธิบาย)

รูปที่ ๑๐ ห้องที่ทำให้เกิดตำนาน ห้องนี้ปิดไว้แต่มีหน้าต่างกระจกให้มองเข้าไปข้างใน สิ่งของต่าง ๆ ในห้อง (คิดว่ายกเว้นที่นอนและผ้าปูที่นอน) ยังคงเป็นเหมือนเมื่อตอนเกิดเหตุการณ์ หรือเมื่อกว่า ๒๕ ปีที่แล้ว
 
รูปที่ ๑๑ จากระเบียงของบ้านพัก มองลงไปยังลำห้วย

รูปที่ ๑๒ ลำห้วยที่ปากทางเข้า น้ำแห้งมาก ตอนเดินเข้าไปเดินบนสะพาน แต่ตอนกลับเดินลงลุยลำธารข้างล่างแทน
 
รูปที่ ๑๓ ถ่ายรูปใต้สะพานแขวนไว้เป็นที่ระลึกหน่อย

รูปที่ ๑๔ แยกออกจากทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๔๓๘ เข้าสู่เส้นทางสาย อน. ๔๐๐๑ มาได้ประมาณ ๙ กิโลเมตร ก็จะเจอด่านแรก ช่วงนี้เป็นถนนลาดยาง ถัดจากนี้ไปจะเป็นถนนลูกรัง ขับเข้าไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๑๔ ก็จะสุดเส้นทาง เข้าสู่เขตอุทยาน เป็นจุดตรวจที่สอง ถ่ายรูปหลักกิโลนี้เป็นที่ระลึกไว้หน่อย เพราะเห็นเป็นหลักไม้ ทำให้สงสัยว่าน่าจะเป็นของรุ่นเก่าก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นหลักคอนกรีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น