เมื่อเลือกว่าจะผลิตอะไรแล้ว
ขั้นตอนถัดไปก็คือการพิจารณาว่าจะเลือกใช้กระบวนการในการผลิต
ในขั้นตอนนี้มีหลากหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา
และปัจจัยหนึ่งก็คือคุณภาพของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต
เทคโนโลยีการผลิตแต่ละเทคโนโลยีนั้นไม่ได้อิงอยู่บนสารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิ์ระดับเดียวกัน
บางกระบวนการสามารถใช้สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิ์ต่ำได้
แต่ในขณะที่บางกระบวนการที่สามารถเปลี่ยนสารตั้งต้นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้ในสัดส่วนที่มากกว่า
(ที่ทางเคมีเรียกว่าค่าการเลือกเกิดหรือ
selectivity)
แต่กลับต้องการสารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิ์สูง
(ซึ่งมักจะมีราคาสูงกว่าด้วย)
คำถามที่ตามมาก็คือ
"แล้วกระบวนการไหนที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า"
ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น
สารตั้งต้นอาจมาจากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่ตั้งเดียวกัน
ที่สามารถส่งทางท่อจากโรงงานผู้ผลิตไปยังโรงงานผู้ใช้ได้
หรือต้องมีการนำเข้าจากที่อื่น
(เช่นขนส่งทางเรือ)
มาเก็บไว้ในถังเก็บแล้วค่อยนำมาใช้
ประเด็นที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาคือคุณภาพของวัตถุดิบที่ได้มานั้นมีความสม่ำเสมอหรือไม่
และความแปรปรวนนั้นอยู่ในช่วงที่กระบวนการผลิตยอมรับได้หรือไม่
ถ้าหากกระบวนการผลิตที่เลือกใช้นั้นไม่สามารถยอมรับความแปรปรวนด้านคุณภาพของวัตถุดิบที่หาได้
ก็จำเป็นต้องมีการปรับสภาพวัตถุดิบก่อนนำไปใช้งาน
ส่วนจะปรับสภาพด้านใดบ้างนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณภาพวัตถุดิบที่ได้มานั้นมีความแปรปรวนในเรื่องใดบ้าง
ในการเลือกซื้อเทคโนโลยีนั้น
ทางผู้ขายก็ต้องมีการรับประกันว่าถ้าเลือกใช้เทคโนโลยีของเขาโดยใช้สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าเท่านั้นเท่านี้
ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าตามที่เขากำหนด
และถ้าหากว่าผู้ซื้อเทคโนโลยีนั้นพบว่าแม้ว่าจะทำตามข้อกำหนดของเจ้าของเทคโนโลยีแล้ว
แต่ก็ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ในสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้
ก็ต้องมีการปรับผู้ขาย
(คือหักเงินที่ต้องจ่ายงวดสุดท้ายออก)
และถ้าหากมีความแตกต่างมาก
ก็อาจถึงขั้นไม่ตรวจรับก็ได้
(คือไม่จ่ายเงินงวดสุดท้าย)
ผมเคยได้ยินกรณีของบริษัทหนึ่ง
(เป็นเรื่องเล่าจากคนที่ทำงานในบริษัทนั้น)
ที่มีโรงงานพอลิเอทลีน
๒ โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีต่างกัน
แต่รับเอทิลีนมาจากโรงงานผู้ผลิตเดียวกันที่อยู่ใกล้เคียงกัน
โรงงานแรกนั้นสามารถใช้เอทิลีนตามที่รับมาจากผู้ผลิตเอทิลีนได้โดยตรง
แต่โรงงานที่สองนั้นกำหนดความบริสุทธิ์ไว้สูงกว่า
ทำให้ต้องมีการสร้างหน่วยปรับสภาพเอทิลีนก่อนป้อนเข้าสู่โรงงานที่สอง
แต่พอเอาเข้าจริงกลับพบว่าถ้าใช้เอทิลีนความบริสุทธิ์สูง
(ตามข้อกำหนดของเจ้าของเทคโนโลยี)
จะคุมอุณหภูมิการทำปฏิกิริยาได้ยาก
เพราะปฏิกิริยาเกิดรวดเร็วมาก
สุดท้ายก็ใช้วิธีการป้อนเอทิลีนจากผู้ผลิตเข้าสู่กระบวนการโดยตรง
(มีสิ่งปนเปื้อนในปริมาณที่สูงกว่าข้อกำหนดของเจ้าของเทคโนโลยี)
ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิของการทำปฏิกิริยาได้
(เพราะสิ่งปนเปื้อนเข้าไปลดความว่องไวในการทำปฏิกิริยา
ทำให้อัตราการคายความร้อนนั้นลดลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้)
ตรงนี้ก็เป็นจุดที่น่าพิจารณาตรงที่ว่า
เจ้าของเทคโนโลยีนั้นกำหนดความบริสุทธิ์ของวัตถุดิบที่จะใช้นั้น
"สูงเกินไป"
หรือไม่
โดยพิจารณาจากมุมมองที่ว่าถ้าหากใช้วัตถุดิบที่มีความบริสุทธิ์ต่ำกว่าที่เขากำหนดได้
เขาก็จะไม่โดนปรับ
แต่ถ้ามองจากผู้ซื้อเทคโนโลยีมันจะเป็นว่าโดนหลอกให้สร้างหน่วยปรับสภาพวัตถุดิบหรือไม่
เพราะถ้าพบว่าวัตถุดิบที่รับเข้ามานั้นสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ทันทีเลยโดยไม่ต้องปรับสภาพก่อน
(ก็คือให้มันไหลเข้าท่อ
bypass
ตรงเข้าสู่กระบวนการผลิตเลย
โดยไม่ต้องผ่านเข้าหน่วยปรับสภาพ)
หน่วยปรับสภาพที่สร้างขึ้นมาก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้
แต่เงินที่ต้องลงทุนไปในการสร้างหน่วยปรับสภาพนี้
ใครควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
รูปที่
๑ ตัวอย่าง Process
flow diagram ของหน่วย
Amine
treatment
กระบวนการผลิตเอทิลีนที่นำมาใช้เป็นข้อมูลในการเขียนบทความชุดนี้เริ่มจากการนำเอาอีเทนมาปรับสภาพด้วยการกำจัดแก๊สกรด
(H2S
และ
CO2)
ออกก่อนด้วยการใช้สารละลายเอมีน
ประเด็นแรกที่ผมสงสัยก็คือถ้าเป็นอีเทนที่มาจากจากโรงแยกแก๊สที่อยู่ข้าง
ๆ โดยตรงนั้น
มันผ่านการแยกเอาแก๊สกรดออกไปก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนการกลั่นแยกอีเทน
แล้วแก๊สกรดเหล่านั้นมาจากไหน
หรือว่าเป็นการเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ต้องมีการนำเอาอีเทนจากแหล่งอื่นมาใช้
ประเด็นที่สองที่สงสัยก็คือก่อนป้อนอีเทนเข้าสู่
pyrolysis
heater นั้นจะต้องมีการผสมไอน้ำ
(ตัวทำให้เกิด
CO2
จากปฏิกิริยาข้างเคียง)
และสารประกอบ
"กำมะถัน"
เข้ากับอีเทน
(เพื่อลดการเกิด
coke)
และค่อยทำการกำจัดแก๊สกรดก่อนนำไปกลั่นแยกสารตั้งต้นที่หลงเหลือและผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกจากกัน
ดังนั้นทำไมจึงต้องกำจัดแก๊สกรดเหล่านี้ออกก่อนป้อนเข้า
pyrolysis
heater
รูปที่
๒ ตัวอย่าง Process
flow diagram ของหน่วย
Amine
treatment ส่วนต่อจากรูปที่
๑
Process
flow diagram (หรือ
PFD)
ที่นำมาแสดงในที่นี้เป็นหน่วย
Amine
treatment
ที่ประกอบด้วยการให้แก๊สอีเทนสัมผัสกับสารละลายเอมีนเพื่อดึงเอาแก๊สกรดออกจากแก๊สอีเทน
และการนำเอาสารละลายเอมีนที่ดูดซับแก๊สกรดมานั้นไปต้มให้ความร้อนเพื่อไล่แก๊สกรดออกไป
และนำสารละลายเอมีนกลับไปใช้ใหม่
สิ่งที่อยากให้เห็นก็คือ
(โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทำแต่
simulation
ที่สภาวะ
stead
state กันมากเหลือเกิน)
ในการออกแบบนั้นต้องคำนึงถึงการนำเข้าสารที่ต้องใช้
การชดเชยสารที่สูญเสียไปในกระบวนการ
และการกำจัดสารที่เสื่อมสภาพ
(ในที่นี้คือเอมีนที่ใช้ในการกำจัดแก๊สกรด)
และจะว่าไปแล้วยังอาจต้องพิจาณาต่อไปด้วยว่าจะมีเอมีนติดไปกับอีเทนที่ส่งไปยังหน่วยผลิตต่อไปหรือไม่
และถ้ามีเอมีนติดปนไปด้วยจะส่งผลต่อการทำงานของหน่วยผลิตต่อไปหรือไม่
(ไม่ใช่ว่าเอาตัวปัญหาตัวหนึ่งออก
แล้วใส่ตัวใหม่เข้าไปแทน)
ปรกติในการไหลนั้น
ถ้าเป็นแก๊สจะไหลได้เองไปตามท่อจากด้านความดันสูงไปยังด้านความดันต่ำ
(แรงดึงดูดของโลกไม่ส่งผล)
จะมีการใช้คอมเพรสเซอร์ก็ต่อเมื่อต้องการเพิ่มความดัน
แต่ในกรณีของของเหลวนั้นแรงดึงดูดส่งผลต่อการไหลมาก
ดังนั้นจึงมักต้องใช้ปั๊มในการส่งของเหลวจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่ง
(ไม่ว่าอุปกรณ์หลายทางจะอยู่ในระดับความสูงเดียวกันหรือระดับความสูงที่สูงกว่า)
จะมีกรณีที่ไม่ต้องใช้ปั๊มก็คือการใช้แรงดึงดูดของโลก
(คือการไหลแบบที่เรียกว่า
gravity
flow) จากอุปกรณ์ที่อยู่สูงกว่าไปยังอุปกรณ์ที่อยู่ต่ำกว่า
ดังนั้นรูปแบบการส่งของเหลวจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอุปกรณ์หนึ่งนั้นว่าจะต้องใช้ปั๊มหรือไม่จึงยังขึ้นอยู่กับการออกแบบการวางตำแหน่งอุปกรณ์แต่ละตัวด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น