รูปเหล่านี้ถ่ายเก็บเอาไว้เกือบ
๓ ปีจนแทบลืมไปแล้ว
เพิ่งจะมาเจอตอนค้นรูปเก่า
ๆ จะเอาไปประกอบ Memoir
ชุดรวมบทความ
มาวันนี้ก็เลยถือโอกาสเขียนบันทึกภาพสิ่งที่ได้เป็นเห็นมาเอาไว้ซะหน่อย
หลังจากที่เขียนแต่เรื่องวิชาการหนัก
ๆ ติดต่อกันหลายฉบับ
วันนั้นเป็นวันอาทิตย์
มีนัดประชุมสภาวิชาการที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งแถวเขาชนไก่
บังเอิญเขาเลื่อนการประชุมจากช่วงบ่ายมาเป็นช่วงสาย
ทำให้เลิกประชุมกันเร็ว
ขากลับก็เลยมีโอกาสแวะถ่ายรูปตามทาง
สถานที่แห่งหนึ่งที่แวะก็คือสถานีรถไฟกาญจนบุรี
เข้าไปถ่ายรูปรถโยกตรวจทางรถไฟที่เขาเอามาตั้งแสดงไว้หน้าสถานี
เป็นสิ่งที่เหมือนกับว่าในปัจจุบันแทบไม่มีใครให้ความสนใจ
ทำนองเดียวกับรถยนต์รางตรวจทางหมายเลข
๒๕๑๒ ที่ตั้งแสดงไว้ที่สถานีวังโพ
(Memoir
ปีที่
๔ ฉบับที่ ๔๓๓ วันอาทิตย์ที่
๘ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง
"ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๑๖ รถยนต์รางเลขที่๒๕๑๒")
ดูจากสภาพรถในตอนนั้น
ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าวันนี้กลับไปเยี่ยมอีกที
มันจะมีสภาพเป็นเช่นไร
เส้นทางสายกาญจนบุรีนี้
ถ้าไม่ใช่เพราะสงครามโลกครั้งที่
๒ ทำให้เกิดสะพานมรณะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
สงสัยว่าการรถไฟก็คงไม่มีเหตุผลใดที่จะเดินรถไฟในเส้นทางนี้
รูปที่
๑ รถโยกตรวจทางรถไฟที่นำตั้งแสดงไว้หน้าสถานีรถไฟกาญจนบุรี
เก้าอี้นั่งใช้ระบบสปริงแหนบรองรับการกระแทก
รูปที่
๒ อีกมุมหนึ่งของรถโยกตรวจทางรถไฟ
รูปที่
๔ ระบบส่งกำลังจากคันโยกลงไปยังเฟือง
ตอนนั้นก็อยู่ในสภาพที่เกือบจะไม่เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว
พักหลังเวลาไปกาญจนบุรี
ผมมักเลี่ยงไปใช้เส้นทางสาย
๓๔๖ บางเลน-กำแพงแสน-พนมทวน
แทนเส้นทางที่ผ่านบ้านโป่ง-ท่ามะกา
เพราะเส้นทางสาย ๓๔๖
มันมีรถวิ่งน้อยกว่า
เส้นทางสายนี้จะไปข้ามทางรถไฟ
๑ จุดที่ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน
ตรงนั้นจะมีป้ายหยุดรถไฟชื่อ
"ทุ่งบัว"
วันนั้นพอออกจากสถานีกาญจนบุรีแล้วผมก็ขับรถกลับกรุงเทพทางเส้นทางนี้
ก็เลยถือโอกาสแวะเยี่ยมชมป้ายหยุดรถไฟที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความเป็น
"ธรรมชาติ"
ส่วนที่ว่ามันเต็มไปด้วยความเป็นธรรมชาติมากแค่ไหนก็ขอให้พิจารณาจากรูปเอาเองก็แล้วกัน
ปัจจุบันเส้นทางสายนี้ก็ยังมีขบวนรถไฟวิ่งอยู่
คือตอนเช้าจะออกจากสุพรรณบุรีมายังกรุงเทพ
และตอนบ่าย (ก็ขบวนรถเดิมนั่นแหละ)
วิ่งออกจากกรุงเทพกลับไปยังสุพรรณบุรี
เห็นเวลามหาวิทยาลัยเริ่มปีการศึกษาใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาก็มีงานรับน้องรถไฟกันทุกปี
แต่เกษตรศาสตร์กำแพงแสนไม่ยักทำบ้าง
ทั้ง ๆ ที่มีทางรถไฟวิ่งผ่านริมรั้วหลังวิทยาเขต
น่าเสียดายที่ตอนนั้นรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการคมนาคม
เปลี่ยนจากรถไฟมาใช้ถนนเป็นหลัก
ทำให้เส้นทางที่อยู่ในโครงการจะก่อสร้างถูกยกเลิกไป
แถมเส้นทางรถไฟที่เริ่มสร้างไปแล้วจึงถูกยุติการก่อสร้าง
ไม่ว่าจะเป็นสายสุพรรณบุรีที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเหนือ-ใต้
นั้นไม่ต้องอ้อมเข้ากรุงเทพมหานคร
เส้นทางจากสุราษฏร์ธานีไปยังภูเก็ตที่ไปสิ้นสุดเพียงแค่คีรีรัฐนิคม
เส้นทางจากเด่นชัยไปยังเชียงราย
เส้นทางจากสวรรคโลกไปยังแม่สอด
รวมทั้งเส้นทางจากตลิ่งชันไปยังมหาชัยที่กลายเป็นถนนกาญจนาภิเษก
และเส้นทางเชื่อมระหว่างแม่กลองกับทางรถไฟสายใต้ที่บ้านโป่ง
เส้นทางบางสายที่เคยมีรถไฟวิ่งเป็นประจำก็ต้องปิดตัวลง
เช่นเส้นทางสายสงขลา-หาดใหญ่
ที่ตอนนี้เหลือแต่แค่ความทรงจำ
รูปที่
๕ ที่พักสำหรับรอรถไฟที่ป้ายหยุดรถทุ่งบัว
ไม่รู้ว่าจะมีงูไปนอนรออยู่ด้วยหรือเปล่า
รูปที่
๖ มองออกมายังถนนสาย ๓๔๖
ด้านซ้ายคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน
รูปที่
๗ มองไปยังเส้นทางมุ่งหน้าไปสุพรรณบุรี
ด้านขวาคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน
รูปที่
๘ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟสายธรรมชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น