วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๖ รถยนต์รางเลขที่ ๒๕๑๒ MO Memoir : Sunday 8 April 2555


ที่ระยะ ๑๖.๑๕๐ กิโลเมตรจากสถานีรถไฟท่ากิเลนมุ่งหน้าไปยังสถานีสถานีรถไฟน้ำตก หรือกึ่งกลางทางระหว่างสถานีรถไฟท่ากิเลนและสถานีรถไฟน้ำตก เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟวังโพ

อันที่จริงตรงนี้ก็เป็นที่ตั้งของอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แต่สถานีรถไฟประจำอำเภอกลับชื่อวังโพ ไม่ได้ชื่อไทรโยค

รูปที่ ๑ สถานีรถไฟวังโพ มองไปในทิศทางมุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟน้ำตก

ผมเคยผ่านไปแถวนอนเล่นที่รีสอร์ทแถวนั้นมาหลายครั้งแล้ว แต่เพิ่งจะมีเมื่อวานที่มีโอกาสได้ลงไปเดินเล่นถ่ายรูปที่ตัวสถานี

ฝั่งตรงข้ามตัวที่ทำการสถานี ด้านตะวันตกบนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังสถานีน้ำตก ยังมีเศษซากประวัติศาสตร์การเดินรถไฟในสมัยรถจักรไอน้ำให้เห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแทงค์เก็บน้ำสำหรับเติมน้ำให้หัวรถจักร เสาสำหรับเติมน้ำให้หัวรถจักร และไม้ท่อนทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งจากที่เห็นคิดว่าคงเป็นกองปน ๆ กันระหว่างไม้หมอนและไม้เสาต่าง ๆ

ฝั่งด้านที่ทำการตัวสถานี บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังสถานีน้ำตกก็ยังมีอนุสรณ์บอกเล่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับทางรถไฟสายนี้เอาไว้ นั่นคือซากรถยนต์รางเลขที่ ๒๕๑๒ ที่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในยุคนั้นคือ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมพร้อมกับเจ้าพนักงานรถไฟอีก ๑ นาย (ไม่มีการระบุชื่อ) รายละเอียดเหตุการณ์เป็นอย่างไรก็ลองอ่านเอาเองจากป้ายบอกเล่าที่ถ่ายมาให้ดูในรูปที่ ๓

รูปที่ ๒ ทางด้านตะวันตกของสถานี มุ่งหน้าไปยังสถานีน้ำตก ยังมีซากอนุสรณ์รถไฟสมัยเก่าให้เห็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแทงค์เก็บน้ำ (ทางซ้ายของรูป) และเสาสำหรับเติมน้ำให้หัวรถจักรไอน้ำ (ในกรอบสีเหลือง) และกองท่อนไม้เก่า เข้าใจว่าคงปน ๆ กันอยู่ระหว่างไม้หมอนเก่ากับเสาไม้เก่า ๆ

รูปที่ ๓ ป้ายบอกประวัติรถยนต์รางเลขที่ ๒๕๑๒ ป้ายนี้อยู่ฝั่งเดียวกันกับตัวที่ทำการสถานีรถไฟ

รูปที่ ๔ รถยนต์รางเลขที่ ๒๕๑๒ คันที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อ ๖๕ ปีที่แล้ว ตอนนี้มีหญ้าและไม้เลื้อยขึ้นรอบ ๆ เต็มไปหมด สงสัยเป็นเพราะว่าช่วงที่ผ่านมานั้นมีฝนตกบ่อย ไม้เหล่านี้ก็เลยขึ้นงอกงามดี

รูปที่ ๕ อีกด้านหนึ่งของรถยนต์รางคันดังกล่าว ลูกฟุตบอลที่นอนอยู่ใต้รางไม่ได้เป็นอุปกรณ์ประจำรถนะ คงเป็นของเด็ก ๆ แถวนั้นที่เตะฟุตบอลเล่นแล้วลืมเก็บมากกว่า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (แต่พิมพ์พ.ศ. ๒๕๔๖) ไม่มีคำว่า "ทราก" มีแต่คำว่า "ซาก" คำนี้เป็นคำไทยคำหนึ่งที่มักพบว่ามีการเขียนผิดบ่อยครั้ง (ดูบรรทัดสุดท้ายของป้ายในรูปที่ ๓)

ที่สะกิดใจผมคือนามสกุลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น เพราะไปเหมือนกันกับชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ "สะพานเดชาติวงศ์" สะพานนี้มักจะตกเป็นข่าวทุกปีช่วงเทศกาล เพราะจะเป็นจุดที่การจราจรจะติดหนักบนเส้นทางขึ้น-ล่องระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ

ผมลองค้นข้อมูลผ่านทางคอมพิวเตอร์พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับสะพานนี้มีความขัดแย้งกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปีที่เริ่มก่อสร้างหรือปีที่เริ่มเปิดใช้ แต่ที่เห็นว่าน่าจะผิดแน่นอนก็คือมีบางเว็บบอกว่าสะพานดังเกล่าวเปิดใช้งานเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๓ โดย ".. กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงในสมัยนั้น" ดังเช่นในเว็บของ wikipedia ที่เดี๋ยวนี้นักเรียนและใครต่อใครชอบเอาไปใช้ในการเขียนรายงานหรืออ้างอิงกัน

แต่เมื่อตรวจสอบกับแหล่งอื่นแล้ว เช่นในเว็บของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (www.cabinet.thaigov.go.th) ซึ่งเป็นเว็บทางการของทางรัฐบาล ได้ให้ข้อมูลว่าม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์รางเมื่อ ๓ ปี ๗ เดือนก่อนหน้านั้นแล้วคือในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๒๙๐ (รูปที่ ๗) แสดงว่าข้อมูลใน wikipedia (ซึ่งใครก็ได้สามารถเข้าไปเขียนได้อย่างอิสระ) ก็มีผิดพลาดอยู่เหมือนกัน

รูปที่ ๖ ประวัติสะพานเดชาติวงศ์จากหน้าเว็บ thai.en.wikipedia.org/wiki/สะพานเดชาติวงศ์ บอกว่าสะพานดังกล่าวเปิดใช้เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๙๓ โดย ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวงในสมัยนั้น (ตรงที่ตีเส้นประสีแดง)

ผมเองก็เข้าไปอ่านบทความในเว็บ wikipedia ที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่บ่อย ๆ และพบว่าในฉบับภาษาอังกฤษนั้นมักจะให้ข้อมูลเอาไว้ด้วยว่าข้อมูลที่เขาเอามานั้นอ้างอิงมาจากหนังสือเล่มใดหรือจากเว็บที่เป็นทางการของหน่วยงานใด (เช่นจากหน่วยงานของรัฐหรือบริษัทที่มีตัวตนจริงและมีการเผยแพร่ข้อมูลนั้นโดยตรง) และถ้าข้อมูลใดถูกกล่าวขึ้นมาลอย ๆ เขาก็มักจะระบุด้วยว่าข้อมูลนั้นยังต้องการการอ้างอิงว่าเอามาจากแหล่งใด ซึ่งแตกต่างจากของคนไทยอยู่ ที่พบว่าข้อมูลเดียวกัน (ประเภทคัดลอกกันทุกคำพูด) มีไปปรากฏในหลายเว็บโดยที่ไม่มีการบอกที่มาที่ไปว่าไปลอกมาจากไหน

รูปที่ ๗ รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดที่ ๑๗ ของประเทศไทยจากหน้าเว็บ www.cabinet.thaigov.go.th/cab_17.htm คัดลอกมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕ จะเห็นว่าระบุเอาไว้ว่า ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๔๙๐ จากอุบัติเหตุรถพลัดตกจากสะพาน (ในกรอบสีเหลือง)

การศึกษาของเรานั้นไม่ได้ให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์เท่าไรนัก มักจะเป็นการให้แบบผิวเผิน ฟังแล้วก็เชื่อต่อ ๆ กันมาโดยไม่มีการตรวจสอบใด ๆ ทั้งสิ้น และมักให้ความสนใจกับภาพรวมใหญ่ ๆ โดยไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น "เกร็ดเล็ก ๆ ทางประวัติศาสตร์" เท่าไรนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกร็ดเหล่านั้นเป็นเพียงคนธรรมดาที่ไม่ได้ถูกยกยอปอปั้นหรือปรากฏเป็นข่าวในเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติที่เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ

แต่ถ้าเขาเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านั้น ผมเห็นว่าเขาเหล่านั้นก็ควรที่จะได้รับการบันทึกชื่อให้อยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์ของสิ่งนั้นด้วย