ในมุมมองของทางประเทศอังกฤษที่ผมได้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อนั้น
เขามองว่าเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
สิ่งสำคัญก็คือต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิด
การสอบสวนตรงนี้ไม่ได้เพ่งเล็งไปเพียงแค่การหาใครก็ได้มาเป็นคนผิดสักคนเพื่อให้เรื่องราวมันจบ
ๆ ไป แต่ครอบคลุมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการบริหารงาน
การจ้างงาน การฝึกอบรม
และการใช้คน
กล่าวคือผู้บริหารระดับสูงมีสิทธิที่จะถูกฟ้องได้ถ้าหากพบว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดจาก
การไม่ใส่ใจให้พนักงานปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ใช้คนไม่เหมาะสมกับลักษณะงาน
ไม่มีการจัดอบรม ทบทวน
การทำงานอย่างเหมาะสม
หรือเรื่องอะไรทำนองนี้
และก็เคยมีกรณีเหมือนกันที่พบว่าอุบัติเหตุเกิดจากวิธีการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสมที่ทำกันสืบทอดต่อ
ๆ กันมาในบริษัท
(ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร)
และเมื่อสืบสวนลึกลงไปก็พบว่ามันเป็นสิ่งที่พนักงานเหล่านั้นเรียนสืบทอดต่อ
ๆ กันมา
และคนอื่นในหน่วยงานก็ทำแบบเดียวกันเป็นเรื่องปรกติ
ซึ่งในกรณีเช่นนี้จะไปกล่าวโทษผู้ปฏิบัติงานว่าทำงานไม่เรียบร้อยมันก็กระไรอยู่
(เป็นกรณีของการปลดสายไฟแล้วไม่ตัดสายไฟให้สั้นลง
ทำเพียงแค่พับเก็บ
แต่ภายหลังเกิดปัญหาสายที่พับเก็บนั้นมันไปลัดวงจรสัญญาณจราจร
ทำให้เกิดเหตุรถไฟโดยสารชนท้ายขบวนรถที่จอดอยู่
เหตุเกิดที่สถานี Clapham
Junction ชานกรุงลอนดอนในเช้าวันจันทร์ที่
๑๒ ธันวาคม ค.ศ.
๑๙๘๘
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิติ
๓๕ รายและบาดเจ็บเกือบ ๕๐๐
ราย
เอาไว้ถ้ามีเวลาว่างจะเอาเรื่องในบันทึกการสอบสวนเหตุการณ์นี้มาเล่าให้ฟัง)
ประเทศอังกฤษมองว่าเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
ควรที่จะมีการสอบสวนหาสาเหตุ
และเผยแพร่ผลการสอบสวนนั้นให้เป็นที่ทราบกันทั่วไป
เพื่อที่จะ "ไม่ให้ผู้อื่นทำผิดซ้ำอีก"
และอาจจะมีความผิดด้วยซ้ำถ้าพบว่ามีการปกปิดสาเหตุการเกิดจนส่งผลให้มีอุบัติเหตุแบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก
แต่ในประเทศส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนจะเน้นไปที่การปกปิดเสียมากกว่า
ด้วยเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
หรือถูกลงโทษ
หรือทำให้หน่วยงานเสื่อมเสียชื่อเสีย
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบว่าอุบัติเหตุใหญ่
ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราในอดีตนั้น
คนที่ทำงานในบริษัทเหล่านั้นในปัจจุบันจะไม่เคยรับรู้ว่าเคยมี
หรือรู้ว่ามันเกิดความผิดพลาดอย่างไร
แม้ว่าในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุนั้นบริษัทเหล่านี้ก็มีมาตรการความปลอดภัยในการทำงานต่าง
ๆ แต่มันก็มีการหลุดรอดไปได้
บทความจำนวนมากในวารสาร
Loss
Prevention Bulletin ฉบับเก่า
ๆ นั้น "ไม่ปรากฏ"
ชื่อผู้เขียนบทความครับ
สาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีการฟ้องร้อง
(คงเป็นเพราะมีผู้ส่งบทความมาจากหลาย
ๆ แหล่ง)
จะมีบ้างที่มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความหรือหน่วยงานที่เกิดเหตุ
แต่นั่นก็มักเป็นกรณีที่เป็นข่าวรับรู้กันทั่วไปและมีการตั้งกรรมการสอบสวนอย่างเป็นทางการ
แต่จะว่าไปแล้วชื่อผู้เขียนและหน่วยงานที่เกิดเหตุก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อย่างไร
(แบบเดียวกับที่แพทย์สามารถเรียนรู้การรักษาโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าผู้ป่วยชื่ออะไร)
บทความที่สองชื่อเรื่อง
"Asphyxiation
hazards of inert gas" ที่ไม่ปรากฏชื่อบทความผู้เขียนจากวารสาร
Loss
Prevention Bulletin ฉบับที่
๙๗ ปีค.ศ.
๑๙๙๑
บรรยายเหตุการณ์อุบัติเหตุอีก
๔ กรณี โดยทุกกรณีมีผู้เสียชีวิต)
บทความนี้ให้รายละเอียดการเกิดเหตุการณ์ไว้มากกว่าเรื่องที่นำมาเล่าให้ฟังในครั้งที่แล้ว
(ฉบับเมื่อวันจันทร์)
ใน
Memoir
ฉบับนี้จะยกมาเพียง
๑ เรื่องก่อนเพื่อไม่ให้เนื้อหามันยาวเกินไป
(เพราะมีการแทรกรายละเอียดเพิ่มเติม)
ส่วนอีก
๓ เรื่องที่เหลือขอยกไปฉบับตอนที่
๓ หรือตอนต่อไป
ขึ้นอยู่กับว่ามีการแทรกรายละเอียดคำอธิบายเพิ่มเติมมากน้อยเท่าใด
(ตัวหนังสือ
สีน้ำตาล
ในบทความนี้เป็นจุดที่ผมแทรกรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปในบทความเดิม)
เรื่องที่
๑ :
การเสียชีวิตจากแก๊สอาร์กอน
(Ar)
ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะ
ระหว่างการก่อสร้าง
aluminium
regenerator vessel ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง
2.30
m สูง
2.9
m ที่ตั้งอยู่บนพื้น
workshop
โดยด้านบนเปิดอยู่
และมีบันไดพาดอยู่ภายในเพื่อการเข้าไปทำงานภายใน
จำเป็นต้องมีการเชื่อมตะแกรงสแตนเลสด้วยการเชื่อมแบบ
tack
welding เข้ากับด้านล่างของ
vessel
ด้วยการใช้
argon
arc equipment (รูปที่
๑ ข้างล่าง)
รูปที่
๑ การเชื่อมตะแกรงสแตนเลสเข้ากับส่วนล่างของ
regenerator
vessel
tack
welding
เป็นรูปแบบการเชื่อมที่ได้ไม่เดินแนวเชื่อมยาวตลอดรอยต่อของชิ้นงานที่ต้องการยึดติดเข้าด้วยกัน
คือมีการเชื่อมเป็นแนวสั้น
ๆ แล้วก็เว้นระยะห่างก่อนที่จะเชื่อมยึดเป็นแนวสั้น
ๆ อีกครั้ง และทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย
ๆ
การเชื่อมเช่นนี้อาจเป็นการเชื่อมเพื่อการจัดตำแหน่งชิ้นงานก่อนที่จะทำการเชื่อมยาวตลอดแนว
(ป้องกันการบิดงอ)
หรือสำหรับการเชื่อมต่อที่ไม่ได้รับแรงอะไรมากนัก
ในการเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้านั้นจะทำให้เกิดประกายไฟฟ้า
(arc)
ขึ้นระหว่างชิ้นงานที่ต้องการเชื่อมกับตัวลวดเชื่อมหรือขั้วไฟฟ้า
ความร้อนที่เกิดจากประกายไฟฟ้าโดดข้ามระหว่างชิ้นงานและตัวลวดเชื่อมหรือขั้วไฟฟ้าจะทำให้เนื้อโลหะของชิ้นงานหลอมเหลว
และถ้าอีกฟากหนึ่งเป็นลวดเชื่อม
ตัวลวดเชื่อมเองก็จะหลอมเหลวลงไปเติมเต็มแนวรอยเชื่อม
(กระแสไฟฟ้าวิ่งไหลผ่านลวดเชื่อมหรือที่ช่างบ้านเราเรียก
"ธูปเชื่อม")
แต่ถ้าอีกฟากหนึ่งเป็นขั้วไฟฟ้าที่ทนอุณหภูมิสูง
จะมีการป้อนลวดเชื่อม
(จะด้วยมือหรือเครื่องอัตโนมัติก็ตามแต่)
เข้าไปบริเวณที่เกิดประกายไฟฟ้านั้น
โดยลวดเชื่อมที่ป้อนเข้าไปจะหลอมเหลวเติมเต็มแนวรอยเชื่อมนั้น
(กระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลผ่านลวดเชื่อม)
ในระหว่างกระบวนการเชื่อมนี้จำเป็นต้องมีการกันอากาศ
(ทั้งออกซิเจนและไนโตรเจน)
ออกจากบริเวณที่กำลังทำการเชื่อม
เพราะอุณหภูมิที่สูงจะทำให้เนื้อโลหะทำปฏิกิริยาได้กับทั้งออกซิเจนและไนโตรเจน
ในกรณีของการใช้ธูปเชื่อมนั้น
สารที่หุ้มตัวธูปเชื่อมเอาไว้
(ที่เรียกว่า
flux)
จะเกิดการลุกไหม้ให้แก๊สออกมาปกคลุมบริเวณเนื้อโลหะที่หลอมเหลว
และส่วนหนึ่งของ flux
นั้นจะละลายลงมาปกคลุมผิวโลหะหลอมเหลวนั้นเอาไว้ไม่ให้สัมผัสกับอากาศ
และ flux
ยังทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อนป้องกันไม่ให้โลหะตรงรอยเชื่อมเย็นตัวเร็วเกินไป
แต่การใช้
flux
นั้นอาจเกิดปัญหาที่มี
flux
บางส่วนไม่ได้ลอยขึ้นเหนือผิวโลหะที่หลอมเหลว
และเมื่อโลหะเย็นตัวลงก็จะมี
flux
บางส่วนฝังอยู่ในรอยเชื่อม
ทำให้รอยเชื่อมมีความแข็งแรงลดลง
(ต้องตรวจหาด้วยการฉายรังสีเอ็กซ์)
ซึ่งถ้าพบปัญหาดังกล่าวก็ต้องมีการเจียรเนื้อโลหะตรงรอยเชื่อมนั้นออกและทำการเชื่อมซ่อมใหม่
การเลี่ยงปัญหาข้างต้นทำได้ด้วยการหันไปใช้แก๊สเฉื่อยทำหน้าที่ปกคลุมบริเวณที่กำลังเชื่อมโลหะนั้น
แก๊สที่ใช้กันก็มีอาร์กอน
(Argon)
และคาร์บอนไดออกไซด์
(CO2)
ถ้าใช้แก๊สอาร์กอนปกคลุมช่างบ้านเราเรียกว่าเชื่อมอาร์กอนหรือเชื่อม
TIG
ที่ย่อมาจาก
Tungsten
Inert Gas ซึ่งช่างเชื่อมจะใช้มือข้างหนึ่งถือ
"Torch"
ที่มีขั้วไฟฟ้าทำจากทังสเตนทำให้เกิดประกายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ Torch
นี้จะมีหัวจ่ายแก๊สอาร์กอนฉีดพ่นลงไปตรงตำแหน่งที่เกิดประกายไฟฟ้า
ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจะป้อนลวดเชื่อมเข้าไปยังบริเวณที่เกิดประกายไฟฟ้านั้น
เพื่อให้ลวดเชื่อมหลอมเหลวเติมเต็มแนวรอยเชื่อม
ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่า
tack
welding และการเชื่อม
TIG
เป็นอย่างไร
ก็ใช้คำดังกล่าวค้นหารูปภาพดูจาก
goolge
ดูเอาเองก็แล้วกัน
ในเช้าการทำงานวันที่สาม
ช่างเชื่อมรายหนึ่งที่ทำงานคนเดียวได้เข้าไปเริ่มงานภายใน
vessel
ดังกล่าวในเวลาประมาณ
๘.๒๐
น และไม่ได้กลับมาร่วมพักกินน้ำชากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นในเวลาประมาณ
๙.๓๐
น (สงสัยว่าจะเป็นคนอังกฤษ
เพราะในสังคมเขาจะมีการพักงานเพื่อกินน้ำชาในช่วงเช้าหนึ่งครั้งและช่วงบ่ายหนึ่งครั้ง)
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติสำหรับช่างเชื่อมรายนั้น
จนกระทั่งเวลาประมาณ ๑๐.๓๐
น ได้ปีนขึ้นไปบน vessel
เพื่อตรวจดูการทำงานภายในก็พบช่างเชื่อมคนดังกล่าวนอนคว่ำหน้าอยู่บนพื้น
จึงรีบปีนลงไปช่วยเหลือแต่ก็เกิดอาการวิงเวียนจึงรีบปีนกลับออกมา
จากนั้นก็มีบุคคลอื่นอีก
๓ คนมาช่วย
ซึ่งเมื่อปีนเข้าไปในถังก็เกิดอาการวิงเวียนจนต้องรีบปีนกลับออกมา
จนกระทั่งคนหนึ่งใน ๓
คนดังกล่าวไปนำเอา "Respirator"
มาสวม
และปีนกลับเข้าไปใหม่
และสามารถนำเอาตัวช่างเชื่อมคนที่นอนหมดสติออกมาได้
ซึ่งอันที่จริงได้เสียชีวิตไปแล้ว
ซึ่งเมื่อแพทย์มาตรวจก็พบว่าได้เสียชีวิตมาเป็นช่วงเวลาหนึ่งแล้ว
ผลการชันสูตร
พบว่าช่างเชื่อมเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศเนื่องจากแก๊สอาร์กอน
เป็นเรื่องปรกติที่ถ้าใครสักคนพบว่าใครนอนหมดสติอยู่ก็จะรีบเข้าไปช่วยเหลือทันที
โดยไม่ทันพิจารณาว่าในบริเวณรอบข้างนั้นมีอันตรายสิ่งใดอยู่
โดยเฉพาะกับแก๊สเฉื่อยที่ไม่มีสี
ไม่มีกลิ่น และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองใด
ๆ
ในกรณีนี้ก็เช่นกันคงเป็นเพราะเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ใน
workshop
ไม่ใช่ในตัวโรงงานที่เป็นเรื่องปรกติที่มีการใช้แก๊สเฉื่อยในการ
purge
ไล่อากาศออกจากอุปกรณ์
อาร์กอนเป็นแก๊สที่หนักกว่าอากาศ
อาร์กอนที่ใช้ในการเชื่อมจึงลอยลงต่ำ
ในกรณีนี้แสดงว่าขอบล่างของตัว
vessel
นั้นคงจะวางตัวได้ค่อนข้างจะแนบสนิทกับพื้น
workshop
เพราะถ้ามีช่องว่างอยู่ระหว่างขอบด้านล่างของ
vessel
กับพื้น
workshop
แก๊สอาร์กอนก็คงจะระบายออกไปทางช่องว่างนั้น
โอกาสจะสะสมจนสูงท่วมตัวช่างเชื่อมคงยากขึ้น
และเนื่องจากงานที่ทำนั้นเป็นการเชื่อมแบบ
tack
welding คือเป็นการเชื่อมเป็นแนวสั้น
ๆ ไม่ต่อเนื่อง
ปริมาณแก๊สอาร์กอนที่ใช้จึงไม่มากนั้น
แม้ว่าจะไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการหมุนเวียนอากาศภายใน
vessel
แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สอาร์กอนจนส่งผลต่อการหายใจได้
ประเด็นคำถามมันอยู่ตรงนี้ก็คือ
แก๊สอาร์กอนในปริมาณมากมาจากไหน
เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดแสดงว่าใน
vessel
นั้นมีแก๊สอาร์กอนปริมาณมากอยู่ที่ด้านล่างของถังตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว
แก๊สอาร์กอนจะจ่ายมาจาก
gas
cylinder (ที่คนไทยเรียกว่า
"ถังแก๊ส"
หรือ
"ท่อแก๊ส")
โดยที่หัวถังจะมี
pressure
regulator ทำหน้าที่คุมความดันแก๊สที่จ่ายออกมาให้คงที่
และมีวาล์วพร้อม flow
meter สำหรับปรับอัตราการไหลของแก๊สที่จ่ายไปยัง
Torch
"Respirator"
เป็นอุปกรณ์
"ป้องกัน"
ระบบหายใจ
คือเป็นหน้ากากกรองแก๊สหรือฝุ่นผงต่าง
ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ
Respirator
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในกรณีที่อากาศนั้นมีแก๊สพิษหรือฝุ่นผงปะปนอยู่
แต่อากาศนั้นยัง
"มีออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจ"
ถ้าอากาศนั้นมีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการหายใจ
Respirator
จะไม่ช่วยอะไร
อุปกรณ์ที่เหมาะสมกว่า
"Self-Contain
Breathing Apparatus (SCBA)"
ที่มีถังอากาศในตัว
ซึ่งให้ความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจ
ในเหตุการณ์นี้แสดงว่าผู้ที่เข้าไปช่วยนั้นตระหนักแล้วว่าอากาศที่อยู่ในถังนั้นมีปัญหา
แต่คงคิดว่าเกิดจากมีแก๊สพิษอยู่ในถัง
ไม่ได้คาดคิดว่าสาเหตุเกิดจากการขาดอากาศ
แต่จะว่าไปแล้วผมเองก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะมี
work
shop ที่ไหนจะมี
Self-Contain
Breathing Apparatus เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ความปลอดภัย
เห็นจะมีแต่ก็พวกพัดลมระบายอากาศไม่ก็หน้ากากป้องกันฝุ่นควันและสารเคมีเท่านั้น
ผลการสอบสวนคาดว่าผู้เสียชีวิตคงจะปล่อยให้มีแก๊สอาร์กอนไหลไปจนถึง
welding
torch หลังจากเสร็จงานในวันก่อนหน้า
แต่มีการรั่วไหลของแก๊สอาร์กอนออกจาก
welding
torch ตลอดทั้งคืน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือช่างเชื่อมรายอื่นก็กล่าวว่าบางครั้งพวกเขาก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน
โดยไม่เคยคิดว่าจะเกิดอันตรายใด
ๆ
และปรกติก็ไม่มีการใช้ท่ออากาศช่วยในการระบายอากาศเมื่อมีการใช้แก๊สอาร์กอน
ในเหตุการณ์นี้ผมคิดว่าตัวถังแก๊สอาร์กอนเอง
(หนักไม่ใช่เล่นเหมือนกัน)
คงอยู่นอกตัว
vessel
(เรื่องอะไรจะแบกเข้าไปข้างใน
vessel
เพราะสุดท้ายก็ต้องแบกออกมาอีก)
จากนั้นก็ต่อสายท่อแก๊สและสายไฟสำหรับการเชื่อมเข้าไปยัง
welding
torch ที่อยู่ภายใน
vessel
และทางด้าน
welding
torch เองนี้คงจะมีวาล์วสำหรับปิด-เปิดการไหลของแก๊สอาร์กอน
ซึ่งในบทความไม่ได้กล่าวถึงการมีวาล์วตัวนี้
แต่จากข้อความที่บอกว่ามีการปล่อยให้แก๊สไหลไปจนถึง
welding
torch
ส่อให้เห็นว่ามันน่าจะมีวาล์วควบคุมการไหลของแก๊สอาร์กอนอยู่ทางด้าน
welding
torch ด้วย
และเมื่อเสร็จงาน
ช่างเชื่อมก็ทำเพียงแค่ปิดวาล์วตัวดังกล่าว
โดยไม่ได้มาปิดวาล์วหัวถัง
ทีนี้พอมีการรั่วไหลที่วาล์วตัวดังกล่าว
ประกอบกับการทิ้งไว้ข้ามคืนเป็นระยะเวลานาน
จึงทำให้แก๊สอาร์กอนรั่วออกมาในปริมาณที่มากพอ
และสะสมอยู่เบื้องล่างจนทำให้ผู้ที่เข้าไปภายใน
vessel
หมดสติเนื่องจากขาดออกซิเจนได้
ผมเคยเห็นช่างเชื่อมท่อที่เชื่อมอาร์กอนนี้ทำงานโดยไม่มีการใช้พัดลมช่วยระบายอากาศ
นั่นก็เป็นเพราะเขาทำงานกลางแจ้งหรือไม่ก็ในพื้นที่เปิดโล่ง
ถ้าจะมีก็เป็นพัดลมเป่าช่างเชื่อมไม่ให้ร้อนเกินไปจากการทำงานมากกว่า
แต่ถ้าเป็นการทำงานในพื้นที่จำกัด
(ที่เรียกว่า
confined
space)
ก็ควรต้องมีระบบหมุนเวียนอากาศภายในบริเวณดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมแก๊สอาร์กอนมากจนทำอันตรายต่อผู้ที่ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น