วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เมื่อความดันในถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ (Atmospheric tank) สูงกว่าความดันบรรยากาศ MO Memoir : Saturday 21 May 2559

เหตุการณ์ใน Memoir ฉบับนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับฉบับเมื่อวาน โดยเป็นกรณีที่ความดันภายในถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ สูงกว่าความดันบรรยากาศมากเกินไปเรื่อง เนื้อหาและรูปต่าง ๆ ที่นำมาเล่ายังคงมาจากหนังสือ "What went wrong? Case history of process plant disasters" ของ Prof. Trever A. Kletz ที่กล่าวถึงเมื่อวาน
 
รูปที่ ๑ ฝาถังปลิวออกเนื่องจากการระเบิดภายในถัง โชคดีที่ตกลงบริเวณที่ว่างที่กว้างพอที่สามารถรองรับฝาถังทั้งฝาได้

เมื่อวานได้เล่าถึงวิธีการดันให้ฝาถังที่ยุบตัวค่อย ๆ คืนกลับสู่สภาพเดิมด้วยการใช้แรงดันน้ำ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังมีข้อต้องพึงระวังคือความดันภายในสูงสุดที่ใช้ในการออกแบบถัง ที่มักมีค่าอยู่ที่ประมาณ 8 นิ้วน้ำ ดังนั้นถ้าหากระดับน้ำในถังเมื่อวัดจากรอยต่อระหว่างลำตัวและฝาถังสูงเกินกว่า 8 นิ้ว ก็อาจทำให้ฝาถังฉีกขาดออกเนื่องจากความดันที่สูงเกินไปได้ (แต่การใช้น้ำ ถ้าหากความดันสูงเกินไป ฝาถังจะไม่ระเบิดปลิวออกเหมือนกับการใช้อากาศอัด)
 
โดยทั่วไปถังประเภทนี้จะมีท่อระบายอากาศ (ท่อ vent) อยู่บนฝาถัง ส่วนจะมีท่อให้ของเหลวที่เติมเข้าไปมากเกินไปนั้นไหลล้นออกมา (ท่อ overflow) หรือเปล่าคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ถ้ามีท่อไหลล้น ท่อนี้ควรที่จะอยู่ใกล้ขอบด้านบนของส่วนลำตัว) ถ้าหากไม่มีท่อไหลล้น เมื่อเกิดการเติมของเหลวเข้าไปในถังมากเกินไป ของเหลวก็จะไหลล้นออกมาทางท่อระบายอากาศ ถ้าท่อระบายอากาศมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับอัตราการไหลของของเหลวเข้าถัง และ/หรือระดับความสูงของท่อระบายอากาศสูงเกินไป (เมื่อวัดจากขอบผนังด้านบนของถังขึ้นมาจนถึงตำแหน่งสูงสุดของท่อ ไม่รวมส่วนวกกลับ) ก็มีโอกาสที่จะเกิดความดันที่สูงเกินกว่าที่ถังจะรองรับได้เกิดขึ้น (ตำแหน่งของท่อระบายแก๊สนี้มักจะอยู่บนฝาถังใกล้กับส่วนลำตัว เว้นแต่คาดว่าในถังอาจมีแก๊สไฮโดรเจน (หรือแก๊สที่เบากว่าอากาศ) เกิดขึ้น ก็จะต้องมีท่อระบายแก๊สที่ตำแหน่งสูงสุดของฝาถัง)
 
บทที่ ๕ เรื่อง "Storage tanks" ในหนังสือ "What went wrong?" ของ Prof. Kletz ได้กล่าวเตือนเหตุการณ์ overpressuring ด้วยของเหลวนี้เอาไว้ก่อนที่จะเล่าเรื่องวิธีการแก้ปัญหาฝาถังยุบตัว เพียงแต่ตอนที่เล่าวิธีการแก้ปัญหาฝาถังยุบตัวนั้นไม่ได้เอ่ยย้อนกลับไปให้คำนึงเรื่องการ overpressuring ด้วยของเหลว
 
รูปที่ ๒ ถังอาจเกิดปัญหาความดันในถังสูงเกินไป (overpressurising) เนื่องจากของเหลวได้ ถ้าหากขนาดของท่อระบายของเหลวไหลล้นนั้นเล็กเกินไป หรือความสูงของท่อระบาย (เมื่อวัดจากขอบบนของส่วนลำตัว ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับฝาถัง) นั้นสูงมากเกินไป

Level glass เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้บ่งบอกระดับของเหลวในถังเก็บ ถ้าไม่รู้จักว่า level glass หน้าตาเป็นอย่างไร สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๔๒ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "การวัดระดับของเหลวในถัง"
 
ถังเก็บของเหลวใบหนึ่งมีปัญหาเรื่องท่อให้ของเหลวไหลออกอุดตัน โอเปอร์เรเตอร์จึงคิดที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มความดันให้กับของเหลวในถังด้วยการใช้แรงดันอากาศอัดเข้าไปในช่องว่างระหว่างผิวของเหลวกับฝาถัง โดยคาดหวังว่าความดันที่เพิ่มขึ้นจะช่วยดันให้สิ่งอุดตันในท่อหลุดออก วิธีการที่เขาทำก็คือเอาสายยางอากาศอัดความดันที่มีความดัน7 bargต่อเข้ากับปลายด้านบนของ Level glass (มันจะมี vent plug อยู่) จากนั้นก็เปิดให้อากาศอัดความดันไหลเข้าไปในถัง แต่ผลที่เกิดขึ้นคือฝาถังปลิวออกแทน

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมว่าเหตุการณ์ทำนองนี้บางทีก็ต้องเห็นใจผู้ปฏิบัติงานอยู่เหมือนกัน เป็นเรื่องปรกติทั่วไปที่คนที่ถูกฝึกมาเพื่อปฏิบัติงานกับคนที่ฝึกมาเพื่อออกแบบหรือก่อสร้างนั้นจะมีความรู้กันคนละด้านกัน (ทำนองเช่นคนขับรถแข่งได้เก่ง กับคนที่ออกแบบรถแข่งที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันนะ) นอกจากนี้เรายังอาจต้องพิจารณาด้วยว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีเงื่อนไขจำกัดเรื่องเวลาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะที่โรงงานกำลังเดินเครื่องอยู่ ซึ่งเป็นการยากที่จะต้องหยุดเดินเครื่องทุกครั้งเพื่อแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ในตัวอย่างนี้ผมคิดว่ามุมมองของผู้อ่านส่วนใหญ่คงคิดว่าการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีกก็คือควรให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานว่าอุปกรณ์นั้นรองรับความดันได้เท่าใด ซึ่งนั้นก็เป็นวิธีการหนึ่ง 
  
แต่ในอีกมุมมองของผมนั้นเห็นว่าควรที่จะต้องให้ผู้ออกแบบมีความรู้ด้วยว่าในระหว่างการทำงานนั้นอาจมีเหตุการณ์ใดที่อาจให้เกิดปัญหาขึ้นได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิด หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหา จึงต้องคำนึงถึงการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ในการออกแบบอุปกรณ์ (เช่นในกรณีที่คิดว่าท่อมีโอกาสอุดตัน ก็ต้องออกแบบให้มีเส้นทางสำรอง และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เส้นทางสำรองอุดตันในระหว่างที่ยังไม่มีการใช้งานด้วย กรณีเช่นนี้ผมเคยเห็นกับระบบ slurry polymerisation บางระบบ)
 
รูปที่ ๓ การอัดอากาศอัดความดันเข้าทางปลายท่อเปิดด้านบนของ level glass โดยคาดหวังจะใช้ความดันอากาศช่วยดันสิ่งอุดตันในท่อให้ของเหลวไหลออก ส่งผลให้ฝาถังปลิวออก

ในกรณีที่ไม่ต้องการให้มีอากาศไหลเข้ามาในถังมากเกินไป (เช่นในกรณีของถังที่ใช้เก็บของเหลวที่เป็นเชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่ไอของเหลวนั้นเมื่อผสมกับอากาศในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วเกิดการระเบิดได้) หรือไม่ต้องการให้ไอของเหลวในถังรั่วไหลออกมานอกถังมากเกินไป การติดตั้ง breather valve เข้าที่ท่อระบายอากาศก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง การทำงานของ breather valve นั้นวาล์วจะเปิดให้อากาศไหลเข้าถังเมื่อความดันในถังลดลงถึงระดับหนึ่ง และจะเปิดให้ไอระเหยในถังระบายออกเมื่อความดันในถังเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่ง (แต่ระดับความดันทั้งสองก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่ทำอันตรายต่อถัง) ซึ่งถ้าหากไม่มีการติดตั้ง breather valve แล้ว เมื่อความดันในถังลดลงต่ำกว่าความดันบรรยากาศนอกถัง อากาศก็จะไหลเข้าถังทันที และเมื่อความดันในถังสูงกว่าความดันบรรยากาศนอกถัง ไอระเหยของของเหลวในถังก็จะระบายออกสู่นอกถังทันที
 
ในกรณีที่เห็นว่าการไหลย้อนของอากาศเข้าไปในถังนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการรั่วไหลของไอระเหยของของเหลวในถังออกมาข้างนอก (เช่นในกรณีของถังที่เก็บเชื้อเพลิงที่มีความดันไอค่อนข้างสูง อากาศที่ไหลเข้าไปในถังจะสะสมข้างในจนอาจถึงสัดส่วนที่พร้อมที่จะระเบิดได้ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้น แต่ไอเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมานอกถังจะฟุ้งกระจายออกไป ยากที่จะสะสมจนมีความเข้มข้นมากพอที่จะระเบิดได้) กรณีเช่นนี้ก็อาจทำการติดตั้งระบบจ่ายแก๊สเฉื่อย (เช่นไนโตรเจน) เข้าไปในถัง โดยเมื่อความดันในถังลดต่ำเกินไปก็จะปล่อยให้ไนโตรเจนไหลเข้ารักษาความดันเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ breather valve เปิดระบายอากาศเข้า เว้นแต่ความดันในถังจะลดต่ำเร็วจนป้อนไนโตรเจนชดเชยไม่ทัน ก็จะยอมให้ breather valve เปิดรับอากาศเข้าสู่ภายในถังได้
 
รูปที่ ๔ ไอของสารที่เป็นเชื้อเพลิงที่อยู่ในถังบรรจุใบหนึ่ง ไหลย้อนผ่านทางท่อไนโตรเจนเข้าสู่ถังอีกใบหนึ่งที่อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง เมื่อช่างเชื่อมโลหะเริ่มการเชื่อมโลหะบนถังที่ทำการซ่อมบำรุง ความร้อนจากการเชื่อมทำให้ไอผสมเชื้อเพลิง-อากาศในถังที่ทำการซ่อมบำรุงเกิดการระเบิด ส่งผลให้ฝาถังปลิวออก (รูปที่ ๑)

โรงงานแห่งหนึ่งใช้ระบบดังที่กล่าวมาข้างต้นในการรักษาความดันให้กับถังเก็บเชื้อเพลิงใบหนึ่ง เมื่อความดันในถังลดต่ำลง Reducing valve ก็จะเปิดให้ไนโตรเจนไหลเข้าถัง และเมื่อความดันในถังเพิ่มสูงขึ้น Reducing valve จะปิดตัวและ Pressure/Vacuum valve จะเปิดออกเพื่อระบายความดันส่วนเกินออกไป

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีไอระเหยของเชื้อเพลิงไหลย้อนเข้าไปในท่อจ่ายไนโตรเจนได้เช่นกัน

เมื่อโรงงานทำการก่อสร้างถังเก็บใบใหม่เพิ่มเติม โดยใช้ต่อไนโตรเจนต่อจากระบบท่อเดิม แม้ว่าถังยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่ผู้รับเหมาก็ได้ทำการเชื่อมต่อท่อไนโตรเจนเข้ากับถังใบใหม่โดยปิดวาล์วไว้ ด้วยคิดว่าไนโตรเจนเป็นแก๊สที่ไม่อันตรายเพราะไม่ติดไฟ (แต่ก็เป็นแก๊สที่ทำให้คนตายเนื่องจากขาดอากาศมาเยอะแล้ว) แต่วาล์วตัวดังกล่าวมีการรั่วซึม ทำให้เมื่อความดันในถังเพิ่มขึ้น (จะเนื่องด้วยมีการสูบของเหลวเข้าถังหรืออุณหภูมิสูงขึ้นก็ตามแต่) ไอระเหยของเชื้อเพลิงจึงสามารถไหลย้อนเข้ามาทางท่อไนโตรเจนที่เชื่อมต่อกับถังใบเดิม และรั่วไหลเข้าสู่ถังใบใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ โดยที่ตัว Pressure/Vacuum valve ยังไม่เปิด ทำให้เมื่อช่างเชื่อมเริ่มทำการเชื่อมท่อขาเข้าที่อยู่ทางด้านล่างของถัง ก็เกิดการระเบิดขึ้นในถังที่ทำให้ฝาถังปลิวออกไป 
  
แล้วผลเป็นอย่างไรหรือครับ ตามรูปที่ ๑ นั่นแหละครับ โชคดีที่ตำแหน่งที่ฝาถังตกลงไปนั้นมันกว้างพอและ ณ เวลานั้นไม่มีใครไปปรากฏตัวอยู่ตรงนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น