วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559

การปั่นกวนของแข็งให้แขวนลอยในของเหลว ตอนที่ ๓ ผลของรูปร่างภาชนะ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๘๓) MO Memoir : Friday 16 September 2559

ทิ้งไปเกือบ ๓ ปีเต็ม (เป็นเพราะอะไรคนเขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน) จึงได้เวลากลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อ
 
ในตอนที่ ๑ นั้นได้เล่าถึงผลของความหนาแน่นที่แตกต่างกันระหว่างของเหลวกับอนุภาคของแข็งที่มีต่อการแขวนลอยของของแข็งในเฟสของเหลว (ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๙๘ วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)
 
ในตอนที่ ๒ ได้เล่าถึงขนาดความยาวของ magnetic bar เทียบกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของภาชนะ ที่ให้ผลในการกวาดอนุภาคของแข็งที่ถูกเหวี่ยงไปกองอยู่ที่ก้นขอบของภาชนะ (ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๙๙ วันพุธที่ ๒๐พฤศจิกายน ๒๕๕๖) ที่ได้แสดงให้เห็นว่า magnetic bar ที่มีความยาวน้อยกว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของภาชนะนั้นเล็กน้อย สามารถช่วยป้องกันไม่ให้อนุภาคของแข็งไปสะสมอยู่ตรงก้นขอบของภาชนะได้ และได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าใช่ว่าการใช้ magnetic bar แท่งสั้นจะมีปัญหาเสมอไป เพราะมันมีเรื่องของรูปร่างก้นภาชนะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
 
และนี่ก็คือเรื่องของตอนที่ ๓ ที่จะเล่าในฉบับนี้


รูปที่ ๑ การทำการปั่นกวนในภาชนะ ๓ รูปแบบ ในกรณีของ Erlenmeyer flask และ beaker นั้นของแข็งจะถูกเหวี่ยงให้มากสะสมอยู่ที่ขอบล่างของภาชนะ (เว้นแต่จะจะใช้ magnetic bar ที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของก้นภาชนะ) ส่วนในกรณีของ round bottle flask นั้นของแข็งที่ถูกเหวี่ยงออกไปลอยขึ้นไปด้านบนและตกกลับลงมาใหม่

ภาชนะก้นแบบเช่น Erlenmeyer flask หรือ beaker นั้น เวลาที่เราใส่ magnetic bar ลงไป ไม่ว่ามันจะเป็นแท่งสั้นหรือแท่งยาว มันก็วางราบได้กับพื้นภาชนะนั้น ถ้าเราใช้ magnetic bar แท่งสั้นก็จะพบว่าของแข็งส่วนหนึ่งจะถูกเหวี่ยงให้ไปกองอยู่ตรงก้นขอบของภาชนะแทนที่จะกระจายไปทั่วของเหลว ปัญหานี้แก้ด้วยการใช้ magnetic bar ที่มีความยาวใกล้เคียงกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางก้นภาชนะ ซึ่งก็พอจะทำได้ถ้าภาชนะนั้นมีขนาดเล็ก (เช่นประมาณ 100 ml)
 
อีกวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือการหันไปใช้ภาชนะก้นกลม เช่น round bottle flask แต่คราวนี้คงต้องหันมาใช้ magnetic bar แท่งสั้นเพื่อที่มันจะวางอยู่ที่ก้นภาชนะได้ (ถ้าใช้แท่งยาวเกินไป ปลายสองข้างของ magnetic bar จะค้ำอยู่ที่ผนัง ทำให้เกิด dead volume ข้างใต้ magnetic bar) ในกรณีนี้อนุภาคของแข็งจะถูกเหวี่ยงให้ลอยขึ้นออกไปทางด้านข้าง ก่อนจะวกตกกลับลงมาเพื่อถูกเหวี่ยงกลับขึ้นไปใหม่ (รูปที่ ๑) 
  
อันที่จริงในบางกรณีการใช้ภาชนะก้นกลมจะได้เปรียบกว่าตรงที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของภาชนะเพิ่มขึ้นตามระดับความสูง เพราะรูปร่างเช่นนี้ทำให้ระดับความสูงของของเหลวไม่เพิ่มมากขึ้นตามปริมาตรของเหลวที่เติมเข้าไป (ตราบเท่านี้ยังไม่ถึงระดับครึ่งทรงกลม) เมื่อเทียบกับการใช้ Erlenmeyer flask (ยิ่งสูง พื้นที่หน้าตัดยิ่งเล็กลง) หรือ beaker (พื้นที่หน้าตัดคงที่) ที่มีขนาดปริมาตรพอ ๆ กัน ผลนี้จะเห็นได้ชัดในกรณีของการทำปฏิกิริยาแบบ ๓ เฟสที่มีการปั่นกวนของเหลวที่แยกชั้นกันอยู่ (เช่นเฟสมีขั้วและเฟสไม่มีขั้ว) และของแข็ง (ที่อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา) เพราะด้วยการที่เฟสของเหลวที่เบากว่าที่ลอยอยู่ด้านบนนั้นอยู่ไม่ห่างจากแท่ง magnetic bar ที่ปั่นกวนอยู่ก้นภาชนะ การปั่นกวนในเฟสของเหลวที่เบากว่าจึงเกิดได้ดีกว่าด้วย

ปิดท้ายหน้ากระดาษที่ว่างอยู่ด้วยรูปบรรยากาศวิชาสัมมนาป.เอก เมื่อเที่ยงวันนี้ที่ห้อง ๔๐๕ ตึกวิศว ๓ ก็แล้วกัน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น