วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

ตำแหน่งการบรรจบท่อ ด้านข้าง ด้านล่าง หรือด้านบน MO Memoir : Saturday 10 September 2559

หายหน้าหายตาไปจากห้องแลปนานหลายวันเหมือนกันเนื่องจากภาระกิจการสอนรัดตัว บ่ายวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาพอมีโอกาสแวะขึ้นไปใหม่ ก็มีคนชี้ให้ดูของเล่นใหม่ที่เพิ่งจะทำเสร็จ คือท่อสำหรับระบายแก๊สจากที่ตั้งอุปกรณ์ทดลองต่าง ๆ มาบรรจบเข้ากับท่อระบายแก๊สของตู้ดูดควัน เพื่อใช้พัดลมดูดอากาศของตู้ดูดควันช่วยดึงเอาแก๊สที่ใช้ในการทดลองต่าง ๆ ระบายออกไปข้างนอก จะว่าไปมันก็ดูดเรียบร้อยดี เพียงแต่ว่าผมรู้สึกสะดุดตาอยู่ ณ จุดหนึ่ง คือตำแหน่งการบรรจบท่อที่เดินขึ้นมาใหม่นั้นเข้ากับท่อของตู้ดูดควันเดิม (รูปข้างล่าง)


ท่อเดิมของตู้ดูดควันนั้นเป็นท่อใหญ่ (สองท่อใหญ่ที่เห็นในรูป) ท่อที่เดินใหม่เป็นท่อเล็ก ช่างติดตั้งนั้นเขาเลือกบรรจบท่อเล็กเข้าทาง "ด้านล่าง" ของท่อระบายแก๊สเดิม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผมเห็นว่าไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนัก
 
ในการออกแบบแนวเส้นทางการวางท่อนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ออกแบบควรต้องคำนึงถึงเสมอคือการมีเฟสอื่นที่ไม่ใช่เฟสที่ต้องการให้ท่อเส้นนั้นลำเลียง ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นท่อสำหรับลำเลียงของเหลว ก็ควรต้องคำนึงถึงอากาศที่อยู่ในเส้นท่อก่อนการป้อนของเหลวเข้าเส้นท่อด้วย อากาศนี้มันมีอยู่ในเส้นท่อตั้งแต่ตอนที่วางท่อเสร็จครั้งแรก หรือหลังการซ่อมแซมท่อที่มีการระบายเอาของเหลวออกจากท่อจนหมด จุดที่อาจเป็นปัญหาก็คือตำแหน่งที่ท่อไต่ขึ้นไปด้านบนและวกลงด้านล่างซึ่งเป็นจุดที่อาจทำให้อากาศค้างอยู่ในเส้นท่อที่ตำแหน่งสูงสุดนั้นได้ ในกรณีของท่อขนาดเล็กนั้น (เช่นท่อประปาตามบ้าน) ความเร็วการไหลของของเหลวมักจะมากพอที่จะดันให้อากาศไหลออกไปจากบริเวณดังกล่าวได้ แต่ในกรณีของท่อขนาดใหญ่อาจต้องมีการติดตั้งท่อ vent ที่ตำแหน่งสูงสุดดังกล่าวเพื่อระบายอากาศตกค้างทิ้งออกไป (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๙๒ วันจันทร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "Drain อยู่ล่าง Vent อยู่บน")
 
ในกรณีของท่อที่เฟสหลักของการไหลคือแก๊สนั้น ในหลายกรณีก็ควรต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะมีการควบแน่นของของเหลวภายในท่อ ถ้าท่อมีขนาดใหญ่ แก๊สไม่ได้ไหลเร็ว และของเหลวมีปริมาณไม่มาก ของเหลวที่ควบแน่นก็จะไหลด้วยแรงโน้มถ่วงจากที่สูงไปยังที่ต่ำ (ตามความลาดเอียงของท่อ) ถ้าต้องการต่อท่อแยกเพื่อดักเข้าของเหลวควบแน่นออก ก็ต้องต่อเข้าทางด้านล่างของท่อหลัก
 
แต่ถ้าเป็นกรณีของท่อบรรจบที่เป็นท่อเล็กไหลเข้ามารวมกับท่อใหญ่นั้น ไม่ควรที่จะบรรจบท่อเล็กเข้าทางด้านล่างของท่อใหญ่ เพราะจะเปิดโอกาสให้ของเหลวที่ควบแน่นนั้นไหลย้อนเข้ามาทางท่อเล็กได้ ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าที่จะบรรจบท่อเล็กเข้าทางด้านบนหรือด้านข้างของท่อใหญ่ (แล้วแต่พื้นที่ติดตั้งจะอำนวยให้)
 
ท่อระบายแก๊สจากตู้ดูดควันเป็นท่อที่มีโอกาสเกิดการควบแน่นของไอระเหยสารเคมีต่าง ๆ ได้ เพราะในระหว่างการใช้งานนั้นอาจมีไอสารเคมีที่เป็นของเหลวต่าง ๆ ระเหยออกมาที่อุณหภูมิสูง (เช่นจากการต้ม) พอเข้ามาอยู่ในระบบท่อและเย็นตัวลงก็เลยเกิดการควบแน่นได้ ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าที่ท่อเล็กที่เข้ามาบรรจบนั้นไม่ควรบรรจบเข้าทางด้านล่างของท่อใหญ่ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ของเหลวที่ควบแน่นในท่อใหญ่ (ถ้าเกิดขึ้น) ไหลย้อนเข้ามาในท่อบรรจบนั้นได้

บ่ายสี่โมงวันอาทิตย์สัปดาห์ที่แล้ว มีศิษย์เก่าแวะมาเยี่ยม ได้คุยกันหลายหลายเรื่องราว อันที่จริงผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาได้อะไรไปบ้างจากผม (นอกจากจดหมายรับรองสำหรับสมัครเรียนต่อ) แต่ไม่กี่วันให้หลังก็มีการกล่าวถึงในหน้า facebook ก็เลยขอนำมาบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำส่วนตัวหน่อย :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น