"การศึกษาชาติตะวันตกนั้นเน้นไปที่ฝึกคนให้เป็นลูกจ้างของระบบทุนนิยม"
เป็นคำกล่าวที่ผู้ที่ทำวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์เอ่ยให้ผมฟังนานมาแล้ว
ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว
เห็นได้จากการที่เราประเมินคุณภาพบัณฑิตที่จบออกไปว่าเรียนจบแล้วเอาความรู้ที่เรียนไปนั้น
ไปใช้ทำงานได้ไหม
โดยให้ความสำคัญมากกับความพึงพอใจของ
"นายจ้าง"
แทนที่จะเป็นของ
"ผู้เรียน"
ระบบการจ้างงานแบบทุนนิยมนั้นสร้างภาพ
"ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน"
ว่าเป็นสิ่งเดียวกับ
"การประสบความสำเร็จในชีวิต"
ในขณะเดียวกันระบบการจ้างงานแบบทุนนิยมก็ยังสร้างภาพ
"ผู้ที่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน"
คือคน
"คนเก่ง"
"คนเก่ง"
คือคนที่อยู่นำหน้า
"คนอื่น"
โดยทิ้ง
"คนอื่น"
ไว้เบื้องหลัง
หรือ
"คนเก่ง"
คือคนที่พา
"คนอื่น"
เดินไปข้างหน้าพร้อม
ๆ กัน
คำถามถัดมาก็คือ
"คนอื่น"
นั้นคือใคร
วัฒนธรรมการทำงานของบางองค์กรนั้น
กำหนดนิยามของ "คนอื่น"
ก็คือ
"คนอยู่ในที่ทำงานเดียวกัน"
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการแข่งขันกันระหว่างเพื่อร่วมงาน
ในขณะที่วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรอื่นนั้น
จะเน้นไปที่การทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อร่วมงาน
ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะมี
"คนอื่น"
ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
แต่จากมุมมองส่วนตัวแล้ว
ไม่ว่าวัฒนธรรมการทำงานจะเป็นแบบไหนก็ตาม
ในการขึ้นสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ก็มักจะมี "คนอื่น"
ที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังเป็นประจำ
โดยนิยามของ "คนอื่น"
ในที่นี้ก็คือ
"คนในครอบครัว"
บางคนเลือกที่จะผลักดัน
"ตนเอง"
ให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
โดยผลักภาระทางครอบครัว
(ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรือการเลี้ยงลูก)
ให้เป็นหน้าที่ของ
"คู่สมรส"
ประเภทที่เรียกว่าฉันจะทุ่มกับงานเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่ง
ส่วนตัวคู่สมรสก็ดูแลบ้านและเลี้ยงลูกไป
ไม่ต้องไปทุ่มอะไรให้กับงาน
แบบนี้ถ้าจะเรียกว่า
คู่สมรสต้องเป็นผู้จ่ายด้วยการหยุดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน
(เพราะไม่สามารถทุ่มเวลาให้กับงานได้
หรืออาจต้องออกจากงาน)
เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ก็คงจะไม่ผิดนัก
คิดจะทำแบบนี้บางทีก็ต้องระวังให้ดีเหมือนกัน
เพราะเคยเห็นตัวอย่างอยู่เหมือนกัน
ประเภทที่ฝ่ายหนึ่งทุ่มให้กับงานเต็มที่
เช้าจรดค่ำ ไม่มีวันหยุด
คู่สมรสไม่ต้องห่วงเรื่องหาเงินใช้
อีกฝ่ายขอรับผิดชอบเรื่องหาเงินเพียงฝ่ายเดียว
ให้คู่สมรสเลี้ยงลูกไป
ไม่ต้องทำงานอะไร
วันดีคืนดีฝ่ายคนทุ่มให้กับงานเกิดปัญหาสุขภาพ
ไม่สามารถทำงานต่อหรือช่วยเหลือตนเองได้
ต้องออกจากงาน
กรณีแบบนี้นายจ้างเขาไม่เดือดร้อนเท่าใดหรอกครับ
เดี๋ยวก็หาคนมาทำงานแทนได้
แต่ทางครอบครัวนี่ซิ
ใครจะเป็นผู้หาเลี้ยงแทน
บางคนก็เลือกที่จะผลักดัน
"ตนเอง"
ให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
โดยเลือกที่จะไม่มีคู่สมรส
(ประเภทอยู่ตัวคนเดียว)
หรือสมรสแต่ไม่คิดจะมีลูก
เพราะต้องการมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิต
การเดินทาง การท่องเที่ยว
ซึ่งก็เป็นความจริงครับ
แต่ถ้าคิดจะทำแบบนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมนะครับว่าตนเองต้องเป็นคนจ่าย
แล้วต้องจ่ายด้วยอะไรหรือครับ
ต้องแก่ หรือเกษียณก่อนถึงจะเข้าใจดีครับ
ว่าความเหงามันเป็นเช่นใด
เว้นแต่ว่าวางแผนไว้ว่าเกษียณเมื่อใดจะเข้าไปอยู่วัด
บางครอบครัวทั้งสามีและภรรยา
ก็เลือกที่จะมีลูก (เป็นเพราะอยากมี
มีโดยไม่ตั้งใจ หรือมีพอเป็นพิธี
ก็ตามแต่)
และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยการทุ่มเทกับการทำงานให้เต็มที่ไปพร้อมกัน
แบบนี้ถ้าจะเรียกว่า "ลูก"
ต้องเป็นคนจ่าย
ก็คงจะไม่ผิดนัก
ได้ยินมาหลายรายประเภทที่พ่อแม่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง
รายได้สูง
สามารถจ้างคนขับรถให้ทำหน้าที่ขับรถรับส่งลูกไป-กลับโรงเรียน
สามารถจ้างแม่บ้านให้มาทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกแทนตนเอง
จ้างครูสอนพิเศษสอนลูกทำการบ้านตอนเย็นหลังเลิกเรียน
ส่งลูกไปเรียนพิเศษสารพัดอย่างในวันเสาร์-อาทิตย์
ทั้งนี้เพื่อที่ตนเองจะได้สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่แบบไม่มีวันหยุด
โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกจะมีข้าวเช้ากินหรือยัง
ใครจะทำข้าวเย็นให้กิน
ใครจะพาเข้านอน
ใครจะดูแลเสื้อผ้าสวมใส่ไปโรงเรียน
และบางทีคนขับรถหรือแม่บ้านก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้สอนการบ้าน
หรือเป็นผู้ปกครองให้ด้วยเวลาที่โรงเรียนขอนัดประชุมผู้ปกครอง
อะไรทำนองนี้
ลองไปดูหน้าโรงเรียนที่รถติดเวลาส่งนักเรียนตอนเช้า
ๆ ดูซิครับ ผมเห็นอยู่เป็นประจำ
พ่อแม่บางรายจะพยายามนำรถจอดชิดขอบทางเท้าเพื่อส่งลูก
เพื่อที่จะให้ลูกได้ลงรถโดยปลอดภัย
แม้ว่าต้องนำรถต่อแถวยาว
ในขณะที่พ่อแม่ (หรือคนขับรถ)
หลายราย
จะขับรถไปจอดให้ตรงกับหน้าประตูโรงเรียนมากที่สุด
โดยไม่สนใจว่าจะอยู่เลนไหน
เลนข้าง ๆ จะมีรถวิ่งมาหรือเปล่า
แล้วปล่อยให้ลูกข้ามถนนตัดหน้ารถที่เคลื่อนตัวอยู่ทางด้านข้าง
ทั้งนี้เพื่อให้หมดภาระการส่งลูกเร็ว
ๆ จะได้เอาเวลาไปทำงานยังที่ทำงานซะที
ผมมีโอกาสได้เห็นพ่อแม่บางราย
ที่มีลูกที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
โดยทิ้งพ่อแม่ไว้เบื้องหลังให้อยู่บ้านกันตามลำพังสองคน
โดยอาจมีหรือไม่มีเด็กรับใช้คอยดูแล
(เช่นประเภทลูกไปตั้งหลักแหล่งใหม่ยังต่างประเทศ
เพราะมีรายได้ดีกว่าทำงานในประเทศ
ส่วนพ่อแม่ก็เฝ้าบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยไปวัน
ๆ รายที่ยังสามารถเดินไปไหนได้ด้วยตนเองหรือยังขับรถได้
ก็ยังไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนัก
แต่รายที่อยู่คนเดียว
อายุมากแล้วขับรถก็ไม่ไหว
อยู่ในซอยลึกเดินทางเข้าออกลำบาก
ก็ยังได้อาศัยอาหารจากการฝากเพื่อนบ้านหรือเด็กรับใช้ที่จ้างมานั้นซื้อกับข้าวมาเก็บไว้
หรือไม่ก็จากรถขายกับข้าวหรือรถขายอาหารที่แวะผ่านเข้ามาถึงก้นซอย
ได้มีโอกาสเห็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในตำแหน่งหน้าที่การงาน
เขาทุ่มให้กับการทำงานด้วยการมาถึงที่ทำงานแต่เช้าตรู่
ออกจากที่ทำงานหลังดวงอาทิตย์ตก
วันหยุดราชการใด ๆ
ที่อยู่ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์
หรือช่วงเทศกาลหยุดยาวก็ไม่หยุดงาน
แถมวันเสาร์ (ซึ่งคนอื่นเขาหยุดงานกัน)
ก็ยังมาทำงานเป็นประจำอีก
จะไม่โผล่มาที่ทำงานก็เพียงแค่วันอาทิตย์เท่านั้น
แถมยังกดดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำแบบเดียวกับเขาอีก
"ใครที่ยังมีพ่อแม่อยู่
ก็รีบ ๆ ดูแลท่านด้วยนะ"
นั่นเป็นข้อความที่เขาเที่ยวบอกใครต่อใครที่เขารู้จัก
เขาอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ของเขา
แต่เพิ่งจะมีเวลากลับไปดูแลคุณพ่อที่อยู่ในวัยชราของเขาเพียงแค่สัปดาห์เดียวก่อนที่คุณพ่อของเขาจะเสียชีวิต
หลังจากที่คุณพ่อของเขาเสียชีวิต
เขาตัดสินใจเลิกการมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่
เลิกกลับค่ำ
เลิกทำงานในวันเสาร์หรือวันหยุดราชการ
เลิกนัดประชุมหลังเวลาเลิกงาน
เพื่อที่จะได้ใช้เวลาไปอยู่กับคุณแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่
แต่คุณแม่ผู้ชราภาพของเขาก็เสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
หลังการเสียชีวิตของบุพการีของเขาทั้งสองท่าน
ปรากฏว่าพฤติกรรมการทำงานกลับกลายเป็นทำงานหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก
จนผู้คนรอบข้างที่ทำงานอยู่ด้วยกันถึงกับเปรยว่า
"นี่เขาไม่รู้หรือไงว่าเขายังมีลูกเมียอยู่"
สิ่งที่เล่ามาข้างต้นมันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคน
เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวบางส่วนเท่านั้น
ทั้งที่ได้ยินได้ฟังมาจากคนใกล้ชิด
และประสบพบเห็นด้วยตนเอง
แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อย
เลือกที่จะประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน
โดยเลือกที่จะทิ้งคนอื่นซึ่งก็คือคนในครอบครัวเอาไว้เบื้องหลัง
โดยที่เขาไม่รู้ตัว
ถ้านิยามของคำว่า
"ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน"
คือการที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
การได้รับรางวัลจากหน่วยงานที่ตนเองทำงานอยู่
ซึ่งนิยามนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นกันทั่วไปในองค์กรต่าง
ๆ
ใครที่อยากจะประสบความสำเร็จตามนิยามนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมว่าต้องมีคนจ่ายให้กับความสำเร็จนั้น
ว่าแต่คน ๆ นั้นจะเป็นใครเท่านั้นเองครับ
แต่ถ้านิยามของคำว่า
"ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน"
คือการได้รับความเคารพนับถือจากผู้ที่เคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา
การได้รับความยอมรับในเรื่องความรู้
ความสามารถ และความพึงพอใจจากผู้รับบริการ
การมีเวลาให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง
ก็ต้องเตรียมรับความจริงว่าตัวเองอาจต้องเป็นคนจ่าย
ด้วยการที่อาจไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานที่ตนเองทำงานนั้น
สำหรับพวกคุณทั้ง
๕ คนที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนี้
และกับ Memoir
ฉบับนี้ที่เป็นฉบับสุดท้ายที่ผมส่งตรงให้กับพวกคุณทั้ง
๕ ทางอีเมล์
ก็ต้องขอแสดงความยินดีที่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง
ๆ มาจนถึงวันนี้ได้ (ขอโทษด้วยที่ไม่ได้อยู่รอตอนออกจากหอประชุม)
และคงฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยข้อความที่ผมเขียนไว้ในส่วนคำนำของ
"MO
Memoir รวมบทความชุดที่
๑๒ แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์
๒๕๕๗"
ที่แจกให้กับพวกคุณไปเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า
"๒
ปีที่ผ่านมา สำหรับผมแล้ว
เป็นช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ต้องขอยอมรับว่ามีหลากหลายเรื่องราวให้วิตกกังวล
แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ชีวิตการทำงานมีความสุขมากเช่นกัน
จากการที่ได้ทำงานร่วมกับทีมงานที่พร้อมจะเรียนรู้และเหนื่อยยากไปด้วยกัน
เราต่างก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง
ๆ ไปด้วยกัน
เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายพร้อมกัน
บ่ายของวันที่พวกคุณมาจัดงานเลี้ยงวันเกิดเล็ก
ๆ ให้ผมนั้น
อาจถือได้ว่าเป็นวันที่เราต่างได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทางการเดินทางร่วมกันแล้ว
และเป็นวันเริ่มต้นของแต่ละคนในการที่จะเริ่มเดินการเดินทางในเส้นทางที่ตัวเองเลือกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น