ตอนเรียนอยู่ต่างประเทศเคยมีพี่ที่เป็นนักเรียนไทยเล่าให้ฟังว่า
ฝรั่งถามคำถามในทำนองว่าในเมื่อศาสนาพุทธสอนว่า
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เป็นเรื่องธรรมชาติ
และสอนให้รู้จักปล่อยวาง
แล้วทำไมพิธีศพของคนไทยจึงต้องมีการเก็บศพเอาไว้หลาย
ๆ วัน (ที่เห็นกันในปัจจุบันปรกติก็อย่างน้อย
๗ วัน)
ก่อนเผา
ไม่ทำพิธีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
(ดังเช่นพิธีการฝังในศาสนาของเขาที่กระทำกันภายในไม่กี่วันหลังการเสียชีวิต)
ซึ่งแกก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
จากการได้อ่านเรื่อเล่าหรือนิยายเกี่ยวกับผีของไทยที่แต่งขึ้นในยุคสมัยต่าง
ๆ ผมเองรู้สึกว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
นั่นคือการ "ฝังศพ"
หรือ
"เก็บศพ"
ถ้าเป็นเรื่องผีเก่า
ๆ ที่เขียนโดยนักเขียนรุ่นเก่าในอดีตนั้น
(เช่น
เหม เวชกร,
อ.
อรรถจินดา)
ที่เรื่องเขียนของท่านเหล่านั้นถือได้ว่าเป็นบันทึกรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในยุคที่ท่านผู้เขียนนั้นใช้ชีวิตมา
มักจะไม่กล่าวถึงการเผาศพโดยเร็วหลังการเสียชีวิต
แต่จะนำศพไปฝังหรือนำไปเก็บในโกดังเอาไว้ก่อน
ถือเป็นเรื่องปรกติ
ต่างจากในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเรื่องราวทำนอง
ศพนั้นมีการฟื้นคืนชีพขึ้นมาก
ศพนั้นหายไปบ้าง
วิญญาณผู้ตายยังวนเวียนอยู่ยังไม่ไปไหน
ฯลฯ ขึ้นมามากมาย
บันทึกของ
Otto
E. Ehlers ในหนังสือ
"On
horseback through Indochina Vol. 3 Vietnam, Singapore, and Central
Thailand" (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์
White
Lotus) ที่เข้ามาเยือนภูมิภาคนี้ในช่วงปีค.ศ.
๑๘๙๒-๑๘๙๓
(พ.ศ.
๒๔๓๕-๒๔๓๖
หรือช่วงรัชกาลที่ ๕)
ได้ให้ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในระหว่างการเข้าไปแวะเยือนวัดสระเกศ
ผู้เขียนเล่าถึงการเข้าไปเยือนบริเวณที่ทำการเผาศพที่ได้การเผาศพบนตระแกรงเหล็ก
การนำศพมาเชือดให้แร้งกิน
ตามด้วยการให้ฝูงสุนัขเข้ามากินกระดูกที่เหลือ
นอกจากนี้ยังมีการขังสุนัขไว้ในโลงที่บรรจุโครงกระดูก
เพื่อให้สุนัขแทะกินเนื้อส่วนที่ยังคงหลงเหลือติดกระดูกอยู่
ทั้งนี้เพื่อให้
"การเผาศพนั้นทำได้ง่ายขึ้น"
Ehlers
บันทึกเอาไว้ว่าแม้ว่าการเผาศพนั้นจะเป็นธรรมเนียมของชาวสยาม
แต่การเผาศพด้วยเมรุก็มีค่าใช้จ่ายสูง
ดังนั้นการให้แร้งและสุนัขจัดการกับส่วนที่เป็นเนื้อก่อน
จากนั้นจึงค่อยเผากระดูกที่เหลือ
จึงเป็นการประหยัดไม้ฟืน
ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่า Ehlers
น่าจะเข้าใจผิด
เพราะกับชาวสยามที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางให้กับ
Ehlers
ก็ยังไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นวิธีการดังกล่าว
(แสดงว่ามันไม่เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไป)
การจัดการกับศพในวัดสระเกศที่
Ehlers
เห็นนั้นน่าจะเป็นศพนักโทษ
แต่มันก็ยังมีวิธีง่าย
ๆ อีกวิธีในการทำให้ศพนั้นเหลือแต่กระดูก
ก็คือ "การปล่อยให้ศพเน่าไปตามธรรมชาติ"
โดยเอาศพนั้นไปฝังหรือไปเก็บไว้ในที่ลับตา
ซึ่งคงต้องเก็บไว้นานพอ
จากนั้นจึงค่อยนำเอากระดูกที่เหลืออยู่มาเผา
และนี่ก็คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดธรรมเนียมการเก็บศพเอาไว้ก่อนเป็นเวลานาน
พอได้เวลาที่เหมาะสมจึงค่อยเอามาเผา
ตั้งแต่เดิมมาในบ้านเราสำหรับครอบครัวที่นับถือศาสนาพุทธ
เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งเสียชีวิตก็ต้องมีการสวดทำบุญก่อน
จะสามวันหรือเจ็ดวันก็ตามแต่
จากนั้นจึงค่อยจัดการกับศพนั้นต่อไป
ซึ่งแต่ก่อนก็คงจะเป็นการเก็บเอาไว้เพียงอย่างเดียว
แต่ปัจจุบันก็มีการเผาเพิ่มเติมเข้ามา
และช่วงที่เป็นปัญหาก็คือช่วงของการสวดนี่แหละ
ในอดีตนั้นการให้บริการรักษาศพคนตายไม่ให้เน่ายังอยู่ในบริเวณจำกัด
ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีบริการทั้งการฉีดยาดองศพและการแช่แข็งในโลงเย็น
(ตู้เย็นแช่ศพ
ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ไฟฟ้า)
ให้เรียกใช้บริการอย่างง่ายดาย
ปัญหาเรื่องศพเริ่มขึ้นอืดหรือส่งกลิ่นในระหว่างงานสวดวันหลัง
ๆ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
วิธีการหนึ่งที่นาวาเอก
สวัสดิ์ จันทนีย์
บันทึกไว้ในหนังสือนิทานชาวไร่เล่ม
๒ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.
๒๕๐๙
ที่ใช้แก้ปัญหาศพเน่าเหม็นส่งกลิ่นคือการใช้
"น้ำมันก๊าดกรอกปากศพ"
ส่วนวิธีการเป็นอย่างไรนั้นอยากให้ลองอ่านเอาเองก่อนในรูปที่สแกนมาให้ดู
ในปัจจุบัน
ด้วยการที่วัดต่าง ๆ
มีเมรุเผาศพที่ปกปิดมิดชิดและเรียกใช้บริการป้องกันไม่ให้ศพเน่านั้นได้ง่าย
การจัดการเผาศพหลังการเสียชีวิตในเวลาไม่เกิน
๗ วันจึงเป็นเรื่องปรกติที่เห็นกันทั่วไป
การเก็บศพเอาไว้จนถึง ๑๐๐
วันหรือนานกว่านั้นจึงไม่ค่อยพบเห็น
และถ้าเก็บไว้ก็คงด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเผา
ส่วนที่ว่าน้ำมันก๊าดมันทำให้ศพไม่เน่าได้อย่างไรนั้น
อันนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น