วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

Phospharic acid กับ Anhydrous phosphoric acid และ Potassium dioxide MO Memoir : Thusday 29 June 2560

เช้านี้ระหว่างการสอบวิทยานิพนธ์ มีอยู่สไลด์หนึ่งที่ผู้นำเสนอนำมาแสดง คือรูปข้างล่าง ลองดูเล่นเองก่อนนะครับ


ที่ผมติดใจเขาคือสารเคมีตัวบนสุดคือกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) กับรูปที่เขานำมาแสดง กรดฟอสฟอริกที่เราเห็นกันทั่วไปในห้องปฏิบัติการนั้นมักจะเป็นสารละลายเข้มข้นในน้ำ คือเป็นของเหลว แต่รูปที่เขานำมาแสดงนั้นเป็นผงของแข็ง ผมก็เลยถามเขาว่า ตกลงว่าต้องการจะสื่อถึงสารอะไร เพราะถ้าเป็น anhydrous phophoric acid มันเป็นของแข็งสีขาว มันไม่ใช่ของเหลว เป็นสารคนละตัวกัน
 
สารอีกตัวหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาระหว่างการนำเสนอคือ Potassium dioxide ซึ่งถ้าเรียกตามนี้ก็ต้องเขียนสูตรเคมีว่า KO2 พอเขียนสูตรอย่างนี้หลายคนคงงงว่าเขาเรียกผิดหรือเปล่า ที่ถูกควรเป็น Potassium oxide หรือ K2O มากกว่าใช่ไหม แต่ในความเป็นจริงคือมันมีสาร Potassium dioxide หรืออีกชื่อคือ Potassium superoxide หรือ KO2 อยู่จริง คือมันเป็นไอออนระหว่าง K- กับ O2- (คืออะตอมออกซิเจนสองอะตอมยังสร้างพันธะกันอยู่ ไม่ใช่ O2- ที่มันแยกตัวออกมาเป็นอะตอมเดี่ยว)
 
ดังนั้นการเรียกชื่อสารเคมีที่คล้ายกันจึงควรต้องระวังให้ดี เพราะถ้าเรียกผิดไปเป็นสารที่มันไม่มีอยู่จริงก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าเรียกผิดไปเป็นสารอีกตัวหนึ่งที่มีอยู่จริงมันจะวุ่นขึ้นได้ถ้าหากมีคนนำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อ และในทางกลับกันถ้ามีการพบชื่อสารที่เราไม่คุ้นเคย ก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่ามันไม่มีจริง (เว้นแต่เรามั่นใจแน่ ๆ จากประสบการณ์) แล้วไปทำการแก้ไขข้อมูลให้มันเปลี่ยนไปเป็นสารอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น