วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

ผลของค่าพีเอชต่อสีของสารละลายเปอร์แมงกาเนต MO Memoir : Friday 22 September 2560

เปอร์แมงกาเนต (permanganate MnO4-) เป็นไอออนที่เป็นตัวออกซิไดซ์ที่แรงตัวหนึ่ง ในเว็บ wikipedia บอกว่าสารละลายเปอร์แมงการเนตนั้นมีเสถียรภาพในตัวกลางที่เป็นกลางหรือเป็นเบสเล็กน้อย ในทางเคมีวิเคราะห์นั้นมีการนำมาใช้ในการวิเคราะห์แบบ redox titration (ที่เรียกว่า permanganometry) และยังเคยถูกใช้ในการหาค่า COD (Chemical oxygen demand) ของน้ำ ที่ปัจจุบันหันมาใช้สารละลายไดโครเมต (dichromate Cr2O72-) แทน
 
ในเว็บ wikipedia เองก็ยังให้ข้อมูลว่า ในสารละลายที่เป็นกรดนั้น Mn7+ ของเปอร์แมงกาเนตจะถูกรีดิวซ์ให้กลายเป็นไอออน Mn2+ ที่ไม่มีสีได้ดังสมการ

8H+ + MnO4 + 5e- → MnO2+ + 4H2O

และในสภาวะที่เป็นเบสที่แรงนั้น Mn7+ ของเปอร์แมงกาเนตจะถูกรีดิวซ์ให้กลายเป็น Mn6+ ที่มีสีเขียวได้ดังสมการ

MnO4 + 2e- → MnO42−

แต่แม้ว่าจะอยู่ในตัวกลางที่เป็นกลาง เว็บ wikipedia เองก็ยังบอกว่า Mn7+ ยังถูกรีดิวซ์ให้กลายเป็น Mn4+ ที่มีสีน้ำตาลได้ดังสมการ (บทความเดียวกันแท้ ๆ ตอนแรกบอกว่าเสถียร แต่ต่อมาบอกว่าไม่เสถียร)

2H2O + MnO4 + 3e → MnO2 + 4OH

อันที่จริงแม้ว่าจะอยู่ในสารละลายที่เป็นกลาง เปอร์แมงกาเนตก็ยังสลายตัวได้อย่างช้า ๆ กลายเป็น MnO2 โดยปฏิกิริยาการสลายตัวนี้ถูกเร่งด้วยแสงหรือ MnO2 ที่เกิดจากปฏิกิริยา (ที่อาจเกิดจากการที่น้ำที่ใช้เตรียมสารละลายนั้นมีสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณเล็กน้อย ทำให้ MnO4- ส่วนหนึ่งทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์และกลายเป็น MnO2 ที่ไปเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของ MnO4- อีกที)
 
ในการสอนวิชาปฏิบัติการส่วนที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของสารอินทรีย์นั้น มีหลายการทดลองที่มีการใช้สารละลายเปอร์แมงกาเนตเป็นตัวออกซิไดซ์สารอินทรีย์ ทั้งในสภาพที่เป็น กลาง กรด และเบส ทั้งที่อุณหภูมิห้อง และอุ่นให้ร้อน เพื่อที่จะศึกษาผลของค่าพีเอชและอุณหภูมิว่าส่งผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนสีของสารละลายเปอร์แมงกาเนต (อันเป็นผลจากการที่มันเกิดปฏิกิริยา) หรือไม่ ก็เลยลองทำการทดลองเล่น ๆ ดูด้วยการใส่น้ำกลั่นลงในหลอดทดลอง 3 หลอด หลอดละประมาณ 3 ml จากนั้นหยดสารละลาย KMnO4 เข้มข้น 0.3 wt% ลงไป 1 หยด หลอดที่หนึ่งเป็นหลอดเปรียบเทียบ (blank) หลอดที่สองหยดสารละลาย H2SO4 เข้มข้น 10 wt% ลงไป 3 หยด และหลอดที่สามหยดสารละลาย H2SO4 เข้มข้น 10 wt% ลงไป 6 หยด บันทึกสี จากนั้นนำไปอุ่นใน water bath ที่ 80ºC นาน 5 นาที บันทึกสีสารละลาย และตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องต่ออีก 1 ชั่วโมง บันทึกการเปลี่ยนแปลงของสี ผลการทดลองที่ได้แสดงไว้ในรูปที่ 1 จากนั้นก็ทำการทดลองใหม่ซ้ำเดิมอีกครั้ง แต่เปลี่ยนไปใช้สารละลายเบส NaOH เข้มข้น 10 wt% แทนการใช้กรด ผลการทดลองที่ได้แสดงไว้ในรูปที่ ๒
 
เห็นอะไรก็ตามนั้นนะครับ :) :) :)

รูปที่ ๑ หลอดซ้ายเป็น blank test (มีเฉพาะน้ำกลั่นกับสารละลาย KMnO4) หลอดกลางหยดสารละลายกรด 3 หยด หลอดขวาหยดสารละลายกรด 6 หยด รูปบนเป็นรูปที่ถ่ายก่อนหลังหยดสารละลายกรด รูปกลางเป็นหลังนำไปอุ่นเป็นเวลา 5 นาทีใน water bath ที่ 80ºC รูปล่างเป็นรูปหลังการอุ่นและตั้งทิ้งไว้อีก 1 ชั่วโมง สารละลายกรดที่ใช้คือ H2SO4 เข้มข้น 10 wt%

รูปที่ ๒ หลอดซ้ายเป็น blank test (มีเฉพาะน้ำกลั่นกับสารละลาย KMnO4) หลอดกลางหยดสารละลายเบส 3 หยด หลอดขวาหยดสารละลายเบส 6 หยด รูปบนเป็นรูปที่ถ่ายก่อนหลังหยดสารละลายเบส รูปกลางเป็นหลังนำไปอุ่นเป็นเวลา 5 ทีใน water bath ที่ 80ºC รูปล่างเป็นรูปหลังการอุ่นและตั้งทิ้งไว้อีก 1 ชั่วโมง สารละลายเบสที่ใช้คือสารละลาย NaOH เข้มข้น 10 wt%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น