วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เมื่อน้ำท่วมจรัญสนิทวงศ์ ๗๕ แยก ๓๘ ปี ๒๕๕๔ MO Memoir : Monday 6 November 2560

Facebook ขึ้นเตือนให้รำลึกความหลังของวันวานเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ตอนที่ต้องย้ายหนีน้ำท่วมบ้านในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ตอนนั้นต้องรีบออกมาก่อนที่จะเอารถออกมาไม่ได้ กว่าจะกลับเข้าไปดูบ้านได้อีกครั้งก็อีกร่วม ๒ สัปดาห์ถัดมา คือหลังจากที่น้ำท่วมสูงสุดและลดลงไปบ้างแล้ว
 
เขตบางพลัดด้านเหนือถูกกั้นไว้ด้วยแนวทางรถไฟสายใต้จากสะพานพระราม ๖ ที่ตีวงล้อมด้านตะวันตก โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออก ทางด้านทิศใต้ก็ถูกล้อมเอาไว้ด้วยแนวคลองบางบำหรุและคลองบางกอกน้อย ตอนน้ำท่วมปี ๒๕๓๘ นั้นทางด้านตะวันตกได้แนวทางรถไฟสายใต้เป็นคันกั้นน้ำ ส่วนทางด้านตะวันออกก็ได้เกาะกลางถนนจรัญสนิทวงศ์เป็นแนวคันกั้นน้ำ คือฝั่งด้านตะวันตกของถนนนั้นน้ำไม่ท่วม แต่ฝั่งด้านตะวันออกไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยานั้นโดยน้ำท่วม แต่ถึงกระนั้นก็ตามผู้ที่อยู่ในซอยที่เป็นพื้นที่ต่ำกว่าถนน ก็ต้องคอยสูบน้ำออกจากบ้านช่วงเวลาน้ำขึ้น เวลาจะขับรถกลับบ้านก็ต้องดูจังหวะเวลาน้ำขึ้น-ลงด้วย เพราะช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำจะท่วมถนนทั้งสองฝั่งของสะพานกรุงธน
 
น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ นั้นแตกต่างไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคันกั้นน้ำที่ท้ายซอยแห่งหนึ่งริมแม่น้ำพัง ทำให้น้ำไหลเข้ามาทางคลองบางพลัดและคลองมะนาว แต่ถึงคันกั้นน้ำนี้ไม่พังก็คงจะโดนท่วมอยู่ดี เพราะน้ำที่มาจากทางฝั่งบางกรวยนั้นสูงมากจนล้นข้ามทางรถไฟสายใต้มาได้


รูปที่ ๑ ฝูงเป็นสนุกกับการว่ายน้ำเล่นริมทางรถไฟสายใต้ช่วงก่อนถึงสถานีรถไฟบางบำหรุ
เรื่องเหตุการณ์วันนั้นเคยเล่าไว้แล้วในเรื่อง "เมื่อน้ำบุกมาหลังบ้าน" (Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖๕ วันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔) มาวันนี้ก็เป็นเพียงแค่เอารูปที่ถ่ายไว้ตอนลุยน้ำเข้าไปเยี่ยมบ้านเมื่อ ๖ ปีที่แล้วมาบันทึกไว้หน่อย


รูปที่ ๒ ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ ๗๕ (ซอยภาณุรังษี) แยก ๓๘ (สกุลชัยซอย ๙) หลังจากที่ระดับน้ำลดลงบ้างแล้ว (ระดับน้ำสูงสุดบนผิวถนนอยู่ที่ ๑ เมตร ตอนนี้ลดลงไปเหลือ ๖๐ เซนติเมตร)

รูปที่ ๓ รูปเหล่านี้ถ่ายไว้เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน โดยเดินมาตามทางรถไฟจนถึงจุดกลับรถ (ต่อจากนี้ไปก็น้ำท่วมทางรถไฟแล้ว) จากนั้นก็เดินลุยน้ำต่อมาเรื่อย ๆ มาถึงปากซอยในรูปที่ ๒ ก็ลุกน้ำมาเกือบกิโลแล้ว จากนั้นก็เดินเลี้ยวเข้ามาในซอย ก็เห็นมีสภาพอย่างนี้

รูปที่ ๔ ผ่านหน้าบริเวณสถานีตำรวจ ลานหน้าสถานีตำรวจเดิมสูงกว่าถนน แต่พอทำถนนใหม่ ลานหน้าสถานีก็เลยต่ำกว่าถนน ระดับน้ำบริเวณหน้าสถานีขณะนั้นน่าจะยังคงอยู่ที่ราว ๆ หนึ่งเมตร


รูปที่ ๕ องค์หลวงพ่อลอยน้ำที่ตั้งอยู่หน้าสถานีตำรวจ ระดับน้ำที่ท่วมนั้นต่ำกว่าระดับตั้งองค์หลวงพ่อ 

รูปที่ ๖ รถตำรวจที่ย้ายมาจอดบนถนนหน้าสถานี ก็ไม่วายโดนท่วมหนักเช่นกัน


รูปที่ ๗ กำลังจะเลี้ยวเข้าซอยหลังสถานี คันนี้เป็นรถของกลางในคดีอะไรก็ไม่รู้ มาจอดทิ้งไว้อยู่หลายปี ตอนนี้หายไปแล้ว ส่วนรถเบนซ์อีกคันที่จอดทิ้งเอาไว้ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม ก็ยังคงจอดกีดขวางทางสัญจรอยู่เหมือนเดิม ไม่มีใครเอาไปไหนเสียที


รูปที่ ๘ ข้างขวาคืออาคารแฟลตที่พัก ห้องที่อยู่ชั้นล่างสุดของแฟลตโดนน้ำท่วมอยู่ไม่ได้ แต่ชั้นบนยังอยู่ได้ ปัญหาก็คือไม่มีการขนขยะออกจากแฟลต มันก็เลยมีการโยนทิ้งลงมาข้างล่างให้มันลอยน้ำเล่น (เดือดร้อนคนอื่นแทน)


รูปที่ ๙ ถ่ายจากบนบ้านชั้นสอง สารพัดขยะลอยมากองหน้าประตูบ้านที่อยู่สุดซอย


รูปที่ ๑๐ บ้านเก่าที่อยู่ข้างกันที่เป็นบ้านชั้นเดียว ระดับน้ำสูงถึงขอบล่างของวงกบหน้าต่าง บริเวณรอบบ้านนี้ตอนน้ำท่วมสูงสุดจะสูงประมาณเมตรครึ่ง (เพราะบ้านอยู่ต่ำกว่าถนน)

เรื่องราววันนี้ไม่มีสาระอะไร แค่เอาภาพความทรงจำมาบันทึกไว้พร้อมคำบรรยายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อกันลืมเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น