วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อน้ำบุกมาหลังบ้าน MO Memoir : Saturday 29 October 2554



ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ฝั่งธนมาตลอด แม่เล่าให้ฟังว่าตอนผมแรกเกิดนั้นยังเช่าบ้านอยู่ที่บางพลัด แต่ตอนผมจำความได้นั้นครอบครัวได้ย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ ตรอกข้าวเม่า ตำบลบ้านช่างหล่อ ซึ่งอยู่ด้านสุดถนนอิสรภาพติดทางรถไฟของสถานีรถไฟธนบุรี เวลาไปเรียนโรงเรียนอนุบาลก็จะนั่งรถตุ๊ก ๆ ไปลงเรือที่ท่าวังหลัง เพื่อไปขึ้นที่ท่าช้าง จากนั้นจึงจะนั่งรถเมล์จากท่าช้างไปโรงเรียน ตอนนั้นยังไม่มีสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า บางทีก็จะกลับทางท่าพระจันทร์เพื่อข้ามเรือมายังท่ารถไฟ ท่ารถไฟนี้อยู่ตรงหน้าสถานีรถไฟธนบุรีและอยู่ใกล้กับปากคลองบางกอกน้อย ท่ารถไฟนี้เป็นท่าเรือที่เงียบสงบ ผมชอบท่านี้มากเพราะมันดูร่มรื่นดี ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน หน้าสถานีรถไฟธนบุรีจะมีสวนหย่อมเล็ก ๆ เป็นต้นทางของรถเมล์สาย ๘๓ ที่วิ่งระหว่างตลิ่งชันกับสถานีรถไฟธนบุรี ส่วนหนึ่งของชีวิตผมแถวนี้เคยเล่าไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒๔๗ วันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๔ เรื่อง "ทำอย่างไรไม่ให้รางโก่ง"

เจอน้ำท่วมกรุงเทพมาก็ตั้งแต่เด็ก ได้เลื่อนเปิดเทอมเป็นประจำ ดีใจที่ได้อยู่บ้านนานขึ้น แต่สมัยนั้นไม่มีทีวีดูทั้งวันทั้งคืนเหมือนสมัยนี้ โทรทัศน์เริ่มออกอากาศก็ช่วงบ่ายไปจนดึก ยกเว้นช่วงโรงเรียนปิดเทอมจะมีการออกอากาศรายการพิเศษตอนกลางวันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ดูเหมือนจะชื่อ "โรงเรียนภาคฤดูร้อน" ซึ่งเป็นรายการสำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่บ้านได้ดูกัน ส่วนเวลาที่เหลือในแต่ละวันก็ใช้ในการเล่นกับเพื่อนฝูงข้างบ้าน ทั้งที่โตกว่าและเด็กกว่า

ตอนปี ๒๕๒๑ ย้ายกลับมาอยู่ที่บางพลัดใหม่ คุณพ่อคุณแม่มาซื้อบ้านจัดสรรอยู่ใกล้ทางรถไฟสายใต้ เป็นบ้านชั้นเดียว ยกพื้นชั้นล่างสูงจากพื้นถนนประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แต่ใต้พื้นชั้นล่างเป็นพื้นดินที่เป็นสวนเดิม ถ้าตรงกับตำแหน่งที่เป็นคูดินก็จะอยู่ห่างจากพื้นดินไม่มาก ถ้าเป็นตำแหน่งที่เป็นร่องสวนเดิมก็จะอยู่ห่างจากพื้นดินมา หลังจากสร้างบ้านเสร็จเขาก็ถมทรายรอบ ๆ บ้าน เพื่อให้บริเวณรอบ ๆ บ้านราบเรียบ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากกับที่นี่คือหิ่งห้อย ซึ่งเห็นกันตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ จนถึงปัจจุบันก็กว่า ๓๐ ปีแล้วก็ยังมีให้เห็นอีก ลูก ๆ ของผมก็โตมากับหิ่งห้อยที่บินวนเข้ามาในบ้าน หรือไม่ก็บินมาเกาะที่หน้าต่างมุ้งลวดของห้องนอน (มีอยู่ครั้งหนึ่งหิ่งห้อยตัวหนึ่งถูกจิ้งจกกินให้ดูต่อหน้าต่อตาผมและลูก ก็เลยได้เห็นท้องจิ้งจกมีแสงกระพริบได้ด้วย) เวลาที่ครูที่โรงเรียนถามเด็กนักเรียนว่ามีใครเคยเห็นหิ่งห้อยบ้าง ลูกผมก็เป็นเด็กเพียงไม่กี่คนในห้องที่มีโอกาสได้เห็น และก็เป็นการเห็นที่บ้าน ไม่เหมือนคนอื่นที่ต้องถ่อรถไปหาดูไกล ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

นอกจากหิ่งห้อยแล้วก็ยังมีพวกนกสวนต่าง ๆ แต่ก่อนจะมีนกหัวขวาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นนานแล้ว ที่โผล่มาบ้างก็เป็นนกแซงแซว และก็มีพวกตุ๊กแก งูดิน งูทางมะพร้าว งูเขียวหางไหม้ และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีงูสามเหลี่ยมโผล่มาหน้าบ้าน พวกกระรอก พวกหนูนี่ก็วิ่งกันบนต้นไม้และหลังคาเป็นปรกติ ตอนหลังเริ่มมีตัวเหี้ยโผล่มาให้เห็นบ้างแล้ว

ด้วยว่าเป็นบ้านอยู่สุดซอย หลังบ้านเป็นที่สวนของคนอื่นเขา ทำให้บริเวณบ้านตอนกลางคืนจะเงียบและมืดมาก (ตอนนั้นยังไม่มีการติดไฟแสงสว่างตามเสาไฟฟ้าด้วย) เสียงที่ดังจึงมีแต่เสียงแมลงและเสียงร้องของสัตว์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ และเสียงหวูดไฟที่แล่นผ่านมาตามเวลา พอต้องไปนอนที่อื่นที่ใกล้กับถนนมีเสียงรถวิ่ง หรือมีแสงสว่างเข้ามาในห้องนอนมาก ผมจึงมักมีปัญหานอนไม่หลับหรือไม่ก็หลับไม่สนิท

ที่บ้านบางพลัดนี้เวลาที่น้ำท่วม น้ำจะโผล่มาจากทางสวนหลังบ้าน มุดรั้วที่ปิดกั้นระหว่างถนนกับสวนและท่อระบายน้ำออกมา เวลาที่น้ำท่วมนั้นเป็นการท่วมตามจังหวะเวลาของน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงแรก ๆ ที่น้ำท่วมนั้นน้ำที่ไหลล้นออกมานั้นจะเป็นน้ำใส และมักมีปลาหมอว่ายตามน้ำออกมาด้วย ผมกับพี่น้องก็จะออกมาไล่จับปลาหมอกัน พอท่วมพื้นถนนจนมิดก็จะเล่นเตะฟุตบอลกัน เตะบอลในน้ำมันก็สนุกไปอีกแบบไม่เหมือนกับการเตะบอลในสนามที่แห้ง แต่พอน้ำท่วมหลายวันเข้าก็เริ่มเบื่อ เพราะน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็นและไม่สะอาด วัน ๆ ก็เลยได้แต่นั่งจับเจ่าอยู่ในบ้าน

ช่วงปี ๒๕๒๐-๒๕๓๐ กรุงเทพยังไม่มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำ เวลาที่น้ำท่วมทีก็ท่วมไปทุกแห่ง น้ำที่ท่วมที่บ้านผมนั้นก็ท่วมเฉพาะพื้นถนนหน้าบ้านที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินในบ้าน มีบางครั้งที่อาจจะสูงจนเข้ามาในรั้วบ้านได้ แต่ก็ไม่เคยมีทีท่าว่าจะท่วมสูงถึงพื้นตัวบ้านที่ใช้เป็นอยู่อาศัย เพราะถ้าสูงขนานนั้นก็คงไม่มีที่หลับนอนกัน เพราะบ้านที่อยู่นั้นเป็นบ้านชั้นเดียว

ช่วงประมาณปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ ก็ได้มีการปรับปรุงถนนในซอย คือมีการยกระดับถนนให้สูงในระดับเดียวกันกับถนนจรัญสนิทวงศ์ (อย่าแปลกใจนะว่าถ้าจะเห็นบางคนเขียนว่า จรัลสนิทวงศ์ คือสะกดด้วย "ล" ไม่ใช่ "ญ" เพราะแต่ก่อนมีการสะกดชื่อโดยใช้ "ล" ก่อนที่จะมีการแก้ไขใหม่ว่าให้สะกดด้วย "ญ") ซึ่งการยกระดับถนนดังกล่าวเสร็จสิ้นก่อนน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี ๒๕๓๘

รูปที่ ๑ แผนที่บริเวณที่เกิดเหตุกำแพงกั้นน้ำท่วม และเส้นทางที่คิดว่าน้ำจากแม่น้ำใช้ในการเดินทางมาถึงหลังบ้าน จะเห็นว่าน้ำที่ทะลักจากคันกั้นน้ำที่พังในซอยจรัญ ฯ ๗๔/๑ นั้นสามารถไหลตรงมายังริมทางรถไฟและสวนบริเวณหลังบ้านผมได้อย่างรวดเร็ว แนวทางรถไฟสายใต้นี้เป็นเส้นแบ่งระหว่าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่อยู่ทางฝั่งด้านทิศเหนือ และเขตบางพลัด จ.กรุงเทพ ที่อยู่ทางฝั่งด้านทิศใต้ บ้านผมอยู่ในบริเวณวงกลมแดงที่ด้านซ้ายของภาพ ลูกศรสีเขียวคือเส้นทางที่คาดว่าเป็นเส้นทางการไหลของน้ำที่บ่าเข้ามา

หลังการยกระดับถนนในซอยก็ทำให้ตัวพื้นถนนนั้นสูงกว่าตัวพื้นบ้านที่ใช้เป็นที่พักอาศัยอยู่เล็กน้อย เรียกได้ว่าพื้นที่ที่เคยใช้เป็นที่หลับนอนจากเดิมที่เคยอยู่สูงกว่าถนนกลายเป็นอยู่ต่ำกว่าถนน ยังดีที่เขาวางท่อระบายน้ำเอาไว้ลึก จึงไม่ค่อยประสบปัญหาน้ำฝนไหลหลากจากถนนเข้าบ้านเวลาฝนตกหนัก

น้ำท่วมปี ๒๕๓๘ ก็ยังเป็นลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ ตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าวันไหนน้ำขึ้นสูงสุดตอนเวลากลับบ้านผมก็จะขนเสื้อผ้ามานอนยังที่ทำงาน (ก็มีห้องส่วนตัวนี่นา) จะได้ไม่ต้องขับรถลุยน้ำกลับบ้าน หรือต้องรอให้น้ำลงก่อนจึงจะกลับได้ เพราะเส้นทางกลับบ้านนั้นต้องผ่านสะพานกรุงธน ซึ่งบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่งจะมีน้ำท่วมเสมอเวลาที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูง เท่าที่จำได้ในปีนั้นน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทก็อยู่ในระดับกว่า ๔๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายบริเวณเดียวกับแผนที่ในรูปที่ ๑ เป็นภาพซ้อนทับระหว่างภาพภูมิประเทศจริงของภาพถ่ายดาวเทียมกับแผนที่ จะเห็นว่าบริเวณระหว่างคลองบางพลัดและคลองมะนาวไปจนถึงแนวทางรถไฟและหลังบ้านผมยังมีสภาพเป็นสวนอยู่

เนื่องจากระดับถนนสูงกว่าตัวบ้านและพื้นที่สวนรอบ ๆ ดังนั้นในปี ๒๕๓๘ เมื่อน้ำในสวนเริ่มเอ่อล้น น้ำดังกล่าวจึงแทรกซึมผ่านรั้วบ้านซึ่งเป็นผนังอิฐบล็อกและซึมผ่านพื้นดินเข้ามาในบ้าน ในช่วงแรกน้ำดังกล่าวยังพอไหลลงระบบท่อระบายน้ำของถนนไปได้ แต่พอหลายวันเข้าระบบท่อระบายน้ำของถนนซึ่งนำน้ำนั้นไปออกคลองบางบำหรุก็เริ่มมีระดับสูงขึ้น เพราะคลองบางบำหรุซึ่งนำน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีระดับสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำไหลย้อนเข้ามาทางท่อระบายน้ำเข้าบ้าน จึงต้องใช้วิธีอุดท่อระบายน้ำระหว่างตัวบ้านกับถนน และสูบน้ำในบ้านลงท่อระบายน้ำของถนน ช่วงปี ๒๕๓๘ ก็รอดมาด้วยการสูบน้ำแบบนี้ ในส่วนของถนนจรัญสนิทวงศ์นั้นมีการสร้างคันกั้นน้ำที่บริเวณเกาะกลางถนน ก็เลยได้เห็นว่าถนนฝั่งด้านแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านขาเข้า) มีเรือวิ่ง ส่วนถนนอีกฝั่ง (ด้านขาออก) นั้นยังแห้งอยู่ แต่การสร้างคันกั้นน้ำดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจให้กับชุมชนฝั่งที่โดนน้ำท่วม เพราะเป็นฝั่งที่ได้รับความเสียหาย ในขณะที่มองว่าอีกฝั่งนั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไร

ในประเทศไทยนั้นบุคคลสามารถมีที่ดินติดริมแม่น้ำลำคลอง ทำให้มีที่ชายน้ำที่เป็นที่ส่วนตัวของตัวเองได้ แต่ไม่สามารถมีที่ชายหาดที่เป็นส่วนตัวของตัวเองได้ หาดส่วนตัวที่อ้างกันนั้นก็เกิดจากการที่ครอบครองที่ดินที่ปิดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้าไปถึงได้ หรือทำให้ไม่มีถนนตัดผ่านระหว่างที่ของตัวเองกับชายหาดได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่หัวหิน ที่ที่มีการจับจองที่ดินติดชายทะเลเอาไว้ตลอดทั้งแนว แต่ชายหาดริมทะเลหลังที่เหล่านั้นใคร ๆ ก็สามารถไปทำกิจกรรมหรือเดินทางผ่านไปมาได้ตลอดเวลา

เมื่อมีโครงการสร้างกำแพงกั้นกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นทางกรุงเทพมหานครก็ต้องประสบกับปัญหาเจ้าของที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปก่อสร้าง เนื่องด้วยต้องการภูมิประเทศที่งดงาม (ในมุมมองของเขา) หรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามแต่ ทำให้แนวคันกั้นน้ำนั้นไม่สมบูรณ์ เป็นบริเวณที่เรียกว่า "ฟันหลอ" บริเวณเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาเป็นประจำเมื่อมีน้ำหลากมา เพราะเจ้าของที่เหล่านั้นก็ไม่ต้องการให้น้ำท่วมที่ตนเอง แต่ความแข็งแรงของกำแพงกั้นน้ำที่เขาสร้างขึ้นมานั้น (เผลอ ๆ อาจจะไม่ใช่กำแพงที่ออกแบบมากั้นน้ำ เป็นเพียงแค่กำแพงบ้านเท่านั้นเอง) ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันของน้ำได้ จึงเกิดการพังทลายและทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่หลังแนวกำแพงนั้น

สาย ๆ ของวันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ผมขับรถไปสะพานพระราม ๗ โดยออกทางถนนสายบางกรวย-พระราม ๗ ก็ได้เริ่มเห็นน้ำทะลักจากฝั่งคลองสำโรงข้ามถนนมายังฝั่งทางด้านทางรถไฟ และในวันถัดมาก็ทราบว่าบริเวณระหว่างถนนและทางรถไฟถูกน้ำท่วมเอาไว้หมดแล้ว ช่วงนั้นทางรถไฟสายใต้ทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำระหว่างเขตบางพลัดและอำเภอบางกรวย

แต่ระดับน้ำทางฝั่งบางกรวยที่สูงขึ้นทำให้น้ำล้นพ้นทางรถไฟ แต่มาติดที่กำแพงถนนเลียบทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างอยู่ ถนนยังสร้างไม่เสร็จแต่เขาวางกำแพงคอนกรีตเอาไว้ก่อน น้ำที่ล้นมาจากทางฝั่งบางกรวยก็ถูกระบายลงคลองต่าง ๆ ทางฝั่งบางพลัดและสูบออกไป

ช่วงประมาณตี ๓ ของวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคมถูกปลุกขึ้นมาเนื่องจากคันกั้นน้ำปลายคลองบางบำหรุพังลง ทำให้น้ำจากฝั่งบางกรวยไหลเข้ามาได้รวดเร็ว แต่โชคยังดีที่ทางเจ้าหน้าที่เขตกับทหารได้เข้ามาซ่อมแซมเอาไว้ได้ทัน แต่ถึงกระนั้นระดับน้ำทางฝั่งบางกรวยก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท่วมทางรถไฟสายใต้เป็นช่วง ๆ สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือความแข็งแรงของกำแพงคอนกรีตที่ผู้ก่อสร้างถนนเอามาวางไว้ว่ามันจะล้มลงมาเนื่องจากแรงดันน้ำ ผมคิดว่ากำแพงดังกล่าวไม่ได้ถูกยึดเข้ากับพื้นถนนไว้อย่างแน่นหนา มันถูกนำมาวางบนพื้นถนนเอาไว้เฉย ๆ เพราะถนนดังกล่าวเป็นถนนลาดยางมะตอย ไม่ใช่ถนนคอนกรีตที่จะมีเหล็กเส้นยึดกำแพงเข้ากับพื้นถนน ในขณะเดียวกันน้ำก็ซึมผ่านชั้นราดยางมะตอยของผิวถนน มาผุดอยู่กลางถนนโดยเห็นได้ชัดว่าพื้นถนนมีการบวมตัวสูงขึ้น 
 
เหตุการณ์กำแพงคอนกรีตของถนนล้มลงแล้วทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็วนี้เคยเกิดที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บริเวณที่เกิดเหตุคือตำแหน่งที่ตั้งของห้างโรบินสันศรีราชาในปัจจุบัน (ตอนนั้นห้างนั้นยังไม่ได้ก่อสร้าง) น้ำที่ลงมาจากเนินเขามาสะสมอยู่อีกฟากของกำแพง ไม่สามารถระบายลงทะเลได้ทัน กำแพงคอนกรีตดังกล่าวพอรับแรงดันไม่ไหวก็ล้มพังลง เกิดเป็นกระแสน้ำพัดไหลรุนแรงพัดพาเอาข้าวของและบ้านเรือนเสียหายไปหลายหลัง หลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้เห็นทางเทศบาลทำการเปลี่ยนกำแพงบางช่วงให้กลายเป็นลูกกรงเหล็กแทน เพื่อให้น้ำที่หลากมาอย่างรวดเร็วระบายได้เร็วขึ้นไม่เกิดการสะสมทางด้านหนึ่งของกำแพง
บ่ายวันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคมหลังจากจัดงานวันเกิดเล็ก ๆ ให้กับลูกคนเล็ก ผมก็พาลูก ๆ ไปอยู่ที่ชลบุรีเนื่องด้วยไม่ไว้ใจสถานการณ์น้ำท่วม ตอนขับรถกลับตอนค่ำก็มีโทรศัพท์แจ้งว่ารั้วบ้านริมน้ำในซอยจรัญฯ ๗๔/๑ พังลง ทำให้ต้องปิดถนนจรัญสนิทวงศ์ช่วงแยกบางพลัดถึงสะพานพระราม ๗ ตอนที่กลับถึงบ้านนั้นพบว่าเริ่มมีน้ำเอ่อเข้ามาทางสวนหลังบ้านแล้ว แต่ยังไม่มากเท่าไรนัก เพราะยังสามารถระบายลงท่อน้ำของถนนเพื่อไปออกทางคลองบางบำหรุได้ รอดูอยู่จนเที่ยงคืนจึงเข้านอน มีโทรศัพท์ปลุกอีกครั้งตอนตี ๔ ของวันอังคารที่ ๒๕ ว่าน้ำไม่สามารถระบายออกทางคลองบางบำหรุได้แล้วและเริ่มสะสม จึงได้เริ่มทำการสูบน้ำออกจากบริเวณบ้านหลังเก่า และเริ่มขนย้ายสิ่งของจากบ้านเก่าขึ้นบ้านใหม่ที่เป็นบ้านสองชั้นและอยู่สูงกว่า ตอนบ่ายผมนำรถไปฝากไว้ที่บ้านน้องชายและนั่งรถกลับมากับเขา ตอนที่ผมขับรถออกไปและนั่งรถกลับเข้ามานั้นน้ำท่วมเฉพาะถนนบริเวณหน้าบ้านผม ส่วนบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลบางพลัดและวัดเพลงนั้นระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าถนน แต่จากระดับน้ำที่สูงขึ้นก็ทำให้เชื่อว่าน้ำที่ทะลักเข้ามานั้นมากกว่าน้ำที่สามารถระบายออกทางคลองบางบำหรุ เย็นวันนั้นจึงได้ตัดสินใจทิ้งบ้านหลังเก่าให้จมน้ำเพื่อย้ายเครื่องสูบน้ำไปป้องกันบ้านของพี่ชายและของพ่อแม่ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวเหมือนกันและได้ให้คุณพ่อคุณแม่ย้ายไปอยู่บ้านน้องชายก่อน ส่วนผมกับพี่ชายก็เฝ้าบ้านสี่หลังอยู่ด้วยกันสองคน 
 
คืนนั้นแม่น้ำจะยังไม่เข้าท่วมในชั้นล่างของบ้านสองชั้น แต่ระดับน้ำที่สูงรอบตัวบ้านทำให้ปั๊มน้ำลัดวงจร ทำงานไม่ได้ และถังบำบัดมีน้ำเต็ม ชักโครกกดไม่ลงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ต้องทำการเจาะท่อน้ำทิ้งส่วนที่อยู่เหนือกว่าผิวน้ำเพื่อให้อากาศในถังบำบัดระบายออกได้ ชักโครกชั้นบนจึงใช้งานได้อีกครั้ง แต่ห้องน้ำชั้นล่างไม่สามารถใช้งานได้

ตลอดคืนวันอังคารต่อเช้าวันพุธน้ำยังมีทีท่าสูงขึ้นและเชื่อว่าบ้านสองชั้นที่อาศัยอยู่นั้นชั้นล่างคงไม่พ้นจากการโดนน้ำท่วมแน่ ๆ จึงตัดสินใจย้ายของจากชั้นล่างขั้นชั้นบนอีกครั้งและตัดสินใจปล่อยให้บ้านชั้นล่างจมน้ำไปโดยจะย้ายออกไปอยู่กับลูก ๆ แล้ว เพราะเขาเป็นห่วงมาก โทรศัพท์มาถามตลอดเวลา ข้าวของอะไรที่ยกขึ้นข้างบนไม่ได้ก็นำโต๊ะ เก้าอี้ มาหนุนให้สูงขึ้น หรือนำไปวางไว้บนชั้นที่สูงขึ้น ผมชวนให้พี่ชายผมออกมาด้วยแต่เขาก็ยังไม่ยอมออกมา คุณแม่ผมเลยต้องอยู่เป็นเพื่อนพี่ชายผมในคืนนั้น โดยให้ผมขนข้าวของบางส่วนที่ต้องใช้ออกไปไว้บ้านน้องชายก่อน แล้วให้ผมเดินทางไปดูแลลูก ๆ ที่ชลบุรี ส่วนตัวคุณแม่เองนั้นบอกว่าขอเห็นกับตาตนเองดีกว่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะได้ไม่ต้องเป็นกังวลกับข่าวสารที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 
 
พอเช้าวันพุธที่ ๒๖ คุณแม่ก็โทรศัพท์มาบอกว่าตัดสินใจที่จะอพยพแล้ว เพราะน้ำมีแนวโน้มที่จะท่วมชั้นล่างของบ้านสองชั้นแล้ว และรอน้องชายเข้าไปรับออกมา

ระหว่างที่นั่งเล่น facebook อยู่ที่ชลบุรีก็มีนิสิตถามเข้ามาเรื่องการออกแบบเครื่องกรองน้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่มให้กับผู้ประสบอุทกภัย ผมก็ได้ให้คำแนะนำและความเห็นกับเขาไป ส่วนตัวผมคิดว่าเพื่อให้การช่วยเหลือดำเนินไปได้ดีนั้นผู้ประสบอุทกภัยควรที่จะอพยพมาอยู่รวมกัน เจ้าหน้าที่จะได้จัดการความช่วยเหลือได้ง่าย จะได้มีกำลังเหลือไปจัดการกู้ภัยในด้านอื่น แทนที่จะเป็นการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสบียง ผมว่าในหลาย ๆ พื้นที่ที่ทำได้น่าจะใช้วิธีการอพยพคนออกมาให้หมด ประกาศเป็นพื้นที่ห้ามบุคคลไม่ได้รับอนุญาตเข้าไป แล้วใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินให้เอง เห็นใครแปลกปลอมเข้าไปในบริเวณนั้นก็ให้สัณนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ เจ้าของบ้านคนใดจะกลับไปยังบ้านตัวเองก็ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าวัน-เวลาและสถานที่ พอเหตุการณ์ดีขึ้นจึงค่อยอนุญาตให้อพยพกลับเข้าไปอยู่ที่บ้านตนเองได้

ผมเห็นใจเจ้าหน้าที่เขตที่ถูกชาวบ้านที่ไม่ยอมอพยพออกมา (เนื่องด้วยห่วงทรัพย์สิน) ต่อว่าว่าไม่มีใครเข้าไปดูแลส่งถุงยังชีพให้กับผู้ที่อยู่ตามบ้านเรือน แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เขตเหล่านั้นก็ต้องทำการซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่เสียหาย ณ บริเวณต่าง ๆ ตลอด ๒๔ ชั่วโมงร่วมกับทหารหน่วยต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาช่วย แม้ว่าบ้านของพวกเขาเหล่านั้นต่างก็เดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน และพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเพิ่มเติมพิเศษ เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่านั้น ไม่ได้มีการออกข่าวสรรเสริญใด ๆ ทางสื่อต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่พวกเขาทำไปนั้นได้ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นจำนวนมากกว่าสื่อบางสื่อที่โหมกระพือความช่วยเหลือของตัวเองเสียอีก กำลังใจที่พวกเขาได้รับจากชาวบ้านก็คือเงินบริจาคเพียงเล็กน้อย อาหารการกินส่วนหนึ่ง การโบกไม้โบกมือให้กำลังใจ รอยยิ้มของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ และคำขอบคุณที่อาจมาพร้อมกับน้ำตา

ท้ายนี้ผมขอกล่าวคำขอบคุณจากใจไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ทหาร และอาสาสมัคร ที่ได้เข้ามาร่วมกู้วิกฤตของประเทศโดยหวังเพียงแค่ขอคืนความสุขและการใช้ชีวิตตามปรกติให้กับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุจริง หรือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลศูนย์ผู้อพยพ หรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่พยายามรักษาให้ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ยังคงใช้งานได้อย่างปลอดภัย เขาเหล่านั้นทำงานโดยไม่ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ตนเองเพื่อหวังลาภ ยศ สรรเสริญ หรือผลประโยชน์ภายหลังเหตุการณ์ผ่านไป สิ่งที่พวกเขาได้ไปคือความประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเขาในการที่ได้นำความสุขกลับคืนมายังผู้ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้นเอง