วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลมหม้อข้าวแห้ง ณ ทะเล บ้านกาหลง MO Memoir : Tuesday 24 July 2561

วันนั้นเป็นวันที่ฟ้ามีเมฆมาก แต่ไม่ถึงกับมืดครึ้ม แดดก็ไม่มี บางจังหวะก็มีฝนตกปรอย ๆ เล็กน้อย ส่วนทะเลแม้ว่าจะเป็นช่วงน้ำลง คลื่นลมก็ค่อนข้างจะแรง อันเป็นผลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง
ณ ร้านชำเล็ก ๆ สุดถนนหน้าสะพานปลา ชาวประมงผู้หนึ่งกำลังคุยกับแม่ค้าที่ร้านขายของที่อยู่ที่ทางลงสะพานเทียบเรือ ผมเองหลังจากซื้อน้ำดื่มจากเขาขวดหนึ่ง เขาก็เชิญให้นั่งพักก่อน แต่ผมเองบอกว่าขอยืนสักพักก็แล้วกัน เพราะนั่งขับรถมานานแล้ว ขอยืนยืดแข้งยืดขาหน่อย ก็เลยยืนฟังบทสนทนาของเขาที่เกี่ยวกับเรื่องการทำมาหากินของพวกเขาไปเรื่อย ๆ แล้วข้อความหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นั่น ก็ถูกกล่าวออกมา
 
ตอนเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ เขาก็สอนให้รู้จักกับ "ลมบก" และ "ลมทะเล" น้ำมีความจุความร้อนสูงกว่าพื้นดิน เมื่อได้รับแสงแดดในตอนกลางวันพื้นดินจะมีอุณหภูมิสูงกว่าทะเล ทำให้อากาศเหนือพื้นดินลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากทะเลก็เลยพัดเข้ามา เป็นลมที่พัดเข้าหาฝั่งที่เรียกว่า "ลมทะเล" แต่พอแสงอาทิตย์ลับหายไป พื้นดินจะเย็นตัวเร็วกว่าทะเล อากาศเหนือผิวทะเลจะร้อนกว่าและลอยตัวสูงขึ้น อากาศที่เย็นกว่าทางพื้นดินก็จะไหลออกสู่ทะเล กลายเป็นลมที่พัดจากบกไปทะเลหรือ "ลมบก" แต่พอได้ยินคำว่า "ลมหม้อข้าวแห้ง" ก็งงไปเหมือนกัน ว่ามันคือลมอะไร ไว้ตากหม้อข้าวหรือยังไง


รูปที่ ๑ สถานีรถไฟบ้านกาหลงของรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง สถานนีนี้ดูดีหน่อยเมื่อเทียบกับหลายสถานีรถหว่างทาง คงเป็นเพราะว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับชุมชนรอบข้าง อย่างน้อยที่บ้านกาหลงก็มีถนนจากสถานีรถไฟไปยังทะเล ที่เป็นที่เทียบเรือหาปลาของชาวบ้าน ส่วนบริเวณจากสถานีไปจนถึงชายทะเล ก็มีการทำนาเกลือบ้าง

"ลมหม้อข้าวแห้ง ก็หมายความตามนั้นนั่นแหละ หม้อข้าวแห้งก็คือหม้อข้าวไม่มีอะไรหรือไม่มีข้าวกินนั่นเอง" แม่ค้าอธิบายให้ผมฟัง อากาศอย่างนี้นักท่องเที่ยวอาจจะชอบ เพราะมันไม่ร้อน ออกไปถ่ายรูปได้สบาย แต่สำหรับชาวบ้านที่หากินกับการจับปลาแล้วเขาไม่ชอบ เพราะมันออกไปจับปลาไม่ได้ แถมยังไม่มีแดดให้ตากแห้งอาหารทะเลอีก

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า ๖๓ เล่ม ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑๒๕ ง วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ป่าชายเลนที่ตำบลกาหลงและบางโทรัด ก็เป็นผลพวงจากดินตะกอนที่พัดออกมาจากปากแม่น้ำท่าจีน

พื้นที่ทะเลชั้นในของอ่าวไทยรูปตัว ก คือช่วงเมืองเพชรบุรีทางฝั่งตะวันตกถึงศรีราชาทางฝั่งตะวันออก เป็นจุดรวมของปากแม่น้ำหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำเพชร แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ทำให้บริเวณนี้มีการสะสมของดินเลนที่แม่น้ำพัดพามาเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่แบ่งกั้นระหว่างแผ่นดินและทะเล และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำชายฝั่งหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ เท่าที่ได้ไปสัมผัสมาในวันนั้น ชาวบ้านบริเวณนี้ถ้าไม่ทำประมงใกล้ชายฝั่ง (เห็นได้จากการมีเรือขนาดเล็ก) ก็คงทำนาเกลือ ไม่ก็คงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และวิธีการเก็บผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้อยู่ได้นานและประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ก็คงไม่พ้นจากการตากแห้งและทำเค็ม แสงแดดจึงมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน นอกเหนือไปจากสายลมที่จะเปิดช่องให้พวกเขาได้ออกไปหาปลาในทะเลได้หรือไม่

รูปที่ ๓ เมื่อขับรถเข้าไปจนสุดถนนก็จะพบกับสะพานเทียบเรือที่ยื่นออกไปในทะเล เหตุผลที่ต้องยื่นออกไปไกลก็เพื่อให้เรือสามารถเข้าเทียบได้เวลาที่น้ำลง หลักเขตที่เห็นอยู่ไกล ๆ ตรงลูกศรสีแดงชี้คือเขตแนวฝั่งเดิม ที่ตอนนี้หดเข้ามาจนถึงแนวหินที่อยู่ทางขอบล่างของรูป เดาว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายเขื่อน ทำให้ปริมาณตะกอนที่น้ำฝนชะมาจากทางต้นน้ำที่จะไหลลงทะเลนั้นถูกขวางกั้นเอาไว้ส่วนหนึ่ง และปัจจัยหลักน่าจะเป็นการบุกรุกป่าชายเลนที่ทำหน้าที่หน่วงการไหลของน้ำ ทำให้ดินตะกอนนั้นตกสะสม ส่วนบ้านที่เห็นนี้ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเดิมมันก็ไม่มีหรอก แต่พอมีข่าวว่าจะมีการสร้างสะพานเทียบเรือออกไปในทะเล ก็เลยมีคนฉวยโอกาสมาสร้างบ้านตรงตำแหน่งที่คิดว่าจะมีการสร้างสะพาน เพื่อหวังจะเอาเงินค่าเวนคืนบ้าน แต่ปรากฏว่าสะพานถูกสร้างออกไปทางด้านข้าง ก็เลยวืดไป แรก ๆ ก็ยังพอจะมาอยู่อาศัยบ้าง เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นบ้านมีคนอาศัย แต่ตอนนี้ก็ปล่อยทิ้งร้างแล้ว แม้แต่บันไดขึ้นบ้านก็ไม่เหลือ


รูปที่ ๔ สะพานเทียบเรือเป็นสะพานคอนกรีต มีกำแพงสีสวยกั้นเป็นระยะ (แต่ไม่ใช่สะพานสายรุ้งที่มีคนเขาเรียกกัน) ปลายสะพานมีป้ายติดไว้ว่าทะเลกาหลง ด้านขวาของสะพานเป็นลำคลองที่ชาวบ้านใช้นำเรือออกทะเลเวลาที่น้ำขึ้น ในเวลาที่ไปถึงนั้นน้ำลงต่ำมาก แม้แต่ที่ปลายสะพานก็ยังไปไม่ถึงทะเล

รูปที่ ๕ จากปลายสะพานเมื่อมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นแนวเทือกเขาที่อยู่ทางจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี วันนั้นอากาศไม่ค่อยดีก็เลยเห็นไม่ค่อยชัด มุมนี้เดาว่าถ้าเป็นตอนเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า ก็คงจะได้เห็นวิวสวย ๆ เลข 1 ในรูปคือสะพานไม้ที่มีคนเรียกว่าสะพานสายรุ้ง (คือสะพานไม้ทาสีสดใสหลากหลายสี) ที่มีคนเอามาโพสกันทางอินเทอร์เน็ต ผมเองไม่ได้เดินไปทางนั้นเพราะช่วงนั้นก็มีฝนลงปรอย ๆ อยู่ (เห็นได้จากหยดน้ำฝนที่เกาะที่ฟิลเตอร์หน้าเลนส์กล้อง) ส่วนเลข 2 ก็คือแนวเขื่อนกั้นคลื่น แนวเขื่อนนี้มีการเว้นช่องว่างเป็นระยะเพื่อให้น้ำไหลเข้า-ออกได้ และเปิดทางสัญจรให้กับเรือที่แล่นเข้าออกลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล


รูปที่ ๖ ลองซูมเข้าไปดูกลุ่มต้นไม้ที่งอกอยู่ที่แนวเขื่อนเลข 2 ในรูปที่ ๕ ยังแปลกใจอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมบริเวณนี้ถึงไม่มีใครคิดจะมาปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการกัดเซาะริมฝั่ง ซึ่งมันก็คงจะรวดเร็วกว่าการรอให้พุ่มไม้กลุ่มนี้ค่อย ๆ แผ่ขยายออกมาจนเต็มบริเวณ (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อใด)


รูปที่ ๗ จากปลายสะพานเมื่อมองไปทางทิศตะวันออก แนวรั้วไม้ที่เห็นก็เป็นแนวรั้วเพื่อลดความแรงของคลื่นที่กระทบเข้าฝั่ง แต่เวลาที่คลื่นลมแรงและน้ำขึ้นสูง แม่ค้าที่เปิดร้านค้าอยู่ตรงปลายสะพานก็บอกว่าคลื่นก็ซัดเอาก้อนหินที่แนวกำแพงกั้นคลื่นเชิงสะพาน (รูปที่ ๓) กลิ้งลงมาเหมือนกัน


รูปที่ ๘ จากปลายสะพานเมื่อมองกลับเข้าไป ทางด้านซ้ายจะเห็นปากคลองที่ไหลลงสู่ทะเล ถัดไปที่อยู่ตรงกลางภาพคือศาลเจ้าพ่อกิมท้ง ที่ต้องเดินข้ามสะพานข้ามคลองไป


รูปที่ ๙ มองออกทะเลจากสะพานที่เดินข้ามไปยังฝั่งศาลเจ้าพ่อกิมท้ง พอน้ำลงคลองทั้งเส้นก็เหลือเพียงแค่นี้ ดินเลนบริเวณนี้ดูแล้วยังสะอาดอยู่ ไม่มีขยะ อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยมีใครเข้ามา สิ่งหนึ่งที่มักจะตามมาหลังการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาดื่มมากินก็คือ การทิ้งขยะลงทะเล วันที่ไปถึงนั้นแม่ค้าก็เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนที่สะพานก็มีถังขยะเพียงใบเดียวก็พอ แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็นสามใบ เราอาจต้องรณรงค์การทิ้งขยะกัน โดยไม่ทิ้งขยะในแหล่งท่องเที่ยว ขยะที่นักท่องเที่ยวทำให้เกิดขึ้นก็ควรที่จะนำออกไปจากแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพื่อที่จะรักษาแหล่งท่องเที่ยวนั้นให้ดูสะอาดตาตลอดไป

รูปที่ ๑๐ จากจุดเดียวกับในรูปที่ ๙ พอมองเข้ามาก็จะเห็นเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงกันอยู่ เพราะช่วงน้ำลงน้ำในคลองแห้งเกือบหมด ออกไปไหนไม่ได้


รูปที่ ๑๑ รูปนี้เป็นการมองออกไปจากหมู่บ้านไปในทิศทางทางเข้าหมู่บ้าน ป้ายนี้บอกว่าหมู่บ้านนี้ห่างจากสถานีรถไฟบ้านกาหลง ๕.๕ กิโลเมตร แต่แม่ค้าที่คุยด้วยเล่าให้ฟังว่า แม่ว่าดูเผิน ๆ จะไม่มีอะไร แต่ก็มีรถสองแถวใหญ่วิ่งจากถนนพระราม ๒ มายังหมู่บ้านนี้เป็นประจำ โดยรถสองแถวจะมาสิ้นสุดที่สะพานเทียบเรือเพื่อให้บริเวณลานหน้าสะพานเทียบเรือเป็นที่กลับรถ และที่ชายทะเลนี้ยังมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดแก้วมงคล (วัดกาหลงอยู่แถวถนนพระราม ๒ ใกล้สถานีรถไฟ) รถขายของที่เห็นควันโขมงทางด้านขวาคือรถขายหมูปิ้ง

รูปที่ ๑๒ ร้านค้าที่แวะเข้าไปคุยกับแม่ค้า วันนี้ไม่มีเย็นตาโฟขาย (ธรรมดา ๒๕ บาท พิเศษ ๓๐ บาท) ขายเฉพาะวันหยุด แต่ยังมีเครื่องดื่มขาย แกเล่าให้ฟังว่าที่นี้ก็มีนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความสงบแวะเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ประเภทซื้อเบียร์ไปนั่งจิบเงียบ ๆ ริมทะเลบนกองหินที่ป่าชายเลนข้างร้าน


รูปที่ ๑๓ ออกจากทะเลบ้านกาหลงพอมาถึงทางรถไฟก็เลี้ยวขวาขับกลับไปทางบางโทรัด ขาเข้ามานั้นขับจากตะวันออกไปตะวันตก แดดส่องเข้าหน้าก็เลยไม่ได้ถ่ายรูป (แต่ถ่ายคลิปวิดิโอที่เอามาให้ดูเมื่อวันอาทิตย์) ขากลับเห็นถนนว่างดีก็เลยจอดรถ่ายรูปหน่อย ถนนทางบ้านกาหลงจะกว้างกว่าทางบางโทรัด และยังไม่มีบ้านปลูกชิดติดถนนเหมือนกับทางบางโทรัดด้วย ถนนช่วงนี้เป็นช่วงที่ป่าชายเลนอีกฟากของทางรถไฟถูกจับจองเอาไปทำประโยชน์กันหมดแล้ว ไม่เหลือสภาพว่าเคยมีต้นไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของป่าชายเลนขึ้นอยู่

รูปที่ ๑๔ มองข้ามทางรถไฟออกไป ก็จะเห็นบริเวณพื้นที่โล่งเตียน บริเวณที่เห็นเป็นที่บ่อน้ำที่อยู่ทางด้านขวาเดาว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลองได้รับการปรับปรุงใหม่ ทำให้เวลารถไฟวิ่งไม่โยนไปโยนมามากเหมือนกับสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่บางช่วงเห็นชัดเลยว่าแนวรางมีลักษณะอย่างกับเป็นลูกคลื่นตามยาว โดยเฉพาะตรงจุดต่อราง


รูปที่ ๑๕ พอจะเข้าเขตบางโทรัดก็จะเจอกับสะพานเจ้าปัญหาที่รถท้องต่ำต้องระวัง และต้องวัดใจกันด้วยว่าอีกฟากของสะพานมีรถสวนขึ้นมาหรือเปล่า พอเข้าเขตบางโทรัดถนนจะแคบกว่าแต่ก็ดูร่มรื่นมากว่า อย่างน้อยอีกฟากของทางรถไฟก็ยังมีไม้ใหญ่ขึ้นต่อกันเป็นแนว

รูปที่ ๑๖ ด้านหน้าของบ้านที่สร้างออกไปในบริเวณที่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลไปแล้ว

Memoir ฉบับนี้ก็เป็นฉบับปิดทริปการเดินทางสำรวจชุมชน ที่อาศัยการดูแผนที่ว่ามีถนนย่อย ๆ ออกไปโผล่อะไรที่ไหนบ้าง เผื่อมีโอกาสก็จะได้แวะเข้าไปเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนต่าง ๆ ถือเสียว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปก็แล้วกัน คลิปวิดิโอที่แนบมาด้วยก็มาจากกล้องหน้ารถ เป็นภาพทางเข้าก่อนถึงริมทะเลบ้านกาหลงประมาณนาทีเศษ บันทึกเก็บเอาไว้ก่อนกาลเวลาจะทำให้สภาพรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น