วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บันไดหนีไฟในตัวอาคาร MO Memoir : Wednesday 22 August 2561

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเขามีการซ้อมหนีไฟในอาคารที่ผมทำงานอยู่ พอช่วงใกล้เที่ยงก็มีการทดลองกดสัญญาณเตือนไฟไหม้ เพื่อให้คนอพยพออกจากอาคาร ระหว่างเดินลงบันไดหนีไฟมาเพียงคนเดียว ก็เลยได้ถ่ายรูปบางอย่างมาฝากกัน

รูปที่ ๑ ประตูทางออกที่ชั้นล่างสุด
 
บันไดหนีไฟกับรูปลักษณ์ปรากฏของตัวอาคารเมื่อมองจากด้านนอก มักเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ สำหรับอาคารสูงแล้วตัวบันไดหนีไฟมักจะถูกซ่อนเอาไว้ให้มองไม่เห็นจากทางด้านนอก แต่การวางเส้นทางบันไดหนีไฟไว้ด้านในในอาคารผลที่ตามมาก็คือแสงสว่างและการระบายอากาศ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้ควันจากเพลิงที่ไหม้อยู่ที่ชั้นใดชั้นหนึ่งนั้นรั่วเข้าไปในเส้นทางหนีไฟได้ และการมีแสงสว่างเพื่อให้อพยพได้ เพราะมันไม่มีหน้าต่างเปิดออกสู่ด้านนอกอาคารเพื่อการระบายอากาศหรือให้แสงสว่างเข้ามา และวิธีแก้ไขที่อาคารที่ผมทำงานอยู่นั้นใช้ก็คือ การต้องให้ประตูที่เข้าสู่เส้นทางหนีไฟนั้นต้องปิดตลอดเวลา เพื่อที่จะทำการอัดอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามา เพื่อทำให้ความดันอากาศในทางเดินหนีไฟนั้นสูงกว่าภายในตัวอาคาร ควันไฟจะได้ไม่สามารถรั่วเข้าไปในเส้นทางหนีไฟได้ และการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ในกรณีที่มีการตัดกระแสไฟฟ้า
 
ตอนที่ผมกลับมาทำงานเมื่อกว่า ๒๔ ปีที่แล้ว อาคารที่ผมทำงานอยู่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่เริ่มการก่อสร้าง อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่างบประมาณก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้มาแบบโดยบังเอิญ คือเป็นงบประมาณประจำปีที่เป็นเศษเหลือของแต่ละหน่วยงานที่ส่งคืนคลัง (กล่าวคือ อาจตั้งงบซื้อของชิ้นหนึ่งไว้ ๑๐๐ บาท แต่ตอนซื้อจริงซื้อได้ในราคา ๙๗ บาท เศษเหลือ ๓ บาทก็ต้องส่งคืนคลัง เอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้) พอทั้งประเทศรวมกันเข้าก็เป็นเงินก้อนใหญ่ที่ควรต้องใช้ให้หมดในปีงบประมาณนั้น ทางหน่วยงานทราบเรื่องนี้เข้าก็เลยรีบทำแผนก่อสร้างอาคาร (รวมทั้งการออกแบบตัวอาคาร) เพื่อดึงเอางบประมาณตัวนี้มาใช้ ทำให้การออกแบบเป็นไปอย่างรีบร้อนโดยไม่ได้มีการวางแผนไว้อย่างชัดเจนว่าจะใช้ชั้นไหนของอาคารเพื่อวัตถุประสงค์ใด ผลก็คือมันก็เลยเป็นอาคารที่มีปัญหาเรื่องการใช้งานมาตั้งแต่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เรื่องที่มาของงบประมาณสร้างอาคารที่เล่ามาข้างต้น ก็เล่าไปตามที่อาจารย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังมา จริงเท็จอย่างไรก็คงต้องไปดูเอกสารทางการ
 
เรื่องปัญหาการใช้งานอาคารตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเนี่ย อดีตรองคณบดีท่านหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟัง ท่านเล่าว่าตอนออกแบบครั้งแรกนั้นเขาเอาห้องประชุมจุคนระดับ ๒๐๐ คนไปไว้ชั้นบนสุด (ชั้น ๒๐) แล้วค่อยมาคิดได้ทีหลังว่าจะมีปัญหาเรื่องขนคนขึ้นลงเวลามีประชุมแต่ละที ก็เลยต้องมีการแก้แบบเพื่อเอาห้องประชุมลงมาไว้ชั้น ๒ แต่การนี้ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตอนที่นำแบบไปขอความเห็นชอบจากอธิการบดี อธิการบดีก็ให้ความเห็นกลับมาว่า 
  
"ทำงานในสายวิชาชีพตัวเองแท้ ๆ"
 
แกเล่าให้ฟังพร้อมกับปิดท้ายว่า ตอนนั้นไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

รูปที่ ๒ สภาพระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินระหว่างทางเดินลง อุปกรณ์นี้มีมาตั้งแต่สร้างอาคารเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
 
พื้นที่ห้องทำงานของอาคารนี้แยกเป็นสองส่วนคือด้านทิศเหนือกับด้านทิศใต้ ซีกด้านทิศเหนือกับทิศใต้เชื่อมต่อกับบริเวณตอนกลางโดยโถงทางเดินที่เป็นที่ติดตั้งลิฟต์ขึ้นลง บันไดขึ้นลงระหว่างชั้น (ที่อยู่ด้านหลังลิฟต์ด้านทิศตะวันตก) และบันได้หนีไฟ (ที่อยู่ ๒ ฝั่งทางปีกด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก) ต่างก็อยู่ทางอาคารด้านทิศใต้หมด พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามตรงโถงเชื่อมหน้าลิฟต์ ผู้ที่อยู่ทางอาคารซีกทิศเหนือจะหนีออกมาไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีบันได
 
ด้วยเหตุนี้หลังจากอาคารสร้างเสร็จไม่นาน ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ด้วยการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอาคารซีกทิศเหนือและซีกทิศใต้เพิ่มเติม โดยเป็นเส้นทางอยู่นอกอาคารที่เชื่อมต่อมายังบันไดหนีไฟที่อยู่ที่อาคารซีกทิศใต้
 
บันไดหนีไฟของอาคารนี้อันที่จริงมันก็อยู่ด้านริมตัวอาคาร เรียกว่าจะทำให้มันเป็นแบบเปิดโล่งหรือมีช่องหน้าต่างก็ได้ แต่เขาก็เลือกทำเป็นแบบปิดทึบ แม้ผนังด้านนอกจะใช้การติดกระเบื้องแทนการทาสี แต่พอโดนฝนตกหนักสาดต่อเนื่องก็ยังมีน้ำซึมผ่านผนังเข้ามาได้ ตอนเปิดใช้อาคารใหม่ ๆ นั้นก็มีการซ้อมหนีไฟ เขาก็มีการทดสอบระบบอัดอากาศเข้าสู่ช่องทางเดินหนีไฟด้วยว่ามันทำงานหรือไม่ (ซึ่งมันก็ทำ) แต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตอนเดินลงบันไดผมไม่รู้สึกว่ามีการเปิดระบบอัดอากาศ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะมันใช้ไม่ได้ หรือเขาไม่รู้ว่ามันมีอยู่

รูปที่ ๓ สภาพระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินระหว่างทางเดินลงอีกมุมหนึ่ง

แม้แต่บันไดขึ้นลงระหว่างชั้นก็อยู่กลางตัวอาคาร วันไหนไฟฟ้าดับก็ต้องเดินขึ้นลงกัน มีวันหนึ่งตอนเย็นใกล้ค่ำไฟฟ้าดับ ก็เลยทำให้เห็นปัญหาว่าไฟฉุกเฉินที่ส่องเส้นทางขึ้นลงนั้นไม่ทำงาน คือถ้าเป็นตอนกลางวันเปิดประตูทิ้งไว้มันก็มีแสงสว่างจากภายนอกที่ส่องเข้าอาคาร ส่องเข้าทางประตูมาถึงบันได แต่พอตอนกลางคืนมันไม่มีแสงส่องเข้าอาคาร ก็เลยเห็นปัญหา ต้องใช้โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่ไฟฉายส่องทางเดิน จากนั้นไม่นานบางชั้น (แต่ภาควิชาเป็นผู้รับผิดชอบชั้นที่ตัวเองใช้งาน) ก็มีการเปลี่ยนระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ของเดิมเสื่อมสภาพ
 
แต่ตัวบันไดหนีไฟนั้นปรกติก็ไม่มีใครเขาใช้กัน ก็เลยคงทำให้ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ เมื่อวันจันทร์เดินลงมา ๑๐ ชั้น ระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินก็เป็นแบบที่ถ่ายรูปมาให้ดูกัน โดยมีบางชั้นถูกถอดออกไปเลย เรียกว่าถ้าไฟฟ้าดับเมื่อใด ก็คงสนุกไม่แพ้การดำน้ำในถ้ำ ที่ทัศนวิสัยเป็นศูนย์
 
อันที่จริงที่ตัวเครื่องมีป้ายกระดาษติดเอาไว้ว่า จะแก้ไขในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ แต่ ณ วันนี้เรียกว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว คงได้แต่รอดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น