"...
พังหมด
พังหมดคือ พนักงานทั้งกะไปหมดแล้ว
เหลือไอ้น้องคนเดียวที่
ที่บอกให้เฝ้าอยู่ที่ที่
ในห้อง control
room เนี่ย
ซึ่งตอนนี้เขาสติแตกแล้ว
..."
วันเสาร์ที่
๕ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๕๕
เวลาประมาณ ๑๕.๑๓
น.
เกิดการระเบิดที่โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ของบริษัท
BST
ระเบิด
ภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงงานข้างเคียงและความเสียหายจากแรงระเบิดที่เกิดกับอาคารที่อยู่ห่างจากจุดระเบิดกว่า
๑ กิโลเมตรแสดงว่าการระเบิดดังกล่าวเป็นการระเบิดแบบ
Unconfined
Vapour Cloud Explosion (UVCE) และจัดเป็น
UVCE
ครั้งที่
๔ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
จากรายงานข่าว
อุบัติเหตุครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งสิ้น
๑๑ ราย (ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตของแต่ละแหล่งข่าวไม่เหมือนกัน
ในที่นี้ขออิงตัวตัวเลขที่ปรากฏในรูปที่
๑ ข้างล่าง)
เท่าที่ผมได้รับฟังมาคือ
อุบัติเหตุครั้งนี้มีทีมสอบสวน
๓ ทีมที่มีวัตถุประสงค์ในการสอบสวนต่างกัน
ทีมแรกเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องหาว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเพราะมันทำให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ
และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกโรงงานได้รับความเสียหาย
ทีมที่สองเป็นของบริษัทต่างชาติเจ้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาสอบสวนว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการออกแบบโรงงานหรือไม่
และทีมที่สามที่ได้รับการว่าจ้างมาต่างหากที่เข้ามาสอบสวนว่าทำไมระบบการทำงานจึงมีความผิดพลาดหรือเปิดช่องว่างให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
ที่ผมทราบว่ามี ๓
ทีมก็เพราะได้รับฟังจากวิศวกรท่านหนึ่งที่เป็นหนึ่งในทีมที่สามนี้
รูปที่
๑ ภาพสไลด์ที่ได้จากการฟังการบรรยายในเดือนมิถุนายน
๒๕๕๖
รายงานการสอบสวนนั้นออกมาเป็นอย่างไรและมีการเปิดเผยหรือไม่นั้น
ทางผมเองก็ไม่ทราบ
และถึงแม้จะมีการเปิดเผยแต่จะไปหาข้อมูลได้จากไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน
แม้แต่ข้อมูลที่ได้รับฟังมานั้นแม้ว่าฟังเผิน
ๆ จะดูดี
แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดจะเห็นว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไป
ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการที่ผู้เล่าไม่ทราบข้อมูลโดยละเอียดหรือไม่ประสงค์จะบอกรายละเอียด
แต่ถึงกระนั้นก็ยังเห็นว่าด้วยข้อมูลพอหาได้นั้น
ยังพอที่จะนำมาใช้เป็นบทเรียนในการตั้งคำถามเพื่อใช้ศึกษาการวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุ
และการหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิด
ในการวิเคราะห์นั้นจะพยายามแยกข้อมูลออกเป็น
"สิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
และ
"สิ่งที่อนุมาน
(คือการคาดคะเน)
ขึ้นจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
และจากข้อมูล
"สิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
ที่มีปรากฏนั้นอาจทำให้เราสามารถตั้งสมมุติฐานได้หลายข้อ
ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะไม่มีคำตอบว่าสมมุติฐานข้อไหนถูกข้อไหนผิดเนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องของเหตุการณ์
แต่ก็เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาการวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุและการหาทางป้องกัน
เราลองมาดูกันก่อนว่าเรามีข้อมูลอะไรบ้างที่มีการเปิดเผยและออกข่าวที่น่าจะได้รับการจัดเป็น
"สิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่ามีอยู่
๓ เรื่องด้วยกันดังนี้
๑.
คลิปจากกล้องวงจรปิดของโรงงานข้างเคียงแสดงให้เห็นว่ามีการระเบิดที่มีขนาดใหญ่และรุนแรง
มีลักษณะของเปลวไฟที่เกิดจากบริเวณหนึ่งและลามไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งที่เป็นตำแหน่งที่เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
(ดูคลิปวิดิทัศน์และรูปที่
๕-๑๒
ประกอบ)
และรายงานความเสียหายที่เกิดกับโรงงานที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุกว่า
๑ กิโลเมตร ก็ยืนยันความรุนแรงของการระเบิดดังกล่าว
แสดงให้เห็นว่าการระเบิดน่าจะเป็นแบบ
UVCE
๒.
ภาพข่าวขณะเกิดเพลิงไหม้และภาพความเสียหายที่ปรากฏนั้นไม่มีการแสดงให้เห็นถึงรูปแบบเปลวเพลิงที่เกิดจากการรั่วไหลออกเชื้อเพลิงออกจากระบบที่มีความดันสูง
(ที่ควรมีลักษณะที่ฉีดพุ่งออกมา)
แต่เป็นลักษณะเหมือนกับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่รั่วจากระบบความดันต่ำหรือไม่มีความดัน
และเชื้อเพลิงที่แผ่กระจายไปบนพื้น
๓.
เพลิงไหม้นั้นมีโทลูอีน
(Toluene
C6H5-CH3
หรือที่นักเรียนมัธยมในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ
methyl
benzene) เกี่ยวข้องด้วย
จากข้อมูลที่มี
เราจะลองพิจารณากันไปเรื่อย
ๆ โดยเริ่มจากโทลูอีนก่อน
คำถามก็คือโทลูอีนมันมาปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ได้อย่างไร
ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ก็ได้มาจากหน้าเว็บของบริษัท
(รูปที่
๒ ที่ได้มาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา)
ที่กล่าวว่าบริษัทดังกล่าวมีการผลิตยางสังเคราะห์อยู่
๒ ชนิด ชนิดแรกคือยาง Sytrene
Butadiene Rubber หรือที่เรียกกันย่อ
ๆ ว่า SBR
และชนิดที่สองคือยางบิวทาไดอีนที่เรียกกันย่อ
ๆ ว่า BR
(หรืออาจเรียกว่ายาง
polybutadiene
rubber ก็ได้)
ยาง
SBR
นั้นใช้สไตรีน
(styrene
C6H5-CH=CH2) และบิวทาไดอีน
(butadiene
H2C=CH-CH=CH2) เป็นสารตั้งต้น
กระบวนการผลิตยาง SBR
นั้นหน้าเว็บของบริษัทไม่ได้ให้รายละเอียดไว้เป็นการทำปฏิกิริยาในเฟสอะไร
แต่เท่าที่ค้นข้อมูลได้จากสิทธิบัตรต่าง
ๆ มักจะกล่าวว่าเป็นการทำปฏิกิริยาใน
emulsion
phase กล่าวคือใช้น้ำเป็นตัวกลางในการทำปฏิกิริยา
เนื่องจากน้ำเป็นโมเลกุลมีขั้วในขณะที่ทั้งสไตรีน
(ของเหลวที่อุณหภูมิห้อง)
และบิวทาไดอีน
(ทำให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องได้ด้วยการใช้ความดันช่วย)
เป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการใช้สารลดแรงตึงผิวหรือ
surfactant
ช่วย
เพื่อที่จะดึงโมเลกุลสารตั้งต้นทั้งสองเข้าไปในเฟสน้ำเพื่อทำปฏิกิริยากัน
ดังนั้นปริมาณสารตั้งต้นที่ละลายเข้าไปในเฟสน้ำได้จึงมีจำกัด
ในส่วนของการสังเคราะห์ยางบิวทาไดอีนนั้นการทำปฏิกิริยาเกิดในเฟสสารละลายหรือ
solution
phase
กล่าวคือใช้ตัวทำละลายไฮโดรคาร์บอนที่เฉื่อยซึ่งในที่นี้คือโทลูอีนเป็นตัวกลางในการทำปฏิกิริยาของบิวทาไดอีน
โดยบิวทาไดอีนจะลายเข้าไปในโทลูอีนก่อน
จากนั้นบิวทาไดอีนก็จะเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรซ์กลายเป็นพอลิเมอร์ด้วยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยในการเกิดปฏิกิริยา
เนื่องจากทั้งโทลูอีนและบิวทาไอดีนต่างเป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว
บิวทาไดอีนจึงสามารถละลายเข้าไปในโทลูอีนได้มากจนถึงระดับความดันไออิ่มตัว
(สมดุลระหว่างอัตราการละลายและอัตราการระเหย)
ซึ่งเป็นค่าที่มากกว่าการละลายเข้าไปในเฟสน้ำ
รูปที่
๒ แผนผังกระบวนการผลิตยางบิวทาไดอีน
(Butadiene
rubber - BR) และยางสไตรีน-บิวทาไดอีน
(Styrene-Butadiene
rubber - SBR) (จาก
http://bst.co.th/product.aspx?cate=2)
ตรงนี้ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมนิดนึงเพื่อให้เห็นภาพสมดุลระหว่างการละลายกับการระเหยออก
ลองนึกภาพกรณีของเอทานอลกับน้ำที่แม้ว่าจะสามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้ทุกสัดส่วน
โดยเอทานอลเป็นสารที่มีจุดเดือดต่ำกว่าน้ำ
(ประมาณ
78ºC)
ที่ระดับความเข้มข้นเอทานอลต่ำนั้นเรียกได้ว่าเอทานอลระเหยออกมาจากเฟสของเหลวได้ต่ำมาก
แต่พอความเข้มข้นเอทานอลสูงขึ้นระดับหนึ่ง
เอทานอลจะระเหยออกจากเฟสน้ำได้ดีขึ้น
จนไอระเหยของเอทานอลที่อยู่เหนือผิวหน้าน้ำมีความเข้มข้นสูงมากพอจนเราสามารถจุดไฟติดได้
ถ้าว่ากันตามข้อมูลที่มี
ก็น่าจะเชื่อได้ว่ากระบวนการที่เกิดอุบัติเหตุนั้นคือกระบวนการผลิตยางบิวทาไดอีน
ประเด็นถัดมาคือการระเบิดที่เป็นแบบ
UVCE
นั้นแสดงว่าต้องมีการรั่วไหลไอเชื้อเพลิงออกมาในปริมาณมาก
ซึ่งภาพคลิปวิดิทัศน์จากกล้องวงจรปิดก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดเปลวไฟลุกไหม้จากตำแหน่งหนึ่งก่อนทำให้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่อีกตำแหน่งหนึ่งในเวลาถัดมา
ซึ่งบ่งบอกถึงการที่กลุ่มหมอกไอเชื้อเพลิงนั้นพบกับแหล่งพลังงานจุดระเบิด
ทำให้เกิดหน้าคลื่นเผาไหม้
(ที่เรียกว่า
flash
fire) วิ่งจากจุดนั้นออกมายังจุดรั่วไหล
และด้วยความเร็วของหน้าคลื่นเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ก็เลยทำให้กลายเป็นการระเบิด
(detonation
หรือ
blast)
ที่เกิดเป็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นบน
(ดูในคลิป)
ตรงนี้มีประเด็นที่เป็นคำถามก็คือไอเชื้อเพลิงที่รั่วไหลออกมาในปริมาณมากและแพร่ไปได้ไกลนั้นคือสารอะไร
สิ่งหนึ่งที่ทราบก็คือก่อนหน้านั้นมีโทลูอีนอยู่ในถัง
และมีการใช้น้ำล้าง
ตรงนี้แสดงว่าทั้งน้ำและโทลูอีนนั้นต่างอยู่ในเฟสของเหลว
โทลูอีนมีจุดเดือดประมาณ
110ºC
ซึ่งสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ
นั่นแสดงว่าที่อุณหภูมิเดียวกัน
โทลูอีนจะระเหยเป็นไปได้น้อยกว่าน้ำ
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าการที่โทลูอีนจะแพร่กระจายออกมาเป็นหมอกไอเชื้อเพลิงปกคลุมบริเวณกว้างได้นั้น
การรั่วไหลต้องเกิดจากระบบที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของโทลูอีนที่ความดันบรรยากาศ
คือต้องสูงเกินกว่า 110ºC
ซึ่งถ้าเกิดการรั่วไหลออกสู่บรรยากาศก็จะกลายเป็นไอฟุ้งกระจายออกไปเหมือนกับเวลาที่เราเปิดแก๊สหุงต้ม
(ที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องภายใต้ความดัน)
รูปที่
๓
แผนที่จากรายงานของบริษัทแห่งหนึ่งที่รายงานความเสียหายของอาคารสำนักงานที่อยู่ห่างจากจุดระเบิดประมาณ
๑.๓๖
กิโลเมตร (จุดระเบิดอยู่ทางด้านล่างของภาพ)
ในกรณีของการระเบิดที่โรงงาน
HDPE
ของบริษัท
TPI
เมื่อปีพ.ศ.
๒๕๓๑
นั้น (ดู
UVCE case 1) เฮกเซนที่อยู่ใน
reactor
นั้นมีการใช้ความดันช่วยทำให้เฮกเซนเป็นของเหลวที่อุณหภูมิสูง
(จุดเดือดเฮกเซนที่ความดันบรรยากาศคือ
68ºC
แต่อุณหภูมิภายใน
reactor
อยู่ที่ประมาณ
80ºC)
พอรั่วไหลออกมาสู่บรรยากาศก็เลยกลายเป็นไอฟุ้งกระจายออกไปโดยรอบอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีของโรงงานบริษัท
BST
นี้
ด้วยว่าไม่มีข้อมูลว่าอุณหภูมิของเหลวในถังก่อนรั่วไหลนั้นมีค่าเท่าใด
แต่จากการค้นข้อมูลเทคนิคการผลิตที่ปรากฏในสิทธิบัตรบางฉบับกล่าวเอาไว้ว่า
อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาสำหรับการสังเคราะห์ยางบิวทาไดอีนนั้นช่วงที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ
70-80ºC
ซึ่งจะว่าไปแล้วต่ำกว่าจุดเดือดของโทลูอีนอีก
และด้วยการที่มีการป้อนน้ำเข้าไปในระบบในสภาพที่เป็นของเหลวเพื่อการล้างถังนั้น
บ่งบอกเป็นนัยว่าอุณหภูมิของถังที่มีการรั่วไหลนั้นไม่น่าจะสูงนัก
(การล้างทำไปเพื่อกำจัดสารละลายโทลูอีนเก่าที่อยู่ในถังจากการทำงานก่อนหน้า)
ก่อนเกิดการรั่วไหลนั้น
หน่วยดังกล่าวอยู่ในระหว่างการล้างถังที่มีโทลูอีนอยู่
(โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าคงมีบิวทาไดอีนละลายอยู่ในโทลูอีนด้วย)
ซึ่งขั้นตอนการล้างถังเพื่อกำจัดสิ่งที่ตกค้างจากการผลิตก่อนหน้านี้ก็เป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานตามปรกติ
แต่วิธีการปฏิบัติ
(หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า
procedure)
นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ซึ่งวิธีการเดิมนั้นเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน
แต่ถ้าให้เดาก็ขอเดาว่าคงประกอบด้วยขั้นตอนของ
(ดูรูปที่
๔ ข้างล่างประกอบ)
(ก)
ระบายของเหลวเดิมที่ค้างอยู่ในถัง
(คือโทลูอีนและสิ่งต่าง
ๆ ที่ละลายอยู่ในโทลูอีน)
ออกทางท่อก้นถัง
(ข)
ระบายแก๊สที่อยู่ในถังออก
flare
(ค)
เติมน้ำเข้ามาให้เต็มถัง
ทำการปั่นกวน และระบายน้ำนั้นทิ้งไป
(จ)
ทำซ้ำขั้นตอน
(ค)
ใหม่จนถังสะอาด
ถ้าทำตามนี้
หลังการล้างด้วยน้ำสุดท้ายแล้ว
ในถังก็ไม่ควรมีแก๊สเชื้อเพลิงอะไรเหลืออยู่
(ถ้ามีการเติมน้ำเข้าไปจนเต็มถังและ/หรือมีการใช้แก๊สเฉื่อยเช่นไนโตรเจนช่วยไล่แก๊สเก่าที่ตกค้างอยู่ออกไปทางท่อ
vent)
แต่ดูจากกระบวนการแล้วก็น่าจะใช้เวลาอยู่เหมือนกัน
แต่กระบวนการที่ใช้ในวันที่เกิดเหตุนั้นแตกต่างไปจากข้างบน
กล่าวคือมีการเปิดวาล์วให้น้ำเข้าถังและเปิดวาล์วก้นถังเพื่อระบายของเหลวในถังออกไป
พร้อมกับการเปิดใบพัดกวน
โดยคาดว่าถ้าให้น้ำไหลเข้ามากพอถังก็จะสะอาดเหมือนกัน
โดยปริมาตรน้ำที่คำนวณไว้ก็คือ
3
เท่าของปริมาตรถัง
รูปที่
๔ แผนผังของถังที่เกิดการรั่วไหล
(อิงจากรูปที่
๑ และข้อมูลการบรรยายที่ได้รับฟังมา)
วิธีการปฏิบัติใหม่นั้นไม่ได้ใช้เป็นครั้งแรกในวันที่เกิดเหตุ
แต่มีการใช้มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว
คือโดยธรรมชาติการทำงานของคนนั้น
มักจะพยายามทำให้งานที่ทำอยู่นั้นมันง่ายขึ้น
มันเสร็จเร็วขึ้น
ดังนั้นขั้นตอนไหนที่เขาเห็นว่าเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุหรือสามารถใช้วิธีการอื่นที่ทัดเทียมกันแต่ทำได้รวดเร็วกว่า
ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเดิม
ซึ่งตรงจุดนี้เห็นว่ามีประเด็นที่น่านำไปคิดอยู่บางประเด็นคือ
๑.
ผู้ปฏิบัติงานทราบวัตถุประสงค์ของแต่ละขั้นตอนของวิธีการเดิมหรือไม่ว่าทำไปทำไม
๒.
เมื่อมีการนำเสนอวิธีการปฏิบัติใหม่นั้น
มีการพิจารณาความเหมาะสมหรือไม่
การพิจารณานั้นมีการคำนึงถึงประเด็นใดบ้าง
ซึ่งส่งผลต่อไปว่าวิธีการปฏิบัติใหม่นั้นได้รับการรับรองให้ใช้ทำงานจริงหรือไม่
๓.
ใครเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมและรับรองให้นำไปใช้ปฏิบัติ
๔.
กลุ่มผู้ที่พิจารณาความเหมาะสมของวิธีปฏิบัติใหม่นั้น
มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอหรือไม่
"...
สิ่งที่เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็คือ
procedure
เหลืออยู่
แต่เนื่องจาก process
engineer กับ
maintance
engineering อยู่ในกลุ่ม
๑๑ คนที่ไปแล้ว ..."
(๑๑
คนในที่นี้ก็คือกลุ่มผู้เสียชีวิต)
สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุคือ
มีการเติมน้ำเข้าถัง
ซึ่งอาจเปิดให้น้ำเข้าก่อนเปิดให้ของเหลวไหลออกทางก้นถัง
เนื่องจากโทลูอีนไม่ละลายน้ำและน้ำมีความหนาแน่นมากกว่าโทลูอีน
ดังนั้นเมื่อเปิดให้น้ำไหลเข้าไปในถัง
น้ำจึงลงไปนอนอยู่ที่ก้นถังโดยโทลูอีนลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำ
พอไปเปิดวาล์วที่ก้นถัง
ของเหลวที่ไหลออกมาจึงเป็นน้ำ
ไม่ใช่โทลูอีน
(ที่คงมีสารอื่นละลายอยู่ด้วย)
อย่างที่คาดหวัง
ประกอบกับมีการปั่นกวนเพื่อช่วยในการทำความสะอาด
จึงก่อให้เกิดการระเหยของชั้นไฮโดรคาร์บอนมากขึ้น
ไอระเหยของไฮโดรคาร์บอนจึงมาสะสมยังที่ว่างด้านบนของถัง
ตรงประเด็นเรื่องการปั่นกวนแล้วทำให้เกิดการระเหยมากขึ้นนี้
โดยส่วนตัวมองเห็นว่าถ้าเป็นกรณีของโทลูอีนเพียงอย่างเดียว
มันไม่ควรจะเกิด ยกตัวอย่างง่าย
ๆ ถ้าเราเอาน้ำมาใส่แก้วแล้วเอาช้อนคน
น้ำก็ไม่ได้ระเหยออกมาได้เร็วขึ้น
เพราะในระบบปิดนั้นมันจะระเหยได้มากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับค่าความดันไอที่ภาวะสมดุล
ณ อุณหภูมิหนึ่ง
แต่ในกรณีของเหลวที่มีแก๊สละลายอยู่
การปั่นกวนสามารถทำให้แก๊สระเหยออกมาจากของเหลวได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือน้ำอัดลมที่มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่
ถ้าเราเอาน้ำอัดลมที่บรรจุอยู่ในขวดหรือกระป๋องมาเขย่า
เราจะพบว่าพอเปิดขวดหรือกระป๋องก็จะมีแก๊สรั่วออกมามากกว่าการที่ขวดหรือกระป๋องน้ำอัดลมนั้นไม่โดนเขย่า
ดังนั้นโดยความเห็นส่วนตัวจึงคาดว่าคงมีแก๊สละลายอยู่ในโทลูอีนที่ค้างอยู่ในถัง
และการปั่นกวนนั้นก็ไปทำให้แก๊สนั้นระเหยออกมาจากโทลูอีนมาอยู่ในเฟสแก๊สแทน
วิธีปฏิบัติใหม่ที่นำมาใช้นั้นมีการทำกันหลายครั้งโดยไม่เกิดเรื่องราวใด
ๆ แต่ในวันที่เกิดเหตุนั้นมีเหตุการณ์ระบบใบพัดกวน
(agitator
หรือ
stirrer)
ขัดข้อง
ต้องหยุดการทำงานและนำเอาระบบใบพัดกวนออก
ซึ่งระบบใบพัดกวนนี้ก็คงเป็นระบบที่มอเตอร์ขับเคลื่อนอยู่ด้านบนของ
vessel
และในขณะที่ทำการถอดเอาระบบใบพัดกวนออกนั้นเอง
ก็เกิดการรั่วไหลของไฮโดรคาร์บอนออกมาในปริมาณมาก
สิ่งนี้แสดงว่าทันทีที่ตรวจพบการรั่วไหล
ผู้ปฏิบัติงานที่กำลังทำหน้าที่ถอดระบบใบพัดออกนั้นคงไม่สามารถปิดสิ่งที่กำลังถอดออกมาได้
ทำให้การรั่วไหลแผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้างจนมีสัญญาณเตือนจากหลายบริเวณดังขึ้น
โอเปอร์เรเตอร์ที่อยู่ในห้องควบคุม
(control
room) จึงออกมาเพื่อจะระงับเหตุการณ์
โดยเหลือเอาไว้เพียงคนเดียวที่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าระบบควบคุมในห้องควบคุม
ในการบรรยายนั้นกล่าวว่านับจากเวลาที่สัญญาณดังจนถึงเวลาที่เกิดการระเบิดนั้นกินเวลาเพียงแค่สิบวินาทีเศษ
สิ่งหนึ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตตรงนี้ก็คือ
ทำไมก่อนที่จะทำการเปิดตัว
vessel
(ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของฝ่ายซ่อมบำรุง)
จึงไม่มีการตรวจสอบว่าใน
vessel
นั้นมีความดันอยู่หรือไม่ก่อนที่จะลงมือทำงาน
อีกเรื่องที่ผมเองยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็คือ
ตกลงว่าเป็นสารอะไรกันแน่ที่มีการรั่วไหลออกมาในปริมาณมากในรูปของไอที่แผ่กระจายกว้างออกไป
แม้ว่าจะเชื่อได้ว่าในขณะนั้นมีโทลูอีนอยู่มากก็จริง
แต่การที่ของเหลวที่มีจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิห้องมากอย่างโทลูอีนจะรั่วไหลออกมาในสภาพเป็นหมอกไอได้นั้น
จำเป็นต้องมีอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของมันที่ความดันบรรยากาศ
ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีข้อมูลว่าในการล้างถังนั้นทำการล้างที่อุณหภูมิเท่าใด
รูปที่
๕ ภาพช่วงจังหวะเวลาก่อนเกิดการระเบิด
ลูกศรชี้บริเวณที่จะสังเกตเห็นเปลวไฟเกิดขึ้นโดยเคลื่อนที่จากทางด้านขวาไปด้านซ้าย
รูปที่
๗ จุดที่เริ่มเกิดการระเบิดครั้งใหญ่
รูปที่
๘ เห็นการขยายตัวของลูกไฟ
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดคลื่นแรงอัดหรือ
blast
แผ่ขยายออกมา
ผมสงสัยว่าการล้างถังนั้นคงกระทำที่อุณหภูมิห้อง
เพราะถ้าระบบอยู่ที่อุณหภูมิสูง
ฝ่ายซ่อมบำรุงก็คงไม่คิดจะไปถอดอุปกรณ์ออกจาก
vessel
ทั้ง
ๆ ที่อุณหภูมิในตัว vessel
นั้นสูงอยู่
แต่เป็นไปได้ไหมว่าก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเรื่องที่ต้องถอดใบพัดกวน
แต่นั่นเป็นตอนที่ยังใช้วิธีปฏิบัติแบบเดิมอยู่
ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องสารไวไฟและมีความดันค้างในถัง
จึงไม่พบปัญหาเรื่องมีความดันตกค้างอยู่ในถัง
แต่พอเปลี่ยนวิธีปฏิบัติแบบใหม่ที่ทำให้มีสารไวไฟตกค้างในถัง
และการปั่นกวนยังทำให้มีสารที่ระเหยได้ง่ายที่ละลายอยู่ในโทลูอีน
(ซึ่งอาจเป็นบิวทาไดอีน)
ระเหยออกมาจากตัวทำละลายในปริมาณมาก
ทำให้ในถังมีความดันสูง
พอทำการเปิด vessel
จึงเกิดการรั่วไหลออกมาในปริมาณมากอย่างรุนแรงจนไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ที่กำลังถอดออกมานั้นกลับคืนเพื่อปิดการรั่วไหลได้ทันเวลา
โศกนาฏกรรมก็เลยเกิดขึ้น
รูปที่
๙ ที่ลูกศรชี้ดูเหมือนจะมีบางสิ่งปลิวออกมาเนื่องจากแรงระเบิด
รูปที่
๑๐ ดูจากลักษณะการเคลื่อนที่
ที่ลอยขึ้นแล้วตกลง
ที่ลูกศรชี้คงเป็นวัตถุบางชิ้นที่ถูกแรงระเบิดอัดปลิว
รูปที่
๑๑ การขยายตัวของลูกไฟและวัตถุที่ปลิวออกมา
รูปที่
๑๒ กลุ่มควันของการระเบิดที่กำลังขยายตัว
ปรกติโรงงานแบบนี้ตอนปฏิบัติงานก็ไม่ค่อยจะมีคนอยู่ใน
process
area เท่าใดนัก
ในกรณีนี้ดูเหมือนว่ามีการทำการซ่อมบำรุงหน่วยผลิตอื่นในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกัน
จึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้นสูงรวมกันแล้วกว่า
๑๐๐ ราย
คลิปการบรรยาย
คลิปจากกล้องวงจรปิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น