วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

VCE case 1 อะเซทิลีนไหลย้อนผ่านวาล์วกันการไหลย้อนกลับ 2548(2005) MO Memoir : Sunday 14 October 2561

วาล์วกันการไหลย้อนกลับ (เรียกแบบอเมริกันคือ check valve เรียกแบบอังกฤษคือ non-return valve) มักมีชื่อเสียงในทางที่ไม่ค่อยดีในแง่ที่ว่า มันมักจะเปิดค้างในเวลาที่มันควรจะปิด และปิดค้างในเวลาที่มันควรจะเปิด ดังนั้นถ้าหากวาล์วกันการไหลย้อนกลับนี้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิรภัย มันก็ควรที่จะอยู่ในรายการอุปกรณ์ที่ควรได้รับการตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอด้วย
 
กรณีที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ไม่ได้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นที่ปริษัท ASCO ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันอังคารที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๘ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ คน

รูปที่ ๑ แผนผังโรงงานที่เกิดการระเบิด (ผมลบเส้นบางเส้นทิ้งเพราะเกรงว่าอาจทำให้เข้าใจผิด) อาคารที่เกิดการระเบิดและอาคารที่ใช้ผลิตแก๊สอะเซทิลีนเป็นคนละอาคารกัน ดังนั้นท่อน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างระบบทั้งสองจึงมีโอกาสที่จะพบกับอากาศเย็นจัดภายนอกอาคาร
 
รายละเอียดเหตุการณ์ดังกล่าวทางหน่วยงาน U.S. Chemical Safety and Hazard Investigation Board (CSB) ได้ทำเอกสารเผยแพร่ทั้งในรูปของไฟล์ pdf (วารสาร CSB no. 2006-01-B January 2006 เรื่อง "Explosion at ASCO: Dangers of Flammable Gas Accumulation") และคลิปวิดิทัศน์ (เรื่อง "CSB Safety Video: Dangers of Flammable Gas Accumulation") แต่เท่าที่ดูพบว่าเอกสารทั้งสองนั้นมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเองอยู่ โดยมีอยู่จุดหนึ่งที่เอกสารที่เป็นไฟล์ pdf ไม่ได้กล่าวถึงทั้ง ๆ ที่เป็นจุดที่มีความสำคัญ (ตำแหน่งวาล์วตัวหนึ่งในระบบท่อ) และมีบางจุดที่คลิปวิดิทัศน์ไม่ได้กล่าวถึงว่าทำไมจึงมีขั้นตอนการปฏิบัติเช่นนั้น (การระบายน้ำทิ้งออกจากระบบท่อ) ดังนั้นเพื่อให้ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่สามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น จึงจะขอนำเอาเรื่องนี้มาขยายความเพิ่มเติมเล่าสู่กันฟัง
 
โรงงานดังกล่าวเดิมผลิตอะเซทิลีน (acetylene C2H2) จากปฏิกิริยาระหว่าง calcium carbide (CaC2 ที่บ้านเราเรียกว่า ถ่านแก๊ส หินแก๊ส หรือแก๊สก้อน และยังใช้กันในอู่ซ่อมรถและการบ่มผลไม้) กับน้ำ โดยจะเกิดแก๊สอะเซทิลีนและแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcium hydroxide Ca(OH)2 ที่ในเอกสารและในคลิปเรียกว่า Lime) แต่ต่อมาเมื่อความต้องการอะเซทิลีนเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตของโรงงาน จึงมีการสั่งซื้ออะเซทิลีนจากแหล่งภายนอกมาแบ่งบรรจุเพิ่มเติม
 
ด้วยการที่แก๊สอะเซทิลีนที่ความดันสูงเกินกว่า 1 bar.g นั้นสามารถสลายตัวด้วยตนเองและปลดปล่อยพลังงานออกมาได้แบบการระเบิด การเก็บอะเซทิลีนที่ปลอดภัยจึงต้องใช้ถังบรรจุที่ภายในบรรจุเอาไว้ด้วยวัสดุของแข็งมีรูพรุนและอะซีโตน (Acetone H3C-C(O)-CH3) โดยให้อะเซทิลีนละลายอยู่นในอะซีโตน และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมแผนผังโรงงานในรูปที่ ๑ จึงมีตำแหน่งสถานที่เก็บอะซีโตนปรากฏอยู่
แคลเซียมไฮดรอกไซด์และน้ำที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาจะถูกส่งต่อไปยังถังตกตะกอน (Decant tank) ที่มีอยู่ทั้งหมด ๖ ถังเพื่อแยกเอาน้ำ (กลับไปใช้งานใหม่) และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ออกจากกัน ถังตกตะกอนวางเรียงเป็นแถว ๒ แถว แถวละ ๓ ถัง โดยระยะห่างระหว่างแถวจะมากกว่าระยะห่างระหว่างถังที่อยู่ในแถวเดียวกัน (ดูรูปที่ ๑) และพื้นที่ว่างระหว่างแถวก็ใช้เป็นสถานที่ติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อส่งน้ำจากถังตกตะกอนไปใช้ทำปฏิกิริยาในหน่วยผลิตอะเซทิลีน (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ แผนผังกระบวนการผลิตอะเซทิลีน วาล์วที่มีการระบายสีทึบคือวาล์วที่อยู่ในตำแหน่งปิด วาล์วที่ไม่มีการะบายสีทึบคือวาล์วที่พบว่าอยู่ในตำแหน่งเปิด (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งวาล์วที่ผู้ตรวจสอบพบหลังการเกิดอุบัติเหตุ) ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียวคือวาล์วที่ในเอกสารไฟล์ pdf ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่มันมีความสำคัญเพราะเป็นตัวป้องกันไม่ให้แก๊สรั่วไปถึง drain valve ด้านขาเข้าตัวปั๊มได้ ส่วนคลิปวิดิทัศน์มีการกล่าวถึงว่าก่อนเกิดอุบัติเหตุคงมีการเปิดวาล์วตัวดังกล่าว แต่ไม่ได้กล่าวถึงว่าทำไปจึงต้องมีการระบายน้ำในท่อดังกล่าวทิ้ง
 
ปรกติของเหลวเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะมีการขยายตัว ดังนั้นระบบท่อหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่มีของเหลวบรรจุอยู่เต็มและมีโอกาสที่ปลายท่อทั้งสองข้างนั้นจะถูกปิดโดยในช่วงกลางระหว่างปลายทั้งสองมีของเหลวบรรจุอยู่เต็ม ถ้าของเหลวที่บรรจุอยู่นั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น (เช่นท่อน้ำที่วางตากแดด) ก็จะทำให้ความดันในท่อเพิ่มสูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบท่อหรืออุปกรณ์ถ้าหากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะมีการติดตั้งวาล์วระบายความดัน (relief valve) เอาไว้ ณ ตำแหน่งที่เหมาะสม โดยด้านขาออกของวาล์วระบายความดันก็ต้องระบายไปยังที่ ๆ เหมาะสมด้วย
 
แต่น้ำเป็นของเหลวที่แปลกอย่างหนึ่ง กล่าวคือพอมันกลายเป็นน้ำแข็งมันจะขยายตัว (ปริมาตรต่อหน่วยน้ำหนักเพี่มขึ้น) ดังนั้นในประเทศที่อากาศหนาวจัดจนน้ำเป็นน้ำแข็งได้ ถ้าหากไม่มีการป้องกันไม่ให้น้ำในระบบท่อแข็งตัว ก็จะเกิดปัญหาท่อแตกเมื่ออากาศเย็นจัดได้ วิธีป้องกันนั้นมีหลายวิธี และวิธีหนึ่งก็คือการไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ในระบบท่อเมื่อไม่ใช้งาน และจะเปิดน้ำเข้าระบบท่อก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้งาน และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็จะต้องทำการระบายน้ำที่ค้างอยู่ในระบบท่อทิ้ง ระบบท่อน้ำดับเพลิงที่เรียกว่า "Dry riser" ที่ใช้กับพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นจนน้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้นั้น ก็ใช้วิธีนี้ กล่าวคือจะไม่มีน้ำอยู่ในระบบท่อ (พวก Wet riser ที่ใช้กันในบ้านเรานั้นมีน้ำไปจ่อรออยู่ที่หัวฉีด) จะส่งน้ำเข้าระบบท่อไปยังหัวฉีดก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น

รูปที่ ๓ โครงสร้างวาล์วกันการไหลย้อนกลับตัวที่ก่อเรื่อง ตัว plug ทำงานโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงในการทำให้ตกลงมายังตำแหน่งปิด แต่ด้วยการที่ guide pin นั้นสั้นเกินไปและ/หรือ pipe nipple สอดเข้าไปไม่ลึกพอ ทำให้เมื่อวาล์วเปิดเต็มที่ ปลายด้านล่างของ guide pin จะอยู่สูงกว่าขอบด้านบนของ pipe nipple พอมีการปิดการไหลก็เลยมีโอกาสที่ปลายด้านล่างของ guide pin จะตกลงมาค้างอยู่บนขอบด้านบนของ pipe nipple ดังรูปขวา

น้ำที่โรงงานบริษัท ASCO ใช้นั้นมีทั้งน้ำที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาที่นำกลับมาใช้งานใหม่ (recycled water) และน้ำประปา (city water) ที่ป้อนเข้ามาเพื่อชดเชยน้ำที่ทำปฏิกิริยาไป (ดูแผนผังในรูปที่ ๒)
 
เพื่อป้องกันไม่ให้ปั๊มสูบน้ำจากถังตกตะกอนประสบปัญหาเย็นจัดในฤดูหนาว จึงได้มีการสร้างอาคารไม้ (wooden shed) ปิดคลุมบริเวณดังกล่าวไว้ อาคารดังกล่าวสร้างโดยใช้ผนังของถังตกตะกอนทั้ง ๖ ถังเป็นส่วนหนึ่งของผนังอาคารด้วย (เป็นการประหยัดค่าผนัง) และให้อบอุ่นแก่อากาศภายในอาคารดังกล่าวด้วยการใช้ propane heater (ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวให้ความร้อนแก่อากาศภายในอาคารประมาณ 1100ºF หรือ 590ºC) ตัวอาคารไม้กับอาคารที่เป็นที่ตั้งของหน่วยผลิตอะเซทิลีนเป็นคนละอาคารกัน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ต้องส่งน้ำจากถังตกตะกอนไปยังถังทำปฏิกิริยานั้นจะพบเจอกับอากาศเย็นจัดภายนอกอาคาร ที่สามารถทำให้น้ำในระบบท่อกลายเป็นน้ำแข็งและทำให้ท่อเสียหายได้
 
ในช่วงก่อนเกิดเหตุนั้น สภาพอากาศหนาวจัดถึงขั้นหิมะตก ประจวบกับยังมีอะเซทิลีนที่สั่งเข้ามาจากแหล่งภายนอกพอแบ่งบรรจุเพื่อส่งต่อให้กับลูกค้า ทางโรงงานจึงไม่ได้มีการเดินเครื่องหน่วยผลิตอะเซทิลีน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อส่งน้ำจากถังตกตะกอนไปยังถังทำปฏิกิริยาเกิดความเสียหายจากการที่น้ำในท่อกลายเป็นน้ำแข็ง พนักงานจึงได้ทำการระบายน้ำในท่อทิ้งผ่านทาง drain valve ที่ติดตั้งอยู่ทางด้านขาเข้าของปั๊มสูบน้ำจากถังตกตะกอน (ดูรูปที่ ๒) โดยน้ำที่ระบายออกมานั้นระบายลงสู่พื้นด้านในอาคาร และ "เปิด" วาล์วดังกล่าวทิ้งเอาไว้

การระเบิดนั้นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างไอเชื้อเพลิงกับอากาศ (คืออยู่ในช่วงความเข้มข้นที่เรียกว่า explosive limit) จากนั้นถ้าไอผสมนี้พบกับแหล่งพลังงานที่มีพลังงานสูงพอ (ซึ่งอาจเป็นเปลวไฟ ประกายไฟ หรือพื้นผิวที่มีความร้อนสูง) มันก็จะเกิดการระเบิด
 
ในกรณีที่เป็นการรั่วไหลในพื้นที่เปิดโล่งนั้น โอกาสที่ไอเชื้อเพลิงกับอากาศจะผสมกันจนมีความเข้มข้นสูงพอที่จะระเบิดได้นั้น (ระดับที่เรียกว่า Lower explosive limit หรือ LEL) มีน้อยเพราะไอเชื้อเพลิงจะฟุ้งกระจายได้ง่าย เว้นแต่จะมีการรั่วไหลในปริมาณที่มาก เช่นในระดับเป็นตันหรือหลายตันขึ้นไป และเมื่อเกิดการระเบิดเมื่อใดก็จะเป็นการระเบิดที่รุนแรงและความเสียหานจะเป็นบริเวณกว้าง (เช่นอาจไปทั้งโรงงานเลยก็ได้) การระเบิดแบบนี้เรียกว่า Unconfined Vapour Cloud Explosion (UVCE)
 
แต่ถ้าเป็นการรั่วไหลในบริเวณปิดล้อมที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีนั้น (เช่นในอาคารหรือห้องที่ไม่ใหญ่มาก) ไอเชื้อเพลิงที่รั่วออกมานั้นมีโอกาสสูงที่จะสะสมจนมีความเข้มข้นสูงมากพอจนถึงระดับ Lower Explosive Limit ได้แม้ว่าจะมีการรั่วไหลในปริมาณที่ไม่มาก (เช่นระดับไม่กี่กิโลกรัม) การระเบิดแบบนี้เรียกว่า Confined Vapour Cloud Explosion (VCE) ที่มีการรุนแรงน้อยกว่า UVCE แต่ก็มากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณที่เกิดการระเบิด

ในวันที่เกิดเหตุนั้น อะเซทิลีนที่สั่งเข้ามานั้นไม่พอ พนักงานเลยต้องทำการผลิตอะเซทิลีนเพิ่มเติม โดยในขั้นตอนการทำงานนั้นจะต้องมีการเพิ่มความดันให้กับถังผลิตอะเซทิลีน (Acetylene generator) ก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มการผลิตด้วยการป้อนน้ำและแคลเซียมคาร์ไบด์ โดยในระหว่างที่รอให้ความดันในถังผลิตสูงจนได้ระดับนั้น คนงานก็ออกมากวาดหิมะอยู่รอบ ๆ อาคารติดตั้งปั๊มน้ำ (wooden shed) แต่ออกมาทำงานได้ไม่นานก็เกิดการระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ รายและบาดเจ็บสาหัส ๑ ราย
 
สิ่งแรกที่ผู้สอบสวนมองหาก็คืออะไรคือเชื้อเพลิงของการระเบิดในอาคารดังกล่าว ซึ่งมีความเป็นไปได้อยู่ ๒ แหล่งด้วยกันคือโพรเพนที่ใช้ในการให้ความร้อนภายในตัวอาคาร และอะเซทิลีนที่รั่วไหลย้อนมาจากถังผลิต แต่เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงของการระเบิดแล้ว (เชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้ความรุนแรงของการระเบิดที่ไม่เท่ากัน ไฮโดรเจนและอะเซทิลีนนั้นให้ความรุนแรงของการระเบิดที่สูงกว่าไฮโดรคาร์บอนทั่วไป) ทางคณะกรรมการสอบสวนจึงลงความเห็นว่าน่าจะเกิดจากอะเซทิลีน แต่คำถามที่ตามมาก็คืออะเซทิลีนที่ผลิตอยู่ในอีกอาคารหนึ่งรั่วไหลย้อนจากถังผลิตมายังอาคารนี้ได้อย่างไร ตรงนี้ต้องกลับไปดูตำแหน่งวาล์วแต่ละตัวว่าตัวไหนเปิดตัวไหนปิด ในรูปที่ ๒ นั้นวาล์วที่ปิดอยู่จะมีการระบายสีทึบ วาล์วที่เปิดอยู่จะไม่มีการระบายสี 
  
แต่ตำแหน่งวาล์วก่อนการเกิดเหตุกับหลังการเกิดเหตุนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะบอกไม่ได้เหมือนกันว่าในระหว่างการเข้าไประงับเหตุนั้น ผู้ที่เข้าไประงับเหตุมีการเปิดหรือปิดวาล์วตัวไหนบ้างหรือเปล่า ตรงนี้ก็เลยเป็นประเด็นที่ผมใส่กรอบสีเขียวให้กับวาล์วในรูปที่ ๒ เพราะพบว่าหลังการเกิดเหตุนั้นวาล์วตัวนี้อยู่ในตำแหน่ง "ปิด" เพราะถ้าวาล์วตัวนี้อยู่ในตำแหน่งปิด โอกาสที่อะเซทิลีนจะไหลย้อนไปยังอาคารปั๊มน้ำได้ก็จะน้อยมาก เว้นแต่ว่าเกิดเหตุการณ์ที่วาล์วตัวดังกล่าวปิดไม่สนิทและวาล์วกันการไหลย้อนกลับปิดไม่สนิทด้วยในเวลาเดียวกัน
 
ก่อนเกิตเหตุนั้น ทางคณะผู้สอบสวนเชื่อว่ามีการตัดสินใจที่จะใช้ระบบน้ำ recycle จากถังตกตะกอนใช้ในการทำปฏิกิริยา ดังนั้นจึงไม่มีการเปิดวาล์วน้ำประปาเข้าระบบ และมีการเปิดวาล์วด้านขาออกของปั๊มจ่ายน้ำทิ้งเอาไว้ (ตรงนี้มีการกล่าวถึงเอาไว้ในคลิปวิดิทัศน์ แต่ไม่ปรากฏในเอกสารไฟล์ pdf) โดยที่ตัว drain valve ยังเปิดทิ้งเอาไว้อยู่ แต่เนื่องจากวาล์วกันการไหลย้อนกลับนั้นเปิดค้างอยู่ (ผลจากการออกแบบโครงสร้างที่ไม่ดีดังแสดงในรูปที่ ๓) จึงทำให้อะเซทิลีนที่ใช้ในการเพิ่มความดันในถังผลิตนั้นรั่วไหลย้อนมายังอาคารปั๊มน้ำได้ ก่อนที่จะเกิดการระเบิด โดยต้นตอของการจุดระเบิดเชื่อว่าคือ propane heater ที่ใช้ให้ความร้อนในอาคาร ทั้งนี้เนื่องจากอะเซทิลีนมีค่าอุณหภูมิการจุดระเบิดได้ด้วยตนเองหรือ autoignition temperature ที่ประมาณ 580ºF หรือ 300ºC ในขณะที่พื้นผิวของ propane heater นั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 1100ºF หรือ 590ºC
 
ส่วนที่ว่าวาล์วตัวที่เป็นปัญหานั้นมาอยู่ ณ ตำแหน่งปิดได้อย่างไรหลังเกิดเหตุนั้นไม่ได้มีการกล่าวเอาไว้ แต่ผมเดาว่าน่าจะเกิดขึ้นระหว่างการระงับเหตุ เพราะถ้าไม่มีใครไปปิดวาล์วดังกล่าวก็จะยังคงมีอะเซทิลีนรั่วไหลออกมาต่อเนื่องที่อาจทำให้เกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ตามมาอีกได้
 
คลิปวิดิทัศน์และไฟล์ pdf รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวดูได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้


รูปที่ ๔ ภาพจากคลิปวิดิทัศน์บริเวณโรงเรือนที่เกิดการระเบิด
 
ในเอกสารที่ CSB จัดทำนั้นยังมีการกล่าวถึงประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ซึ่งตรงนี้มีการจำแนกเป็น Class (ประเภทของเชื้อเพลิงว่าเป็น ไอ ฝุ่นผง เส้นใย) Division (โอกาสที่จะพบเจอ เช่น ตลอดเวลาที่มีการเดินเครื่องการผลิต หรือเป็นครั้งคราวขึ้นอยู่กับงานเฉพาะ) Group (ความดันสูงสุดของการระเบิดที่เกิดขึ้นได้ถ้าเชื้อเพลิงนั้นเกิดการระเบิดขึ้นมา ในกรณีของอะเซทิลีนนั้นจะให้ความดันที่สูงกว่าโพรเพนกว่า ๕๐ เท่าตัว) รายละเอียดตรงส่วนนี้สามารถอ่านได้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๔๐ วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อง "Electrical safety for chemical processes"
 
สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักว่าวาล์วกันการไหลย้อนกลับนั้นมีหน้าตาแบบไหนและโครงสร้างอย่างไรบ้าง สามารถอ่านเพื่อทำความรู้จักได้ใน Memeoir
ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๒ เรื่อง "วาล์วและการเลือกใช้ (ตอนที่ 2)" และ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๕๗ วันศุกร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง "การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ"

สำหรับฉบับนี้ คงจบลงเพียงแค่นี้

รูปที่ ๕ propane heater ที่ใช้ให้ความอบอุ่นในอาคารที่เชื่อว่าเป็นต้นตอของการจุดระเบิด ในการทำงานนั้นเปลวไฟจะลุกไหม้อยู่ใน combustion chamber และส่งความร้อนให้กับอากาศในห้องผ่านทางผนังของ combustion chamber (เป็นการป้องกันไม่ให้แก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ไปเพิ่ม CO2 ในห้อง) พึงสังเกตว่าในการออกแบบนี้ท่อดึงอากาศเข้าเพื่อการเผาไหม้จะล้อมรอบท่อแก๊สร้อนจากการเผาไหม้ที่ระบายทิ้ง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันท่อแก๊สปล่อยทิ้งที่ร้อน แต่ยังช่วยอุ่นอากาศที่จะนำมาเผาไหม้ให้ร้อนขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงาน ส่วนคำว่า "Pilot" ที่ปรากฏในที่นี้คือหัวเตาเล็ก ๆ ที่มีเปลวไฟจุดล่อเอาไว้ตลอดเวลา เพื่อที่ว่าเมื่อใดที่ต้องการจุดหัวเตาหลัก (หรือตัว burner) พอเปิดแก๊สเข้าหัวเตาหลัก แก๊สนั้นก็จะลุกติดไฟได้ทันที เตาแก๊สที่ผู้ประกอบการร้านอาหารบางราย (โดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่งที่มีการเปิด-ปิดเตาแก๊สบ่อยครั้งตามอาหารที่ลูกค้าสั่ง) ก็มีการใช้เตาแบบนี้ คือจะมีการเดินท่อแก๊สเล็ก ๆ แยกต่างหากมา ๑ ท่อที่ไปจ่อเอาไว้ที่หัวเตาหลัก ท่อแก๊สนี้ทำหน้าที่เป็น pilot คือจะมีการจุดไฟติดเอาไว้ตลอดเวลา พอเปิดแก๊สเข้าหัวเตาหลัก ไฟที่หัวเตาหลักก็จะติดทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาจุดไฟ พอปิดแก๊สเข้าหัวเตาหลัก ไฟที่หัวเตาหลักก็จะดับ แต่ที่หัว pilot นั้นจะยังคงลุกติดอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น