วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมเมืองพัทลุง ตอน สัมผัสวิถีชุมชม เยี่ยมชมสำนักตักศิลา MO Memoir : Monday 17 June 2562

บันทึกนี้เป็นการเดินทางในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หลังจากออกจากบ่อน้ำร้อนที่เขาชัยสน จุดมุ่งหมายถัดไปที่ต้องการไปก็คือเมืองเก่าไชยบุรี ที่เป็นที่ตั้งเดิมของจังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่เหนือตัวเมืองปัจจุบันไปทางเหนือเล็กน้อย ใกล้กับวนอุทยานเมืองเก่าไชยบุรี สถานที่นี้ผมเคยแวะไปมาครั้งหนึ่งเมื่อราว ๆ ปี ๒๕๓๘ จำได้แต่ว่ามีแต่ซากเก่า ๆ ก็เลยอยากแวะไปดูอีก หลังจากวนหาอยู่พักหนึ่ง (เพราะป้ายบอกทางไม่ชัดเจน) ก็เลยต้องแวะถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลวนอุทยานว่าเมืองเก่าอยู่ที่ไหน ก็เลยได้ทราบว่าที่มีเหลือให้เห็นก็มีแต่ที่ตั้งศาลหลักเมืองเก่า ที่อยู่ในถนนซอยเล็ก ๆ แยกออกจากทางหลัก และเงียบมากแบบไม่มีคนไป และที่วัดเขาเมืองเก่า ที่มีเจดีย์เก่าตั้งอยู่บนเขาลูกเล็ก ๆ และด้านหลังของเขาลูกนั้นก็มีถ้ำพระ วันที่ผมไปถึงนั้นสถานที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเส้นทางเดินขึ้นไปยังเจดีย์ ที่เดิมบันไดเดินขึ้นแหว่งหายเป็นช่วง ๆ ก็เลยไม่ได้ขึ้นไปถ่ายรูปจากบนยอดเขา

รูปที่ ๑ จุดแวะพักของการเดินทาง (1) ปากคลองศรีปากประที่เป็นแหล่งหนึ่งที่มีการยกยอกันและมีการโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการจับปลาด้วยการยกยอก็มีให้เห็นกันทั่วไป (2) คลองนางเรียมที่เป็นคลองเชื่อมต่อระหว่างทะเลน้อยกับทะเลสาปสงขลาหรือที่คนพัทลุงเรียกว่าทะเลลำปำ (3) บริเวณอุทยานแห่งชาติทะเลน้อย (4) วัดเขาอ้อที่ขึ้นชื่อในเรื่องเป็นสำนักตักศิลาทางไสยเวทย์ในภาคใต้
  
รูปที่ ๒ บนเส้นทางจากแหลมจองถนนไปเขาชัยสน

รูปที่ ๓ ป้ายเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองพัทลุงและศาลหลักเมือง ชื่อเก่าคือเมืองโบราณชัยบุรี

รูปที่ ๔ ศาลหลักเมืองโบราณชัยบุรี ตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของอำเภอเมือง

รูปที่ ๕ ป้ายเล่าประวัติวัดเขาเมืองเก่า

รูปที่ ๖ เจดีย์วัดเขาเมืองเก่า ทางขึ้นเดิมชำรุดทรุดโทรม บันไดแหว่งหายเป็นช่วง ไม่สามารถเดินขึ้นไปข้างบนได้ (เว้นแต่ต้องปีนขึ้นไป) วันที่ไปนั้นกำลังอยู่ระหว่างการสร้างทางขึ้นใหม่

รูปที่ ๗ บริเวณด้านหลังของเจดีย์ จะมีถ้ำพระซ่อนอยู่

ถัดจากเยี่ยมชมเมืองเก่า จุดมุ่งหมายถัดไปก็เป็นการชมธรรมชาติ ไหน ๆ เส้นทางจากเมืองเก่าไปยังทะเลน้อยก็ต้องเลียบผ่านทะเลลำปำแล้ว คุณน้าก็เลยพาไปแวะที่ปากคลองปากประ ที่ปัจจุบันมีคนพยายามทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยการไปชม "ยอ" ขนาดใหญ่ที่เขาใช้จับปลา
 
อันที่จริงการจับปลาด้วยการยกยอมันก็มีมานานแล้ว ผมเองก็เห็นตั้งแต่เด็กตอนเริ่มจำความได้ เวลานั่งรถไฟจากสถานีรถไฟธนบุรีลงใต้ ด้วยรถเร็วธนบุรี-สุไหลโกลก ที่ออกตอนทุ่มเศษ ที่จะไปสว่างตอนเช้าก่อนถึงทุ่งสง บริเวณจุดสะพานข้ามคลองบางแห่งก็จะเห็นมีการยกยอจับปลากันอยู่ทั่วไป
 
จะว่าไปบริเวณทะเลน้อยและทะเลลำปำก็เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งหนึ่ง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะถิ่นแถวนี้มีคนอยู่อาศัยไม่หนาแน่นหรือเปล่า ก็เลยไม่มีน้ำทิ้งจากที่พักอาศัยไหลลงสู่แหล่งน้ำนี้เป็นจำนวนมาก แถมยังไม่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมอีก ฝูงนกกินปลาจึงอาศัยอยู่ได้อย่างสบาย และสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คนต่างถิ่นมักจะมาชมก็คือ "ควาย"
 
ควายที่เห็นแถวนี้เป็นควายเลี้ยง เวลาที่ทะเลน้อยน้ำแห้งมันก็จะออกมาเดินหากินหญ้าไปเรื่อย ๆ พอตกเย็นมันก็กลับเข้าคอกของมันเอง คนเลี้ยงก็มีอยู่หลายราย บางทีเขาก็มาปลูกเพิงชั่วคราวไว้นอนเฝ้าควาย ที่มันมีชื่อให้คนมาดูก็เพราะเวลาที่ทะเลน้อยน้ำเยอะ พื้นที่กินหญ้าของมันโดยน้ำท่วมหมด ฝูงควายมันก็เลยต้องว่ายน้ำออกมาหาหญ้าที่จมน้ำกิน กลายเป็นเรื่องแปลกที่ชวนให้ใครต่อใครต้องมาดู 
 
การจอดดูควายก็จอดได้บนสะพานที่สร้างข้ามทะเลน้อย เขามีจุดจอดรถพักสำหรับชมทิวทัศน์เป็นระยะ จอดรถแล้วก็ควรอยู่ในบริเวณจุดพักรถ อย่าล้ำออกมาบนถนน เพราะรถวิ่งกันเร็ว แต่ก่อนแถวนี้ไม่ค่อยมีรถเท่าใด แต่พอมีสะพานและถนนเส้นนี้ มันกลายเป็นทางลัดสำหรับการเดินทางไปยัง อ.ระโนด และ อ.สะทิงพระ จ.สงขลา การจราจรก็เลยหนาแน่นขึ้น บนสะพานนี้จะไม่มีการติดตั้งไฟส่องสว่าง ซึ่งผมว่าก็ดีแล้ว จะได้ไม่เป็นการรวบกวนธรรมชาติในเวลากลางคืน ถ้ารักธรรมชาติจริง ก็ต้องรักที่จะให้ตอนกลางคืนมันมืดมิดด้วย
 
หลายปีก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ไปพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งใกล้ทะเลน้อย รีสอร์ทนี้เป็นรีสอร์ทแรก ๆ ที่เพิ่งเปิดในบริเวณนั้น ยังได้สนทนากับเข้าของรีสอร์ทถึงความเป็นมาของท้องถิ่นแถวนี้ เรื่องหนึ่งที่เขาเล่าให้ฟังก็คือ "ช้างน้ำ" ซึ่งอันที่จริงมันก็คือช้างธรรมดานี่เอง แต่ในอดีตเคยมีความพยายามเอาช้างมาใช้เป็นแรงงานในบริเวณนี้ แต่ด้วยคงเป็นเพราะพืชท้องถิ่นนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นอาหารช้าง การใช้ช้างเป็นแรงงานก็เลยเลิกไป แต่ก็ยังมีอยู่บ้างในบางโอกาส ที่เคยได้ยินคุณน้าเล่าให้ฟังก็คือปีหนึ่งที่มีพายุฝนแรง ทำให้ต้นยางพาราในส่วนต่าง ๆ เอนเอียง (ไม่ถึงกับล้ม) ก็มีการจ้างช้างให้มาดึงต้นยางพาราขึ้นตั้งตรง (ในสวนยางรถใหญ่เข้าไม่ได้)
 
ทะเลน้อยยังเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกระจูด เรียกว่ามีขายในราคาถูกกว่าซื้อข้างนอกเยอะ ร้านค้าก็อยู่ฝั่งตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และติดกันก็คือร้านขายของกิน ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ก็คือ "ไข่ปลาทอด" บางร้านเสียบไม้ขาย ขายกันไม้ละ ๒๐ บาท ถ้าสามไม้ก็ ๕๐ บาท มีหลายเจ้าที่ขาย บางร้านก็มีคนต่อคิวซื้อ ในขณะที่บางร้านก็ดูว่าง ๆ ไข่ปลาทอดนี้กินเปล่า ๆ ได้ไม่ต้องอาศัยน้ำจิ้มอะไร ถ้าไม่กลัวโคเลสเตอรอลขึ้นก็กินได้ตามสบาย
 
วันนั้นฝนไล่หลังมาจากทะเลน้อย จุดแวะสุดท้ายก่อนวนกลับทุ่งขึงหนังก็คือวัดเขาอ้อ วัดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสำนักตักศิลาทางไสยเวทย์ในภาคใต้ เล่ากันว่าขุนพันธรักษ์ราชเดชที่เป็นต้นตำรับของจตุคามรามเทพ ท่านก็มาอาบแช่น้ำว่านที่วัดนี้ ผมไปถึงตอนเย็นแล้ว ฝนทำท่ากำลังจะตก วัดก็เลยเงียบสงบ ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปไหว้พระและเยี่ยมชมถ้ำที่เป็นที่ตั้งของอ่างแช่น้ำแร่เดิม ก่อนกลับที่พักรอเวลาคุณน้าอีกคนเลี้ยงข้าวเย็นที่ร้านสเต็กหลานตาชู
 
ร้านสเต็กหลานตาชูผมเห็นเปิดมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยไปกิน วันนั้นเป็นวันแรกที่เพิ่งจะได้แวะไป ถนนสาย ๔๑ จากพัทลุงมาควนขนุนแต่เดิมก็เงียบ ๆ เป็นเพียงแค่เส้นทางผ่านจากทุ่งสงไปหาดใหญ่ แต่พักหลังนี้ดูเหมือนตัวเมืองพัทลุงจะขยายออกมาทางเส้นนี้ สาเหตุหนึ่งก็คงเป็นเพราะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงด้วย ร้านนี้ก็เรียกว่าขึ้นชื่อขนาดมีคนเดินทางทั้งจากหาดใหญ่และนครศรีธรรมราชเพื่อมากินอาหารที่ร้านนี้

คงไม่ขอออกความเห็นว่าอาหารที่ร้านนี้เป็นอย่างไร แต่เอาเป็นว่าหลังจากเที่ยวมาทั้งวัน คืนนั้นก็หลับยาว

รูปที่ ๘ บรรยากาศบริเวณปากคลองปากประ

รูปที่ ๙ ศาลาบริเวณคลองนางเรียม ทะเลน้อย

รูปที่ ๑๐ ฝูงควายที่ออกมาหากิน ช่วงที่ไปนั้นฝนไม่ตกมา ๔ เดือน (พึ่งจะตกวันที่ผมเดินทางไปถึงพัทลุง) น้ำในทะเลน้อยเลยแห้งไปมาก ฝูงควายเลยไม่ต้องว่ายน้ำออกมาหากิน

รูปที่ ๑๑ บริเวณศาลาที่พักและพระตำหนักบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทะเลน้อย ที่นี่นอกจากการดูนกและนั่งเรือชมดอกบัวบานในตอนเช้าแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งขายของอร่อยคือ "ไข่ปลาทอด" และผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด (เช่นกระเป๋ารูปแบบต่าง ๆ) ในราคาถูกอีกด้วย เหมาะแก่การขนกลับไปเป็นของฝาก 

รูปที่ ๑๒ วัดเขาอ้อ สำนักตักศิลาทางไสยเวทย์ที่เป็นที่ขึ้นชื่อของภาคใต้

รูปที่ ๑๓ ปากถ้ำที่เป็นที่ตั้งของบ่อแช่น้ำว่านเดิม เล่ากันว่าขุนพันธรักษ์ราชเดช ก็มาแช่น้ำว่านที่วัดนี้

รูปที่ ๑๔ รางแช่น้ำว่านเดิม คือต้องลงไปนอนแช่

รูปที่ ๑๕ "ไข่ปลาทอด" มาถึงทะเลน้อยแล้วจะไม่กินก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นของอร่อยประจำท้องถิ่น นอกจากจะซื้อกินในวันนั้นแล้ว ยังซื้อแช่แข็งกลับมากินที่กรุงเทพอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น