วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แต่ความเคารพที่เคยมีให้ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์นั้น คงต้องสิ้นสุดลงตรงนี้ MO Memoir : Thursday 11 July 2562

กลับมาทำงานใหม่ ๆ นั้นผมได้รับหน้าที่ให้ช่วยดูแลห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานของภาควิชา เนื่องด้วยอาจารย์ผู้สอนเดิมจะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานตอนนั้นเป็นเพียงห้องแลปเล็ก ๆ ที่ออกแบบมาสำหรับนิสิตทำแลปประมาณแค่ ๒๐ คน (มีโต๊ะปฏิบัติการเพียงแค่ ๓ ตัว) ซึ่งก็เป็นจำนวนของนิสิตในภาควิชาตอนที่ออกแบบ แต่ตอนที่ผมกลับมาทำงานนั้นจำนวนนิสิตนั้นมาอยู่ที่ระดับ ๗๐ - ๘๐ คนแล้ว เรียกว่าต้องรับนิสิตเกือบ ๓๐ คนในแต่ละตอนเรียน และสามารถจัดได้เพียงแค่ ๓ ตอนเรียนต่อสัปดาห์เท่านั้น



สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำก็คือการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อน้ำทิ้ง (ที่ต้องจ้างช่างข้างนอกมาซ่อมให้) ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (ที่ต้องมาเปลี่ยนหลอดไฟกันเอง ทำความสะอาดโคมไฟกันเอง) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำการทดลอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พบสิ่งที่แปลกใจก็คือ อุปกรณ์หลากหลายรายการที่มีการระบุว่าเป็นของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ที่นิสิตปริญญาตรีควรได้ใช้ในการเรียนนั้น กลับไม่ปรากฏอยู่ในห้องปฏิบัติการฯ มีเพียงแต่ชื่อ ส่วนตัวอุปกรณ์นั้นกลับไปอยู่ถาวรตามห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ
 
สมัยผมเรียนหนังสือนั้น วิชาปฏิบัติการของภาค (ตั้งแต่ปี ๒ ถึง ๔) ผมก็ไม่เคยเรียนกับอาจารย์ มีแต่เพียงครูปฏิบัติการ (ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่หน้าที่เขา) และนิสิตปริญญาโทที่มาช่วยสอนแค่นั้นเอง 
  
งานนี้ก็เลยต้องมีการรื้อระบบกันใหม่ เรียกว่าต้องขอคืนอุปกรณ์ที่ถูกยืม (หรือจะเรียกว่ายึดก็ได้) ไปนั้นกลับมา เพื่อที่นิสิตปี ๒ จะได้มีอุปกรณ์ใช้ในการทำการทดลองบ้าง หลายอุปกรณ์ก็ได้กลับมาในสภาพที่ยังใช้งานได้ บางอุปกรณ์ก็มีปัญหาแต่ก็ได้รับการซ่อมแซมจากผู้ที่ยืมก่อนส่งคืน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีอยู่เครื่องหนึ่งคือ UV-Vis ที่ดูเหมือนว่าตั้งแต่ซื้อมานั้นมันก็ถูกแลปวิจัยแลปหนึ่งนำไปใช้งานตลอดโดยไม่เคยได้กลับมาอยู่ที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานเลย
 
ตอนที่ได้เครื่องกลับมานั้นปรากฏว่าหลอดกำเนิดแสงนั้นเสียไปแล้ว เนื่องด้วยเครื่องนี้ถูกอาจารย์ผู้หนึ่งยืมไปใช้ตั้งแต่แรกที่ซื้อมาโดยที่คนอื่นไม่ได้ใช้ ผมก็เลยขอให้ทางอาจารย์ผู้ยืมไปใช้ในงานวิจัยของเขานั้นช่วยออกค่าซ่อมแซมให้ด้วย (ในฐานะที่เขาเป็นผู้เดียวที่ใช้) แต่ปรากฏว่าเขาไม่ยอมซ่อมให้โดยอ้างว่ามันไม่ใช่เครื่องของเขา
 
เรื่องตรงที่ว่าใครต้องซ่อมเครื่องนั้นมันก็มีประเด็นอยู่ ซึ่งตรงนี้ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานก็มีหลักเกณฑ์ว่า เครื่องที่มีการยืมใช้งานกันหลายคนนั้น ถ้าเป็นการเสื่อมสภาพเนื่องจากอายุการใช้งาน ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานก็จะเป็นผู้ซ่อมแซม แต่ถ้าเกิดจากการที่ผู้ใช้นั้นใช้งานแบบไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกวิธี ผู้ใช้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมด้วย
 
เพื่อให้เห็นภาพจะขอยกตัวอย่าง hot plate ที่มักมีผู้ยืมไปใช้เป็นประจำ พอใช้ไปนาน ๆ ก็จะมีชิ้นส่วนเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อน ดังนั้นคนสุดท้ายที่มาขอยืมไปใช้แล้วพบว่ามันมีชิ้นส่วนเสียเนื่องจากผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน กรณีเช่นนี้ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจะเป็นผู้จัดการซ่อม แต่ถ้าหากระหว่างการใช้งานนั้นเกิดมีการทำบีกเกอร์บรรจุน้ำตกแตกบริเวณ hot plate แล้วทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนเครื่องเสีย ในกรณีเช่นนี้ผู้ยืมไปใช้ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมด้วย ส่วนที่ว่าจะต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องนั้นมันเก่าขนาดไหน
 
แต่ถ้า hot plate ตัวนั้นตั้งแต่ได้รับมา มีผู้ยืมไปใช้ (แบบถาวร) อยู่เพียงรายเดียว พอคุณขอเครื่องนั้นกลับมาและพบว่ามันถูกใช้จนเครื่องพังไปแล้ว (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม) ลองคิดเองเล่น ๆ ก็แล้วกันนะครับว่าในความเห็นส่วนตัวของคุณนั้น ใครควรเป็นคนออกค่าซ่อม

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตามมา



เอาเป็นว่าสุดท้ายเครื่องนั้นก็ได้รับการซ่อมแซม และในจังหวะเวลานั้นทางคณะมีนโยบายที่จะปรับปรุงตึกที่เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน โดยเฉพาะชั้น ๓ และชั้น ๔ ที่ต้องมีการเจาะพื้นเพื่อวางระบบท่อน้ำทิ้ง ทุบผนังเพื่อขยายห้อง กั้นห้องใหม่ ทำพื้นห้องใหม่ เดินระบบไฟฟ้าใหม่ ฯลฯ ทำให้จำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปตั้งที่อาคารอื่นชั่วคราว (คืออาคารวิศว ๔ ชั้น ๑๒) ทางห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจึงต้องทำการขนย้ายสิ่งของออกไปยังที่ใหม่ เพราะห้องเดิมจะมีการทุบผนังกั้นห้องเพื่อขยายขนาด ทำพื้นห้องใหม่ รวมทั้งเดินระบบน้ำดี น้ำทิ้ง และไฟฟ้าใหม่หมด และเนื่องด้วยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปิดเทอมที่ไม่มีการเรียนการสอน จึงอนุญาตให้ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ต้องการยืมใช้เครื่องมือนั้นสามารถยืมออกไปใช้ได้ (ขอเพียงแค่ให้มันกลับมาในสภาพที่ยังใช้งานได้ก่อนเปิดเทอมใหม่แค่นั้น) ในช่วงเวลานั้นก็มีนิสิตป.โท รายหนึ่ง (ที่ทำวิจัยกับอาจารย์ที่กล่าวมาข้างต้น) มาขอใช้เครื่อง UV-Vis ในงานวิจัยของเขา ผมก็อนุญาตให้ยืมใช้งาน โดยให้เขายกไปใช้ที่ห้องแลปเขาได้เลย (เครื่องก็ไม่หนักเท่าใดนั้น คิดว่าไม่น่าจะถึง ๕ กิโลกรัมด้วยซ้ำ)
 
ปรากฏว่าเขาไม่ยอมทำเรื่องยืมไปใช้งาน บอกว่าจะขอใช้เครื่องนั้นที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ผมเองก็งงว่าทำไมจึงต้องใช้ที่นี่ ทำไมไม่ยกเอาไปใช้ที่แลป เพราะพื้นที่ตรงนี้ต้องรีบขนของออกเพื่อมอบพื้นที่ให้กับทางคณะส่งต่อให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำงานต่อไป ไม่เช่นนั้นงานจะเสร็จไม่ทันเปิดภาคการศึกษาใหม่ พอผมถามเขา เขาก็ตอบกลับมาในทำนองว่า "ถ้าเขาใช้เครื่องที่นี่ (หมายถึงที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน) ถ้าเครื่องมันเสียขึ้นมา เขาจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ"
 
พอได้ยินแบบนี้ผมก็ถามเขากลับไปว่า สมมุติว่าคุณซื้อคอมพิวเตอร์มาใหม่เครื่องหนึ่ง ตั้งไว้ที่บ้านคุณ แต่ยังไม่ทันได้ใช้งานเลย แล้วอยู่ดี ๆ เพื่อคุณก็มาขอใช้ แล้วเขาเล่นซะเครื่องคอมพิวเตอร์คุณพัง ในกรณีเช่นนี้คุณคิดว่าใครควรเป็นคนออกค่าซ่อม ตัวคุณหรือเพื่อนคุณ เขาก็ตอบว่าเพื่อนควรเป็นคนออกค่าซ่อม พอได้ยินคำตอนนี้ผมก็ถามย้อนกลับไปว่าทำไมคุณไม่เป็นคนออกค่าซ่อม เพราะมันพังในขณะที่เพื่อนคุณนั้นมาเล่นที่บ้านคุณ ซึ่งผมก็ไม่ได้รับคำตอบนั้น

ไม่กี่วันให้หลัง ผมก็ได้รับแจ้งจากหัวหน้าภาควิชาว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งแทงจดหมายถึงหัวหน้าภาควิชา กล่าวหาในทำนองว่าผมกลั่นแกล้งเขา ไม่ให้เขายืมใช้อุปกรณ์ ใช้ความพึงพอใจของตนเองที่จะให้บริการกับใคร หัวหน้าภาควิชาท่านก็ได้สำเนาจดหมายฉบับนั้นให้ผม และให้ผมชี้แจงต่อหน้าท่านและอาจารย์ผู้กล่าวหา
 
คือจดหมายฉบับนั้นเขียนโดยนิสิตป.โทผู้ที่มาติดต่อขอยืมเครื่อง UV-Vis จากห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน ส่งไปยังอาจารย์ที่ปรึกษาในทำนองว่าไม่สามารถยืมใช้เครื่องได้ เพื่อขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี จากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจึงแทงเรื่องต่อมายังหัวหน้าภาควิชา เขียนมาในทำนองว่าเขาโดนกลั่นแกล้งไม่ให้ยืมอุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปใช้งาน แต่กับคนอื่นกลับให้ยืมได้
 
ตอนที่ผมเห็นจดหมายนี้ร่วมกับครูปฏิบัติการคนอื่น เราก็งงเหมือนกัน โดยเฉพาะตรงที่เขากล่าวหาว่าทางผมกลั่นแกล้งเขาที่ไม่ให้เขายืมเครื่องมือไปใช้
 
ในวันนั้น ในห้องหัวหน้าภาคมีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ ผม หัวหน้าภาควิชา และอาจารย์ผู้กล่าวหา ในการชี้แจงนั้น ผมก็แจ้งให้กับหัวหน้าภาคทราบว่าในความเป็นจริงนั้นอนุญาตให้ยืมใช้ โดยให้ยกไปใช้ที่ห้องแลปของเขาเลย เพราะพื้นที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานจะมีการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งหัวหน้าภาคก็ทราบอยู่ และรู้ด้วยว่าต้องส่งพื้นที่ให้กับผู้รับเหมา แต่ทางผู้ยืมนั้นยืนยันที่จะใช้เครื่อง ณ ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานให้ได้ เมื่อไม่สามารถใช้เครื่องที่ห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานได้ ก็เลยไม่ขอยืมออกไปใช้ที่แลปตัวเอง
 
ในส่วนที่หาว่าไม่ให้เขายืมเครื่องมือนั้น ทางผมก็มีเอกสารคือใบบันทึกการยืมและใช้อุปกรณ์ของอาจารย์ในภาควิชา ที่ทางครูปฏิบัติการรวบรวมเอาไว้ให้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ติดขัดว่าเวลานั้นต้องใช้เพื่อการสอนระดับปริญญาตรี ก็อนุญาตให้ยืมไปใช้ทุกราย (ทำตามนโยบายของภาควิชา) และจะว่าไปแล้วตัวอาจารย์ผู้กล่าวหานั้นเป็นผู้ที่ทำเรื่องยืมอาจจะมากที่สุดเสียด้วย โดยผมเอาใบขออนุญาตยืมและใช้ ที่มีลายเซนต์ของอาจารย์ผู้กล่าวหาผมนั้นมาให้หัวหน้าภาควิชาดู
 
พอเจอหลักฐานอย่างนี้เข้าประเด็นกล่าวหาก็เลยเบี่ยงเบน มีการกล่าวหาผมต่อหน้าหัวหน้าภาควิชาต่อว่าผมไม่มีกฎเกณฑ์ในการให้ยืม ใช้ความพึงพอใจในการเลือกให้ใครยืม ผมก็ชี้แจงกลับไปว่ากฎเกณฑ์มันมีอยู่แล้ว พิมพ์ไว้ข้างหลังใบขอยืมใช้อุปกรณ์ทุกใบที่อาจารย์เซนต์ชื่อมา พร้อมกับแสดงให้เห็น พอเจอแบบนี้เข้าก็เบี่ยงประเด็นต่อไปว่าเขาไม่เห็นเพราะมันไม่มีการบอกไว้ข้างหน้าว่าให้พลิกอ่านข้างหลัง ผมก็ชี้แจงกลับไปว่ามันก็มีบอกอยู่ อยู่ตรงหัวกระดาษเลย (ตามรูปที่แนบมาให้ดู) เขาก็ยังเบี่ยงต่อไปว่าที่เขาไม่เห็นเพราะว่ามันไปพิมพ์อยู่ตรงนั้น มันไม่มาพิมพ์อยู่ตรงมุมนี้
 
เห็นแบบนี้เข้า อย่าว่าแต่ผมที่เป็นอาจารย์ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่กี่ปีเลย ขนาดหัวหน้าภาควิชาที่อาวุโสกว่าอาจารย์ผู้กล่าวหาผมก็ยังไปไม่ถูกเลย
 
จากนั้นเรื่องราวก็ชักไปกันใหญ่ เอาเป็นว่าโดยรวมแล้วผมกับหัวหน้าภาควิชานั่งฟังเขาด่าผมอยู่ฝ่ายเดียวกว่าชั่วโมง ด้วยสิ่งที่เขาพอจะจินตนาการได้ว่าผมเป็นคนไม่ดีอย่างไร ด่าถึงขนาดที่ว่าผมเป็นคนที่ "ไม่มีสามัญสำนึกของความเป็นอาจารย์ " ก่อนที่เขาจะจากไป
 
หลังเขาจากไปแล้ว หัวหน้าภาควิชาก็ถามผมว่า จะเอาเรื่องคืนไหม คือหมายความว่าผมจะร้องเรียนกลับไหมว่าถูกกลั่นแกล้งด้วยการใส่ร้ายด้วยเรื่องเท็จ เพราะหลักฐานและเรื่องราวต่าง ๆ หัวหน้าภาควิชาก็เห็นชัดหมดแล้ว ผมก็บอกกับหัวหน้าภาควิชากลับไปว่าไม่ เพราะอยากให้เรื่องนี้มันจบตรงนี้ "แต่ความเคารพที่เคยมีให้ในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์นั้น คงต้องสิ้นสุดลงตรงนี้ " และนี้ถือว่าเป็นการถอยให้เป็นครั้งสุดท้าย และนับเป็น "การตัดสินใจที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตการทำงาน" นับมาจนถึงปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ยังมีการไปกล่าวหาผมในที่ประชุมภาคต่ออีก ผมก็สวนกลับไปว่า "ตำแหน่งนี้ไม่ได้ยึดติดหรอก ที่เข้าไปทำเพราะไม่มีใครยอมเข้าไปทำ ถ้าใครคิดว่าสามารถทำได้ดีกว่าก็มารับทำแทนเลย เสนอตัวมาตอนนี้ได้เลย" ปรากฏว่าที่ประชุมเปลี่ยนเรื่องคุยแทบไม่ทัน
 
หลายปีถัดมา มีอาจารย์รุ่นพี่กลุ่มหนึ่งมาคุยกับผมว่า จะช่วยสมานรอยร้าวระหว่างผมกับอาจารย์ท่านนั้นให้เอาไหม ผมก็ตอบกลับไปว่า "ตอนนี้ชีวิตผมมันก็สุขสงบดีอยู่แล้วครับ"

เรื่องนี้มันก็กว่า ๒๐ ปีที่แล้ว เกิดก่อนเรื่องที่เล่าไปในครั้งที่แล้วอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น