วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๓ MO Memoir : Sunday 25 August 2562

"สมมุติว่าสารเคมีตัวหนึ่งเป็นสารเคมีควบคุม แต่ผู้ส่งออกมีการผสมสิ่งปนเปื้อน (impurity) ลงไปเพื่อให้ความบริสุทธิ์ของสารไม่เข้าเกณฑ์ แต่สิ่งปนเปื้อนนั้นทางผู้รับสามารถแยกออกมาได้ง่าย ในกรณีเช่นนี้จะตีความอย่างไร (คือหมายความว่าจะถือว่าจงใจหลีกเลี่ยงหรือไม่)"
 
ผมถามคำถามนี้ในระหว่างช่วงการถามตอบหลังการบรรยายโดยเจ้าหน้าที่จาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของประเทศญี่ปุ่น ที่ Keio Hotel ในวันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ซึ่งหลังจากที่เขาปรึกษากันอยู่สักพักก็ได้คำตอบกลับมาว่า "คงต้องดูที่เจตนาของผู้ส่งออก"
 
แต่ไม่ทันไร ในบ่ายวันนั้น ทางตัวแทนจาก Mitsubishi Electric Corp. ที่ทาง METI เชิญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้นั้น ก็ได้ยกตัวอย่างบางตัวอย่างที่น่าจะให้แนวทางการพิจารณาหาคำตอบกับคำถามที่ผมถามไป
 
แต่ก่อนอื่นเรามาลองพิจารณาประเด็นคำถามที่ทางประเทศญี่ปุ่นฝากให้ฝ่ายไทยพิจารณาในการเตรียมการเพื่อการวินิจฉัยว่าสินค้าใดเข้าข่ายสินค้าควบคุมหรือไม่ โดยทางญี่ปุ่นได้ยกตัวอย่างง่าย ๆ มาให้พิจารณาดังนี้ครับ

รูปที่ ๑ ถ้าดูจากผลิตภัณฑ์แล้ว A เป็นสินค้าที่ไม่เข้าข่ายถูกควบคุม แต่ A ประกอบด้วยชิ้นส่วน B ที่เข้าข่ายถูกควบคุม คำถามก็คือ ในกรณีเช่นนี้ควรต้องถือว่า A เป็นสินค้าที่เข้าข่ายถูกควบคุมหรือไม่

ในความเห็นของทางประเทศญี่ปุ่นนั้น ตามวัตถุประสงค์การควบคุมรายการสินค้าที่ใช้ได้สองทางนี้ "ไม่ควรจะยกเว้น" การส่งออกสินค้าใด ๆ (หรือแม้แต่โรงงาน) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม "แต่ประกอบด้วย" ชิ้นส่วนหนึ่งรายการหรือมากกว่าที่เป็น "สินค้าควบคุม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามารถถอดชิ้นส่วนควบคุมนั้น หรือนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้โดยง่าย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการถ่วงน้ำหนักโดยพิจารณาจาก ปริมาณ มูลค่าสินค้าทั้งชิ้น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสภาพการณ์พิเศษอื่นประกอบ ที่อาจแสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบที่ถูกควบคุมนั้นเป็น "ส่วนประกอบหลัก" ที่สำคัญของสินค้าที่สั่งซื้อ

ประเด็นตรงนี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้ฝากประเด็นให้ทางฝ่ายไทยกลับไปพิจารณาในแง่ที่ว่า
 
๑. ในกรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งต้องการส่งออก "สินค้า A" ที่มี "ชิ้นส่วน B" เป็นชิ้นส่วนที่เข้าข่ายถูกควบคุม เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสินค้า บริษัทนั้นจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตจากรัฐบาลไทยหรือไม่
 
๒. และด้วยกลไกการทำงานในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบการมีอยู่ของ "ชิ้นส่วน B" ใน "สินค้า A" ได้หรือไม่
 
๓. ประเด็นถัดมาก็คือ หาก "ชิ้นส่วน B" เป็น "ส่วนประกอบหลัก" ของ "สินค้า A" จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการถอด "ชิ้นส่วน B" ทำได้ง่ายหรือไม่ หรือสามารถนำเอาตัว "สินค้า A" ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้หรือไม่ เพราะถ้าทำได้ก็ควรต้องให้มีการขออนุญาต เพราะมีการส่งออก "ชิ้นส่วน B" ที่เป็นชิ้นส่วนควบคุม
 
๔. กลไกการตรวจสอบในปัจจุบันที่ดำเนินการวินิจฉัยโดยอาศัยพิกัดอากรหรือ "รหัส HS" ของ "สินค้า A" นั้น ไม่สามารถตรวจสอบการมีอยู่ของ "ชิ้นส่วน B" ในตัว "สินค้า A" ได้ ดังนั้นประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงกลไกควบคุมการส่งออกต่อไปอย่างไร เพื่อให้สามารถตรวจสอบกรณีดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ได้ เรื่องนี้จึงยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในอนาคตที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญอีกต่อไป 
  
(หมายเหตุ : HS CODE (HS ย่อมาจาก Harmonised System) หรือพิกัดศุลกากร เป็นระบบการจำแนกประเภทและระบุชนิดสินค้าด้วยรหัสตัวเลข 6 หลัก สำหรับแจ้งภาษีอากร ซึ่งประกาศใช้โดย องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO))

แล้วทางประเทศญี่ปุ่นเขาไม่มีปัญหาแบบนี้หรือครับ (คือการมี "ชิ้นส่วน B" ที่เป็นชิ้นส่วนควบคุม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ "สินค้า A" ที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม) คำตอบก็คือ "มีครับ" เพียงแต่ว่าด้วยวัฒนธรรมการทำงานของเขาและประสบการณ์ที่มีของที่ผู้ทำงานด้านนี้ ทำให้เกิดการควบคุมกันเองระหว่างผู้ผลิต "สินค้า A" และ "ชิ้นส่วน B" ดังตัวอย่างหนึ่งที่ทางวิทยากรผู้บรรยายยกมาเล่าสู่กันฟัง (รูปที่ ๒, ๕ และ ๖) ซึ่งเป็นกรณีของเครื่องรับโทรทัศน์ต้นแบบที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา (คือยังไม่มีการวางจำหน่าย) ที่วางแผนให้ทางผู้ชมสามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยการใช้บัตรเครดิตผ่านทางโทรทัศน์ในระหว่างการรับชมรายการได้เลย
 
และเพื่อให้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ถูกส่งออกไปนั้นมีความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสข้อมูล (คือแม้ว่าจะมีคนดักข้อมูลบัตรเครติดในระหว่างการส่งไปยังปลายทางได้ ผู้ที่ดักข้อมูลได้ก็ต้องไม่สามารถถอดรหัสออกมาได้ว่าข้อมูลที่ต้องการส่งนั้นคืออะไร) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เข้ารหัสให้กับเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องนี้

รูปที่ ๒ รูปนี้ (และรูปที่ ๕ และ ๖ เช่นกัน) นำมาจากเอกสารที่วิทยาการจากบริษัท Mitsubishi Electric ประเทศญี่ปุ่นจัดทำให้ ต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีการจัดแปลเป็นภาษาไทยให้กับทางคณะเดินทางจากฝ่ายไทย)
 
ความซับซ้อนของการเข้ารหัสส่งผลถึงความยากในการถอดรหัส ข้อมูลที่สำคัญจะมีการเข้ารหัสที่มีความซับซ้อนสูง ในกรณีของสินค้าที่ต้องควบคุมนั้นต้องมีการเข้ารหัสโดยใช้จำนวนบิทมากกว่า 56 บิท (ทำนอง password ยิ่งยาวก็ยิ่งเดายาก) ในกรณีนี้ผู้ผลิตโทรทัศน์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เข้ารหัส แต่สั่งซื้อมาจากบริษัทอื่น และเนื่องจากเป็นการสั่งซื้อใช้งานกันเองระหว่างโรงงานภายในประเทศ มันก็เลยไม่ต้องมีการขออนุญาตใด ๆ แต่ทางผู้ผลิตโทรทัศน์คาดหวังว่าจะทำการส่งออกโทรทัศน์ดังกล่าวไปต่างประเทศ และบังเอิญว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตโทรทัศน์เกิดเฉลียวใจ ย้อนถามกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ารหัสว่า ชิ้นส่วนเข้ารหัสดังกล่าวเป็นสินค้าที่เข้าข่ายถูกควบคุมหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับมาคือ "ใช่" เพราะใช้จำนวนบิทการเข้ารหัสถึง 128 บิท ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดข้อ 5A002 (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ รายละเอียดบางส่วนของรายการ 5A002 ตัวเลข 5 คือส่วนของอุปกรณ์โทรคมนาคมและ information technology ที่ครอบคลุมไปถึงการเข้ารหัสข้อมูล ส่วน A หมายถึงการเป็น ระบบ อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วน ในกรณีของเครื่องรับโทรทัศน์นี้ชิ้นส่วนดังกล่าวคือชิ้นส่วนที่ใช้เข้ารหัสบัตรเครดิตที่ใช้ในการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางโทรทัศน์

แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็มีการยกเว้นไม่ครอบคลุมไปยังสินค้าบางชนิด เช่นสินค้าที่มีการวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป (ดู Note 3ข้อ a ในรูปที่ ๔) ซึ่งถ้าโทรทัศน์รุ่นนี้มีการวางจำหน่ายทั่วไปแล้วก็อาจจะได้รับการยกเว้น (ต้องดูข้อ b-d ประกอบด้วย) แต่ขณะนี้โทรทัศน์เครื่องนี้เป็นเพียงเครื่องต้นแบบ จึงสอบตกตั้งแต่ข้อแรก

รูปที่ ๔ Note 3 ข้อ a ของส่วนนี้มีการระบุไว้ว่า ข้อกำหนดนี้ไม่ครอบคลุมไปยังเครื่องใช้ที่มีการจำหน่ายออกสู่สาธารณะ แต่เนื่องด้วยกรณีนี้เป็นเครื่องต้นแบบ จึงไม่ได้รับการยกเว้นตาม Note 3 นี้ แต่ถึงจะเข้ากรณีของข้อ aก็ต้องเข้ากรณีของข้อ b ถึง d ที่เหลือด้วย

รูปที่ ๕ ประเด็นการพิจารณาว่าโทรทัศน์เครื่องนี้เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่

ประเด็นถัดไปที่มีการพิจารณาคือ ชิ้นส่วนเข้ารหัสนั้นเป็นฟังก์ชันหลักของโทรทัศน์หรือไม่ กล่าวคือถ้าไม่มีชิ้นส่วนเข้ารหัสดังกล่าวจะยังสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้หรือไม่ เพราะแม้ว่าจะสอบตกข้อยังไม่วางจำหน่าย แต่ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าชิ้นส่วนเข้ารหัสนั้นไม่ได้เป็นฟังก์ชันหลัก การพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นใน Note 3 ก็ไม่จำเป็น
  
ผลการพิจารณาพบว่าแม้ว่าจะไม่มีชิ้นส่วนเข้ารหัส ก็ยังสามารถรับชมโทรทัศน์ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือชิ้นส่วนเข้ารหัสไม่ใช่ชิ้นส่วนหลักในการทำงานของโทรทัศน์ สามารถถอดเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยที่ตัวโทรทัศน์ก็ยังสามารถรับชมได้อยู่ ดังนั้นผลการวินิจฉัยจึงออกมาเป็นเครื่องรับโทรทัศน์รุ่นนี้จึงเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมการส่งออก (รูปที่ ๖)
  
อาจเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นเองเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอาวุธทำลายล้างสูง ทางญี่ปุ่นเองแม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถในการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง แต่ก็ไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ (ด้วยข้อจำกัดทางด้านต่าง ๆ) แถมยังมีประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องคอยระวังอีก (ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่ต่างเคยมีเรื่องราวทางทหารกับญี่ปุ่นและปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องข้อพิพาทดินแดนในทะเลอยู่) ก็เลยทำให้ญี่ปุ่นมีการระมัดระวังการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงนี้มากเป็นพิเศษ
  
จากกรณีตัวอย่างนี้ผมก็ลองคิดเล่น ๆ ว่า สมมุติว่าผู้ผลิตโทรทัศน์ไม่ได้วางแผนที่จะส่งออกโทรทัศน์ดังกล่าว คือกะจะวางขายในประเทศเท่านั้น ดังนั้นการตรวจสอบก็คงจะไม่เกิดขึ้น (แม้ว่าโทรทัศน์รุ่นนี้จะมีชิ้นส่วนควบคุมเป็นส่วนประกอบหนึ่งก็ตาม) แต่ถ้าหากว่ามีผู้ซื้อโทรทัศน์ดังกล่าวไปใช้ และอยากส่งออกไปยังประเทศอื่นในภายหลัง เช่นเป็นผู้ที่มาเรียนหนังสือหรือทำงานที่ญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปี พอเรียนจบหรือหมดวาระการทำงานก็อยากส่งของใช้ที่ซื้อเอาไว้กลับไปใช้ที่ประเทศตนเอง ในกรณีเช่นนี้สินค้าดังกล่าวก็จะสามารถหลุดรอดออกไปได้ ถ้าเช่นนั้นจึงควรหรือไม่ที่ทางผู้ผลิตสินค้านั้นควรที่จะต้องทำการตรวจสอบว่าสินค้าที่ผลิตนั้นประกอบด้วยชิ้นส่วนควบคุมหรือไม่ โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีแผนที่จะส่งสินค้านั้นไปขายยังต่างประเทศหรือไม่
  
รูปที่ ๖ ผลการวินิจฉัยของทางญี่ปุ่นที่สรุปว่าโทรทัศน์รุ่นนี้เข้าข่ายหมวดสินค้าที่ต้องถูกควบคุม

ในกรณีของประเทศไทยนั้นที่ในขณะนี้คงจะยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ถูกควบคุม แต่คงเป็นผู้ที่รับชิ้นส่วนดังกล่าวจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสำหรับวางจำหน่ายในบ้านเราหรือส่งออกไปยังประเทศอื่นต่อ หรือรับเข้ามาเพื่อขายต่อให้กับโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของบริษัทอื่นที่ตั้งอยู่ในไทย จึงควรที่จะพิจารณาว่าสำหรับชิ้นส่วนที่ต้องได้รับการควบคุมนั้น ควรให้ทางบริษัทต่างประเทศแจ้งให้กับทางผู้รับในเมืองไทยหรือไม่ว่ามันเป็นชิ้นส่วนที่ต้องได้รับการควบคุมหรือไม่ และทางผู้รับเองก็ควรต้องมีมาตรการในการควบคุมการส่งต่อ (แม้ว่าจะเป็นการขายให้กับบริษัทอื่นในไทยด้วยกันเองก็ตาม) ไม่ว่าจะเป็นการทำบันทึกการส่งต่อ การแจ้งให้ผู้ที่รับชิ้นส่วนดังกล่าวไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อให้รู้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนควบคุม เพื่อที่จะได้ติดตามตรวจสอบได้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม 
   
ย่อหน้าข้างบนเป็นคำถามที่คิดขึ้นมาเล่น ๆ ก็เลยขอบันทึกเอาไว้ก่อนกันลืม หรือเผื่อมีผู้เกี่ยวข้องผ่านมาพบเห็นเข้าจะได้ยกขึ้นมาพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันหรือไม่ และถ้าจำเป็น จะวางมาตรการอย่างไร

อันนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างแรก วิทยากรที่มาบรรยายให้ฟังยังมีตัวอย่างแปลก ๆ นำมาเสนออีก ซึ่งคงต้องขอยกเอาไปไว้ในตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น