วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ส่งได้โดยไม่ต้องใช้ปั๊ม ผสมได้โดยไม่ต้องใช้ใบพัดกวน MO Memoir : Sunday 15 December 2562

ช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ ทางสหภาพยุโรปได้จัดวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับการจำแนกสินค้าที่ใช้ได้สองทางที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ในชื่อเรื่อง "EU workshop on strategic trade control; duel used items for civilian and/or military uses. Chemical engineer and weapon of mass destruction." ซึ่งงานดังกล่าวก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากหลากหลายคณะและภาควิชาเข้าร่วม และในการอบรมนั้นก็ได้มีการแบ่งกลุ่มฝึกพิจารณาสินค้าโดยแยกตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม ตัวผมเองก็ได้ไปร่วมอยู่ในกลุ่มรายชื่อของ Australia Group ที่เกี่ยวข้องกับสารตั้งต้นและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอาวุธเคมีและชีวภาพ
 
ในช่วงหนึ่งของการแบ่งกลุ่มพิจารณา ทางวิทยากร (ที่มีพื้นฐานทางด้านเคมี น่าจะเป็นทางด้านห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพราะเห็นเขาเชี่ยวชาญเรื่องอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเคมีและชีวภาพ) ก็ได้กล่าวว่า ถ้าเราสามารถควบคุมการส่งอุปกรณ์ที่สำคัญบางชนิดไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสมได้ เขาก็จะไม่สามารถผลิตอาวุธทำลายล้างสูงได้ โดยได้ยกตัวอย่างของใบพัดกวน (agitator หรือ stirrer) และปั๊ม แต่ผมก็ได้ให้ความเห็นแย้งไปว่า ในทางปฏิบัตินั้นเราสามารถทำการส่งของเหลวจากถังใบหนึ่งไปยังถังอีกใบหนึ่งได้โดยไม่ต้องใช้ปั๊ม และสามารถทำการผสมสารในถังได้โดยไม่ต้องใช้ใบพัดกวน ก็ทำเอาเขาแปลกใจว่าทำได้ยังไง
 
วิธีการแรกที่ผมเคยเล่นมาก็คือการใช้ความดันแก๊สดันให้ของเหลวจากถังหนึ่งไหลไปยังอีกถังหนึ่ง ซึ่งใช้ในการส่งของเหลวอันตราย (สารประกอบ alkyl aluminium บริสุทธิ์) ระหว่างระหว่างถังโดยไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการรั่วซึมที่ตัวปั๊ม (ไม่ว่าจะเป็นที่ตัว seal หรือแผ่น diaphragm ก็ตาม) อีกวิธีการหนึ่งคือการใช้แรงโน้มถ่วง โดยให้ทิศทางการไหลเริ่มจากสูงลงต่ำ จริงอยู่แม้ว่าสองวิธีการนี้จะไม่เหมาะกับกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่อง แต่สำหรับการผลิตแต่ละครั้งในปริมาณที่ไม่มาก มันก็ง่ายดี

รูปที่ ๑ แถวบนแสดงตัวอย่างวิธีการในการส่งของเหลวจากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่งด้วยการ (1) ใช้ความดันแก๊สภายในถังดันให้ของเหลวจากถังหนึ่งไหลไปยังอีกถังหนึ่ง หรือ (2) ใช้การไหลด้วยแรงโน้มถ่วง ส่วนแถวล่างแสดงตัวอย่างการผสมสารในถังโดยไม่ต้องใช้ใบพัดกวนด้วยการ (3) ใช้ปั๊มสูบจากมุมหนึ่งแล้วให้ไหลหมุนเวียนเข้าอีกด้านหนึ่ง หรือ (4) ใช้แก๊สฉีดลงไปใต้ผิวของเหลว หรือ (5) การใช้การเขย่าหรือหมุน
  
สำหรับการผสมนั้นก็สามารถทำได้ด้วยการใช้ปั๊มสูบของเหลวจากมุมหนึ่งแล้วป้อนกลับเข้ายังอีกตำแหน่งหนึ่ง หรือใช้แก๊สฉีดเข้าไปใต้ผิวของเหลว หรือใช้การหมุนหรือการเขย่า ซึ่งในสองวิธีการแรกนั้นสามารถใช้ได้กับการผลิตในปริมาณมากในกระบวนการต่อเนื่อง ในขณะที่วิธีการหลังนั้นเหมาะกับการผลิตในปริมาณไม่มากและเป็นการผลิตแบบกะ (batch)
  
คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำเวลาสังเคราะห์สารเคมีขึ้นมาสักตัวหนึ่งคือสารเคมีตัวนั้นควรมีความบริสุทธิ์ขนาดไหน ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร และจะใช้เมื่อใด ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นควรต้องมีความบริสุทธิ์ขนาดไหน คุณภาพของผลิต ถ้าสารเคมีดังกล่าวเป็นอาวุธเคมีก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้เมื่อใด ในกรณีของการผลิตเพื่อเก็บเอาไว้ใช้เมื่อถึงเวลานั้น (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อใด) เสถียรภาพของผลิตภัณฑ์ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมันต้องไม่กัดกร่อนภาชนะบรรจุหรือเสื่อมสภาพเมื่อผ่านการเก็บเอาไว้เป็นเวลานาน (เรื่องของ shelf life) แต่ในการผลิตโดยคาดหวังไว้แล้วว่ามันจะถูกใช้ในเวลาอันสั้น เช่นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่มีการใช้อาวุธเคมีกันอย่างแพร่หลายหรือจะใช้เพื่อการก่อการร้าย เรื่องของเสถียรภาพและ/หรือความบริสุทธิ์ก็อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ
  
เท่าที่ดูรายการอุปกรณ์ที่ปรากฎใน EU List นั้นจะเน้นไปที่การวิจัยและการผลิตในปริมาณมากเพื่อใช้ในทางทหาร และกังวลกับการส่งออกไปยังประเทศที่คิดว่าสนับสนุนการก่อการร้าย แต่เอาเข้าจริง ๆ กลับกลายเป็นว่า คนที่โดนเสียเองกลับเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้และมีมาตรการควบคุมการส่งออก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของการโจมตีด้วยแก๊ส Sarin ในรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม ค.. ๑๙๙๕ (.. ๒๕๓๘) ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า ๑๐ รายและบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน โดยตัวแก๊สดังกล่าวก็ถูกผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเอง
  
รูปที่ ๒ การโจมตีด้วยแก๊ส Sarin ในรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว (จากเอกสาร DCSINT Handbook No. 1.01 Terror Operations : Case studies in Terrorism 15 August 2005 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น