วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

รถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) กับไฟฟ้าสถิตย์ MO Memoir : Saturday 7 March 2563

เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา มีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนมาถามเรื่องราวเกี่ยวกับรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) ที่มักจะเกิดประกายไฟที่ตัวงาเวลากระแทกพื้นหรือยกของ ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ซึ่งผมก็ได้ตอบเขาไปตามความรู้ที่พอมี เห็นว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็เลยขอนำมาลงบันทึกเอาไว้หน่อย
เริ่มต้นจากอีเมล์ที่มีข้อความดังข้างล่าง

สวัสดีค่ะอาจารย์

อยากขอรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำสารเคมี ที่จะนำมาทา เคลือบ หรือชุบที่งาของรถโฟล์คลิฟท์ เพื่อทำให้ลดการเกิดไฟฟ้าสถิตถ์ หรือประการไฟ เวลางากระทบพื้น หรือวัตถุที่ยก ค่ะ
  
มีคนแนะนำว่า ค่าความต้านทานไฟฟ้าสถิตควรอยู่ที่ระหว่าง 1 x 10 ยกกำลัง 4 ถึง 1 x 10 ยกกำลัง 11 โอห์ม 
   
มีคนแนะนำ วัสดุ Vulkollan แต่ไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุนี้เป็นภาษาไทยได้เลย อาจารย์พอจะแนะนำได้ไหมคะ หรือมีอย่างอื่นที่ดีเทียบเท่า หรือดีกว่า

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้านะคะ

ซึ่งผมก็ได้ตอบเขาไปดังนี้ ในวงเล็บสีดำคือส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ในอีเมล์ แต่มาเขียนอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณครับที่แวะเข้ามาอ่านเรื่องราวที่ผมเขียน
ขออนุญาตอธิบายปัญหาของคุณเป็นข้อ ๆ ไปตามความรู้ความเข้าใจที่มีนะครับ

๑. คงต้องแยกระหว่าง "การเกิด" กับ "การสะสม" ไฟฟ้าสถิตย์ครับ เราคงไม่สามารถป้องกัน "การเกิด" ได้ แต่เราสามารถจัดการกับ "การสะสม" ประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการต่อสายดิน
  
เรื่องที่ว่าไฟฟ้าสถิตย์เกิดได้อย่างไรนั้นเคยเขียนไว้ใน Memoir ปีที่ ๙ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๐ ฉบับต่อไปนี้
ฉบับที่ ๑๓๗๖ วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เรื่อง "ไฟฟ้าสถิตย์กับงานวิศวกรรมเคมี (๑) ตัวอย่างการเกิด" และ
ฉบับที่ ๑๓๘๔ วันศุกร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ เรื่อง "ไฟฟ้าสถิตย์กับงานวิศวกรรมเคมี (๓) ทฤษฏีพื้นฐานการเกิด"

๒. วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้านั้น แม้ว่าจะต่อสายดินแล้วก็ยังถ่ายประจุออกได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะมีปัญหาเสมอไปครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ พวกผ้าใยสังเคราะห์มันทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสมได้ดี แต่ถ้าอยู่ในอากาศที่ชื้นพอ (เช่นนอกห้องแอร์ในบ้านเรา) เราจะไม่เจอปัญหาสปาร์คเวลาเอามือไปจับราวบันไดโลหะ ลูกบิดประตูหรือโครงสร้างอื่นใดที่เป็นตัวนำไฟฟ้า เพราะอากาศชื้นจะพาเอาประจุไฟฟ้าออกไป เว้นแต่จะอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ ที่มักจะสะดุ้งได้เวลาที่เราเอามือไปจับพวกที่เป็นตัวนำ
  
การเคลือบผิวด้วยวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยกระจายประจุไฟฟ้าออกไป การวิเคราะห์ตัวอย่างด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจึงมักต้องทำการเคลือบตัวอย่างด้วยคาร์บอนหรือทองคำเพื่อป้องกันไม่ให้อิเล็กตรอนที่ยิงใส่ตัวอย่างนั้นสะสมอยู่บนตัวอย่าง เพราะถ้าตัวอย่างมีอิเล็กตรอนสะสมจะทำให้ตัวอย่างมีประจุลบ ลำอิเล็กตรอนที่ยิงเข้ามาจะถูกผลักออกอันเป็นผลจากประจุไฟฟ้าที่เหมือนกัน การเบี่ยงเบนของลำอิเล็กตรอนจะไม่ได้เกิดจากการเลี้ยวเบนหรือการสะท้อนออกรูปร่างของพื้นผิวที่ต้องการดูเท่านั้น มีผลจากการสะสมประจุไฟฟ้าเข้ามาผสมด้วย ทำให้ภาพที่ได้นั้นมีความชัดเจนลดลง 
เทคนิค x-ray photoelectron spectroscopy ที่มีการทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากตัวอย่างก็ประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีหลังนี้จะเป็นการชดเชยอิเล็กตรอนที่ถูกดึงออกจากตัวอย่าง เพราะถ้าไม่สามารถชดเชยได้ทันก็จะทำให้ตัวอย่างมีความเป็นประจุบวกเพิ่มขึ้น ค่า binding energy หรือเลขออกซิเดชันที่วัดได้ก็จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นผลที่เกิดจากการวัด

๓. รถยนต์นั้นเป็นโลหะก็จริง แต่ยางรถมันเป็นฉนวนไฟฟ้า มันก็เลยเป็นที่เก็บประจุไฟฟ้าสถิตย์ได้ครับ (เห มือนกับตัวเก็บประจุขนาดใหญ่) แต่ก่อนเราจะเรียนกันว่ารถบรรทุกน้ำมันต้องมีโซ่ลากพื้นเพื่อถ่ายประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดขึ้น (จากน้ำมันในถังเสียดสีกับถังบรรจุ) ลงพื้นผิวถนน แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีสักคันครับ ถ้ากรณีรถโฟล์คลิฟท์ของคุณเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริง ก็น่าลองดูนะครับ แต่มีข้อแม้ว่าพื้นถนนนั้นต้องนำไฟฟ้าได้บ้าง แต่ในบ้านเราที่อากาศมีความชื้นสูง ปัญหานี้เลยไม่ปรากฏให้เห็นครับ ยกเว้นตอนขนถ่ายน้ำมันที่ยังต้องระวังอยู่ เพราะมันเกิดเร็ว
  
รถยนต์ (เอาเป็นว่าเฉพาะเครื่องเบนซินก็แล้วกัน ส่วนเครื่องดีเซลนั้นผมไม่รู้ว่าเหมือนกันหรือไม่) จะใช้ตัวถังรถเป็นสายดิน ถ้าไล่สายไฟดูจากแบตเตอรี่ก็จะเห็นว่าขั้วลบนั้นต่ออยู่กับตัวถัง เวลาที่ช่างซ่อมรถจะทำการเชื่อมด้วยไฟฟ้าที่ส่วนใด ๆ ของตัวรถ (เช่นท่อไอเสีย) เขาก็จะต้องปลดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อน หรือไม่ก็ไปเชื่อมแก๊สเลย รถบรรทุกของเหลวจะมีของเหลวกระฉอกอยู่ในถังบรรจุเวลารถวิ่ง การกระฉอกนี้ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์สะสม และจะเกิดได้มากในกรณีที่เป็นของเหลวที่ไม่มีขั้ว (เช่นน้ำมันปิโตรเลียม) เพราะของเหลวพวกนี้จะนำไฟฟ้าได้ไม่ดี

๔. การเกิดประกายไฟเมื่อโลหะกระทบกับของแข็งนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิตย์ครับ เกิดจากส่วนผสมของโลหะเอง โลหะเหล็กที่ใช้ทำเครื่องมือช่างทั่วไปก็ทำให้เกิดประกายไฟได้ครับเวลาที่มันตกกระทบพื้น ในบางงานจึงต้องใช้พวกประแจทำจากโลหะพิเศษ (ที่ราคาแพงขึ้นไปอีก) ในการทำงานครับ
  
เครื่องมือที่ทำจากโลหะที่ไม่ทำให้เกิดประกายไฟจากการกระแทกเรียกว่า non sparking tool ที่มีทั้งอุปกรณ์ตอก (striking tools เช่น ค้อน ลิ่ม) ขันตึง ( tightening tools เช่น ประแจ ไขควง) และตัด (cutting tools เช่น เลื่อย ตะไบ) แบบเครื่องมือช่างทั่วไป

๕. เวลาที่เราเจียรเหล็กและเห็นประกายไฟ นั้นเป็นเพราะเศษผงเหล็กที่หลุดออกมามีคาร์บอนปนอยู่ คาร์บอนตัวนี้มันก็เลยลุกไหม้ในอากาศเป็นประกายไฟให้เห็น คาร์บอนเป็นตัวที่มีปนอยู่ในเหล็กอยู่แล้วครับ ยิ่งเหล็กที่ยิ่งแข็ง (ชนิดที่เรียกว่าหักได้แทนที่จะยืด) เช่นเหล็กหล่อ ก็ยิ่งมีคาร์บอนอยู่เยอะครับ เราใช้ลักษณะการเกิดประกายไฟพวกนี้บ่งบอกว่าเหล็กนั้นเป็นเหล็กชนิดไหนได้คร่าว ๆ ครับ ตัวงาของรถโฟล์คลิฟท์เดาว่าทำจากเหล็กหล่อครับ มันถึงแข็งคงรูปอยู่ได้เวลาที่ต้องรับน้ำหนักเยอะครับ ถ้าเป็นพวกเหล็กคาร์บอนต่ำมันจะเหนียว แต่มันจะอ่อนตัวงอลงมา
 
คาร์บอนในเนื้อเหล็กทำให้เหล็กมีความแข็ง คงรูปร่างได้ดี หลอมขึ้นรูปได้ง่าย แต่ต้องจ่ายด้วยความเหนียวที่ลดลง ประกายไฟที่เกิดขึ้นเมื่อทำการเจียรเหล็กก็เกิดจากคาร์บอนที่หลุดปลิวออกมาทำปฏิกิริยาเผาไหม้กับออกซิเจนในอากาศ รูปแบบของประกายไฟที่เกิดขึ้น (พุ่งออกมาเป็นสายมากแค่ไหน ไปได้ไกลแค่ไหน มีการแตกตัวอย่างไร) สามารถใช่บ่งบอกชนิดของโลหะเหล็กได้คร่าว ๆ (รูปที่ ๑)
  
รูปที่ ๑ ชนิดโลหะเหล็กและลักษณะประกายไฟ (รูปจาก http://modelenginenews.org/images/gpc/spark_test.jpg)

๖. ถ้าการเกิดประกายไฟเกิดจากการกระแทก ก็ควรต้องหาทางลดแรงกระแทกครับ เช่นหาอะไรมาลอง ตรงนี้ตรวจดูได้ง่าย ๆ ว่าประกายไฟที่เห็นเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริงวัสดุสองชิ้นไม่จำเป็นต้อง "สัมผัส" กัน แค่เข้าใกล้กันก็จะเกิดประกายไฟกระโดดข้ามได้แล้วครับ แต่ถ้าเกิดจากการกระแทก ต้องกระแทกแรงพอจึงจะเกิดครับ สัมผัสกันเบา ๆ จะไม่เกิดการหาอะไรที่นุ่มหน่อยไปรองไว้ ก็น่าจะป้องกันได้แล้วครับ 
   
อันที่จริงจะว่าไปแล้วข้อ ๖. น่าจะเป็นข้อแรกที่ต้องพิจารณา เพราะจะช่วยบอกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นมันเกิดจากปรากฏการณ์ใด จะได้หาทางแก้ปัญหาได้ถูกทาง เพราะถ้าไปหาทางแก้จากต้นเหตุที่ไม่ถูกต้อง ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ครับ

ลองดูพิจารณาดูก่อนนะครับว่าปัญหาของคุณเกิดจากไฟฟ้าสถิตย์จริงหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นไฟฟ้าสถิตย์ที่เกิดจากการสะสมประจุที่ "ชิ้นงาน" ที่ต้องทำการยก การถ่ายประจุไฟฟ้าสถิตย์จากชิ้นงานออกไปก่อนก็จะช่วยได้ครับ แต่เห็นว่ามันเกิดเวลาที่งานั้นกระแทกพื้นด้วย ผมเกรงว่าจะไม่ใช่ครับ

ด้วยความเคารพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น