วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๔ อุปกรณ์เข้ารหัส (Encoding Device) MO Memoir : Saturday 22 May 2564

ตอนที่ไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น วิศวกรของบริษัท Mitsubishi ที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ได้ตั้งคำถามหนึ่งทิ้งไว้ว่า ในกรณีที่ต้องการส่งออกสินค้า A ที่อาจเป็นสินค้าที่ใช้กันในชีวิตประจำวันหรือครัวเรือนทั่วไป แต่ตัวสินค้า A นั้นประกอบด้วยชิ้นส่วน B ที่เป็นชิ้นส่วนควบคุม ด้วยกลไกการตรวจสอบในปัจจุบันของไทย จะสามารถตรวจสอบการมีอยู่ของชิ้นส่วน B ในสินค้า A ได้หรือไม่ (รูปที่ ๑)

ตอนที่นั่งฟังนั้นผมว่าคำถามของเขาล้ำหน้าไปหน่อยนะ เพราะผมคิดว่าเรายัง "ไม่มี" กลไกตรวจสอบเลย ก็เลยบอกไม่ได้ว่ากลไกที่ "มีอยู่" นั้นตรวจได้หรือไม่ คือเขาน่าจะถามเราก่อนว่าเรามีกลไกตรวจสอบหรือยัง

รูปที่ ๑ สินค้า A ไม่ใช่สินค้าควบคุม เป็นสินค้าที่มี HS Code ส่วนชิ้นส่วน B เป็นชิ้นส่วนควบคุม การมีอยู่ของชิ้นส่วน B ไม่ปรากฏในรายละเอียด HS Code ของสินค้า A ทำอย่างไรจึงจะสร้างกลไกที่ตรวจสอบการมีอยู่ของ B ใน A ได้

ตรงนี้ขอขยายความนิดนึง (เท่าที่ความรู้พอจะมีอยู่บ้าง) คือเวลาส่งออกสินค้านั้น หน่วยงานศุลกากรในประเทศต่าง ๆ ก็ได้มีการตกลงเรื่องรหัสสินค้า (เพื่อที่จะได้คุยกันรู้เรื่องว่าควรคิดภาษีแบบไหน) ที่เรียกว่า Harmonised System หรือ HS Code ตัวอย่างเช่นรถยนต์สำหรับโดยสารที่นั่งได้น้อยกว่า 10 ก็อยู่ในหมวด HS 8703 และถ้าเป็นรถยนต์ในกลุ่มนี้ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินที่มีความจุกระบอกสูงมากกว่า 1500 cc แต่ไม่เกิน 3000 cc ก็จะอยู่ในหมวด HS 870323 (มีเลขต่อท้ายเพิ่มสองตัว) และในกลุ่ม HS 870323 ก็จะมีแยกย่อยลงไปอีก (เลขก็จะเป็น HS 870323xx คือมีเลขต่อท้าย xx เพิ่มอีก 2 ตัว) แต่โดยรวมก็คือมันกล่าวเฉพาะแค่ขนาดรถและเครื่องยนต์ที่ใช้ โดยไม่มีการกล่าวถึงอุปกรณ์ตกแต่ง

แต่ปัจจุบันได้มีการนำเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาใส่ในตัวรถเพิ่มมากขึ้น เช่นอุปกรณ์วัดระยะทาง, อุปกรณ์วัดความเร่ง (Accelerometer), อุปกรณ์ระบุพิกัดตำแหน่ง (Global Navisation Satellite System - GNSS) เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้บางชนิดนั้นเป็นสินค้าควบคุม เช่นมันอาจเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้กับระบบส่งอาวุธนำวิถีได้ แต่ถูกนำมาซุกไว้ในสินค้าธรรมดาเพื่อให้ส่งออกได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ และรายการอุปกรณ์ประกอบเหล่านี้มันไม่มีปรากฏใน HS Code สำหรับรถยนต์

ตัวอย่างเช่นรถยนต์รุ่นหนึ่งต้องการติดตั้งอุปกรณ์บอกพิกัดตำแหน่งด้วยดาวเทียม (ที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่า GPS ซึ่งอันที่จริง GPS มันเป็นระบบระบุพิกัดด้วยดาวเทียมของสหรัฐ ถ้าเป็นของรัสเซีย ยุโรป หรือจีน ก็จะใช้ชื่อเรียกอื่น) เพื่อเอาไว้นำทางการเดินทาง ถ้าผู้ผลิตนั้นไปเอาอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องบินรบหรือระบบอาวุธนำวิธี (ที่ต้องมีความถูกต้องสูงและระบุตำแหน่งได้อย่างรวดเร็วและเป็นสินค้าควบคุม) มาติดให้กับรถ มันก็แจ้งตำแหน่งของรถได้ แต่มันมีคุณสมบัติเกินความต้องการสำหรับการใช้งานจริง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกไม่ได้ทำแบบนี้

ตัวอย่างที่ ๔ นี้เป็นกรณีของอุปกรณ์เข้ารหัสที่ติดตั้งให้กับเครื่องรับโทรทัศน์ (ที่เป็นเครื่องต้นแบบ - รูปที่ ๒) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อมูล (เช่นเลขบัตรเครดิต) เพื่อสั่งซื้อสินค้าและบริการได้ (เครื่องรับโทรทัศน์ปัจจุบันที่ต่อเน็ตได้ก็สามารถทำได้) คือตัวเครื่องรับโทรทัศน์สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ที่เป็นคลื่นวิทยุได้ (ผ่านทางเสาอากาศ) หรือผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถส่งข้อมูลออกผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้ ข้อมูลที่ส่งออกอาจเป็นข้อมูลการชำระเงินเพื่อซื้อบริการที่มีการโฆษณาขายทางโทรทัศน์

เนื่องจากเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องนี้ยังเป็นเครื่องต้นแบบ ผู้ผลิตโทรทัศน์เอง (ซึ่งก็อยู่ในประเทศญี่ปุ่น) ก็ไม่ได้ผลิตอุปกรณ์เข้ารหัสข้อมูล พอต้องการใช้อุปกรณ์เข้ารหัสข้อมูลก็เลยติดต่อซื้อจากผู้ผลิตอุปกรณ์เข้ารหัสข้อมูลซึ่งก็อยู่ในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน และเนื่องจากการซื้อขายเกิดขึ้นระหว่างบริษัทในประเทศ ไม่ได้มีการส่งออก ผู้ขายชิ้นส่วนควบคุมจึงไม่ได้แจ้งให้ผู้ผลิตโทรทัศน์ทราบว่าชิ้นส่วนเข้ารหัสนั้นเป็นชิ้นส่วนควบคุม เรื่องมันเกิดเมื่อทางผู้ผลิตโทรทัศน์คิดว่าจะเปลี่ยน spec. บางส่วนเมื่อจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด ก็เลยมีการสอบถามย้อนกลับไป

รูปที่ ๒ รายละเอียดของเครื่องรับโทรทัศน์ (เครื่องต้นแบบ) ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เข้ารหัสเพื่อให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อมูล (เช่นเลขบัตรเครดิต) เพื่อการซื้อสินค้าได้ ตัวอย่างนี้ไปเรียนมาเมื่อเดือนสิงหาคมพ.ศ. ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙)

การพิจารณาว่าเครื่องรับโทรทัศน์นี้เข้าข่ายต้องนำมาวินิจฉัยหรือไม่ต้องไปดูที่ GENERAL "INFORMATION SECURITY' NOTE (GISN) ก่อน รูปที่ ๓ เป็นรายละเอียดของ Note 3 ของ GISN (EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐) ที่กล่าวไว้ว่าสินค้าในหมวด 5A002, 5D002.a.1, 5D002.b. และ 5D002.c. ไม่ควบคุมรายการดังต่อไปนี้

ข้อ a. ระบุว่าเป็นสินค้าที่เข้าเกณฑ์ต่อไปนี้ทั้งหมด คือข้อย่อย 1. และ 2. ที่อยู่ภายใต้หัวข้อ a. โดยข้อย่อย 1. นั้นระบุว่าเป็นสินค้าที่มีขายออกสู่สาธารณะโดยไม่มีข้อจำกัด จากสินค้าคงคลัง ณ จุดขายปลีก โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งต่อไปนี้ คือข้อย่อย a. - d. (ที่อยู่ภายใต้หัวข้อย่อย1.) ที่เป็นรูปแบบการซื้อขาย

ข้อ b. กล่าวถึงทั้งส่วนที่เป็น "hardware" คือเป็นส่วนที่มีตัวตนจับต้องได้ และ "excecutable software" ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีตัวตนให้จับต้อง จะเห็นว่าการสินค้าควบคุมบางรายการนั้นไม่จำเป็นต้องมีตัวตนให้จับต้องได้

รูปที่ ๓ Note 3 ของ GENERAL "INFORMATION SECURITY' NOTE (GISN)

โทรทัศน์เครื่องนี้มีการติดตั้ง "ฮาร์ดแวร์" สำหรับทำหน้าที่เข้ารหัสลับโดยเฉพาะ (คือการเข้ารหัสลับนั้นอาจเข้าด้วยการใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะ หรือใช้ "ซอร์ฟแวร์" กับฮาร์ดแวร์ทั่วไปก็ได้) ก็เลยต้องมีการนำมาพิจารณาว่าเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องนี้เข้าข่ายสินค้าควบคุมหรือไม่ และเนื่องจากยังเป็นเครื่องที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น Note 3 a.1. จึงต้องนำมาวินิจฉัย (รูปที่ ๔ - ตรงนี้ต้องขอระบุไว้นิดนึงว่า ถึงแม้ว่าผ่าน Note 3 a. มาได้ ก็ต้องมาดู Note 3 b. อีก)

รูปที่ ๕ เป็นการวินิจฉัยเครื่องเข้ารหัสว่าเป็นสินค้าควบคุมในหมวด 5A002 หรือไม่ โดยเริ่มจากข้อ a. ก่อน ซึ่งก็พบว่าเข้าเกณฑ์ เพราะข้อ a. กำหนดความยาวขั้นต่ำของคีย์เข้ารหัสไว้ที่ 56 บิต แต่อุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับโทรทัศน์เครื่องนี้มีความยาวของคีย์เข้ารหัส 128 บิต ก็เลยเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม

จำนวนบิตตรงนี้สำคัญอย่างไรในการเข้ารหัส ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้ตัวก็คงจะเป็นรหัสบัตร ATM หรือบัตรเครดิต ที่มีการกำหนดไว้ว่าเป็นตัวเลข 4 หลักหรือ 6 หลัก ยิ่งใช้จำนวนหลักเยอะก็จะเดาค่าได้ถูกต้องยากขึ้น หรือใช้เวลาหารหัสที่ถูกต้องนานขึ้น (รหัสผ่านที่เป็นตัวเลขเพียงแค่ 6 หลักจะมีรหัสที่เป็นไปได้ 1,000,000 รหัส คือแต่ละหลักมีค่าได้ 10 ค่า (เลข 0-9) พอมีทั้งหมด 6 หลัก ก็จะมีค่าที่เป็นไปได้ 106 ค่า ถ้ากำหนดว่ากดรหัสผิด 3 ครั้งแล้วบัตรจะถูกยึด ถ้าใช้ตัวเลข 4 หลักโอกาสกดรหัสถูกคือ 3 ใน 10,000 แต่ถ้าใช้ตัวเลข 6 หลักโอกาสกดรหัสถูกจะลดเหลือ 3 ใน 1,000,000) 

รูปที่ ๔ เกณฑ์การพิจารณาว่าเครื่องรับโทรทัศน์นื้เข้าข่ายต้องนำมาพิจารณาหรือไม่

แต่ถ้ามีการเพิ่มตัวอักษรภาษาอังกฤษเข้าไป ที่มีทั้งตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่ จำนวนค่าที่เป็นไปได้ในแต่ละหลักคือ 10 x 26 x 26 = 6760 (ตัวเลข 26 มาจากจำนวนตัวอักษรในภาษาอังกฤษที่มี 26 ตัวอักษร แต่มันมีทั้งตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่ก็เลยต้องมีเลข 26 สองตัวคูณกัน) ถ้าใช้รหัสที่มี 6 หลัก จำนวนรหัสที่เป็นไปได้คือ 67606 หรือกว่า 9.5 x 1022 รหัส และในกรณีที่ยอมให้ใช้อักขณะพิเศษร่วมด้วย จำนวนค่าที่เป็นไปได้ในแต่ละหลักก็จะมากไปอีก ทำให้จำนวนรหัสที่เป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นอีก แต่การทำเช่นนี้หมายความว่าจำนวนบิตข้อมูลรหัสนั้นต้องมากตามไปด้วย

ปัจจุบันที่มีการใช้อุปกรณ์ไร้สายมากขึ้น และมีความหนาแน่นในการใช้งานมากขึ้น การเข้ารหัสจึงมีความสำคัญมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกัน ลองนึกภาพว่าถ้าสำนักงานแห่งหนึ่งอยากจะให้ออฟฟิตนั้นดูดี ไม่รก ก็อาจเลือกใช้คีย์บอร์ด, เมาส์ หรือหูฟังชนิดไร้สาย แต่ทั้งนี้ต้องให้คอมพิวเตอร์นั้นรับสัญญาณจากคีย์บอร์ดและเมาส์ตัวที่ต้องการเท่านั้น ไม่ใช่ว่าการขยับเมาส์ตัวหนึ่งสามารถทำให้เคอร์เซอร์ของคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเคลื่อนที่ตามไปด้วยพร้อม ๆ กัน ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นว่าอุปกรณ์พวกนี้จะสลับตัวรับสัญญาณการทำงานกันไม่ได้ มันมากันเป็นคู่ ถ้าตัวรับสัญญาณหายไปก็ต้องไปซื้อใหม่ทั้งชุด (บางคนจะมีปัญหากับพวก wireless presenter remote ที่ตัวรับสัญญาณมันเป็นตัวเล็ก ๆ เสียบกับ USB port เวลาไปใช้งานนอกสถานที่แล้วใช้กับคอมพิวเตอร์ที่เขาจัดให้ แล้วก็ลืมถอดกลับเป็นประจำ ทำให้ต้องซื้อใหม่ทั้งชุดอยู่เรื่อย ๆ)

พวกรีโมทโทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศก็มีการเข้ารหัสสัญญาณที่ทำให้ของแต่ละยี่ห้อใช้แทนกันไม่ได้ แต่รีโมทเครื่องเดียวสามารถใช้กับโทรทัศน์หรือเครื่องปรับอากาศรุ่นเดียวกันได้ (บางทีก็ใช้ข้ามรุ่นได้ด้วย) เวลาที่รีโมทพังเราก็ซื้อรีโมทใหม่มาใช้แทนได้ แต่การป้องกันการรบกวนนั้นมีเรื่องของระยะทางและทิศทางเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือถึงแม้นั่งอยู่ใกล้แต่ชี้ไม่ถูกทิศ หรือมีสิ่งกีดขวางตัวรับสัญญาณ มันก็ไม่ทำงาน ซึ่งตรงนี้แตกต่างจาก เมาส์, คีย์บอร์ด หรือหูฟัง ชนิดไร้สาย ที่มันไม่สนว่าตัวส่งสัญญาณกับตัวรับสัญญาณนั้นอยู่ในแนวมองเห็นกันหรือไม่

รูปที่ ๕ รายละเอียดหมวด 5A002 ในเอกสารที่ได้จากการไปอบรมเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) มีการระบุจำนวนบิตของการเข้ารหัสข้อมูล

การที่สินค้า A ที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม (ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่มี HS Code) แต่มีชิ้นส่วน B ที่เป็นสินค้าควบคุมติดตั้งอยู่ภายใน ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สินค้า A นั้นกลายเป็นสินค้าควบคุมเสมอไป ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องพิจารณาร่วมอีกเช่น ชิ้นส่วน B นั้นจำเป็นต่อการทำงานที่เป็นหน้าที่หลักของสินค้า A หรือไม่ กล่าวคือถ้าไม่มีชิ้นส่วน B แล้วสินค้า A ยังใช้งานได้หรือไม่ อย่างเช่นในกรณีนี้หน้าที่หลักของเครื่องรับโทรทัศน์คือการรับสัญญาณภาพและเสียง แม้ว่าจะไม่มีชิ้นส่วน B ก็ยังทำงานได้ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ การถอดเข้าชิ้นส่วน B เพื่อเอาไปใช้งานอย่างอื่นนั้นทำได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้ก็จะถือว่าสินค้า A ไม่เป็นสินค้าควบคุม (คือไม่สามารถถอด B ออกจาก A ได้หรือการถอด B ออกจาก A สามารถทำให้ ฺB เกิดความเสียหายจนใช้การไม่ได้)

ตัวอย่างที่ ๔ นี้เกิดจากการที่ผู้ผลิตโทรทัศน์นั้นต้องการติดตั้งเครื่องเข้ารหัส จึงติดต่อซื้อจากผู้ผลิตเครื่องเข้ารหัสว่ามีเครื่องที่สามารถทำงานตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ ซึ่งผู้ผลิตเครื่องเข้ารหัสก็มีเครื่องที่สามารถ "ทำงานตามที่ผู้ผลิตโทรทัศน์ต้องการได้" (คือให้ความปลอดภัยในการส่งข้อมูลบัตรเครดิตได้) แต่เครื่องเข้ารหัสที่เขาขายให้นั้นยังสามารถ "ทำงานได้เกินความจำเป็นสำหรับการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์" ซึ่งตรงนี้ผู้ขายเครื่องเข้ารหัสไม่ได้บอกผู้ซื้อ เพราะผู้ซื้อไม่ได้ถามและผู้ขายก็เห็นว่าเป็นการซื้อกันเองภายในประเทศ ไม่ได้ส่งออก ก็เลยไม่ได้บอกว่ามันเป็นสินค้าควบคุม

เรื่องนี้เขียนไว้ครั้งแรกเมื่อตอนปลายเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) คือหลังกลับจากการอบรมได้ไม่นาน พอปีนี้กลับมาเขียนใหม่ ตรวจสอบรายละเอียดสินค้าควบคุมในหมวด 5A002 โดยอิงจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง คือฉบับล่าสุดนั้นไม่มีการระบุจำนวนบิตข้อมูล (รูปที่ ๖) แต่ดูแล้ว (ตามความเข้าใจที่มี) คิดว่าไปเน้นที่วิธีการและอัลกอริทึมแทน ซึ่งอาจทำให้ครอบคลุมกว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำการวินิจฉัยได้ยากขึ้น

รูปที่ ๖ รายละเอียดหมวด 5A002 ที่ปรากฏใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ จะเห็นว่าแตกต่างไปจากในรูปที่ ๕ คือในฉบับล่าสุดนั้นไม่มีการะบุจำนวนบิตเอาไว้ แต่ไปใช้คำว่า "described security algorithm" แทน

ดังนั้นถ้าพิจารณากันตามเกณฑ์ใหม่นี้ โทรทัศน์เครื่องนี้จะเข้าข่ายสินค้าควบคุมหรือไม่นั้นคงไม่สามารถตอบให้ได้ คงต้องขอให้ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการเข้ารหัสข้อมูลมาช่วยวินิจฉัย

การระบุด้วยคำกลาง ๆ มันก็ดีตรงที่มันครอบคลุมกว้าง เหมาะสมกับสิ่งที่ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (เช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์) แต่มันก็ทำให้เกิดปัญหาในการวินิจฉัยเช่นกัน คือคงต้องมีผู้ที่มีความรู้ดีในทางด้านนั้นมาเป็นผู้วินิจฉัย และก็อาจทำให้เกิดปัญหาที่ว่าด้วยการที่มันไม่มีข้อกำหนดกลาง ก็อาจทำให้เกิดการตีความ (เช่นด้านความสามารถในการใช้งาน) ที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดข้อถกเถึยงได้

เพราะแม้แต่จะเป็นแง่ทางเทคนิค เช่นการสามารถถอดออกไปใช้งานอื่นได้ (โดยไม่ทำให้เสียหาย) ก็ยังสามารถเป็นประเด็นให้ถกเถียงได้เช่นกัน ดังเช่นกรณีของยาแก้หวัดที่มี pseudoephedrine ผสมอยู่ที่แต่เดิมนั้นหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แม้ว่าตัวยาดังกล่าวจะมีปริมาณน้อยในเม็ดยาทั้งเม็ด แต่สุดท้ายก็ยังมีคนหาทางแยกออกไปผลิตเป็นแอมเฟตามีนได้ จนในที่ก็ห้ามจำหน่ายยาแก้หวัดสูตรนี้ตามร้านขายยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น