วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เพราะโลกมันกลม แล้วเราทุกคน คงได้กลับมาพบกันอีก MO Memoir : Tuesday 25 May 2564

 

เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๖๓) ก่อนงานปัจฉิมนิเทศน์ไม่กี่วัน ก็ได้รับอีเมล์ขอบคุณจากครูบนดอยท่านหนึ่ง ที่ท่านยังคงประทับใจกับค่ายที่ทางนิสิตปริญญาตรีของคณะ ที่ออกไปสร้างสะพานและสอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จ.อุตรดิตถ์ ในฤดูร้อนปีพ.ศ. ๒๕๒๙ (ที่ตอนนั้นครูท่านนั้นเป็นเพียงแค่เด็กน้อยคนหนึ่ง) ประสบการณ์นี้เป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นว่า ช่วงเวลาที่เรามีโอกาสได้อยู่ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าช่วงเวลานั้นจะสั้นหรือยาวนานเพียงใด จึงควรที่ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อเขาเหล่านั้น เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกย้ายจากกัน จะได้ไม่มีเรื่องบาดหมางค้างคาใจ และเมื่อใดที่มีโอกาสมาพบกันใหม่ ก็จะเกิดโอกาสที่รื่นรมย์ต่อทั้งสองฝ่ายที่ได้มาพบกัน

สำหรับรุ่นคุณเนี่ย ก็เป็นรุ่นพิเศษสำหรับผมรุ่นหนึ่ง ก็คงด้วยเหตุผลที่แสดงอยู่ในรูปข้างบนนั่นแหละครับ ส่วนเขาเป็นใครนั่นเหรอ ก็เป็นหนึ่งในคนที่ผมนำมาขึ้นรูปปกหน้ารวมบทความที่เป็นที่ทำเป็นระลึกให้กับพวกคุณนั่นแหละครับ

บางคราวยังเหมือนว่าเธออยู่ตรงนี้ เรื่องราวที่ดีก็ยังฝังใจ

บางความทรงจำเก่าเก่า ก็ยังงดงามไม่คลาย
กระจ่างอยู่ข้างใน เมื่อไรที่คิดขึ้นมา

ข้อความข้างบนจะว่าไปก็มาจากเพลงเศร้านะครับ แต่จะว่าไปความหมายของเนื้อเพลงท่อนนี้มันก็ใช้ได้กับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราต่างประสบในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเรื่องการที่ได้มีโอกาสสอนพวกคุณ ที่เมื่อกลับไปค้นรูปเก่า ๆ สมัยพวกคุณอยู่ปี ๒ เพื่อนำมารวมเล่มให้เป็นที่ระลึก ก็ทำให้นึกถึงภาพบรรยากาศความวุ่นวายในแลปตลอดเวลา ๒๗ ปีที่ทำงานมา

... หลายปีมาแล้วก่อนเริ่มสอนแลปเคมีวิเคราะห์ มีนิสิตหญิงคนหนึ่งมานั่งคุยและนั่งร้องไห้อยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องแลป ช่วงนั้นเป็นช่วงจัดกิจกรรมรับน้อง เขาได้เข้ามาปรึกษาผมเรื่องการที่ไม่ค่อย ๆ มีเพื่อน ๆ เข้าช่วยทำงาน

ผมก็ตอบเขาไปว่า "งานกิจกรรมนั้นเป็นงานอาสา ไม่มีการบังคับว่าใครต้องมาทำ และคนที่ทำก็ต้องไม่คิดว่าฉันดีกว่าคนที่ไม่มาทำ การที่เขาไม่มาร่วมงานกับเรานั้น เราก็ต้องกลับไปพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้นเขาเห็นชอบหรือไม่ การที่เขาไม่มาร่วมงานนั้นอาจเป็นเพราะว่าเขาคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสม เขาอยากเปลี่ยนแปลง แต่ทำไม่ได้ก็เลยไม่เข้ามาร่วม อย่าด่วนคิดว่าคนที่ไม่มาร่วมทำนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว"

"การที่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วมงานก็ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่าเป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสมหรือไม่ ทำไปเพื่อจุดประสงค์อะไร แล้วเขาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมีจุดประสงค์ที่ดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วม เราก็ต้องหาทางชักชวนให้เขามาร่วม นั่นหมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รูปแบบเดิมนั้นอาจใช้ได้ดีในสมัยหนึ่ง ในสภาพสังคมหนึ่ง แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปเราก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยที่ยังคงสามารถบรรจุจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้

แต่ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นมีจุดประสงค์ที่เลื่อนลอย ก็ควรพิจารณาว่าจะจัดต่อไปหรือไม่"

ผมบอกเขาต่อว่า "ถ้าคุณเหนื่อยมากก็ถอนตัวออกไปซิ งานจะล้มก็ช่างหัวมัน ดูจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาร่วมก็แปลได้ว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำอยู่แล้วนี่ ดังนั้นถ้างานนี้มันไม่เกิดขึ้นพวกเขาก็ไม่มีสิทธิจะว่าอะไรอยู่แล้ว"

ก่อนจบการสนทนาผมถามเขากลับไปว่า "ตอนนี้รู้หรือยังว่าเพื่อนคนไหนพึ่งได้"

เขาตอบกลับมาว่า "รู้แล้ว"

ผมก็ตอบกลับไปว่า "คุณได้ไปเยอะแล้วนี่ แล้วจะเอาอะไรอีกล่ะ" ...

ข้อความข้างบนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมเขียนให้กับนิสิตรหัส ๕๑ ในวันปัจฉิมนิเทศน์ของเขาเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว ยังจำได้ไหมครับ วันแรกที่พวกคุณเข้าแลป บางคนก็มาแบบไม่รู้เลยว่าคนอื่นเป็นใคร บางพวกก็มาเป็นกลุ่มแล้วมานั่งจับกลุ่มกันเพราะไม่รู้ว่ากลุ่มอื่นเป็นใคร บางคนคุณอาจจะเคยเห็นตอนเรียนปี ๑ หรือบางคนก็อาจไม่เคยเห็นเลย เพิ่งจะมาเห็นหน้ากันตอนเข้าภาควิชา แล้วตอนนี้ความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ที่คุณได้รู้จักตอนเข้าภาควิชานั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ โดยเฉพาะกับเพื่อนที่ต้องมาจับกลุ่มทำแลปด้วยกันแบบไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หวังว่าตอนนี้คุณแต่ละคนคงจะมี "เพื่อนที่สามารถพึ่งได้" แล้วนะครับ

เวลาสอนสัมมนานิสิตโท-เอก ผมจะบอกกับเขาเป็นประจำทุกรุ่นว่า "นำเสนออย่างไรให้ดูดีให้ได้รางวัล" ผมสอนไม่เป็นหรอก แต่ถ้าอยากรู้ว่า "ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก" อย่างนี้ผมพอจะช่วยสอนให้ได้ แต่การที่จะสามารถฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกได้นี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องและโดยละเอียด ไม่ใช่การจับเพียงแค่ข้อความบางข้อความที่ผู้นำเสนอนี้ต้องการเบี่ยงเบน หรือบิดเบือนประเด็น หรือขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ด้วยการเลือกนำเสนอเฉพาะเพียงแค่เศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด ผมเคยคุยกับศิษย์เก่าของภาควิชาและให้คำแนะนำเขาไปว่า "ถ้าคุณต้องการใครสักคนเพื่อทำให้คนอื่นยอมจ่ายเงินให้คุณโดยไม่ต้องคิด คุณก็ต้องมองหาคนนำเสนอเก่ง ๆ เอามาเป็นฝ่ายขายหรือโฆษณา แต่ถ้าคุณต้องการที่ปรึกษาว่าควรจะจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่มีคนนำเสนอหรือไม่ คุณควรใช้คนที่รู้ดีทางเทคนิคและให้ความเห็นได้โดยไม่มีอคติ สามารถแสดงได้ทั้งข้อดีข้อเสียของทางเลือกแต่ละแบบเพื่อประกอบการตัดสินใจของคุณ"

ตอนผมมาทำงานใหม่ ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้คำแนะนำเรื่องการซื้อรถว่า "ถ้าคุณอยากรู้ว่ารถรุ่นที่คุณสนใจนั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ให้เดินเข้าไปถามเซลล์บริษัทคู่แข่ง เอารุ่นรถที่คุณสนใจไปเทียบกับรถระดับเดียวกันของของบริษัทคู่แข่งแล้วให้ผู้ขายเขาวิจารณ์ให้ฟัง" คนขายของเขาย่อมอยากให้ของของเขาครองตลาดแต่เพียงผู้เดียวอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรมันจะดีหรือไม่ดี จะฟังจากผู้ผลิต (ที่อาจเป็นเพียงแค่บริษัท หรือประเทศ หรือกลุ่มประเทศก็ได้) แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่การที่จะใช้ความรู้หรือปัญญาที่มีในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องมี "สติ" คอยกำกับด้วย

ข้อคิดสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ให้พวกคุณนำไปพิจารณาคือ ส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานต่อบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๓๙ เมื่อวันพุธที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่น่าจะเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันมากที่สุด (จาก http://www.kingrama9.chula.ac.th/kings-guidance/167/)

"... ความเป็นบัณฑิต นอกจากจะหมายรู้ได้ที่ความรู้ความฉลาดสามารถในหลักวิชาแล้ว ยังสังเกตทราบได้ที่ความคิด คำพูด และการกระทำ อีกทางหนึ่ง ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง กล่าวคือ ถ้าคนเราคิดดี คิดถูกต้อง ทั้งตามหลักวิชาและคุณธรรม คำพูดและการกระทำก็เป็นไปในทางที่ดีที่เจริญ แต่ถ้าคิดไม่ดี ไม่ถูกต้อง คำพูดและการกระทำก็อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหาย ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวมได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูดนั้น ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นคุณ เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ บัณฑิตจึงควรฝึกหัดปฏิบัติตนให้เป็นคนคิดก่อนพูด คิดก่อนทำ จนเป็นปรกตินิสัย จึงจะได้ชื่อว่าประพฤติปฏิบัติตนสมกับความเป็นบัณฑิต ที่คนเขายกย่องเชื่อถือ ..."

แล้ววันหนึ่ง เชื่อว่าพวกเราทุกคน จะได้กลับมาพบเจอ แบบเจอตัวตนจริงกัน

ท้ายสุดนี้ก็ขออวยพร ให้พวกคุณทุกคน ประสบแต่ความสุขความเจริญ ในชีวิตตลอดไป

ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับที่ระลึกได้ที่นี่

ดาวน์โหลดคลิปวิดิทัศน์ที่ระลึกได้ที่นี่

 

วันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๑ อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ จังหวัดนครนายก


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น