ตัวอย่างนี้น่าจะเป็นข้อถกเถียงได้ว่า ควรจะตีความตามตัวอักษร หรือควรจะตีความตามบริบท
ในความเป็นจริงเราคงต้องยอมรับว่า เราคงไม่สามารถเขียนกฎเกณฑ์ที่สามารถครอบคลุมข้อห้ามหรือข้อยกเว้นได้ทุกกรณี ดังนั้นในกรณีที่เกิดปัญหาว่ามันไม่ตรงกับกฎเกณฑ์ที่เขียนไว้ แล้วเราจะทำอย่างไร ใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ
กรณีของตัวอย่างที่ ๘ นี้เป็นกรณีของ Drawing (แบบพิมพ์เขียว) สำหรับผลิตตัวเก็บประจุ (ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า condenser (และญี่ปุ่นก็เรียกแบบนี้) หรือ capacitor) ที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม (รูปที่ ๑ ข้างล่าง)
รูปที่ ๑ รายละเอียด Drawing สำหรับผลิตตัวเก็บประจุ (ที่เป็นสินค้าไม่เข้าข่าย) และข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิตตัวเก็บประจุนี้ บริษัทนี้ผลิตตัวเก็บประจุทั้งที่เป็นสินค้าเข้าข่ายและไม่เข้าข่าย
ตัวอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นส่วนขยายของกรณีตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุก็ได้ กล่าวคือบริษัทแห่งหนึ่งผลิตตัวเก็บประจุทั้งชนิดที่เป็นสินค้าเข้าข่ายและไม่เข้าข่าย การส่งออกตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้าไม่เข่ายไปยังต่างประเทศไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องการไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่ "ไม่เข้าข่าย" ในต่างประเทศ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องมีการส่งออก Drawing หรือแบบพิมพ์เขียวให้กับโรงงานที่จะสร้างขึ้นในต่างประเทศ ตรงนี้ถ้ามองกันตามตัวอักษรก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะสิ่งที่จะส่งออกไปนั้นไม่ได้ใช้สำหรับผลิตสินค้าที่เข้าข่าย
แต่สิ่งที่วิทยากรชี้ให้เห็นก็คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสินค้าไม่เข้าข่ายกับสินค้าเข้าข่ายนั้น เป็นเทคโนโลยีเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นต่างเทคโนโลยีกัน (คือไม่สามารถใช้เทคโนโลยีของพิมพ์เขียวนั้นในการผลิตสินค้าเข้าข่ายได้) ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกัน ทำเพียงแค่การเปลี่ยนหรือดัดแปลงชิ้นส่วนบางชิ้นเท่านั้น (เช่นในตัวอ่างนี้คืออาจทำการเปลี่ยนสายไฟให้สั้นลงหรือเปลี่ยนชนิดสายไฟ) ก็ควรจัดว่าการส่งออกเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องได้รับการควบคุม (รูปที่ ๒)
รูปที่ ๒ ผลการวินิจฉัยของบริษัท Mitsubishi Electric ที่มองว่าแม้ว่าแบบพิมพ์เขียวสำหรับผลิตตัวเก็บประจุที่ไม่ได้เป็นสินค้าเข้าข่าย จัดว่าเป็นการส่งออกเทคโนโลยีที่ต้องได้รับการควบคุม เนื่องจากสามารถนำไปดัดแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถผลิตสินค้าที่เข้าข่ายควบคุมได้
ในตัวอย่างนี้ การตัดสินว่าเทคโนโลยีที่จะส่งออกนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ "เข้าข่าย" หรือ "ไม่เข้าข่าย" ขึ้นอยู่ที่ตัวบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในฐานะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว ว่าสิ่งที่ดูตามตัวอักษรแล้วมันไม่เข้าข่าย แต่ในความเป็นจริงนั้นสามารถใช้ผลิตสินค้าที่เข้าข่ายได้ด้วยการดัดแปลงบางสิ่งที่ปรากฏในแบบพิมพ์เขียวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตรงนี้การตรวจสอบของภาครัฐคงทำไม่ได้หรือยากที่จะทำ เพราะภาครัฐเองก็ไม่ได้มีคนที่จะรู้เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีทุกเรื่องและทางบริษัทเองก็ยังสามารถอ้างได้ว่าแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
ด้วยเหตุนี้ตอนที่ไปฝึกอบรม จึงได้รับคำถามจากทางญี่ปุ่นกลับมา ว่าประเทศไทยจะทำอย่างไร เพื่อให้เอกชนนั้นตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และเพื่อให้แต่ละหน่วยงานนั้นสามารถวินิจฉัยได้ว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่นั้นสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ผลิตสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น