วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟราชบุรี MO Memoir : Saturday 31 July 2564

ก๋วยเตี๋ยวกล่องเส้นเล็กแห้ง กล่องละ ๑๐ บาท ที่สถานีนี้ก็อร่อยดี ไม่เสียทีที่แวะเข้าไปถ่ายรูปและซื้อติดมือออกมา

ราชบุรีก็เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีพรมแดนด้านตะวันตกติดประเทศพม่า แต่คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกเสียมากกว่า ความเจริญในอดีตก็มีให้เห็นที่เมืองโบราณบ้านคูบัว

สะพานจุฬาลงกรณ์ที่เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองก็เคยเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ ๒ และผลกระทบหนึ่งที่ยังอยู่ ณ ปัจจุบันคือมีลูกระเบิดที่ด้านจมอยู่ในแม่น้ำบริเวณใต้สะพาน มันก็อยู่ตรงนั้นมานานแล้วแต่เพิ่งจะมีปัญหาก็เพราะการขยายทางรถไฟเป็นทางคู่ที่ต้องมีการสร้างสะพานเพิ่มเติม และดันไปพบระเบิดลูกนี้เข้า ในขณะที่ทางทหารกำลังหาทางกู้ระเบิดลูกนี้ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อใด ทางการรถไฟก็วางแผนเปลี่ยนรูปแบบสะพานโดยเลี่ยงการมีตอม่อกลางแม่น้ำแทน แต่ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าแม้ว่าการสร้างสะพานจะหลีกเลี่ยงการไปกระทบกระเทือนลูกระเบิดที่จมน้ำอยู่ แต่ถ้าการกู้ระเบิดเกิดมีความผิดพลาดขึ้นมา แรงระเบิดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสะพานที่สร้างใหม่หรือไม่ (ของเดิมน่าจะโดนอยู่แล้วเพราะเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดเดิม)

ถึงแม้ว่ารูปแบบการเดินทางด้วยรถไฟจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง แต่ตามสถานีใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดบางสถานีก็ยังเหลือร่องรอยของความรุ่งเรืองของการเดินทางด้วยรถไฟในอดีต อย่างเช่นที่ราชบุรีนี้ ก็ยังคงมีร่องรอยสำหรับรถจักรไอน้ำหยุดเติมน้ำอยู่ให้เห็น บันทึกฉบับนี้ถือว่าเป็นการบันทึกภาพสถานที่ธรรมดาแห่งหนึ่งเอาไว้ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ธันวาคม ๒๔๗๘ สถานีรถไฟราชบุรีอยู่ตรงกลางด้านล่างสุดของภาพ

รูปที่ ๒ ป้ายบอกสถานีที่อยู่เคียงข้าง มุ่งหน้าลงใต้ก็ไปยังสถานีบ้านคูบัว มุ่งหน้าไปบ้านโป่งก็ไปสถานีบ้านกล้วย

รูปที่ ๓ ป้ายชื่อสถานีมองย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ จะเห็นถังเก็บน้ำและจุดเติมน้ำให้กับหัวรถจักร

รูปที่ ๔ บริเวณที่นั่งพักรอรถไฟ

รูปที่ ๕ ป้ายชื่อสถานีที่ตัวอาคาร

รูปที่ ๖ บรรยากาศเก่า ๆ ของประตูไม้เก่า ๆ

รูปที่ ๗ ถังเก็บน้ำสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ ริมทางรถไฟจะเห็นเส้นลวดของระบบอาณัติสัญญาณแบบเก่าอยู่

รูปที่ ๘ อีกมุมหนึ่งของถังเก็บน้ำ

รูปที่ ๙ เสาสำหรับเติมน้ำให้กับหัวรถจักร มีวาล์วอยู่ข้างล่าง

รูปที่ ๑๐ อีกมุมหนึ่งของเสาสำหรับเติมน้ำให้กับหัวรถจักร

รูปที่ ๑๑ ตุ้มถ่วงสำหรับดึงลวดให้ตึงสำหรับระบบประแจกลสายลวด

รูปที่ ๑๒ เสาสำหรับรับ-ส่งคืนห่วงทางสะดวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น