วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ปั๊มระเบิด เพราะไม่ได้เปิดวาล์ว (๓) MO Memoir : Monday 26 February 2567

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามและเป็นเรื่องสุดท้ายในบทความเรื่อง "Case Histories of Pump Explosions while Running Isolated" เขียนโดย D.S. Giles และ P.N. Lodal ตีพิมพ์ในวารสาร Process Safety Progress, Vol, 20, No. 2 หน้า 152-156 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 โดยในกรณีนี้เป็นปั๊มคอนเดนเสต (condensate - ในที่นี้คือน้ำที่เกิดจากไอน้ำที่ควบแน่น)

ความหมายของคำว่า "condensate" ที่เป็นชื่อเรียกย่อ ๆ นี้ขึ้นอยู่กับว่าคุยกันเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับไอน้ำก็จะหมายถึง steam condensate หรือไอน้ำที่ควบแน่นเป็นน้ำ ถ้าเป็นเรื่องการขุดเจาะแก๊สธรรมชาติก็จะหมายถึงไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่ที่ควบแน่นเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิห้องและความดันบรรยากาศหรือ natural gas condensate ถ้าเป็นเรื่องการกลั่นก็จะหมายถึงไอที่ควบแน่นเป็นของเหลวที่เครื่องควบแน่น

รูปที่ ๑ ปั๊มคอนเดนเสตที่เสียหาย

น้ำที่จะเอาไปผลิตไอน้ำต้องผ่านการปรับสภาพด้วยการกำจัดแก๊สและไอออนต่าง ๆ ที่ละลายอยู่ออกก่อน ส่วนที่ว่าต้องกำจัดออกมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานและความดันของไอน้ำที่ต้องการผลิต ไอน้ำที่ควบแน่นเป็นของเหลว (ที่เรียกย่อ ๆ ว่าคอนเดนเสต) อาจถูกปล่อยทิ้ง รวบรวมเอาไปผลิตไอน้ำใหม่ หรือนำไปลดความดันเพื่อผลิตไอน้ำความดันต่ำ

คอนเดนเสตที่เกิดจากการควบแน่นไอน้ำความดันสูงจะเป็นของเหลวภายใต้ความดันที่สูง เมื่อนำคอนเดนเสตนี้ไปลดความดัน น้ำบางส่วนจะกลายเป็นไอน้ำความดันต่ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดกับปั๊มคอนเดนเสตที่เป็นปั๊มหอยโข่งขนาดใหญ่ (อัตราการไหล 2,600 แกลลอนต่อนาที เฮด 250 ฟุต มอเตอร์ขนาด 75 แรงม้า) ที่พบว่าเกิดการระเบิดหลังระบบไอน้ำมีปัญหา หลังการระเบิดพบชิ้นส่วนตัวเรือนปั๊มหนัก 5 ปอนด์ (กว่า 2 กิโลกรัม) ปลิวไปไกลกว่า 400 ฟุต (ราว ๆ 120 เมตรหรือข้ามฟากสนามฟุตบอลตามแนวยาว) จากการตรวจสอบพบว่าวาล์วด้านขาเข้าและด้านขาออกของปั๊มนั้นปิดอยู่

รูปที่ ๒ ความเสียหายของตัวใบพัดและมอเตอร์

ปรกติปั๊มหอยโข่งจะมีวาล์วกันการไหลย้อนกลับอยู่ทางด้านขาออกโดยอยู่ระหว่างปั๊มกับวาล์วด้านขาออก วาล์วตัวนี้ป้องกันไม่ให้ของเหลวด้านความดันสูงไหลย้อนกลับเวลาปั๊มหยุดทำงาน เพราะจะทำให้ใบพัดปั๊มหมุนกลับทิศทางและอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ หรือถ้าทำการเริ่มเดินเครื่องปั๊มในขณะที่ใบพัดหมุนกลับทิศอยู่นั้น (ผลจากของเหลวความดันสูงที่รั่วไหลย้อนผ่านวาล์วกันการไหลย้อนกลับมาได้) ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน แต่การป้องกันด้วยวาล์วกันการไหลย้อนกลับนั้นไม่ถือว่าเป็นมาตรการที่ไว้วางใจได้ เป็นเพียงแค่ให้เวลาสำหรับโอเปอร์เรเตอร์ที่จะต้องไปปิดวาล์วด้านขาออก

ในกรณีนี้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ โอเปอร์เรเตอร์จึงเข้าไปปิดวาล์วด้านขาเข้าและขาออกของปั๊ม (ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น) โดยคิดว่าไฟฟ้าคงจะดับเป็นเวลานาน แต่เนื่องจากไฟฟ้าดับไม่นานจึงมีการกลับมาเดินเครื่องปั๊มใหม่อีกโดยที่ไม่ได้เปิดวาล์วด้านขาเข้าและขาออก คอนเดนเสตที่อยู่ในปั๊มจึงร้อนจนทำให้ปั๊มระเบิด

ในเหตุการณ์นี้มีบางประเด็นที่ต้องพิจารณา เรื่องแรกคือปรกติเวลาไฟฟ้าดับ ตัวอุปกรณ์จะหยุดทำงานและสวิตช์ควรไปอยู่ที่ตำแหน่งปิดเครื่องเพื่อที่เมื่อไฟฟ้ากลับคืนมาแล้วตัวอุปกรณ์จะไม่เริ่มทำงานด้วยตนเอง (ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้าสวิตช์ค้างอยู่ในตำแหน่งเปิดเครื่อง) ในเหตุการณ์นี้ปั๊มกลับมาทำงานเองหรือไม่ เรื่องที่สองก็คือถ้าหากเมื่อไฟฟ้ากลับมาแล้วและโอเปอร์เรเตอร์ต้องเข้าไปเริ่มเดินเครื่องปั๊มใหม่ ทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบตำแหน่งวาล์วด้านขาเข้าและออกว่าอยู่ที่ตำแหน่งใด

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ที่แน่ ๆ ก็คือแม้แต่น้ำเปล่าธรรมดาที่ขังอยู่ในตัวปั๊ม ก็สามารถทำให้ปั๊มระเบืดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น