เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เป็นเรื่องที่สองในบทความเรื่อง "Case Histories of Pump Explosions while Running Isolated" เขียนโดย D.S. Giles และ P.N. Lodal ตีพิมพ์ในวารสาร Process Safety Progress, Vol, 20, No. 2 หน้า 152-156 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2001 โดยเป็นเรื่องของปั๊มโซดาไฟ (Caustic soda หรือสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์)
ปั๊มน้ำอัตโนมัติที่ใช้กันตามบ้านเป็นปั๊มขนาดเล็กที่ตัวปั๊มติดมากับตัวมอเตอร์ไฟฟ้า (เพลามอเตอร์กับเพลาหมุนใบพัดปั๊มเป็นเพลาเดียวกัน) ที่เคยเจอกับตัวนั้นปั๊มแบบนี้เวลาที่ของเหลวในปั๊มร้อน (pressure switch เสีย เลยทำให้ปั๊มไม่หยุดทำงานแม้ว่าจะไม่มีการเปิดใช้น้ำ) จะทำให้ตัวมอเตอร์ร้อนตามไปด้วย และปรกติตัวมอเตอร์ก็จะมี thermal switch อยู่ ดังนั้นพอมอเตอร์มีอุณหภูมิสูงเกิน มันก็จะหยุดทำงาน และจะไม่สามารถเริ่มการทำงานใหม่ได้จนกว่าตัวมอเตอร์จะเย็นลง
รูปที่ ๑ ภาพความเสียหายของปั๊ม
ปั๊มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาจะมีตัวปั๊มและมอเตอร์แยกจากกัน ผู้ใช้สามารถเลือกยี่ห้อปั๊มที่ตัวเองต้องการแล้วมาจับคู่กับมอเตอร์ยี่ห้อที่ตัวเองต้องการ จากนั้นก็นำมาประกอบต่อเพลาใบพัดปั๊มเข้ากับเพลามอเตอร์ ดังนั้นเวลาที่ปั๊มร้อน (เช่นทำงานกับของเหลวที่ร้อน) มอเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องร้อนตาม
รูปที่ ๒ ความเสียหายของตัวใบพัด
เหตุการณ์ที่สองนี้เป็นกรณีของปั๊มสูบจ่ายสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือสารละลายโซดาไฟของหน่วยผลิตแห่งหนึ่งที่ปิดการทำงานถาวร มีการปิดวาล์วด้านขาเข้าและขาออกของตัวปั๊ม แต่ไม่ได้ทำการระบายของเหลวที่ค้างอยู่ในปั๊มออก และไม่ได้มีการปลดการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับปั๊ม (ทำเพียงแค่ปิดสวิตช์เอาไว้)
เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันหนึ่งที่มีผู้รับเหมาต้องเข้าไปทำงานในอีกส่วนหนึ่งของโรงงาน และจำเป็นต้องมีการเปิดพัดลมระบายอากาศ สวิตช์ปิด-เปิดพัดลมระบายอากาศและสวิตช์ปิด-เปิดปั๊มสารละลายโซดาไฟอยู่เคียงข้างกัน (ตำแหน่งที่ตั้งสวิตช์อยู่ห่างจากปั๊มประมาณ 50 ฟุต) และมีลักษณะที่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีป้ายระบุว่าสวิตช์ตัวไหนเป็นสวิตช์ของอุปกรณ์ใด แต่ป้ายดังกล่าวก็มีขนาดเล็ก (ในบทความบอกว่าต้องเข้าไปดูใกล้) และใช้วิธีการแกะสลักตัวอักษร (ตรงนี้บทความคงหมายถึงการกัดพื้นผิวโลหะให้เป็นตัวอักษร)
ปรากฏว่าผู้รับเหมาเปิดสวิตช์ผิด คือไปเปิดของปั๊มแทนที่จะเป็นของพัดลม หลังจากเปิดให้ปั๊มทำงานไม่นาน ก็เกิดการระเบิดที่ทำให้หน้าต่างที่อยู่ห่างออกไปถึง 200 ฟุต (ก็เกือบ 70 เมตร) สั่นสะเทือน ส่วนความเสียหายของปั๊มมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากรูปที่นำมาจากบทความ
รูปที่ ๓ ความเสียหายบริเวณตัวปั๊มและมอเตอร์
ในกรณีนี้ของเหลวที่อยู่ในปั๊มเป็นของเหลวที่ไม่ติดไฟที่อุณหภูมิห้อง (จุดเดือดเกิน 100ºC เพราะเป็นสารละลายในน้ำ) แต่เวลาที่มันร้อนจัดอันเป็นผลจากการปั่นกวนของใบพัด (มอเตอร์ทำงานที่ความเร็วรอบ 1,750 rmp) มันก็สามารถทำให้เกิดแรงดันที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ ในเหตุการณ์นี้เนื่องจากไม่มีใครทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น