วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567

อันตรายใน Analyser House เรื่องที่ ๑ MO Memoir : Wednesday 20 March 2567

อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นสวิตช์ปิด-เปิด, มอเตอร์, โคมไฟ ฯลฯ) ที่ติดตั้งในบริเวณที่อาจมีการรั่วไหลของแก๊สเชื้อเพลิงได้ (ที่ในวงการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีมักจะเรียกว่าเป็น Hazadous area) จะเป็นชนิดพิเศษที่แตกต่างไปจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราพบเห็นกันทั่วไป โดยเรามักจะเรียกอุปกรณ์พวกนี้ว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันการระเบิดหรือ Explosion Proof (ไม่ได้แปลว่ามันไม่สามารถจุดระเบิดได้นะ แต่ถ้ามีการจุดระเบิดเกิดขึ้นภายในตัวมัน ตัวโครงสร้างเองจะต้องสามารถรองรับแรงระเบิดที่เกิดขึ้นและไม่ทำให้เปลวไฟที่เกิดขึ้นภายในนั้นแพร่ออกมาจุดระเบิดไอเชื้อเพลิงที่อยู่ภายนอกอุปกรณ์ได้)

แต่ก็ใช่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดมันจะมีแบบ Explosion Proof ให้เลือก (พวกมอเตอร์, สวิตช์ไฟ, โคมไฟ มันมีให้เลือก) เครื่องมือวิเคราะห์จำนวนมากที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทั่วไปมันไม่มีแบบ Explosion proof ให้เลือก แต่บ่อยครั้งที่ทางโรงงานต้องการติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้ในพื้นที่ผลิตด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมกระบวนการแบบเวลาจริง (real time) เช่นเครื่องมือ Gas Chromatograph (GC) ที่ใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของแก๊สผสม การแก้ปัญหาที่ทำกันก็คือสร้างอาคารเล็ก ๆ ในบริเวณพื้นที่การผลิตขึ้นมาสักหลัง เพื่อไว้ติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์เหล่านี้ โดยด้านในอาคารจะมีความดันสูงกว่าภายนอกอาคารโดยใช้อากาศที่สะอาดอัดเข้ามาภายใน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเชื้อเพลิงจากภายนอกไหลเข้าไปตัวอาคารได้ อาคารนี้เรียกว่า "Analyser House"

(การวิเคราะห์บางชนิดจำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ เช่นการวิเคราะห์องค์ประกอบของแก๊สด้วยเครื่อง GC ดังนั้นองค์ประกอบที่วิเคราะห์ได้จึงเป็นค่าองค์ประกอบ ณ เวลาที่เก็บตัวอย่าง (เวลาที่ผ่านเลยมาแล้ว) ไม่ใช่เวลาที่เครื่องแสดงผลออกมา (เวลาจริงในขณะนั้น) ผลต่างสองเวลานี้เราเรียกว่า delay time หรือเวลาล่าช้า ซึ่งในการควบคุมกระบวนการแบบ real time นั้นต้องหาทางลด delay time นี้ให้เหลือน้อยที่สุด และที่จะลด delay time ลงก็คือนำตัวอย่างจากระบบมาวิเคราะห์ให้รวดเร็วที่สุด และวิธีการหนึ่งที่ทำได้ก็คือการนำเครื่องมือวิเคราะห์ไปตั้งไว้ใกล้จุดที่เก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ให้มากที่สุด และต่อท่อนำสารตัวอย่างจากจุดที่ต้องการเก็บมาป้อนเข้าสู่เครื่องวิเคราะห์โดยตรง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องไปตั้งเครื่องมือวิเคราะห์ใน hazardous area และทำไมต้องมี Analyser House)

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ Analyser House โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดอากาศของช่างเทคนิคเครื่องมือวัด (Instrument technician) ที่เข้าไปทำงานภายใน Analyser House

เรื่องนี้นำมาจากเอกสาร "BP Process Safety Series : Hazards of Nitrogen and Catalyst Handling" ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง British Petroleum (BP) และ Institute of Chemical Engineers (ประเทศอังกฤษ) จัดทำขึ้น โดยอยู่ในหัวข้อ 1.8 เรื่อง Hazards of confusing nitrogen with air (รูปที่ ๑)

คำบรรยายเหตุการณ์เล่าว่า หลังจากเกิดเหตุไฟฟ้าดับทั้งหมดทั่วทั้งบริเวณพื้นที่ผลิต มีผู้ไปพบช่างเทคนิคเครื่องมือวัดนอนไม่ได้สติอยู่ใน Analyser House จึงได้รีบนำส่งโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลได้ประกาศว่าเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็เสียชีวิตมาแล้ว (dead on arrival)

บทความไม่ได้บอกออกมาตรง ๆ ว่าสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตคืออะไร บอกแต่เพียงว่าในระหว่างที่ไฟฟ้าดับนั้น มีการแทนที่ Instrument Air (IA) ด้วยไนโตรเจน และสงสัยว่าการรั่วของไนโตรเจนคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต (คือไนโตรเจนรั่วออกมาแทนที่อากาศภายในห้อง)

แต่เหตุการณ์นี้ก็มีจุดน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมคนที่เข้าไปทีหลังจึงไม่ประสบเหตุเช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต

รูปที่ ๑ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด ส่วนรูปนั้นน่าจะเป็นการจัดทำขึ้นประกอบเนื้อหา ไม่ใช่เหตุการณ์จริง เพราะสื่อที่โน่นเขาจะไม่นำเอาภาพผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บมาเป็นจุดขาย

รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Analyser House ที่มีป้ายเตือน ขยายภาพต้นฉบับแล้วอ่านชัดเจนได้เพียงแค่ "CAUTION HAZADOUS ATMOSPHERE MAY BE PRESENT IN SHELTER. BEFORE ENTERING TEST FOR ...." (บทความแค่นำเสนอตัวอย่างป้านเตือนหน้า Analyser House ให้เห็น ไม่ได้บอกว่านี่คือสถานที่เกิดเหตุนะ

ในโรงงานจะมีการใช้อากาศอัดความดัน (compressed air) ทำงานต่าง ๆ เช่น การระบายอากาศ การควบคุมการหมุนและ/หรือปิด-เปิดวาล์วควบคุม หรือใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ลม (pneumatic motor เช่นประแจลมหรือบล็อกลมที่ช่างใช้เวลาขันนอตล้อรถ) อากาศอัดความดันได้จากการนำเอาอากาศรอบตัวที่มีความชื้นอยู่นั้นมาอัดให้มีความดันสูงขึ้น ความชื้นในอากาศบางส่วนจะควบแน่นกลายเป็นน้ำและถูกระบายออกไป อากาศที่ระบายน้ำที่ควบแน่นทิ้งไปแล้วมักเรียกว่า Plant Air (PA) แต่ถ้าจะนำอากาศอัดความดันนี้ไปใช้ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ (เช่นวาล์วควบคุมการไหล) จะต้องกำจัดความชื้นที่หลงเหลืออยู่ออกให้ลดต่ำลงไปอีก (เช่นด้วยการใช้สารดูดความชื้น) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำที่อาจตามมาด้วยการแข็งตัวเป็นน้ำแข็งของน้ำที่ควบแน่นในระบบเมื่ออากาศรอบข้างเย็นจัด อากาศที่ผ่านการกำจัดความชื้นให้ลดต่ำลงอีกนี้เรียกว่า Instrument Air (IA)

เมื่อไฟฟ้าดับ เครื่องอัดอากาศก็จะไม่ทำงาน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียการควบคุมการทำงานทันที ก็จะมีถังเก็บอากาศอัดความดันทำหน้าที่สำรองอากาศอัดความดันไว้ใช้งานถ้าหากเกิดเหตุไฟฟ้าดับ แต่ถ้าไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน อากาศที่สำรองไว้ก็จะหมดไป ต้องหาแก๊สความดันจากแหล่งอื่นเข้ามาชดเชย ในเหตุการณ์นี้คาดว่าระบบฉุกเฉินที่เขาใช้คือไนโตรเจน

ในโรงงานเหล่านี้มีการใช้ไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก และไนโตรเจนก็ได้มาจากการกลั่นอากาศแยกออกเป็นออกซิเจนและไนโตรเจน ในขณะที่อากาศอัดความดันนั้นจะสำรองในรูปของถังอากาศความดันสูงที่อุณหภูมิห้อง แต่ไนโตรเจนนั้นจะสำรองในรูปของไนโตรเจนเหลว (อุณหภูมิประมาณ -196ºC) ที่ความดันบรรยากาศ จึงทำให้เก็บสำรองได้มากกว่าที่ปริมาตรถังเก็บเท่ากัน และเมื่อให้ไนโตรเจนเหลวระเหย ก็จะกลายเป็นแก๊สไนโตรเจนที่มีความดันสูงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องอัดแก๊ส

การขาดออกซิเจนนั้นถ้าหากเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่ความเข้มข้นออกซิเจนค่อย ๆ ลดต่ำลง มันจะมีอาการแสดงเตือนออกที่ทำให้สามารถออกจากบริเวณดังกล่าวได้ทัน แต่ถ้าเข้าไปในพื้นที่ที่ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำลงมากถึงจุดหนึ่ง จะเกิดอาการหมดสติทันทีแบบไม่ทันตั้งตัว ในเหตุการณ์นี้ขอคาดเดาว่า Analyser House คงใช้พัดลมดูดอากาศภายนอกอัดเข้ามาข้างใน เมื่อไฟฟ้าดับพัดลมจึงไม่ทำงาน ไนโตรเจนในท่อที่รั่วออกมาจึงสะสมจนทำให้ความเข้มข้นออกซิเจนต่ำลงมาก แต่พอไฟฟ้ากลับมา พัดลมอัดอากาศเริ่มทำงานใหม่ บรรยากาศในห้องกลับมาปลอดภัยเหมือนเดิม ผู้ที่เข้ามาทีหลังจึงไม่ประสบเหตุเช่นเดียวกับคนแรกที่เข้าไปตอนไฟฟ้าดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น