วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

บทเรียนจากคืนวันศุกร์ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖ ตอนที่ ๑ ทางเข้า-ออกฉุกเฉิน MO Memoir : Saturday 20 April 2556

เนื้อหาในบันทึกฉบับนี้เขียนขึ้นจากมุมมองส่วนตัว จากประสบการณ์ส่วนตัว และจากข้อมูลที่ได้รับมาหลังเหตุการณ์เกิด ดังนั้นผู้อ่านจึงพึงควรใช้วิจารณญานในการอ่าน และไม่ควรนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ
  
วัตถุประสงค์ของการเขียนบันทึกฉบับนี้มีเพียงเพื่อการศึกษา เป็นเพียงการนำเสนอมุมมองต่าง ๆ ที่ผู้เขียนคิดว่าควรต้องมีการพิจารณาในการหาสาเหตุ การวางมาตรการ และการออกแบบการป้องกัน

ช่วงระหว่างเวลา ๒๐.๓๐ น ถึง ๒๑.๐๐ น ได้เกิดเพลิงลุกไหม้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่วางอยู่บนโต๊ะใกล้ผนังในอาคารแห่งหนึ่ง เพลิงดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ต้นเหตุและอุปกรณ์อื่นที่วางอยู่รอบ ๆ บริเวณเกิดเหตุ (ในรัศมีประมาณ 0.50 เมตร) โดยเปลวไฟได้ลุกไหม้ผนังบางส่วนขึ้นไปทางด้านบน 
  
ความร้อนจากเปลวไฟทำให้หัวสปริงเกอร์จำนวน ๑ หัวทำงาน ฉีดน้ำลงมาดับไฟก่อนที่พนักงานดับเพลิงจะเดินทางมาถึง แต่ก็ยังมีกลุ่มควันตกค้างอยู่ในห้องดังกล่าว ประมาณเวลา ๒๒.๐๐ น พนังงานดับเพลิงจึงเดินทางกลับ
  
แผนผังบริเวณที่เกิดเหตุแสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง

รูปที่ ๑ แผนผังบริเวณที่เกิดเหตุ
 
ความเสียหายจากเปลวไฟอยู่ในบริเวณจำกัด แต่ความเสียหายจากน้ำดับเพลิงจะกินบริเวณกว้างกว่า เพราะบริเวณรอบ ๆ มีอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นวางตั้งอยู่ด้วย ซึ่งในขณะที่เขียน Memoir นี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะยังไม่มีการจ่ายไฟฟ้าให้กับบริเวณฟากด้านของอาคารที่เกิดเหตุ
  
ในขณะเกิดเหตุนั้นมีนิสิตทำงานอยู่ในห้อง R1 ส่วนห้อง R2 และ R3 นั้นไม่มีผู้ทำงานและประตูห้องปิดอยู่ ผนังกั้นระหว่างห้อง R1-R2-R3 เป็นผนังสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับแบ่งกั้นบริเวณในสำนักงานทั่วไป โดยมีลักษณะเป็นแผ่นทึบสูงขึ้นไปประมาณ 2 เมตร ถัดจากนั้นจะเป็นกระจกจนถึงระดับคานของพื้นชั้นบน โดยผนังห้องที่เกิดเพลิงไหม้นั้นจะเรียบเสมอไปกับขอบด้านข้างของคานทางด้านห้อง R2 (การกั้นห้องย่อยภายในอาคารกระทำภายหลังจากที่ได้มีการจัดสรรพื้นที่ทำงาน)
  
นิสิตที่ทำงานอยู่ในห้อง R1 ไม่ทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นในห้องข้าง ๆ จนกระทั่งความร้อนจากเปลวเพลิงทำให้กระจกที่อยู่ด้านบนผนังกั้นนั้นแตกออก (แต่ไม่ร่วงลงมา) จึงได้ลงลิฟต์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำอยู่ที่ทางเข้าออกของอาคาร จากนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงขึ้นมาตรวจสอบ และแจ้งพนักงานดับเพลิง
  
ภาพกว้างของบริเวณที่เกิดเหตุแสดงในรูปที่ ๒ ส่วนรูปที่ ๓ เป็นรูปที่ถ่ายจากห้อง R1 ในระหว่างเกิดเหตุนั้นไม่มีสัญญาณ fire alarm ของชั้นที่ต่ำลงไป ๑ ชั้นดังขึ้น แต่ผมไม่มีข้อมูลว่าสัญญาณของชั้นที่เกิดเพลิงไหม้นั้นดังหรือไม่


รูปที่ ๒ ภาพถ่ายบริเวณสถานที่เกิดเหตุ

รูปที่ ๓ ภาพถ่ายจากอีกฟากด้านของผนังด้านที่เกิดเหตุ

เมื่อพนักงานดับเพลิงมาถึง (ประมาณ ๒๑.๐๐ น) มีการฉีดน้ำเพิ่มเติม ทำให้น้ำเจิ่งนองไปทั่วพื้นชั้นด้านทิศเหนือ และไหลไปยังห้องข้างเคียงที่ไม่เกิดเพลิงไหม้ด้วย การฉีดน้ำนี้กระทำหลังจากที่สปริงเกอร์ทำงานไปแล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าก่อนที่พนักงานดับเพลิงทำการฉีดน้ำเพิ่มเติมนั้นไฟได้ดับไปแล้วหรือยัง พนักงานดับเพลิงถอนกำลังกลับไปเมื่อเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น

ที่กล่าวมานั้นเป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด แต่ก็ยังมีข้อมูลอื่นอีกที่ควรต้องรู้ไว้ก่อนที่จะทำการพิจารณา คือเรื่อง fire alarm และการออกแบบตัวอาคารที่เกิดเหตุ

เมื่อเกิดเพลิงไหม้นั้น ไฟมีแนวโน้มที่จะลุกไหม้ขึ้นด้านบนได้เร็วกว่าการลุกไหม้ลงด้านล่าง ในกรณีของอาคารสูงนั้นถ้าเกิดไฟไหม้ที่ชั้นบริเวณตอนกลางของอาคาร ไฟจะลามขึ้นสู่ด้านบนได้เร็วกว่าลามลงสู่ด้านล่าง ตัวอาคารสูงเองนั้นจะมีคนทำงานอยู่จำนวนมากในบริเวณพื้นที่แคบ ๆ (คิดพื้นที่แนวราบนะ) ดังนั้นถ้าหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ชั้นใด ๆ แล้วสั่งอพยพคนทั้งอาคารพร้อมกันหมด เส้นทางหนีไฟจะรองรับปริมาณคนจำนวนมากไม่ได้ คนที่อยู่ชั้นบนจะไม่สามารถลงสู่ด้านล่างได้เนื่องจากคนชั้นล่างเข้ามาขวางในทางหนีไฟ
  
ดังนั้นเพื่อให้การอพยพดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ fire alarm ก็จะดังเตือนผู้ที่อยู่ในชั้นที่เกิดเพลิงไหม้ก่อน ถ้ายังคุมสถานการณ์ไม่ได้ สัญญาณ fire alarm ของชั้นถัดขึ้นไปและชั้นถัดลงมาก็จะดังขึ้น จำนวนชั้นที่ fire alarm ดังจะขึ้นอยู่กับการออกแบบ
  
ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าไฟไหม้ที่ชั้น ๑๑ สัญญาณ fire alarm ที่ชั้น ๑๑ ก็ควรจะดังขึ้นก่อน ถ้าหากไฟยังคุมไม่ได้ สัญญาณของชั้นที่ถัดขึ้นไปสองชั้นคือชั้น ๑๒ และ ๑๓ และสัญญาณของชั้นที่อยู่ถัดลงไปหนึ่งชั้นคือชั้น ๑๐ ก็จะดังขึ้น และจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบทุกชั้น แต่ถ้าสามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว สัญญาณก็จะดังเฉพาะที่ชั้น ๑๑ เท่านั้น
  
เท่าที่ผมทราบมา ระบบ fire alarm ของอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ก็เช่นนี้
  
ในกรณีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ ๑๒ นั้น ทราบว่าผู้ที่อยู่ชั้นที่ต่ำลงไปหนึ่งชั้นไม่ได้ยินเสียง fire alarm ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว แต่ตอนที่เขียนบันทึกนี้ผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าสัญญาณ fire alarm ของชั้นที่เกิดเพลิงไหม้นั้นดังหรือไม่
  
อาคารที่เกิดเหตุนั้นได้รับงบประมาณก่อสร้างที่ต้องรีบใช้อย่างเร่งด่วนในเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่มีการประชุมว่าจะจัดสรรพื้นที่ส่วนไหนของอาคารให้ใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ผู้ออกแบบทราบแต่เพียงว่าจะมีการใช้อาคารดังกล่าวเป็นทั้งสำนักงาน ห้องเรียน ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องปฏิบัติการ (ที่ไม่มีการระบุรูปแบบห้องปฏิบัติการ) ผู้ออกแบบกระทำได้เพียงแค่วางระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เอาไว้ และออกแบบส่วนที่จะเป็นห้องสำนักงานให้อยู่ทางตัวอาคารด้านทิศใต้ ส่วนซึกอาคารด้านทิศเหนือเป็นห้องโล่ง ไม่มีการกั้นห้องและไม่มีฟ้าเพดาน การกั้นห้องและทำฟ้าเพดานของตัวอาคารด้านทิศเหนือนั้นกระทำภายหลัง
  
อาคารซีกด้านที่เกิดเพลิงไหม้นั้นก็มีการแบ่งกั้นห้องภายหลัง ทำให้ smoke detector ตัวที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุไปอยู่อีกทางฟากด้านของผนังที่กั้นขึ้นมาใหม่ (รูปที่ ๓)
  
บันไดขึ้น-ลงปรกติ และบันไดหนีไฟ อยู่ทางด้านตัวอาคารซีกใต้ทั้งหมด เส้นทางเชื่อมระหว่างตัวอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้เดิมมีเพียงทางเดินผ่านโถงหน้าลิฟต์เท่านั้น ต่อมามีการพิจารณาว่าถ้าเกิดเหตุผิดปรกติที่ทำให้บริเวณโถงหน้าลิฟต์ไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ผู้ที่อยู่ในตัวอาคารด้านทิศเหนือจะไม่สามารถหนีไปยังชั้นอื่นได้ จึงได้มีการสร้างทางเชื่อมเพิ่มเติมทางด้านหลังลิฟต์ซีกตะวันตกของอาคาร (ที่ระบุว่าเป็นเส้นทางหนีไฟฉุกเฉินในรูปที่ ๑)

ก่อนเกิดเหตุนั้น ประตู D1 และ D2 เปิดอยู่เนื่องจากมีผู้ทำงานอยู่ในห้อง R1 ส่วนประตู D3 และ D4 ปิดอยู่ โดยไม่มีผู้ทำงานอยู่ในห้อง R2 และ R3 ประตู D3 และ D4 ใช้ระบบคีย์การ์ดที่ใช้แม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวยึดประตูไม่ให้เปิดได้ (โดยมีแม่เหล็กติดอยู่ที่วงกบประตูด้านบน และแผ่นเหล็กติดอยู่ที่ตัวประตู) เว้นแต่ว่าใช้การ์ดที่ถูกต้องมาเปิด ไฟฟ้าที่จ่ายไปยังแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะถูกตัด สนามแม่เหล็กก็จะหายไป ประตูก็จะเปิดได้
  
เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นนั้น ทำให้เกิดการตัดไฟของตัวอาคารด้านทิศเหนือชั้นที่เกิดเพลิงไหม้ ตรงนี้ไม่ชัดเจนว่าการตัดไฟนั้นเกิดจาก
  
(ก) ไฟที่ไหม้ลามสายไฟจนฉนวนไหม้ไฟหมด ลวดทองแดงในสายไฟจึงสัมผัสกันแล้วเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ circuit breakerตัดไฟ หรือ
(ข) เจ้าหน้าที่อาคารทำหน้าที่ตัดไฟ หรือ
(ค) ทั้งข้อ (ก) และ (ข)
  
การกระทำตามข้อ (ข) นั้นทราบว่าเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ในข้อ (ก) นั้นเกิดขึ้นไหม ทางผมไม่สามารถหาข้อมูลได้ แต่สุดท้ายคือระบบไฟฟ้าของตัวอาคารด้านทิศเหนือของชั้นที่เกิดเหตุถูกตัดออกหมด

ระบบคีย์การ์ดของประตู D3 และ D4 ต่างมีไฟสำรองเลี้ยงไว้เวลาไฟดับทั้งคู่ สังเกตได้จากการที่ตัวรับสัญญาณที่ติดไว้ข้างประตูของประตู D3 (ที่ไว้สำหรับทาบบัตร) ยังมีไฟติดอยู่แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้วประมาณ ๑๑ ชั่วโมง (แต่ประตูเปิดทิ้งเอาไว้) ส่วนประตู D4 ไม่มีไฟสัญญาณแสดงที่ตัวทาบบัตร แต่แม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ยึดประตูไว้ยังทำงานอยู่ ซึ่งเป็นตัวบอกให้ทราบว่ามีระบบไฟฟ้าสำรอง
  
ในกรณีของห้อง R2 ที่เป็นห้องที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นทราบว่านิสิตในห้องข้างเคียงกันที่เห็นเหตุการณ์ได้ไปตามนิสิตที่มีคีย์การ์ดห้อง R2 (ที่ทำงานอยู่ในอีกอาคารหนึ่งที่อยู่ข้างเคียง) ให้มาเปิดประตูให้ จังหวะที่ทำการเปิดประตู D3 นี้ไม่มีข้อมูลว่ากระทำก่อนหรือหลังการตัดไฟฟ้า ถ้าเป็นการเปิดก่อนการตัดไฟฟ้าก็แสดงว่าต้องใช้คีย์การ์ดในการเปิด แต่ถ้าเป็นการเปิดหลังการตัดไฟฟ้าก็ต้องมาพิจารณาว่าเมื่อไฟฟ้าดับ ประตู D3 นั้น
  
(ง) ไม่มีไฟเลี้ยงไปยังแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เปิดประตูได้โดยไม่ต้องใช้คีย์การ์ด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแล้วจะมีไฟฟ้าสำรองจ่ายไปยังที่ทาบบัตรทำไม หรือ
(จ) มีไฟสำรองจ่ายไปยังแม่เหล็กไฟฟ้าและระบบอ่านบัตร ทำให้เปิดประตูได้ แต่ต้องใช้คีย์การ์ด
ส่วนมันจะเป็นตามข้อ (ง) หรือ (จ) นั้น ผมไม่มีคำตอบที่ชัดเจน (คือถามต่างคนได้คำตอบต่างกัน)

ตรงนี้ทราบมาว่าในกรณีของห้อง R3 นั้น ตอนที่ออกแบบระบบคีย์การ์ดมีการคำนึงว่าถ้าหากไฟไฟ้าดับ แม่เหล็กไฟฟ้าจะไม่ทำงาน ขโมยก็จะเข้าไปในห้องได้ ดังนั้นจึงได้มีการติดตั้งไฟฟ้าสำรองให้กับแม่เหล็กไฟฟ้า ให้คงทำงานต่อไปได้อีก ๕ ชั่วโมง แต่ไฟฟ้าที่สำรองเอาไว้นั้นสำรองให้กับแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น ไม่ได้จ่ายให้กับระบบควบคุมการเปิด-ปิดด้วย ดังนั้นเมื่อไฟฟ้าดับประตูจะปิดค้างโดยไม่สามารถใช้คีย์การ์ดเปิดได้
  
ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับห้อง R3 และยังไม่ได้รับการแก้ไขคือ เคยมีกรณีที่ไฟฟ้าดับในเวลาทำงานและมีคนทำงานอยู่ข้างในห้อง ทำให้คนในห้องก็ไม่สามารถ "เปิด" ประตูจากด้านในได้ และห้องนั้นก็ไม่มีทางเข้าออกอื่นอีก ทำให้คนในห้องติดค้างอยู่ข้างในจนกว่าไฟฟ้าจะกลับคืนมา อันที่จริงการแก้ปัญหานี้ทำได้โดยการให้มีประตูทางออกอีกช่องทางที่สามารถเปิดได้จากด้านในเท่านั้น (เช่นใช้ระบบกลอน) เพื่อใช้เป็นเส้นทางออกฉุกเฉิน

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ "ฉุกเฉิน" ในห้องปิดล็อกที่คนภายนอกเข้าไปไม่ได้ จะแก้ไขอย่างไร ในที่ประชุมก็ได้มีการนำเสนอแนวความคิดให้มีการใช้ระบบ master key สำหรับแต่ละชั้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นระบบที่ไม่เหมาะกับกรณี "ฉุกเฉิน" พร้อมกับยกตัวอย่างว่า

"เวลาที่เกิดไฟไหม้ในบ้านที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ พนักงานดับเพลิงเขาโทรไปตามเจ้าของบ้านมาเปิดประตูบ้านให้ไหม หรือเจ้าของบ้านต้องเอากุญแจบ้านไปฝากพนักงานดับเพลิง ไม่มีใครทำอย่างนั้นหรอก เขาใช้วิธีการ "พัง" ประตูเข้าไปทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีประจำชั้นไม่ใช่มาสเตอร์คีย์ แต่เป็นขวาน"

การพังนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินแน่ ๆ ตรงนี้เองอาจเป็นจุดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานที่ถูกเรียกตัวมาจะกล้าที่จะ "พัง" เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของสถานที่ภายหลัง อย่างเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ จะเห็นว่าการดับเพลิงเบื้องต้นสามารถกระทำได้โดยผู้พบเห็นก่อนที่เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น แต่กลับไม่มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์นั้น
  
- เข้าไปในห้องไม่ได้เพราะไม่มีกุญแจ
- เข้าไปในห้องไม่ได้เพราะไม่มีอุปกรณ์ที่จะพังประตูเข้าไป
- ไม่ได้รับการฝึกอบรมการเข้าระงับเหตุเบื้องต้น
- เกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเอง
- เกรงว่าการเข้าไประงับเหตุนั้นจะทำให้สิ่งของข้างเคียงได้รับความเสียหาย และจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยภายหลัง
- ฯลฯ
  
ดังนั้นผมจึงเห็นว่าการที่กลุ่มบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ไม่ได้เข้าไประงับเหตุเบื้องต้นนั้นไม่ใช่ความผิดของพวกเขา แต่เป็นความผิดของเจ้าของอาคารที่ควรต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าในกรณีฉุกเฉินนั้นบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอาคารนั้นสามารถกระทำการใด ๆ ได้บ้างโดยไม่ต้องแบกความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินใด ๆ เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้าที่เคยเกิดเพลิงไหม้ภายในห้องพักนิสิตของภาควิชาหนึ่งที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พบเหตุไม่สามารถเข้าไปในห้องนั้นได้ ต้องใช้วิธีฉีดน้ำลอดผ่านกระจกบานเกล็ดเข้าไป เพลิงจึงสงบ หลังเหตุการณ์นั้นมีการพูดคุยกันถึงการเข้าไประงับเหตุในห้องที่ปิดล็อคอยู่ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการพิจารณาการให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้นมีอุปกรณ์สำหรับพังประตู (หรือผนัง) ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน
  
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอกับรถปรับอากาศที่ไม่มีหน้าต่างที่เปิดได้ เช่นรถทัวร์และรถไฟฟ้า (ทั้งใต้ดินและลอยฟ้า) ที่ถูกต้องคือควรต้องมีค้อนทุบกระจกเอาไว้ข้างผนัง โดยติดตั้งไว้ในบริเวณที่เห็นได้ชัดและหยิบฉวยได้ และในจำนวนที่พอเพียงด้วย เรื่องนี้ผมเคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เรื่อง "มีให้ไม่ใช้และไม่มีให้ใช้" ครั้งหนึ่งแล้ว

กรณีหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดคืออุบัติเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินชนกันช่วงเช้าวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ (รายละเอียดตามข่าวที่แนบมาในอีกสองหน้าถัดไป) สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นเป็นสถานีปรับอากาศ ในขณะที่รถไฟวิ่งเข้าสถานีนั้นจะทำการอัดอากาศจากในอุโมงค์เข้ามาในสถานี ทำให้เกิดกระแสลมที่แรง ซึ่งจะพัดพาเอาอากาศเย็นในตัวสถานีออกไป (มันช่วยในการระบายอากาศ แต่ก็ทำให้สิ้นเปลืองการทำความเย็น) ดังนั้นเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีการติดตั้งกำแพงกระจกระหว่างชานชาลากับตัวรถไฟ โดยกำแพงดังกล่าวจะมีประตูเปิด ณ ตำแหน่งที่ตรงกับประตูรถไฟ
  
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดระหว่างขบวนหนึ่งที่กำลังจะเคลื่อนตัวออกจากสถานี (มีผู้โดยสาร) และอีกขบวนที่ไหลเข้ามาชน (รถเปล่า) ทำให้ขบวนที่มีผู้โดยสารนั้นเกิดการเคลื่อนตัว ตำแหน่งประตูรถไฟไม่ตรงกับประตูชานชาลา ผู้โดยสารไม่สามารถออกมาจากรถได้ ตามรายงานข่าวนั้นผู้โดยสารที่ติดค้างอยู่ภายในรถต้องรอให้เจ้าหน้าที่นำกุญแจฉุกเฉินมาเปิดประตูให้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่มากเพียงพอ เพราะในกรณีดังกล่าวผู้โดยสารที่ติดค้างอยู่ในรถควรที่จะสามารถทุบกระจกรถและกระจกกั้นชานชาลาสถานีเพื่อเอาตัวรอดเองได้ โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาช่วย

สำหรับผู้ที่เคยเข้าเรียนแลปเคมีพื้นฐานกับผมหวังว่าคงจะจำได้ว่าชั่วโมงแรกที่เราเจอกันนั้นผมจะสอนถึงเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ รวมทั้งเส้นทางหนีไฟ ชนิด ตำแหน่งที่ตั้ง ของเครื่องดับเพลิงและอุปกรณ์เกี่ยวข้องเช่นขวาน ผ้าห่มดับเพลิง ถังทราย ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่ผมกล่าวเอาไว้คือการฝึกให้รู้จักใช้งานอุปกรณ์นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่การฝึกให้คุมสติและกล้าตัดสินใจว่าต้องลงมือทำอะไรเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริงนั้นทำได้ยากกว่า

ตอนที่ ๑ คงจบลงเพียงแค่นี้ ส่วนตอนที่ ๒ จะมาดูรายละเอียดบริเวณที่เกิดเหตุว่ากันว่ามันเป็นอย่างไร

ข่าวจาก www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9480000007248


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น