วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มีให้ไม่ใช้และไม่มีให้ใช้ MO Memoir : Sunday 13 November 2554

ในเมื่ออยู่กรุงเทพมันไม่มีอะไรให้กินและไม่ที่ให้พัก ก็เลยหลบไปพักผ่อนที่หาดใหญ่สัก ๓ คืน ได้เรื่องต่าง ๆ กลับมาเล่าให้ฟังหลายเรื่อง แล้วจะค่อย ๆ ทยอยเล่าให้ฟังกันก็แล้วกัน
 
ฉบับนี้ขอเริ่มเกี่ยวกับเรื่องราวที่เห็นในระหว่างการเดินทางก่อน

. มีให้ไม่ใช้

ผมไม่ได้นั่งรถตู้โดยสารซะนาน เพิ่งจะมีโอกาสได้นั่งอีกครั้งตอนที่จะเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อจ่ายตังค์เสร็จก็ขึ้นไปนั่งรอบนรถเพื่อรอรถออก เลือกที่นั่งได้แล้วก็มองหาเข็มขัดนิรภัย เพื่อจะใช้รัดตัวเอาไว้เผื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุจะได้ไม่กระเด็นออกมานอกรถ (ส่วนจะตายหรือไม่ตายนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) และก็พบว่ารถคันที่นั่งนั้น (และคันอื่นด้วย) เก็บเข็มขัดนิรภัยดังแสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง

รูปที่ ๑  เข็มขัดนิรภัยสำหรับรัดคาดเอว ถูกนำไปคล้องไว้กับพนักพิงศีรษะ

หวังว่าคงยังจำเหตุการณ์อุบัติเหตุรถตู้โดยสารถูกรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (ขับโดยผู้ที่มีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับใบอนุญาตขับขี่) ชนท้าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๙ ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกเหวี่ยงกระเด็นออกมานอกตัวรถ และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็มีการรณรงค์ให้รถตู้โดยสารต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสาร

เข็มขัดนิรภัยที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไป (หรือรถทัวร์) นั้นมีอยู่ ๒ แบบ คือแบบรัด ๓ จุดที่จะคาดไหล่และเอวผู้นั่ง และแบบรัด ๒ จุดที่มีการคาดเฉพาะเอวผู้นั่ง (เก้าอี้ผู้โดยสารเครื่องบินก็เป็นแบบ ๒ จุดด้วย)

ในรถเก๋งทั่วไป เข็มขัดแบบรัด ๓ จุดนั้นเราจะเห็นที่ตำแหน่งผู้นั่งด้านหน้า (คือคนขับและผู้นั่งข้างคนขับที่นั่งริมหน้าต่าง) และผู้นั่งด้านหลังที่นั่งริมหน้าต่าง ส่วนผู้นั่งหลังที่นั่งตรงกลางจะเป็นเข็มขัดแบบรัด ๒ จุด

แต่ถ้าเป็นเบาะนั่งของผู้โดยสารของรถทัวร์หรือรถตู้โดยสารนั้นมักจะเป็บแบบ ๒ จุด

กฎหมายไทยนั้นบังคับเฉพาะผู้ที่นั่งเบาะหน้า (คนขับและผู้นั่งข้างคนขับ) ให้ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่ได้บังคับคนนั่งข้างหลัง ในขณะที่ในต่างประเทศหลายประเทศนั้นบังคับให้ทุกคนที่นั่งในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้เพราะเวลาที่เกิดเหตุรถชน ผู้โดยสารที่นั่งข้างหลังและไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยจะปลิวมาทางด้านหน้าและอัดเข้ากับเบาะนั่งด้านหน้า ทำให้ผู้ที่นั่งเบาะหน้าถูกอัดเข้ากับพวงมาลัยหรือคอนโซลหน้ารถได้ และถ้าเป็นการนั่งข้างหลังตรงกลางก็อาจปลิวผ่านช่องว่างระหว่างเบาะหน้าไปกระแทกกับกระจกหน้าได้

เข็มขัดชนิดรัด ๓ จุดนั้นเวลาที่ไม่มีการใช้งานมันก็จะถูกแรงดึงของสปริงม้วนเก็บเข้ากับผนังข้างลำตัวรถ แต่เข็มขัดชนิด ๒ จุดนั้นมันไม่มีการม้วนเก็บ ดังนั้นถ้าไม่มีการใช้งานมันก็จะวางอยู่บนเบาะนั่ง ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่ามันทำให้เกะกะที่นั่งบนเบาะ

รถตู้โดยสารคันที่ผมนั่งนั้นเขามีเข็มขัดนิรภัยชนิดคาด ๒ จุดให้กับเก้าอี้ผู้โดยสารที่นั่งข้างหลังคนขับทุกเก้าอี้ แต่แทนที่เขาจะเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารได้คาดเข็มขัด เขากลับเอาสายเข็มขัดไปพันกับด้านหลังของพนักพิงหลัง และนำส่วนที่เป็นห่วง (ที่ควรต้องนำไปสอดในตัวยึดข้างเก้าอี้) ไปคล้องไว้กับขาของพนักพิงศีรษะตามรูป ดังนั้นถ้าใครต้องการใช้เข็มขัดนิรภัยก็ต้องทำการถอดพนักพิงศีรษะออกจากพนักพิงหลังก่อนเพื่อเอาปลายเข็มขัดออกมา จากนั้นก็ค่อยสอดพนักพิงศีรษะเข้ากับพนักพิงหลังดังเดิม

งานนี้ดูเหมือนว่าคนขับรถเขาไม่อยากให้ผู้โดยสารได้ใช้อุปกรณ์นิรภัยเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้โดยสาร


. ไม่มีให้ใช้

ระหว่างนั่งรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์จากสนามบินมายังสถานีพญาไท (ซึ่งเป็นการนั่งรถไฟสายดังกล่าวครั้งแรกของผม) ก็ได้สังเกตเห็นอุปกรณ์หนึ่งติดอยู่ที่ผนังข้างลำตัวรถ ซึ่งก็คือค้อนสำหรับทุบกระจกที่มีหน้าตาดังแสดงในรูปที่ ๒ ข้างล่าง

รูปที่ ๒  ค้อนสำหรับทุบกระจกหน้าต่างที่มีติดตั้งในตู้รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์

ห้องโดยสารปรับอากาศนั้นมักจะไม่มีหน้าต่างที่เปิดได้ แต่ใช้วิธีติดบานกระจกติดตายแทน กระจกที่ใช้กับกระจกข้างนั้นจะเป็นกระจกนิรภัยชนิด tempered กระจกชนิดนี้เมื่อมีรอยแตกเพียงเล็กน้อยที่พื้นผิว กระจกจะแตกร้าวทั้งบานทันทีในรูปแบบที่เรียกว่าเป็น "เม็ดข้าวโพด" (คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งจัดว่าเป็นรูปแบบที่มีความแหลมคมเฉลี่ยน้อยที่สุด)

รถโดยสารปรับอากาศต่าง ๆ และรถไฟตู้ปรับอากาศจะใช้ช่องทางกระจกหน้าต่างที่ใหญ่นี้เป็นช่องทางหนีฉุกเฉิน โดยจะต้องทุบกระจกเพื่อให้แตกทั้งบานแล้วปีนหนีออกทางช่องทางนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทุบกระจก รถพวกนี้จึงมักมีการติดตั้งค้อนที่มีหัวแหลมไว้สำหรับทุบกระจก (หน้าตาดังรูปที่ ๒) แต่ถ้าไม่มีค้อนก็หาอะไรแข็ง ๆ ทุบก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่ากระจกจะบาดหรอก

ในกรุงเทพนั้นมีระบบรถไฟขนส่งมวลชนอยู่ ๓ ระบบ ระบบแรกคือ BTS หรือที่คนเรียกว่ารถไฟลอยฟ้า ระบบที่สองคือ MRT หรือที่คนเรียกว่ารถใต้ดิน และระบบที่สามคือระบบแอร์พอร์ตลิงค์

จะว่าไปแล้วตัวรถทั้ง ๓ ระบบมันก็คล้าย ๆ กัน สงสัยว่าคงมาจากบริษัทเดียวกัน แต่ตกแต่งภายในต่างกัน อุปกรณ์หนึ่งที่รถไฟใต้ดินไม่มีประจำตู้โดยสาร มีแต่ที่ด้านหัวท้าย (ตรงห้องคนขับรถ) ในขณะที่รถไฟลอยฟ้าและแอร์พอร์ตลิงค์นั้นมีประจำทุกตู้โดยสารก็คือ "ค้อนสำหรับทุบกระจก"

ก่อนหน้านี้บ้านเราเคยเกิดอุบัติเหตุรถไฟใต้ดินชนกันที่สถานีแห่งหนึ่ง ทำให้รถขบวนที่จอดอยู่ที่สถานนี้เกิดการเลื่อนตำแหน่ง ตำแหน่งประตูรถไฟไม่ตรงกับตำแหน่งประตูสถานี ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถออกมาจากตัวรถได้ เมื่อผมได้ยินข่าวผมก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมจึงไม่มีการทุบกระจกหน้าต่างรถไฟและกระจกกั้นระหว่างตัวรถไฟและชานชาลาสถานีเพื่อนำเปิดช่องทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในตัวรถสามารถออกจากตัวรถได้ และเมื่อมีโอกาสได้ใช้รถไฟใต้ดินจึงได้สังเกตเห็นว่าในตัวรถตู้รถไฟเองนั้นไม่มีอุปกรณ์สำหรับให้ผู้โดยสารทุบกระจกในกรณีฉุกเฉิน และตัวชานาชลาสถานีนั้นก็ไม่มีอุปกรณ์สำหรับให้เจ้าหน้าที่ (หรือผู้ที่อยู่บนชานชาลา) ทุบกระจกเพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารที่ติดอยู่ภายในรถหนีออกมา

ผมคิดเอาเองว่าสาเหตุที่รถไฟใต้ดินนั้นไม่มีค้อนสำหรับทุกกระจกข้างคงเป็นเพราะว่าเขาคิดว่าผนังด้านข้างของตัวรถนั้นมันอยู่ใกล้กับผนังอุโมงค์ ดังนั้นแม้จะทุบกระจกข้างแตกคนก็ไม่สามารถเดินระหว่างผนังอุโมงค์กับด้านข้างของลำตัวรถได้ ทางออกของผู้ที่ติดอยู่ในรถที่จอดอยู่ในอุโมงค์คือทางด้านหัวและท้ายขบวน ซึ่งต้องผ่านทางห้องพนักงานขับรถ ส่วนตัวรถไฟที่วิ่งอยู่บนผิวดิน (หรือลอยฟ้า) นั้นผู้โดยสารสามารถปีนหนีออกทางด้านข้างของตัวรถได้ เขาจึงมีค้อนสำหรับให้ทุบกระจกข้างประจำอยู่ทุกตู้โดยสาร

แต่เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์มันก็ได้ให้บทเรียนกับรถไฟใต้ดินเอาไว้ว่า อุบัติเหตุนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดในอุโมงค์แคบ ๆ ที่พอดีกับขนาดของตัวรถไฟ แต่มันสามารถเกิดได้ที่ตัวสถานีหรือในอุโมงค์ที่กว้างที่คนสามารถเดินระหว่างตัวรถกับผนังอุโมงค์ได้เช่นเดียวกัน