วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ตะกั่วป่าก็เคยมีรถไฟ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๙) MO Memoir : Sunday 21 April 2556

อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เคยมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีที่ตั้งตัวจังหวัดอยู่ที่อำเภอตลาดใหญ่ ต่อมาจังหวัดตะกั่วป่านี้ถูกยุบไปรวมกับจังหวัดพังงา ทางราชการจึงให้เปลี่ยนชื่ออำเภอตลาดใหญ่เป็นอำเภอตะกั่วป่าเพื่อเป็นการสงวนชื่อที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เอาไว้() (รูปที่ ๑)


ทางภาคใต้ของประเทศไทยเคยมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ดีบุกเอาไว้ในที่ต่าง ๆ บางเหมืองได้มีการลงทุนสร้างทางรถไฟ (หรือรถราง) เพื่อใช้ในการลำเลียงแร่ที่ขุดได้ออกไปจำหน่าย รถไฟเหล่านี้ตามกฎหมายเรียก "รถไฟหัตถกรรม"() คือเป็นรถไฟที่ใช้สำหรับลำเลียงสิ่งของ ไม่อนุญาตให้เป็นรถไฟโดยสาร บางส่วนของรถไฟหัตถกรรมนี้ที่มีการเปิดใช้ในภาคใต้ก็ได้เคยเล่าเอาไว้แล้ว()

ฝั่งทะเลอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทยเขตตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปจนถึงจังหวัดพังงาก็เป็นบริเวณที่มีการทำเหมืองแร่ต่าง ๆ และได้มีการขออนุญาตสร้างทางรถไฟหรือรถรางไว้สำหรับลำเลียงสินแร่ออกจากเหมืองเพื่อส่งไปจำหน่ายด้วย การสืบค้นจากราชกิจจานุเบกษาพบว่ามีการอนุญาตให้สร้างทางรถไฟดังกล่าวไว้หลายแห่งแต่ขณะนี้สืบค้นแผนที่ได้เพียงแค่ไม่กี่แห่ง แห่งแรกที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้คือที่ อ.กะปง จ.พังงา() สำหรับ Memoir ฉบับนี้จะเป็นที่ อ.ตลาดใหญ่ จ.ตะกั่วป่า

ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๔๖ หน้า ๒๔๙๐-๒๔๙๑ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๒ แจ้งความกรมรถไฟหลวงเรื่องสร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม ได้อนุญาตให้บริษัทสะตูปูโลโนไลเอบิลลิตี้ (Stupulo no Liability) ที่ทำการเหมืองแร่ในจังหวัดตะกั่วป่าทำการสร้างและเดินรถไฟหัตถกรรมจากที่ประกอบการทำเหมืองแร่ของบริษัทจากตำบลย่านยาว อำเภอตลาดใหญ่ ไปจนถึงทุ่งน้อยที่เป็นท่าเรือในจังหวัดตะกั่วป่า เป็นระยะทางยาวประมาณ ๘ กิโลเมตร (รูปที่ ๒) เมื่อเทียบดูแล้วเส้นทางนี้ควรจะเป็นเส้นทางเดียวกันกับที่ปรากฏในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางนายสี ตำบลบางม่วง และตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ๒๔๙๒() (รูปที่ ๓)

เมื่อเทียบกับแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบัน (รูปที่ ๔) แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวควรจะเป็นบริเวณในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว และแนวทางรถไฟดังกล่าวจะอยู่บริเวณเส้นประสีเหลือง หรือประมาณถนนสาย พง ๗๐๑๕ ในปัจจุบัน

หมายเหตุ
(๑) ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๔๙ หน้า ๓๘๘ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องเปลี่ยนนามอำเภอตลาดใหญ่เป็นอำเภอตะกั่วป่า
(๒) ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๒๒ วันเสาร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๗ รถไฟหัตถกรรม (ลากไม้) เอื้อวิทยาพาณิชย์"
(๓) ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๒๖ วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๘ รถไฟหัตถกรรม (เหมืองแร่-ป่าไม้ ในภาคใต้)"
(๔) ราชกิจจานุเบกษาตอนที่ ๑๓ เล่ม ๖๖ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๒ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางนายสี ตำบลบางม่วง และตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. ๒๔๙๒





รูปที่ ๑ ราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนชื่ออำเภอตลาดใหญ่เป็นอำเภอตะกั่วป่า


รูปที่ ๒ ราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้บริษัทสะตูปูโลโนไลเอบิลิตี้สร้างและเดิรรถไฟหัตถกรรม



รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดิน ปรากฏเส้นทางรถไฟจากทุ่งน้อย-ตลาดใหญ่ ซึ่งตรงกับเส้นทางรถไฟของบริษัทสะตูปูโลโนไลเอบิลิตี้ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและเดินรถไฟ


รูปที่ ๔ ถ้านำแผนที่ในรูปที่ ๓ มาเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบัน แผนที่ดังกล่าวจะอยู่ในบริเวณกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว โดยมุมล่างขวาของกรอบจะเป็นที่ตั้งของอำเภอตลาดใหญ่ เส้นทางรถไฟน่าจะอยู่ประมาณถนนสาย พง ๗๐๑๕ (เส้นประสีเหลือง) ที่ผ่านระหว่างภูเขาสองลูก

ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" ของ B.R. Whyteในหน้าที่ 114-115 ได้ให้รายชื่อบริษัทที่เข้ามาทำเหมืองในภาคใต้ของประเทศไทย และบริษัทที่น่าจะมีการสร้างทางรถไฟเพื่อไว้ลำเลียงสินแร่ออกจากเหมืองเพื่อส่งไปจำหน่ายด้วย ในเขตตะกั่วป่าเองมีการระบุว่าน่าจะมีถึง 4 เหมืองที่มีการสร้างทางรถไฟ โดยบริษัทสะตูปูโลโนไลเอบิลิตี้ก็เป็นบริษัทหนึ่งในจำนวนสี่บริษัทนั้น แม้ว่าหนังสือนี้จะให้รายละเอียดที่เป็นข้อความของรถไฟบริษัททำเหมืองเอาไว้ดีมาก แต่ก็ยังขาดแผนที่อยู่ Memoir นี้จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มส่วนที่กำลังจะเลือนหายไปของมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์รถไฟไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น