วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หามาตรฐานไม่ได้จริง ๆ MO Memoir : Tuesday 27 May 2557

ถ้าการทำงานนั้นใช้มาตรฐานกลางที่คนทั่วไปในวงการเขาใช้กัน เมื่อเวลาผ่านไปหรือคนผ่านไป คนที่มารับช่วงต่อทีหลังก็จะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แต่ถ้าทำงานกับแบบตามความพอใจของฉัน ตามมาตรฐานที่ฉันตั้งขึ้นมาเอง ให้งานมันเสร็จ ๆ ไปก็พอ หรือคิดว่าคงไม่มีใครมาตรวจสอบหรอก (แต่ไม่คำนึงถึงเมื่อมีการซ่อมแซม) ปัญหาในอนาคตก็คงจะยากที่จะหลีกเลี่ยง
  
เช้าวันนี้ระหว่างเดินมาทำงาน บังเอิญสายตา (ที่ทั้งสั้นทั้งยาว) บังเอิญมองไปเห็นสิ่งที่ไม่ได้คาดว่าจะเห็น ก็เลยถ่ายรูปมาแบ่งปันให้ดูกัน ซึ่งมันอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาและคงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งมันก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรหรอก ตราบเท่าที่ยังไม่มีการซ่อมแซม สิ่งนั้นก็คือ "ท่อพลาสติกสองท่อที่ต่อกันอยู่"
  
ท่อที่ใช้กับระบบสาธารณูปโภคทั่วไปในอาคารหรือบริเวณรอบ ๆ อาคารก็มักจะเป็นท่อเหล็กอาบสังกะสีหรือไม่ก็ท่อพลาสติก ท่อเหล็กอาบสังกะสีที่นำมาใช้เป็นท่อน้ำประปาหรือท่อร้อยสายไฟนั้นจะขึ้นรูปด้วยการนำเหล็กแผ่นยาวมาม้วนพับให้เป็นวงกลม แล้วเชื่อมตามแนวประกบ จากนั้นจึงขัดผิวนอกตรงรอยเชื่อมให้เรียบเสมอกับผิวท่อ รูปท่อเหล็กที่ขึ้นรูปด้วยการพับแผ่นเหล็กแล้วเชื่อมนี้เพิ่งจะเอามาให้ดูเมื่อต้นเดือนนี้เอง (ดูรูปที่ ๖ ใน Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๙๗ วันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง "เก็บตกงานก่อสร้างอาคาร(ตอนที่๒)")
  
รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เป็นวิศวกรไฟฟ้าเคยสอนผมไว้ว่าท่อเหล็กชุบสังกะสีที่ใช้ทำท่อน้ำประปามันไม่เหมือนกับท่อร้อยสายไฟ คือผิวด้านในของท่อร้อยสายไฟจะเรียบกว่า กล่าวคือไม่มีคมนั่นแหละ เพราะถ้ามีส่วนที่มีคมอยู่ เวลาที่ลากสายไฟร้อยผ่านท่อเหล่านั้น ส่วนที่มีคมจะกรีดฉนวนสายไฟให้ขาดได้ ดังนั้นมันจึงไม่ควรนำมาใช้สลับกัน
รูปที่ ๑ ท่อในกรอบสีเหลืองมันเดินผ่านใต้พื้นคอนกรีตทางเท้าและมาโผล่ออกตรงสนามหญ้า ก่อนที่จะฝังดินลงไปใหม่
  
แต่ในกรณีของท่อพลาสติกไม่ว่าจะเป็นพวกพีวีซี (PVC) หรือพอลิโอเลฟินส์ (เช่น HDPE) นั้น มันขึ้นรูปด้วยวิธี Extrusion ผิวข้างในมันเรียบอยู่แล้ว การกำหนดการใช้งานท่อสำหรับแต่ละงานนั้นจะใช้วิธีการผสมสีเข้าไปตอนขึ้นรูปท่อ ทำให้ท่อมีสีที่แตกต่างกัน (เช่นท่อ PVC) หรือมีลายสีบนท่อที่แตกต่างกัน (เช่นท่อ HDPE)
  
ในกรณีของท่อ PVC นั้น ท่อ "สีฟ้า" ให้ใช้เป็นท่อน้ำ ท่อ "สีเหลือง" ให้ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ
ในกรณีของท่อพอลิโอเลฟินส์นั้น ท่อคาด "สีฟ้า" ให้ใช้เป็นท่อน้ำ ท่อคาด "สีแดง" ให้ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ
  
แต่ตรงจุดต่อท่อที่ผมบังเอิญไปเห็นมาเมื่อเช้ามันเป็นดังรูปที่ ๒ ก็ดูกันเอาเองก็แล้วกัน


รูปที่ ๒ ส่วนที่อยู่ใต้พื้นคอนกรีตของทางเดินเป็นท่อคาดสีน้ำเงิน แต่ดันมาต่อกับท่อคาดสีแดงก่อนจะฝังลงดิน ดูลักษณะการต่อแล้วไม่คิดว่าเป็นการต่อท่อน้ำ เพราะเป็นเพียงแค่การขยายปลายท่อของท่อคาดแดง แล้วสอดท่อคาดฟ้าเข้าไป

อันที่จริงเรื่องท่อคาดสีก็เคยกล่าวเอาไว้ใน Memoir ก่อนหน้านี้แล้ว ๒ ฉบับคือ
ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๕๙ วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่๑๙ ท่อร้อยสายโทรศัพท์" และ
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๐๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรื่อง "ท่อคาดสี"

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าในอนาคตมีการขุดซ่อมทางเท้า แล้วคนงานเกิดขุดไปเจอท่อคาดสีฟ้าที่ฝังอยู่ข้างใต้ ซึ่งก็คงจะหลีกไม่ได้ที่เขาจะต้องคิดว่ามันเป็นท่อน้ำประปา (ตามมาตรฐานที่คนทั่วไปเขาใช้กัน) แล้วถ้าหากเขาตัดท่อนั้นเพื่อที่จะทำท่อน้ำประปาแยกออกมา (ตามความเข้าใจของเขาจากสีคาดท่อที่เห็น) สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในภาควิชาของเรา คือสิ่งที่ได้เล่าเอาไว้ใน Memoir ฉบับที่ ๔๕๙ ข้างบน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น