วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ท่อคาดสี MO Memoir : Thursday 20 September 2555

การใช้รหัสสีเป็นวิธีการหนึ่งในการทำเครื่องหมายบนท่อว่าท่อนั้นใช้สำหรับงานอะไร หรือมีคุณสมบัติอย่างไร ท่อบางชนิดผู้ผลิตจะให้สีมาจากโรงงานโดยสีที่ให้มานั้นเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน เช่นท่อพีวีซีถ้าเป็นท่อสีฟ้าก็จะใช้กับงานประปา (ทั้งน้ำดีและน้ำเสีย) ถ้าเป็นท่อสีเหลืองหรือสีขาวก็จะใช้กับงานร้อยสายไฟฟ้าสายโทรศัพท์ต่าง ๆ

ท่อที่ทำจากพอลิเมอร์พวกพอลิโอเลฟินส์ (เช่นจากพอลิเอทิลีน (PE) พอลิโพรพิลีน (PP) หรือพอลิบิวทิลีน (PB)) เมื่อผลิตมาจะเป็นท่อสีดำ (ไม่ได้มีการทำให้ตัวท่อเป็นสีต่าง ๆ กันเหมือนกรณีท่อพีวีซี) ดังนั้นจึงใช้วิธีการทำแถบสีตลอดทั้งความยาวท่อ เช่นถ้าเป็นแถบสีส้มก็แสดงว่าเป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟฟ้า (รูปที่ ๑) ถ้าเป็นแถบสีฟ้าก็เป็นท่อน้ำ การให้แถบสีแบบนี้เรียกว่า "คาดสี"

รูปที่ ๑ ท่อ PE สีดำคาดสีส้ม สำหรับงานร้อยสายไฟ

ท่อเหล็กกล้าก็มีการคาดสีเหมือนกัน โดยสีแต่ละสีจะบ่งบอกถึงความหนาของผนังท่อ เช่นมาตรฐานมอก. ๒๗๖ - ๒๕๓๒ ที่เกี่ยวข้องกับท่อเหล็กกล้านั้น แบ่งประเภทท่อเหล็กกล้าออกเป็น ๔ ประเภทและกำหนดรหัสสีเอาไว้ดังนี้

ประเภท ๑ ท่อเหล็กแบบมีตะเข็บ ผนังท่อบาง คาดสีน้ำตาล
ประเภท ๒ ท่อเหล็กแบบมีตะเข็บและไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนาปานกลาง คาดสีน้ำเงิน
ประเภท ๓ ท่อเหล็กแบบมีตะเข็บและไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนา คาดสีแดง
ประเภท ๔ ท่อเหล็กแบบมีตะเข็บและไม่มีตะเข็บ ผนังท่อหนาพิเศษ คาดสีเขียว

โดยการคาดสีท่อนั้นกำหนดให้เป็นแถบสีกว้างประมาณ ๕๐ มิลลิเมตร

ถ้าเอาท่อเหล็กกล้าตามมอก. ๒๗๖ - ๒๕๓๒ ไปอาบสังกะสี ท่อดังกล่าวก็จะแลายเป็นท่อเหล็กกล้าอาบสังกะสี (Galvanized steel pipe - GSP) ซึ่งจะไปเข้ามาตรฐานมอก. ๒๗๗ - ๒๕๓๒ ที่เกี่ยวข้องกับท่อเหล็กกล้าอาบสังกะสี การคาดสีท่อเหล็กกล้าอาบสังกะสีก็เป็นแบบเดียวกับท่อเหล็กกล้า

แต่การคาดสีตามมาตรฐานมอก. ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ได้ทำเป็นแถบสียาวตลอดความยาวท่อ ทำเป็นเพียงแค่แถบสีตามแนวเส้นรอบวงของท่ออยู่ที่บริเวณปลายท่อเท่านั้นเอง (ดูรูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ ท่อเหล็กอาบสังกะสีคาดสีเหลืองนี้เป็นท่อเหล็กบาง ท่อนี้ซื้อมาทำเสาติดจานดาวเทียม (สงสัยว่าคงจะเป็นตัวเดียวกับประเภท ๑ ตามมาตรฐานมอก. แต่ทำไมใช้สีต่างกันก็ไม่รู้)

พวกโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีนั้นมีการใช้ท่อหลายหลายทั้งขนาดและชนิดวัสดุ สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากคือต้องใช้ท่อที่ทำจากวัสดุที่ถูกต้องกับอุณหภูมิและความดันของระบบ การที่จะดูว่าท่อไหนรับความดันได้แค่ไหนนั้นยังพอจะคาดการณ์ได้จากการดูที่ความหนาของผนังท่อ แต่การที่จะดูว่าท่อไหนใช้งานได้ที่อุณหภูมิสูงแค่ไหนนั้นไม่สามารถใช้การดูด้วยสายตาได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของโลหะที่ใช้ทำท่อ ดังนั้นในการก่อสร้างโรงงานนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำรหัสบนตัวท่อตลอดทั้งเส้น วิธีการที่ใช้กันทั่วไปคือการทาสีเป็นเส้นยาวตลอดทั้งความยาวท่อ (จะได้ไม่มีปัญหาเมื่อท่อถูกตัดให้สั้นลง) โดยต้องมีการกำหนดว่าสีไหนเป็นตัวแทนของท่อที่ทำจากโลหะอะไรและความหนาเท่าใด การทำเครื่องหมายสีดังกล่าวก็เรียกว่าการ "คาดสี" เหมือนกัน

การคาดสีท่อนั้นเริ่มจากการนำเอาท่อเหล็กมาขัดสนิมที่ผิวนอกออกก่อน การขัดสนิมทำด้วยการพ่นทราย (ภาษาอังกฤษเรียก sand blasting แต่คนไทยมักเรียกสั้น ๆ ว่าทำ "แซนด์บลาส") ซึ่งเป็นการใช้ทรายละเอียดผสมเข้าไปในอากาศอัดความดันและพ่นลงไปบนผิวท่อ ทรายที่พ่นลงไปกระทบผิวท่อก็จะแตกหักเป็นผงที่เล็กลง ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก พอขัดสนิมเสร็จแล้วก็จะทำการทาสีรองพื้นซึ่งเป็นสีพวกซิงค์ฟอสเฟต (zinc phosphate หรือสังกะสีฟอสเฟตนั่นเอง) สีรองพื้นนี้ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ป้องกันสนิม แต่ยังช่วยทำให้สีที่จะทาทับนั้นเกาะติดผิวท่อได้ดีขึ้น (คือถ้าทาสีลงไปบนผิวท่อเลย สีจะเกาะติดไม่ดี จะร่อนง่าย เพราะโมเลกุลสียึดเกาะกับผิวโลหะได้ไม่ดี เลยต้องมีการทาสีรองพื้นก่อนโดยสีรองพื้นจะยึดเกาะกับผิวโลหะได้ดี และยึดเกาะกับตัวสีที่จะทาทับลงไปทีหลังได้ดี)

เมื่อทาสีรองพื้นเสร็จแล้วก็จะทำการทาสีบ่งบอกชนิดท่อตลอดความยาวท่อ (รูปที่ ๓ ข้างล่าง) สาเหตุที่ต้องทาตลอดความยาวก็เพื่อให้มันมีเครื่องหมายอยู่ตลอดไม่ว่าจะตัดท่อให้สั้นลงแค่ไหน เวลาที่พวกช่างที่ทำงานเดินท่อเรียกชนิดท่อเขาก็จะเรียกตามสีที่คาด เช่น ท่อคาดส้ม ท่อคาดแดง ท่อคาดเขียว เป็นต้น

รูปที่ ๓ สีที่ทาตลอดความยาวท่อเป็นตัวบอกว่าท่อโลหะนั้นเป็นท่อทำจากโลหะชนิดเดียวกัน

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เวลาที่จะคาดสีท่อชนิดใดนั้นก็จะทำเฉพาะท่อชนิดนั้นไปจนเสร็จ จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนไปคาดสีท่อชนิดอื่น

การพ่นทรายเพื่อขัดสนิมที่ผิวนอกของท่อและการทาสีรองพื้นนั้นทำกันกับท่อที่ใช้งานที่อุณหภูมิสูงไม่มาก แต่ถ้าเป็นท่อที่ใช้งานที่อุณหภูมิสูงมาก (หลายร้อยองศาเซลเซียส) ก็ไม่จำเป็นต้องทาสีรองพื้น เพราะตัวสีเองมันทนอุณหภูมิได้ไม่สูงอยู่แล้ว (ลองดูท่อไอเสียรถยนต์ที่ออกมาจากเครื่องยนต์ก็ได้ ไม่มีการทาสีหรอก) อีกอย่างคือท่อที่ขึ้นสนิมนั้น เมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นสนิมจะหลุดออกมาผิวท่อได้เอง ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของสนิมเหล็กกับเนื้อเหล็กนั้นแตกต่างกัน หลักการนี้ใช้กันในการกำจัดสนิมที่อยู่ด้านในของท่อ โดยการป้อนไอน้ำเข้าไปเพื่อให้ท่อร้อน จากนั้นจึงชะไล่เอาสนิมเหล็กที่หลุดร่วงออกมาจากผิวท่อออกจากระบบท่อ (ต้องไม่ลืมนะว่าการเหล็กที่สัมผัสกับน้ำจะเป็นสนิมก็ต่อเมื่อมีออกซิเจนอยู่ ถ้ามีแต่น้ำหรือไอน้ำโดยที่ไม่มีออกซิเจน เหล็กก็จะไม่เป็นสนิม)

วันหนึ่งในขณะที่คุมงานวางท่ออยู่นั้น ก็มองขึ้นไปบน pipe rack เพื่อดูว่างานคืบหน้าไปแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาก็คือท่อน้ำประปา (สำหรับ emergency shower กับ eye washer) ซึ่งเป็นท่อเหล็กอาบสังกะสีนั้น ผิวนอกมีความมันวาวที่แตกต่างกันมาก คือมีท่อนหนึ่งมีความมันวาวผิดปรกติ ก็เลยเข้าไปทำการตรวจสอบ

ปรากฏว่าคนงานหยิบท่อผิดมาประกอบ คือแทนที่จะหยิบท่อประปากลับไปหยิบท่อร้อยสายไฟฟ้า (ชนิดท่อโลหะอาบสังกะสี) มาต่อแทน ผิวด้านในของท่อโลหะสำหรับร้อยสายไฟฟ้านั้นจะเรียบกว่าผิวท่อประปา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ฉนวนหุ้มสายไฟเกิดความเสียหายเมื่อร้อยสายไฟฟ้าเข้าไปในท่อ 
 
งานนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าคนงานไปหยิบเอาท่อร้อยสายไฟมาจากไหนได้อย่างไร