วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๙ ท่อร้อยสายโทรศัพท์ MO Memoir : Monday 4 June 2555


ถ้าจำไม่ผิดเรื่องมันเกิดขึ้นเมื่อสัก ๔ ปีที่แล้ว วันนั้นผมยังบอกคนที่ก่อเรื่องเลยว่าคุณโชคดีมากนะที่ไม่ตาย

เรื่องมันเกิดหลังฝนตกหนักในช่วงเช้า อาจารย์ผู้สอนวิชา Lab Unit Operation ก็เข้ามาเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการพร้อมนิสิตปริญญาโทที่เป็นผู้ช่วยสอน เพื่อเตรียมการรับการเปิดเทอม

ระหว่างการล้างพื้นทำความสะอาดบริเวณทำการทดลอง ก็พบว่าท่อระบายน้ำที่มุมหนึ่งของห้องมันอุดตัน พอตรวจดูข้างนอกก็พบว่ามีท่อพีวีซี (ท่อสีฟ้ามีคราบสีเหลืองเกาะ) อยู่ตรงฝั่งตรงข้ามกับที่เขาคิดว่าเป็นรูระบายน้ำ (สภาพพื้นที่ข้างนอกสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ มีตำแหน่งท่อระบายน้ำอยู่ด้วย และน้ำก็ท่วมขังหลังฝนตก) ก็เลยตัดสินใจให้ตัดท่อดังกล่าว

พอนิสิตเอาเลื่อยตัดเหล็กตัดผ่านผนังท่อเข้าไป ก็ไม่พบว่ามีน้ำซึมออกมา (คงคิดในใจว่าแสดงว่าท่อมันตันแน่ ๆ) จากนั้นพอตัดลึกเข้าไปอีกนิดก็พบว่าภายในท่อมีอะไรแข็ง ๆ อยู่ (คงคิดในใจว่ามันคงเป็นสิ่งที่อุดตันท่อ) ก็เลยตัดจนท่อขาด ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีน้ำซึมออกมา (ยิ่งมั่นใจเข้าไปใหญ่ว่าท่อมันตันแน่ ๆ)

จากนั้นก็ทำการตัดท่อเส้นเดิมสูงจากตำแหน่งเดิมประมาณสัก 1-2 นิ้วจนท่อขาด (ระหว่างตัดก็รู้สึกด้วยว่ามีของแข็งอะไรบางอย่างอยู่ในท่อ) แล้วก็หยิบชิ้นส่วนที่ตัดขาดนั้นออกมา ผลก็คือ .......

รูปที่ ๑ (ซ้าย) ท่อตัวที่เกิดเรื่อง (ขวา) บริเวณด้านในห้อง รูปที่ถ่ายเป็นรูปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนที่เกิดเรื่องเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้นบริเวณนี้ไม่ได้เป็นระเบียบแบบนี้ และท่อดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นท่อสีเหลืองดังเช่นวันนี้

มีชิ้นส่วน "สายโทรศัพท์" ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วอยู่ในท่อส่วนที่ตัดออกมา ชิ้นส่วนสายโทรศัพท์เส้นนั้นเป็นสายโทรศัพท์ของอาคารที่ห้องปฏิบัติการนั้นตั้งอยู่ทั้งอาคาร

ท่อที่ตัดนั้นไม่ใช่ท่อน้ำทิ้ง แต่เป็นท่อร้อยสายโทรศัพท์ ผมมาเห็นตอนที่เขาเพิ่งจะตัดเสร็จ อาจารย์ที่ทำงานร่วมกับนิสิตตรงนั้นก็หยิบชิ้นส่วนสายโทรศัพท์ให้ผมดูแล้วเล่าเรื่องให้ฟัง ผมก็เลยบอกกับนิสิตไปว่า คุณโชคดีมากนะที่มันเป็นสายโทรศัพท์ ถ้าเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงล่ะก็คุณตายคาที่อยู่ตรงนั้นแล้ว เพราะยืนแช่น้ำอยู่ด้วย (แรงดันไฟฟ้าในสายโทรศัพท์เป็นไฟฟ้ากระแสตรง ประมาณ 50 V DC)

ผลการตัดท่อดังกล่าวทำให้อาคารดังกล่าวไม่มีโทรศัพท์ใช้ทั้งอาคารเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ แต่เรื่องนี้ผมมองว่าจะไปโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดท่อดังกล่าวก็ไม่ถูกนัก

ท่อพีวีซีที่ใช้เป็นท่อน้ำประปานั้นจะเป็นสีฟ้า ที่ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ (สายไฟฟ้าแรงสูงหรือสายโทรศัพท์หรือสายไฟต่าง ๆ) จะเป็นสีเหลือง (ปัจจุบันเห็นมีสีขาวด้วย) และยังมีท่อพีวีซีสีเทาซึ่งใช้กับงานทั่วไป (เช่นทำท่อลอด ท่อระบายน้ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว)

ท่อที่เป็นปัญหานั้นเกิดจากการที่เขาเอาท่อประปา (สีฟ้า) มาทำเป็นท่อร้อยสายไฟ (ซึ่งควรใช้สีเหลือง) แล้วใช้วิธีทาสีเหลืองทับ ที่นี้เมื่อเวลาผ่านไป (ก็กว่าสิบหรือยี่สิบปี) สีเหลืองก็ร่อนออกจนดูเหมือนว่าเป็นคราบสกปรกเกาะท่อสีฟ้า

อีกสิ่งที่ไม่เหมาะสมคือตำแหน่งที่เขาเดินท่อร้อยโทรศัพท์เข้าไปในอาคารนั้นมันอยู่ตรงพื้น และตรงนั้นก็เป็นตำแหน่งที่มีท่อระบายน้ำที่พื้นด้วย ถ้าหากตอนก่อสร้างนั้นเดินท่อด้านนอกอาคารให้สูงกว่าขอบหน้าต่างก่อน จากนั้นจึงค่อยเจาะทะลุผนังอาคารเข้าไปยังตู้ชุมสาย (มันอยู่เหนือขอบหน้าต่างด้านใน) เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นก็คงไม่เกิดขึ้น

งานนี้ทางภาควิชาเสียค่าเปลี่ยนสายโทรศัพท์เส้นใหม่ไปกว่าหนึ่งแสนบาท